โสภณ พรโชคชัย: แนวทางการแก้ปัญหาแฟลตดินแดง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข่าวเกี่ยวกับการรื้อแฟลตดินแดงที่มีอายุ 47 ปี (2508-2555) กำลังฮือฮากันอยู่ในขณะนี้ ดูประหนึ่งทางราชการไม่เห็นใจชาวบ้าน แต่ในความเป็นจริงแฟลตเหล่านี้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ที่ควรจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนไทยโดยรวม

ตอนแรกสร้างแฟลตดินแดงให้ชาวสลัมอยู่ ซึ่งต่อมาก็พากันขายสิทธิ์กันแทบหมด ค่าเช่าที่เช่าจากการเคหะแห่งชาติโดยตรงก็น้อยมาก ปัจจุบันคงเป็นเงินประมาณ 600 บาท  ในขณะที่ค่าเช่าตลาดที่ชาวบ้านนำไปเช่าต่ออาจสูงถึง 3,000 บาท  และในทางกายภาพสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียก็เคยระบุว่าควรรื้อถอน แม้อาคารเหล่านี้อาจไม่พังลงในทันทีแต่ก็คงในไม่ช้า อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ยังไม่มีการย้ายผู้อยู่อาศัย ก็คงเป็นเพราะยังอาจขาดแผนการโยกย้ายที่แน่ชัด และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของผู้เช่าหรือผู้เช่าช่วงจากค่าเช่าที่ต่ำมากนั่นเอง

เหตุผลของ “คนจน” ที่ไม่ยอมย้าย ได้แก่ ค่าเช่าถูก ไม่สามารถไปหาที่เช่าที่ถูกเช่นนี้ได้อีก  ค่าชดเชยไม่สามารถชดเชยวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป  อยู่มานานคุ้นเคยกับอยู่แถวนี้ และมีลูกหลานเรียนหนังสืออยู่แถวนี้  เชื่อว่าอาคารยังแข็งแรง  เกรงว่าทางราชการจะเอาที่ดินที่เป็นทำเลทองนี้ไปโกงกินหาผลประโยชน์  เหตุผลเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเช่นกัน

เหตุผลที่ควรขอให้ชาวแฟลตดินแดงย้ายออกจาก ได้แก่:

1. ที่ผ่านมา ค่าเช่าถูกมาก (ไม่เกิน 600 บาท) ยังไม่พอค่าดูแลชุมชน การเคหะแห่งชาติยังต้องแบกภาระค่าดูแลเพิ่มเติมให้อีก ดังนั้นจึงเท่ากับได้อยู่ฟรี โดยอยู่มา 42 ปี หรือ 2 ชั่วคนแล้ว สมควรที่จะคืนสมบัติของแผ่นดิน (ทรัพยากรของประชาชน) นี้แก่ส่วนรวม

2. ถ้านำแฟลตเหล่านี้ไปให้เช่าต่อ คงได้ค่าเช่าเดือนละ 3,000 กว่าบาท แสดงว่าแต่ละปี แต่ละเดือนที่ผ่านมา ผู้ครอบครองได้กำไรจากสมบัติของแผ่นดินเป็นเงินนับล้านแล้ว วันนี้จึงควร “พอ”

3. ประชาชนทั่วไปไม่เคยโชคดีได้ (อภิ)สิทธิ์ แบบนี้ เพราะต้องเก็บหอมรอมริบไปหาซื้อบ้านที่มักตั้งอยู่นอกเมืองไกล ๆ เพื่อให้ได้ราคาถูก ชาวบ้านทั่วไปต่างต้องตื่นแต่เช้าเดินทางมาทำงานหรือส่งบุตรหลานมาเรียนหนังสือในเมืองเช่นกัน

4. อาจมีบางครอบครัวในแฟลตดินแดงที่ฐานะยากจน ไปไหนไม่ได้จริง ๆ ในกรณีนี้ ถ้าเป็นคนแก่ไร้ญาติก็คงต้องสงเคราะห์กันไป แต่ถ้าเป็นครอบครัว ก็คงต้องหางาน หาสถานศึกษาให้บุตรหลานได้เรียน รวมทั้งหางานให้บุตรหลานทำเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว แต่จะมาครอบครองสมบัติของแผ่นดินไปเรื่อย คงไม่ได้

5. หากแฟลตเหล่านี้เป็นของเอกชน คงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ให้เช่าจะจ่ายค่าชดเชยถึงรายละ 400,000 บาท เงินเหล่านี้มาจากภาษีของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งควรนำไปใช้ประโยชน์แก่ส่วนรวมในทางอื่น การชดเชยเป็นเงินมากมายนี้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เสียหาย

6. ทรัพยากรของชาตินี้ควรใช้ประโยชน์ให้สมคุณค่า ในเวลานี้ที่ดินในบริเวณดังกล่าวคงมีค่าเป็นเงินตารางวาละ 200,000 บาท  ทางราชการจึงควรเอาที่ดินนี้มาใช้ประโยชน์ให้ดีที่สุด และเพื่อนำรายได้และภาษีอากรที่พึงได้รับไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศโดยรวม

7. บางท่านอาจวิตกว่า ขืนให้รัฐบาลเอาที่ดินไปใช้ประโยชน์ จะมีการโกงกินเกิดขึ้น แท้จริงแล้วการโกงป้องกันได้ด้วยกระบวนการตรวจสอบที่ดี การอ้างเรื่องโกงจนไม่ทำอะไรเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา และทำให้ประชาชนทั้งประเทศเสียประโยชน์จากการที่สมบัติของแผ่นดินถูกครอบครองโดยประชาชนเฉพาะกลุ่ม เป็นสิ่งที่ควรทบทวน

ประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยเห็นสภาพของอาคารโดยเฉพาะแฟลต 1-8 ในปัจจุบัน หากได้เห็นคงไม่กล้าย้ายเข้าไปอยู่ สภาพทางกายภาพเช่นนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หากพังลงมา จะเสียหายต่อวิชาชีพวิศวกรรมในประเทศไทย และเสียชื่อเสียงของประเทศเป็นอย่างมากที่ปล่อยให้คนอยู่ในอาคาร จนอาคารพังทลาย

ในอีกแง่หนึ่ง แฟลตดินแดงหมดอายุขัยทางเศรษฐกิจ (Economic Age) แล้ว ควรรื้อเพื่อสร้างใหม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้สูงสุด โดยอาจเป็นศูนย์การค้า สำนักงาน หรืออาคารชุดพักอาศัยในรูปแบบใดก็ได้ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างหนาแน่นในใจกลางเมืองเช่นนี้ เป็นข้อดีที่ทำให้มหานครของเราจะได้ไม่ขยายออกไปในแนวราบรอบนอกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรในการจัดหาสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยใช่เหตุ

 

สิ่งที่รัฐบาลพึงทำก็คือ

1. จัดหาที่อยู่อาศัยทดแทนเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในแฟลตดินแดงได้ย้ายออกไปอยู่

2. รื้ออาคารโดยรีบด่วนก่อนที่จะมีผู้เสียชีวิต การเคหะแห่งชาติควรใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์ที่สุด เพื่อนำรายได้และภาษีอากรมาทำนุบำรุงประเทศโดยรวม

3. ให้ความรู้แก่ผู้เช่า ให้รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ส่งเสริมให้มีจริยธรรม ไม่เอาเปรียบสังคม และหากขาดแคลนไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ตามอัตภาพ ก็อาจได้รับการสงเคราะห์ตามควรจากรัฐบาล

4. ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ให้ช่วยกันปกป้องสมบัติของแผ่นดินเอง อย่าปล่อยให้ใครโกง ทั้งผู้บริหารของหน่วยราชการ นักการเมือง หรือแม้แต่ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ครอบครองใช้สอยอยู่

5. ควรให้ผู้อยู่อาศัยลงนามในบันทึกความเข้าใจว่า หากอาคารพังทลายลงมาและเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้อยู่อาศัยเอง จะไม่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทางราชการซึ่งได้เตือนล่วงหน้าแล้ว

ทางราชการควรนำสมบัติของแผ่นดินมาใช้สอยเพื่อประโยชน์แก่มหาชนชาวไทยทั้งมวล

 

ผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท