Skip to main content
sharethis

ทุนนิยาม 101 ตอนล่าสุด แรงงานภาคตะวันออกเผยสารพัดวิธีนายจ้างตุกติกปรับค่าจ้าง 300 บาท ทั้งเอาสวัสดิการอื่นๆ มารวมเป็นค่าแรงอัตราใหม่ หรือเปลี่ยนการคิดค่าจ้างจากรายเดือนเป็นรายวันเพื่อให้จ่ายได้เท่าเดิม ชี้เรื่องนี้คนงานต้องพึ่งศาลแรงงาน

คลิกเพื่อรับชม "ทุนนิยาม 101: แรงงานสู้นายจ้างตุกติกเลี่ยงปรับค่าแรง 300 บาท"

22 พ.ค. 55 - รายการทีวีออนไลน์ "ทุนนิยาม 101" (Capitalism 101) โดยกลุ่มทุนนิยมที่สังคมกำกับ (Embedded Capitalism) "วิทยากร บุญเรือง" ทำหน้าที่พิธีกรรายการ แทน "เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร" ซึ่งติดภารกิจ โดยทุนนิยาม 101 ตอนนี้ได้เชิญ "บุญยืน สุขใหม่" ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ร่วมประเมินสถานการณ์หลังรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรง 40% ทั่วประเทศ ซึ่งมีผลมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.

โดยนายบุญยืนเผยว่า ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะประกาศขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัด และอีกร้อยละ 40 ทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 นั้น ก่อนหน้านี้หลายสหภาพแรงงานในภาคตะวันออกได้ยื่นข้อเรียกร้องกับนายจ้างตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยขอให้สถานประกอบการณ์ปรับค่าจ้างให้พนักงานทุกคนตามผลต่างของค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศ ไม่ใช่ปรับขึ้นค่าจ้างเฉพาะคนที่ไม่มีรายได้ถึงระดับค่าจ้างขั้นต่ำ ตัวอย่างเช่นที่ จ.ระยอง ค่าจ้างเดิมอยู่ที่วันละ 189 บาท อัตราใหม่หลัง 1 เม.ย. 55 อยู่ที่วันละ 264 บาท บาท หรือ 75 บาท เช่น ดังนั้นตามข้อเรียกร้องนี้คนเงินเดือห้าพัน หรือสามหมื่น จะต้องได้ค่าจ้างเพิ่มวันละ 75 บาท หรือ 2,220 บาทเท่ากัน มีการเจรจาต่อรองกัน โดยมี 15 สหภาพแรงงานที่สามารถทำเป็นข้อตกลงได้ แต่ยังมีอีก 30 สหภาพแรงงานที่อยู่ระหว่างการเจรจา นอกจากนี้ยังมีพนักงานในบริษัทอื่นๆ ที่ไม่มีสหภาพแรงงาน แต่เห็นบริษัทที่มีสหภาพแรงงานที่ยื่นข้อเรียกร้องแล้วสามารถทำได้ ก็ได้นำข้อเรียกร้องในลักษณะเดียวกันนี้ไปยื่นเจรจากับนายจ้างด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก แสดงข้อกังวลต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นกับคนงานหลังประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ของรัฐบาล เพราะมีกรณีที่สถานประกอบการรายใหญ่ไม่ยอมปรับค่าจ้าง เนื่องจากเกรงว่าจะมีการยื่นข้อเรียกร้องของพนักงานในบริษัทที่รับเหมาช่วงการผลิตอีกที นอกจากนี้ยังมีหลายบริษัทเลือกใช้วิธีประกาศเลิกกิจการ แล้วเปิดกิจการใหม่แล้วรับพนักงานแล้วเริ่มนับอายุงานใหม่ เพื่อเลี่ยงการปรับค่าจ้างในอัตราที่สูง

นอกจากนี้ ยังมีนายจ้างหลายสถานประกอบการที่ใช้วิธีปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกำหนดจริง แต่หันไปปรับลดสวัสดิการอื่นๆ ลงเพื่อทำให้สถานประกอบการจ่ายค่าจ้างได้เท่าเดิม โดยนายบุญยืนกล่าวว่า กฎหมายคุ้มครอง 2 ฉบับ ม.20 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 สภาพการจ้างอื่นใดดีอยู่แล้ว ห้ามนายจ้างเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง สหภาพแรงงานสามารถฟ้องร้อง หรือร้องเรียนไปที่แรงงานจังหวัดให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนี้ ม.123 ห้ามนายจ้างเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เว้นแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจะเป็นคุณยิ่งกว่า

ดังนั้นการที่นายจ้างเอาค่าเช่าบ้าน เบี้ยขยัน เบี้ยเลี้่ยง นำมาคิดรวมกับค่าจ้างแล้วบอกว่านี่เป็นค่าจ้างที่ปรับแล้วถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นถ้านโยบายรัฐบาลให้เพิ่มค่าจ้าง 300 บาท สวัสดิการที่คงอยู่แล้ว ก็ต้องคงอยู่ ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำที่ยังไม่ครบ 300 บาท นายจ้างก็ต้องไปเติมให้ครบ ไม่อย่างนั้นคนงานก็ต้องฟ้องศาลเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ถ้าไม่นำไปฟ้องศาล เรื่องนี้ก็จะไม่มีโจทย์ ไม่มีจำเลย นายจ้างจะทำอย่างไรก็ได้

นอกจากนี้ ยังพบวิธีที่นายจ้างบางโรงงาน เลี่ยงการปรับค่าจ้างในอัตราที่ประกาศใหม่ โดยใช้วิธีเปลี่ยนการคำนวณค่าจ้างจากรายเดือนที่เอาเงินเดือนหารด้วย 30 วัน ก็เปลี่ยนเป็นรายวันเอา 26 วัน หาร โดยมีหลายกรณีใน จ.ระยอง ที่เดิมพนักงานได้เงินเดือนละ 6,000 บาท หาร 30 ก็คือมีรายได้ 200 บาท ต่อมาพอมีประกาศอัตราค่าจ้างใหม่ของระยองคือจากวันละ 189 บาท ก็เป็นวันละ 264 บาท บางสถานประกอบการก็เลี่ยงการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ใช้วิธีคำนวณค่าจ้างแบบรายวันแทน โดยเอาเงินเดือนเดิมหาร 26 วัน ก็เท่ากับวันละ 264 บาท หรือเท่ากับมีรายได้เดือนละ 6,000 บาทเท่าเดิม แล้วเอาสัญญาจ้างงานฉบับใหม่ไปให้ลูกจ้างเซ็นยินยอม ซึ่งเรื่องนี้สำคัญอยู่ที่ตัวพนักงานเองต้องยืนยันรักษาสิทธิตัวเอง โดยจะไปหวังพึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานก็คงพึ่งได้ยาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net