ภาคภูมิ แสงกนกกุล: บทสรุปเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2012 (ตอนจบ)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ประเทศฝรั่งเศสได้มีประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว และนี่เป็นการตัดสินใจของสาธารณรัฐประชาธิปไตย คุณ ฟรองซัวส์ อัลลองด์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี และเราต้องเคารพการตัดสินใจครั้งนี้ เป็นการกล่าวเริ่มต้นสุนทรพจน์ของ ซาร์โกซี ในการยอมรับความพ่ายแพ้ทันทีหลังทราบผลการเลือกตั้ง

ถึงแม้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง ซาร์โกซี ก็ยอมรับอย่างลูกผู้ชายโดยไม่หวังอำนาจมืดเพื่อพลิกกลับให้เขาเป็นประธายาธิบดี เขาแสดงความยินดีกับอัลลองด์ ที่เป็นศัตรูกันชนิดอยู่รวมกันไม่ได้ในระหว่างการแข่งขันอันดุเดือด “ผมเพิ่งได้โทรศัพท์ไปหาเขาและแสดงความยินดี ผมหวังว่าให้เขาโชคดีในสภาวการณ์ขณะนี้ ผมหวังจากก้นบึวหัวใจให้ประเทศฝรั่งเศสที่รวมเราเป็นหนึ่งเดียวกัน จะประสบความสำเร็จผ่านเหตุการณ์ขณะนี้ เพราะมันเปนเรื่องหนักหนาใหญ่โตมาก มากกว่าประเทศของเราบ้านเมืองของเราฝรั่งเศส”

และซาร์โกซี ไม่ลืมที่จะขอบคุณประชาชนที่เลือกเขาและ ผู้สนับสนุนตลอดมา ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยประชาชนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของอำนาจ และประธานาธิบดีคือผู้ที่ได้รับเกียรติจากประชาชนในการไว้วางใจเพื่อบริหารประเทศ “ผมอยากขอบคุณชาวฝรั่งเศสทุกคนที่ได้เลือกผม ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ถูกรับเลือกเพื่อบริหารประเทศมาห้าปี ผมจะไม่ลืมเกียรติอันสูงสุดนี้ตลอดชีวิตชายคนหนึ่ง” “ผมต่างหากที่ต้องขอบคุณพวกท่าน เพราะการบริหารประเทศฝรั่งเศสนั้นเป็นเกียรติอันสูงสุด”

และท้ายสุดในฐานะหัวหน้าพรรค UMP ที่นำพรรคแพ้การเลือกตั้ง ซาร์โกซี ประกาศรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว “ผมไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวเสียงส่วนใหญ่ชาวฝรั่งเศส แต่เราได้ทำการรณรงค์หาเสียงที่ไม่มีวันลืม” “ผมขอรับผิดชอบในการพ่ายแพ้ครั้งนี้ ผมต่อสู้เพื่อคุณค่าของความรับผิดชอบ และผมไม่ใช่ผู้ชายที่หลีกหนีความรับผิดชอบ”

สุนทรพจน์ของซาร์โกซี นับว่าทำได้ดีและปิดฉากชีวิตการเมืองของเขาอย่างสวยงาม ซาร์โกซี ประกาศรับผิดชอบกับความพ่ายแพ้นี้เพียงผู้เดียวโดยไม่โทษประชาชนที่เลือกฝ่ายตรงข้ามว่า โง่บ้างเป็นควายบ้างหรือรับเงินอัลลองด์แต่อย่างใด เขาไม่โทษทีมงานหาเสียงที่ลำบากมาด้วยกัน สิ่งที่เขาโทษเพียงอย่างเดียวคือ เขาไม่สามารถโน้มน้าวคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ให้เลือกเขา ซาร์โกซี แสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค UMP ทันทีและประกาศไม่ขอเป็นผู้นำในการหาเสียงให้พรรค UMP ในการเลือกตั้งสมาชิกนิติบัญญัติที่จะมีขึ้นเร็วๆนี้ หนังสือพิมพ์และสำนักข่าวต่างชื่นชมในสุนทรพจน์และการตัดสินใจของเขา และวิเคราะห์ว่าเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของเขาที่ย่ำแย่ให้ดีขึ้นอย่างมาก

ซาร์โกซี จะดำรงรักษาการณ์ตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคมซึ่งจะมีพิธีเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีคนใหม่ ในระหว่างนั้นซาร์โกซี พยายามรื้อฟื้นความปรองดองในประเทศ โดยเขาเชิญ อัลลองด์ เข้าร่วมพิธีให้ความเคราพทหารที่ตายไปในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม อันเป็นวันประกาศชัยชนะของฝรั่งเศส ที่ประตูชัย ปารีส นับเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสสองคนมาประกอบพิธีร่วมกัน และประธานาธิบดีสองคนนี้ต่างมาจากคนละพรรคการเมือง คนละอุดมการณ์การเมืองที่ขับเคี่ยวกันเอาเป็นเอาตายในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เฉกเช่นเคยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1995 โดยฟรองซัวส์ มิตเตอรองด์ ประธานาธิบดีคนเก่าจากพรรคฝ่ายซ้าย ร่วมพิธีกับ ฌัก ชีรักประธานาธิบดีคนใหม่จากพรรคฝ่ายขวา

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: บทสรุปเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2012 (ตอนจบ)

ในวันนั้น ปรากฏภาพคู่กัดสองคนจับมือร่วมกันถือคบไฟและจุดเทียนขึ้นหน้าหลุมศพทหารไร้ชื่อ พิธีการนี้กินเวลาประมาณยี่สิบนาทีและถ่ายทอดทั่วประเทศแต่กลับส่งผลประโยชน์มหาศาล Guillaume Bernard นักรัฐศาสตร์และอาจารย์จาก Sciences Po. วิเคราะห์ว่าประธานาธิบดีทั้งสองนี้ต้องการลดความขัดแย้งเพื่อที่จะให้การเมืองดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะวิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับ ซาร์โกซี ดีขึ้นมาด้วย

ทางด้านอัลลองด์ การได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีนอกจากเป็นความสำเร็จของเขาแล้ว แต่ยังเป็นการเริ่มต้นของภาระหน้าที่ต่างๆตามมา ภายใน 100 วันอันตรายเขาต้องดำเนินนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งนโยบายต่างๆได้แก่ การลดเงินเดือน 30% ของประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรี การเพิ่มเงินอุดหนุนนักเรียนอีก 25% การควบคุมราคาน้ำมันเป็นเวลาสามเดือน นโยบายช่วยเหลือให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงที่พักได้มากขึ้น นโยบายประกันเงินฝากเพื่อรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ให้สูงกว่าค่าเงินเฟ้อ นโยบายลดอายุการเกษียณงานเป็น 60 ปีเช่นเดิม ทบทวนนโยบายนักเรียนต่างชาติใหม่อีกครั้งจากที่รัฐบาลที่แล้วมีนโยบายกีดกันนักเรียนต่างชาติในการเรียนละหางานทำต่อได้อย่างยากลำบาก

ในด้านต่างประเทศ ต้องหารือกับอังเกลา แมร์เคิล( Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน เพื่อหานโยบายในหารแก้ปัญหาวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นที่กรีซและลามไปทั่วยุโรป นอกจากนี้ยังต้องส่งสัญญาณไปยังผู้นำและรัฐบาลต่างๆเพื่อหาความร่วมมือในการรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นในยุโรป และดัดแปลงสานต่อสนธิสัญญาในการสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงในสหภาพยุโรป

ในด้านการทหาร โน้มน้าวให้สมาชิกกองกำลัง นาโต ถอนทหารออกจากอัฟกันนิสถาน ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ และนำเรื่องนี้มาประชุมในการประชุม G8 วันที่ 18-19 พฤษภาคม และการประชุม นาโต 20-21 พฤษภาคม

และวันที่ 15 พฤษภาคม ก็มาถึง วันเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการหรือวันส่งผ่านอำนาจ ซึ่งพิธีนี้เป็นส่วนผสมของระบอบเก่าและระบอบใหม่ไว้ด้วยกัน ต้นกำเนิดเริ่มต้นมีตั้งแต่จักรวรรดิโรมัน แต่เมื่อถึงกาลปัจจุบันพิธีการณ์นี้ก็ปรับตัวตามเช่นกัน เมื่อปัจจุบันอำนาจรัฐไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคล ความคงอยู่ของรัฐไม่ได้จากไปตามการเปลี่ยนแปลงของผู้นำ เราจึงสามารถเห็นภาพที่ผู้นำคนเก่ามอบอำนาจให้ผู้นำคนใหม่โดยไม่มีการหลั่งเลือด

เวลาสิบโมงเช้าอัลลองด์ เดินผ่านลานเกียรติยศเข้าพบซาร์โกซี หลังจากนั้นทั้งสองคนพูดคุยกัน และที่สำคัญคือการให้เอกสารและรหัสลับของอาวุธนิวเคลียร์ ช่วงนี้กินเวลาประมาณสี่สิบห้านาที แล้วอัลลองด์ จึงเข้าพบ Jean-Louis Debré ประธานที่ปรึกษารัฐธรรมนูญเพื่อประกาศผลการเลือกตั้ง และประกาศการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และอัลลองด์ กล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดี ลำดับถัดไป ทางกองทัพจึงติดเหรียญเกียรติยศให้อันเป็นสัญลักษณ์เพื่อเป็นเกียรติกับกองทัพในฐานะหัวหน้ากองทัพ และแล้วจะมีการยิงสลุตต่อเนื่องกัน 21 นัด ซึ่งเป็นพิธีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่เป็นสาธารณรัฐเก่า หลังจากนั้นเวลาสิบเอ็ดโมงเช้า อัลลองด์ จะเข้าไปห้องจัดเลี้ยงเพื่อต้อนรับสมาชิกพรรคและบุคคลสำคัญที่มาร่วมยินดี โดยครั้งนี้ภรรยาเก่าและลูกๆของเขาได้ปฏิเสธคำเชิญที่จะเข้าร่วม เพื่อไม่ให้เรื่องครอบครัวกลายเป็นประเด็นสำคัญมาถกเถียง

หลังจากเสร็จงานเลี้ยงรับรองแล้วในช่วงบ่าย ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ ต้องออกเดินทางเพื่อขอบคุณประชาชนและ คารวะบุคคลสำคัญของฝรั่งเศส การเยี่ยมคารวะบุคคลสำคัญนี้ไม่ได้ตีกรอบว่าต้องไปเคารพเฉพาะผู้ที่เป็นทหารหรือกษัตริย์แต่รวมถึงสาขาวิชาชีพอื่นๆที่ทำคุณประโยชน์ให้ชาติ โดยครั้งนี้เขาได้เลือกไปที่ประตูชัยเป็นอันดับแรกเพื่อคารวะทหารไร้ชื่อที่ตายไปในสงครามเพื่อฝรั่งเศส ถัดจากนั้นเขาเลือกไปคารวะ จูลส์ เฟอรรี (Jules Ferry) ที่สวน Tuileries และ มารี คูรี(Marie Curie) ที่สถาบัน มารี คูรี มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่าการเลือกบุคคลสำคัญสองท่านนี้เป็นการส่งสัญญาณบางอย่าง เพราะจูลส์ เฟอรรี เป็นบิดาผู้พัฒนาการศึกษา โดยผลักดันให้มีการศึกษาฟรีทั่วถึงแก่เด็กๆทุกคนในฝรั่งเศส ส่วนมารี คูรี นั้นนอกจากเธอได้รางวัลโนเบลสาขา ฟิสิกส์และเคมี และเป็นคนพบแร่ธาตุสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาสารกัมมันตภาพรังสีและนิวเคลียร์ เธอยังเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาเติบโตในประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ประธานาธิบดีคนใหม่ก็ไม่มีเวลาให้หยุดพักและต้องบินไปเยอรมนีทันทีเพื่อพบ อังเกลา แมร์เคิล เป็นครั้งแรก และหารือถึงการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจกันอีกครั้ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท