ไขประเด็น 'เยียวยา' เสียงจากผู้สูญเสีย หลักกฎหมาย และคดีแพ่งตัวอย่าง เมษา 52

 
วันแรกของการรับ “เงินช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม” หรือเงินเยียวยาแก่ผู้เสียหายจากความรุนแรงทางการเมือง ก็เกิดคำถาม ข้อสงสัย ความผิดหวังเสียใจ ที่ดังมาจากฝั่งผู้สูญเสียถึงรัฐบาลที่พวกเขาคาดหวัง

เมื่อแบบฟอร์มการรับเงินปรากฏข้อความชัดเจน ในข้อ 2 ที่ห้ามไม่ให้ผู้เสียหายไปฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งกับหน่วยงานใดๆ ของรัฐเพื่อเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมอีก

สร้างความช็อคและสั่นสะเทือนความรู้สึกกับญาติผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งที่ปักหลักแน่วแน่ในการต่อสู้เพื่อให้มีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ โดยจะดำเนินการทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวน้องเฌอ (สมาพันธ์ ศรีเทพ) ครอบครัวน้องเกด (กมนเกด อัคฮาด) ครอบครัวลุงคิม (ฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง)


ความสะเทือนใจของผู้สูญเสีย เมื่อรัฐขาดการชี้แจงและมีปัญหาท่าที

“พี่ เฉยๆกับเงินก้อนนี้นะ จะได้หรือไม่ได้พี่ไม่ได้กระตือรือล้นขนาดนั้น ถ้าได้เงินแล้วเราต้องถอนฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ยิงคนตาย พี่แค่อยากรู้ว่าทหารยิงสามีพี่ทำไม แล้วการที่พี่จะไม่ได้รับเงินมันเป็นเพราะพี่ไม่ยอมถอนฟ้องใช่มั้ย ซึ่งตอนแรกพี่แค่หวังอยากได้รับเงินเยียวยาก้อนนี้มาดูแลเฮีย แต่ตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว" วรานิษฐ์ ภรรยาฐานุทัศว์ กล่าวพร้อมปาดน้ำตา (ที่มา:เฟซบุ๊คผู้ใกล้ชิดวรานิษฐ์)

พะเยาว์ อัคฮาด แม่น้องเกดถึงกับร่ำไห้กลางที่ประชุมชี้แจงในวงของบรรดา “ผู้ใหญ่”  ภายในทำเนียบรัฐบาล โดยเฉพาะท่าทีของผู้เกี่ยวข้องบางคนที่ไม่แยแสกับคำถามของเหยื่อ และพูดชัดเจนว่า “หากไม่พอใจเงื่อนไขนี้ก็กลับบ้านไป”

“มันแน่นในอก นี่หรือขาข้างหนึ่งของการปรองดองจากรัฐบาลที่เราเลือกมา ไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของเรา เขาพูดเหมือนไม่แคร์ ตั้งธงแบบนี้ มึงต้องยอม ใหม่ๆ ภาพรวมทุกอย่างกว้างมาก มันทำให้เรานอนใจ ไม่เคยมีใครมาบอกว่าจะมีเงื่อนไขแบบนี้” พะเยาว์กล่าวพร้อมระบุว่าเธอไม่อยากให้รัฐมีแนวทางเช่น คอป.ซึ่งระบุชัดเจนว่าจะค้นหาความจริงแต่จะไม่เปิดเผยตัวบุคคล

“มันไม่ควรมาก้าวก้ายกับเรื่องคดีความซึ่งเป็นสิทธิของเรา ถามว่าคดีแพ่ง คดีอาญา สำหรับเรามันก็เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ คดีแพ่งก็มีการสืบพยานเหมือนกัน ถ้าเราฟ้องแพ่งชนะ มันก็เปิดเผยรายชื่อได้ว่าใครทำผิด หรืออย่างน้อยหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องยอมรับ ซึ่งมันสำคัญมากสำหรับเรา” พะเยาว์กล่าว

ส่วนสุมาพร แม่น้องเฌอ เองก็รู้สึกไม่ต่างกัน และเข้าใจแต่แรกว่า นี่คือการ “เยียวยาเพื่อมนุษยธรรม” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีความ

“อย่างนี้ก็ไม่น่าจะพูดเรื่องมนุษยธรรมอะไรแต่แรก” “แล้วหลักเกณฑ์พวกนี้ที่ออกมาผู้เสียหายก็ไม่ได้ร่วมแสดงความเห็นด้วยเลย”สุมาพร กล่าว

แต่สุดท้าย เรื่องราวก็จบลงด้วยการชี้แจงของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ที่พยายามอธิบายรายละเอียดต่างๆ จนทั้งสองยอมรับการเยียวยาในครั้งนี้ ขณะที่กรณีของนายฐานุทัศน์นั้นยังไม่ได้อยู่ใน “รอบแรก” ของการรับเงินเยียวยา และยังมีปัญหาที่ต้องจัดการกันต่อเนื่องจากเขาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ผู้บาดเจ็บ” เป็นอัมพาตจากการถูกยิง และเพิ่งมาเสียชีวิตในภายหลัง

ประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจ เยียวยาครั้งนี้ดีกว่าฟ้องเองหรือไม่

“การต่อสู้ของแม่ไม่จบแค่นี้แน่นอน” พะเยาว์กล่าวทิ้งท้าย

คำประกาศของแม่น้องเกดเป็นสิ่งที่ยังคงเป็นไปได้

ปิยบุตร แสงกนกกุล นักกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัวเพื่ออธิบายถึงหลักการในกรณีการเยียวยานี้ตั้งแต่ช่วงบ่าย เมื่อกระแสความไม่พอใจของผู้สูญเสียและผู้ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขของรัฐบาลดังขึ้น

ประเด็นหลักสำคัญคือ ไม่มีการตัดเรื่องการฟ้องอาญา และอันที่จริงไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดใดมาห้ามมิให้ดำเนินคดีอาญาได้ แต่ในกรณีของการฟ้องแพ่งนั้นต่างไป เพราะเป็นการฟ้องที่ “หน่วยงานของรัฐ” ไม่สามารถชี้ชัดไปที่ตัวบุคคลเหมือนอาญาที่มุ่งหมายลงโทษผู้กระทำผิด และเมื่อหน่วยงานรัฐแพ้คดีแพ่งก็ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นเดียวกับการจ่ายเงินเยียวยาในขณะนี้ ซึ่งการจ่ายเงินเยียวยาน่าจะได้จำนวนที่มากกว่าและรวดเร็วกว่าสำหรับผู้เสียหาย 

“ฐานที่รัฐบาลยอมจ่ายนี้ เป็น without fault แน่นอน เพราะจ่ายโดยไม่ได้ไปหาฐานละเมิด ตามความคิดการพึ่งพาอาศัยกันฉันมิตร (national solidarity)”

“ผมคิดว่า ช่องทางนี้สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย ไม่ต้องรับภาระในการฟ้องศาล แล้วก็ไม่ได้บังคับด้วย หากผู้เสียหายอยากจะฟ้องก็ได้ เช่น ผมมั่นใจมากว่าความเสียหายของผม ได้ค่าสินไหมทดแทน เกิน 7.7 ล้านบาท แน่ๆ ผมก็ไม่เอาช่องเยียวยาของรัฐบาล แต่เลือกไปฟ้องศาลเอา” ความเห็นของปิยบุตร

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนหลักการนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทย  ทำให้การกำหนดหลักเกณฑ์ยังคงสร้างความสับสน

“รัฐบาลเองก็อาจแยกไม่ออกกระมัง เลยเขียนระเบียบออกมาแบบเร็วๆแบบนี้ จริงๆ ตอนทำระเบียบ ผมไม่รู้ว่าเขาเอาแบบของ พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 มาดูมั้ย อันนี้เขียนโอเคเลย มีคณะกรรมการพิจารณา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และเขียนชัดว่าไม่ตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายหรือจำเลยพึงได้ตามกฎหมายอื่น

ผมยังเห็นต่อไปอีกว่า ถ้าทำให้เป็นระบบกว่านี้ ควรออกมาในรูปแบบ ดังนี้

1.) มีคณะกรรมการพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้อง

2.) คณะกรรมการกำหนดจำนวนเงิน ผู้เสียหายพอใจ รับไป จบ

3.) คณะกรรมการกำหนดจำนวนเงิน ผู้เสียหายไม่พอใจ อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณฺ ผู้เสียหายพอใจ จบ

4.) คณะกรรมการกำหนดจำนวนเงิน ผู้เสียหายไม่พอใจ อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณฺ ผู้เสียหายไม่พอใจ ฟ้องศาล เพื่อให้ศาลกำหนดจำนวนเงินให้ใหม่

5.) กรณีไม่เลือกช่องทางคณะกรรมการ ก็ไปฟ้องศาลได้โดยตรง

6.) นี่เป็นความรับผิดแบบ without fault ไม่ใช่ความรับผิดแบบ fault หากตั้งฐานเอาแบบ fault ก็ไปฟ้องได้

(ประเด็น คือ ผู้ปฏิบัติกฎหมายไทยจะรู้จักและแยกแยะ without fault กับ fault ได้หรือไม่ หรือเหมารวมไปหมด ดังนั้น จริงๆน่าจะตรากฎหมาย เขียนระเบียบให้ชัด  ผมจึงคาดเดาว่า ด้วยเหตุนี้เอง ระเบียบฯ จึงไปเขียนว่าตัดสิทธิฟ้องแพ่ง เพราะ ไม่รู้จักเรื่อง without fault กับ fault รู้จักแค่ว่าถ้าฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน เรียกเงินกัน ต้องเป็นฟ้องแพ่งแบบละเมิดหมด)”

“ระเบียบฯตัวนี้ ก็ไม่ได้แย่ทั้งหมด เพราะ เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายได้เลือก ว่าจะเข้าช่องคณะกรรมการเยียวยา หรือ ฟ้องศาลเอง ก็สุดแท้แต่ผู้เสียหายจะประเมินเอา กรณีนี้มันจะไปคล้ายๆกับ การประนีประนอมกันนอกศาล”ปิยบุตรแสดงความเห็น

อ่านฉบับเต็มที่ http://prachatai.com/journal/2012/05/40658

 

ย้อนรอยคดีแพ่ง เมษา 52 ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

หากย้อนดูร่องรอยที่เคยเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เคยมีการฟ้องคดีแพ่งเกิดขึ้นแล้ว โดยคนเสื้อแดง 2 รายที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหาร เมื่อปี 2552 บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และชนะคดีในศาลชั้นต้น ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์

คดีดังกล่าว คือคดีที่ นายไสว ท้องอ้ม และ นายสนอง พานทอง เป็นโจทก์ฟ้อง สำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่1, กองบัญชาการกองทัพไทย จำเลยที่2, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำเลยที่3, พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ จำเลยที่ 4, กองทัพบก จำเลยที่ 5  ในคดีหมายเลขดำที่ 5971/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 2302/2554 โดยศาลมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาเฉพาะจำเลยที่ 2 และ 5

นายไสว ทองอ้ม ถูกยิงที่ต้นแขนซ้าย ไม่สามารถใช้แขนซ้ายประกอบภารกิจตามปกติได้อีก จึงถูกเลิกจ้างและขาดรายได้ ขอเรียกค่าเสียหายจากการเสียโอกาสในการประกอบการงานได้โดยสิ้นเชิงเป็นเวลา 20 ปี รวมแล้วเป็นเงิน 2,857,538 บาท ส่วนนายสนอง พานทอง ถูกยิงบริเวณขาขวาไม่สามารถใช้ขาขวาประกอบภารกิจตามปกติได้เป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างและขาดรายได้ ขอเรียกค่าเสียหายจากการขาดโอกาสในการประกอบการงานได้โดยสิ้นเชิงเป็นเวลา 25 ปี รวมแล้วเป็นเงิน 2,245,205  รวมทั้งสองรายเป็นเงิน 5,102,743 บาท

ศาลแพ่งมีคำพิพากษาออกมาเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2554 ให้โจทก์ชนะคดี และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 5 ต้องชำระเงินให้กับโจทก์ โดยชำระให้รายละ 1,200,000 บาท และ 1,000,000 บาทตามลำดับ รวมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

สุวิทย์ ทองนวล ทนายความในคดีนี้ระบุด้วย ภายหลังคำพิพากษาได้เข้าพบกับกองทัพเพื่อชี้แจงว่าทั้งสองเป็นชาวบ้านที่ถูกยิง ต้องพิการและทำมาหากินไม่ได้ กองทัพได้รับหลักการดังกล่าวพร้อมระบุว่าไม่ติดใจต่อกรณีนี้ แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดอัยการจึงต้องอุทธรณ์

ถึงขณะนี้ กรณีนี้ยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะอยู่ในเงื่อนไขใดของการเยียวยา เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และมีการฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งกันไปจนชนะคดีในศาลชั้นต้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทนายความในคดีนี้ได้ยืนยันว่า ขณะนั้นยังไม่มีสัญญาณการปรองดองใดๆ ตัวผู้เสียหายเองก็ต้องเร่งดำเนินการเพราะคดีละเมิดนั้นมีอายุความเพียง 1 ปีหลังเกิดเหตุและรู้ตัวผู้กระทำผิด

ถามว่าถึงที่สุด หากสองรายนี้ได้ทำการฟ้องร้องด้วยตัวเองและชนะคดีจนได้เงินตามจำนวนแล้ว แต่ปรากฏน้อยกว่าเงินเยียวยาที่กำหนดให้ในปัจจุบันจะทำเช่นไร ทนายความกล่าวว่า เรื่องจะต้องเร่งหารือกับผู้รับผิดชอบกำหนดหลักเกณฑ์ของการเยียวยาต่อไป เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็คงไม่เป็นธรรมกับบุคคลทั้งสองเช่นกัน

เปิดคำพิพากษา สลายม็อบสามเหลี่ยมดินแดง เมษา 52

เรื่องนี้เป็นทั้งเรื่องหลักการทางกฎหมาย ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางความรู้สึก ซึ่งยังต้องทำความเข้าใจกันต่อไป อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากกระแส “ปรองดอง” ที่เกิดขึ้นของฝ่ายรัฐบาล ก็คงพอเข้าใจได้ว่าเหตุใดผู้สูญเสียจึงตั้งคำถามและสงสัยต่อมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่สำคัญ กระบวนการค้นหาความจริงจากส่วนต่างๆ ก็คืบหน้าไปอย่างล่าช้า

หากพิจารณาจากรายละเอียดในคำพิพากษาคดีแพ่งของไสวและสนอง ก็อาจเข้าใจได้ว่า เหตุใดผู้สูญเสียเช่น พะเยาว์ อัคฮาด และคนอื่นๆ ยังคงเรียกร้องต้องการการสืบพยาน อย่างน้อยก็ให้มีการระบุความผิดของหน่วยงาน ไม่ว่าในศาลใดๆ เพราะ “ข้อเท็จจริง” ที่ได้แม้เพียงเล็กน้อย คือ สิ่งที่จะทำให้บาดแผลของเขาได้รับเยียวยาอย่างแท้จริง

คำพิพากษาลงชื่อผู้พิพากษา นางอำไพ อรัญนารถ , นายสัมพันธ์ ผาสุข โดยมีส่วนหนึ่ง ดังนี้

“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันที่ 8 ถึง 14 เมษายน 2552 มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในหลายสถานที่ รัฐบาลเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ  เพราะมีการปิดถนน ตรวจค้นรถยนต์ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา และปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล โดยในวันที่ 12 เมษายน 2552 มีกลุ่ม นปช. ประมาณ 500 คน นำกำลังขัดขวางการจราจรบริเวณสี่แยกใต้ทางด่วนดินแดง และเข้าทำการตรวจค้นรถประชาชนที่ผ่านไปมา ส่วนหนึ่งพยายามบุกรุกเข้ายึดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุม “สุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาครั้งที่ 14” อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและบริเวณใกล้เคียง ในวันที่ 12 เมษายน 2552 ดังกล่าว และออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และออกคั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 98/2552 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552 จัดตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กอฉ. โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้อำนวยการ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติงานในกองอำนวยการดังกล่าว กอฉ.มีอำนาจจัดชุดปฏิบัติการจากตำรวจ ทหาร และพลเรือนเข้าระงับการก่อความไม่สงบ และช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน มอบหมายให้ศูนย์ราชการ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนกำลังพล งบประมาณ และอื่นๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และออกประกาศตามมาตรา 11(6) แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ห้ามกระทำการใดๆ ที่เป็นการปิดการจราจร ปิดเส้นทางคมนาคม หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้ไม่อาจใช้เส้นทางคมนาคมได้

ดังนั้น ในวันที่ 13 เมษายน 2552 เวลา 2 นาฬิกา จึงมีการสั่งการให้ใช้กำลังทหารบกเข้าระงับเหตุและเปิดการจราจรในบริเวณดังกล่าว โดยเวลา 4 นาฬิกามีการจัดกำลังทหารบก 2 กองพัน คือ ร.2 พัน 3 รอ. และ ร.21 พัน 1 รอ. เข้าปฏิบัติต่อพื้นที่ที่สี่แยกใต้ทางด่วนดินแดง ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังทหารดังกล่าว ปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งร่วมชุมนุมอยู่ด้วยถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส  โจทก์ที่ 1 ถูกยิงที่ไหล่ซ้ายเป็นเหตุให้ไม่สามารถกลับมาใช้แขนซ้ายได้ตามปกติอีก โจทก์ที่ 2 ถูกยิงหัวเข่าลูกสะบ้าแตกไม่สามารถใช้ขาข้างขวาได้ตามปกติอีก โจทก์ทั้งสองจึงกลายเป็นผู้พิการ จึงมาฟ้องคดีนี้ เพื่อเรียกให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2538

ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 5 ให้การต่อสู้ว่า ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 13 เมษายน 2552 ดังกล่าว กองกำลังทหารได้รับการต่อต้านจากกลุ่ม นปช. โดยใช้ระเบิดเพลิง แก๊สน้ำตา และพลซุ่มยิงด้วยปืนพกจากทิศตะวันออกของถนนวิภาวดีรังสิตและจากทางด่วนดินแดง มีการขับรถแท็กซี่และรถโดยสารประจำทางพุ่งชนทหาร ใช้ท่อนไม้ เหล็ก อิฐ หิน ขว้างปากลุ่มทหารจนกระทั่งต้องจัดกำลังเสริม จึงสามารถระงับเหตุได้ การปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงไม่มีความรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และทางวินัย

ปัญหามีต้องวินิจฉัยตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองว่า กองกำลังทหารบกกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดชดใช้สินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า กองกำลังทหารที่ออกปฏิบัติภารกิจในวันเกิดเหตุประกอบด้วยกองกำลังจากทหารจากสองกองพัน คือ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งมีพันเองพิษณุพงศ์ รอดศิริ เป็นผู้บังคับกองพัน และกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ซึ่งมีพันโทพงษ์ศักดิ์ เอี่ยมพญา เป็นผู้บังคับกองพัน กองกำลังทหารดังกล่าวออกปฏิบัติภารกิจในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุเป็นไปเพื่อระงับเหตุไม่สงบ และเปิดผิวการจราจรบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงให้เป็นปกติ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ศอฉ. ซึ่งมีพล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทยเป็นผู้อำนวยการ และผู้บัญชาการทหารบก ภายใต้กรอบของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยได้รับคำสั่งให้ออกปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2552 จนจบภารกิจ ในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

โดยข้อเท็จจริงยุติว่า  กองกำลังทหารดังกล่าวจัดกองกำลังเป็น 3 แถว แถวแรกเป็นพลทหารถือโล่และกระบอง อยู่ห่างกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 50 เมตร แถวที่สองเป็นทหารชั้นประทวน มีอาวุธปืนเอ็ม 16 ประจำกาย อยู่ห่างออกไปประมาณ 15 ถึง 20 เมตร ซึ่งฝ่ายจำเลยเบิกความว่าใช้กระสุนซ้อมรบ และแถวที่สามเป็นทหารชั้นประทวนมีอาวุธปืนเอ็ม 16 บรรจุกระสุนจริงประจำกาย อยู่ห่างออกไปประมาณ 20 ถึง 25 เมตร และมีนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำอยู่กองพันละ 6 ถึง 7 คน มีอาวุธปืนพกสั้นขนาด 11 มม. ประจำกาย 1 คน

การปฏิบัติภารกิจในสถานการณ์เช่นนี้ต้องปฏิบัติภายใต้กฎการใช้กำลังของกองทัพไทย ผนวก จ เรื่องการใช้กำลังปราบปรามการจลาจล สามารถใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและปกป้องกำลังพลได้ตามความจำเป็น ซึ่งฝ่ายโจทก์เบิกความว่า กองกำลังทหารตั้งแถวเดินเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุม แถวแรกเดินถือไม้เคาะโล่เข้าหาผู้ชุมนุม แถวที่สองและแถวที่สามซึ่งถือปืนบางส่วนยิงขึ้นฟ้า บางส่วนยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมแตกกระเจิง โจทก์ที่ 1 จึงตามรถแกนนำไป แต่ขณะที่โจทก์ที่ 1 เอี้ยวตัวกลับเพื่อหันมามองทหารที่อยู่ด้านหลัง จึงถูกยิงที่หัวไหล่ซ้ายล้มลงหมดสติ

โจทก์ที่ 2 เบิกความว่า เห็นแถวทหารเดินเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุม โดยยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ เมื่อผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัว จึงยิงในแนวระนาบแล้วกระจายตัวตีโอบล้อมกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้เกิดการอลหม่าน ผู้ชุมนุมบางส่วนล้มลง โจทก์ที่ 2 เห็นผู้ชุมนุมคนหนึ่งถูกยิงล้มลงจึงเข้าไปช่วยเหลือ เป็นเหตุให้ถูกยิงเข้าที่หัวเข่า และทหารกรูกันเข้ามา ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 5 เบิกความว่า ทหารไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุม ทหารใช้กระสุนจริงยิงเฉพาะในคราวที่ยิงยางรถยนต์โดยสารที่กลุ่มผู้ชุมนุมขับเข้าพุ่งชนแนวทหาร กระสุนที่ถูกโจทก์ที่ 1 มิใช่อาวุธสงคราม แต่เป็นอาวุธขนาด 9 มม. เช่นเดียวกับกระสุนที่ถูกโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่มิได้ใช้อยู่ในกองทหารที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว อีกทั้งมีทหารบางคนถูกยิงได้รับบาดเจ็บโดยกระสุนขนาด 9 มม. เช่นเดียวกับฝ่ายโจทก์ กระสุนปืนที่ยิงถูกโจทก์ที่ 1 และ 2 จึงมิได้มาจากอาวุธปืนของฝ่ายกองกำลังทหาร

เห็นว่า แม้ฝ่ายจำเลยจะอ้างว่ากองกำลังทหารที่ออกปฏิบัติภารกิจในวันดังกล่าวมีอาวุธปืนชนิดเอ็ม 16 ประจำกาย แต่ในแถวทหารที่ปฏิบัติภารกิจในวันดังกล่าวมีบางส่วนที่มีอาวุธปืนพกสั้นร่วมอยู่ด้วย ทั้งตามภาพถ่าย หมาย จ.4  จ.17 และจ.18 แสดงภาพถ่ายที่ทหารถือปืนกลเบา และปืนพกสั้น โดยพยานจำเลยที่ 2  และที่ 5 เบิกความรับว่า ทหารในภาพซึ่งถืออาวุธปืนกลเบามิใช่ทหารชั้นสัญญาบัตร โดยน่าจะเป็นทหารชั้นประทวน และไม่ทราบว่าอาวุธปืนกลเบาหรือปืนอูซี่ดังกล่าวจะใช้กระสุนปืนขนาด 9 มม.หรือไม่ และรับว่าตามภาพถ่ายหมาย จ.18 เป็นภาพทหารถืออาวุธปืนพกสั้น แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นนายทหารชั้นประทวนหรือชั้นสัญญาบัตร และพยานจำเลยที่ 2 และ 5 ทุกปากยอมรับในแถวของผู้ชุมนุมไม่เห็นว่ามีผู้ชุมนุมคนใดถืออาวุธปืนไม่ว่าชนิดใด

การที่ฝ่ายจำเลยที่ 2 และ 5 ระบุว่าผู้ชุมนุมใช้พลซุ่มยิงกลุ่มทหาร จึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐาน ซึ่งเมื่อฟังพยานจำเลยทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักฟังได้ว่า กระสุนปืนที่ยิงมาถูกโจทก์ทั้งสองยิงมาจากกลุ่มทหาร โดยพยานโจทก์บรรยายให้เห็นเหตุการณ์ที่โจทก์ทั้งสองประสบว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดอย่างต่อเนื่องกันมาว่า กองกำลังทหารตั้งแถวเข้ายึดคืนพื้นที่ โดยเดินมุ่งเข้ากลุ่มผู้ชุมนุม มีการยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ให้ฝ่ายผู้ชุมนุมล่าถอย เมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัว ทั้งยังได้ใช้กำลังในการขัดขวางการปฏิบัติภารกิจของฝ่ายทหาร โดยการใช้ขวดยาชูกำลังบรรจุน้ำมันจุดไฟ ซึ่งฝ่ายจำเลยเรียกว่าระเบิดเพลิงขว้างปาใส่ทหาร รวมทั้งก้อนอิฐ ก้อนหิน และอื่นๆ ทหารจึงหันมายิงในแนวระนาบ เป็นเหตุให้ฝ่ายผู้ชุมนุมแตกกระเจิงและเกิดการอลหม่านขึ้น

โจทก์ที่ 1 วิ่งหนีกลุ่มทหารตามรถแกนนำไป แต่ขณะที่กำลังหันกลับมามองกลุ่มทหารที่อยู่ด้านหลัง จึงถูกยิงที่หัวไหล่ซ้ายดังกล่าว ซึ่งเห็นว่าโจทก์ที่ 1 นำสืบได้สมเหตุสมผล และเป็นธรรมชาติ ทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าในครั้งแรกที่ทหารถืออาวุธเดินรุกเข้าหาฝ่ายผู้ชุมนุมนั้น ผู้ชุมนุมไม่ยอมล่าถอยเพราะ เห็นว่าทหารยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่เท่านั้น แต่เมื่อทหารหันกลับมายิงในแนวระนาบ เป็นปกติธรรมดาที่ผู้ชุมนุมย่อมต้องเกิดความตกใจกลัวและหนีร่นไป ดังที่โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า โจทก์ที่1 วิ่งหนีตามรถแกนนำไป และถูกยิงในขณะกำลังหันกลับมามองด้านหลัง เชื่อว่าโจทก์ที่1 เห็นว่ากระสุนปืนมาจากทิศทางใด ส่วนโจทก์ที่ 2 เบิกความให้เห็นภาพการปฏิบัติการของฝ่ายทหารได้อย่างสอดคล้องตรงกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 1 เบิกความไว้ว่า เมื่อทหารยิงปืนขู่ขึ้นฟ้าแล้วฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัว กลุ่มทหารจึงยิงปืนในระดับแนวระนาบ เป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมแตกกระเจิงและพากันวิ่งหนี เกิดการอลหม่าน ในขณะเดียวกัน กองกำลังทหารได้กระจายตัวกันเข้าโอบล้อมกลุ่มผู้ชุมนุมไว้ ในขณะนั้นโจทก์ที่ 2 เห็นผู้ชุมนุมคนหนึ่งถูกทหารยิงล้มลง จึงเข้าไปช่วยเหลือ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ถูกยิงที่หัวเข่า โจทก์ที่ 2 ตกใจกลัวร้องเรียกให้เพื่อนผู้ชุมนุมช่วยเหลือ แต่ทหารกรูกันเข้ามา โจทก์ที่ 2 กลัวถูกทำร้ายอีก จึงวิ่งกระโดดลงคูน้ำข้างถนนวิภาวดีรังสิต และเบิกความต่อไปว่ากลุ่มทหารยังไล่ปาก้อนอิฐก้อนหินและอื่น ๆ เข้าใส่โจทก์ที่ 2 จนกระทั่งมีนายทหารคนหนึ่งมาบอกให้กลุ่มหารเหล่านั้นหยุด และส่งไม้ให้โจทก์ที่ 2 เกาะขึ้นฝั่งมา

เชื่อว่าแม้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถระบุได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ยิง แต่ย่อมรู้ว่ายิงมาจากทิศทางใด และเห็นกลุ่มผู้ที่ยิงและวิ่งไล่ติดตามโจทก์ที่ 2 มาจนต้องกระโดดลงคูน้ำครำริมถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นเหตุให้ต่อมาบาดแผลของโจทก์ติดเชื้อดังปรากฏตามเอกสารเกี่ยวกับการรักษาและคำวินิจฉัยเอกสารหมาย จ.1๓ และ จ.1๔ เป็นกลุ่มทหารหรือมิใช่ และการที่โจทก์ที่ 2 ได้รับการส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ภายหลังได้หลบหนีออกไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล โดยให้เหตุผลว่าไม่มั่นใจในความปลอดภัยในการรักษาตัวในโรงพยาบาลของทหาร เพราะเหตุที่โจทก์ที่ 2 รู้ว่าตนได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของฝ่ายทหาร เชื่อว่าแม้โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ยิง แต่โจทก์ที่ 2 ย่อมรู้ว่ากระสุนปืนยิงมาจากทิศทางใด และหลังจากถูกยิงโจทก์ที่ 2 ยืนยันว่ากลุ่มคนที่วิ่งไล่ติดตามมาใช้ก้อนอิฐก้อนหินขว้างปาใส่โจทก์ที่ 2 เป็นทหาร

เมื่อฟังประกอบข้อเท็จจริงว่าฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 5 มีคำสั่งให้กองกำลังทหารซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาและสังกัดของตนตามลำดับชั้นเข้าปฏิบัติภารกิจเพื่อยึดคืนพื้นที่และเปิดผิวการจราจรในบริเวณที่เกิดเหตุในยามวิกาล ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยหลักสากล แม้จะได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งอนุญาตให้ใช้อาวุธจริงได้ในการปฏิบัติภารกิจ อันเป็นไปตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 59/2550 เรื่องกฎการใช้กำลังของกองทัพไทย ผนวก จ. เรื่องกฎการใช้กำลังเฉพาะการใช้กำลังทหารปราบปรามการจลาจลก็ตาม

แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองยืนยันว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอาวุธ และฝ่ายจำเลยมิได้โต้แย้ง ทั้งยังเบิกความตอบคำถามค้านรับว่าไม่เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมถืออาวุธปืนไม่ว่าชนิดใด โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่บุคคลที่จะเป็นเป้าหมายให้ฝ่ายทหารใช้กำลังอาวุธประจำกายต่อโจทก์ทั้งสองได้ เพราะตามกฎการใช้กำลังของกองทัพไทยตามเอกสารหมาย ล.12 ผนวก จ. ข้อ 5.8 ทหารที่ปฏิบัติการปราบจลาจลจะใช้กำลังได้เฉพาะเพื่อป้องกันตนเอง หรือป้องกันชีวิตผู้อื่นจากอันตรายใกล้จะถึงจากกลุ่มบุคคลที่มีอาวุธ เท่านั้น และการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวโดยใช้กำลังทหารติดอาวุธ โดยสภาพย่อมต้องกระทำโดยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะการใช้วิธีการดังกล่าวย่อมเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุมโดยสุจริตได้

กฎการใช้กำลังของกองทั
พไทยในภาคผนวก จ. ข้อ 5.8 ที่ให้สิทธิกองกำลังทหารที่ออกปราบปรามจลาจล มีสิทธิใช้อาวุธในการป้องกันตนเองและป้องกันชีวิตผู้อื่นให้พ้นจากอันตรายใกล้จะถึงที่เกิดจากการชุมนุมหรือการจลาจลนั้น มิได้จำกัดเฉพาะป้องกันชีวิตของทหารที่ออกปฏิบัติภารกิจหรือชีวิตประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่รวมถึงชีวิตของผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยสุจริตในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังทหารในบังคับบัญชาตามคำสั่งและในสังกัดของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้ก่อผลให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง แม้โจทก์ทั้งสองจะไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นผู้ยิงโจทก์ทั้งสองได้ แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ในฐานะเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ การตามหน้าที่และเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

เมื่อฟังได้ว่าบุคคลในกองกำลังทหารที่ออกปฏิบัติภารกิจในวันเกิดเหตุ ซึ่งพยานจำเลยที่ 2 และที่ 5 รับว่ามีเฉพาะกองกำลังทหารบกเป็นผู้ยิงโจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเพราะการนั้น จึงเป็นการเพียงพอที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดตามลำดับชั้นต้องรับผิดจากผลแห่งละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยโจทก์ทั้งสองไม่จำต้องระบุว่าทหารคนใดเป็นผู้ยิง เพราะไม่ว่าทหารคนใดในกองกำลังที่ออกปฏิบัติภารกิจในวันดังกล่าวจะเป็นผู้ยิงโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 และที่ 5 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดตามลำดับชั้นของทหารดังกล่าวย่อมมีความรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของทหารเหล่านั้นไม่แตกต่างกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท