Skip to main content
sharethis

นักวิชาการชี้ขาดความน่าเชื่อถือ-ไม่เป็นธรรม จี้ยิ่งลักษณ์เดินหน้าโฉนดชุมชน-แก้ปัญหาที่ดินตามนโยบาย หวั่นครม.สัญจรกาญจน์อนุมัติงบ50ล้านบุกปราบซ้ำเติม

 


 
บุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เปิดเผยว่า วันที่ 28 พฤษภาคม 2555 นี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด องค์กรชุมชนบ้านพรสวรรค์ จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ มูลนิธิอันดามัน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบการนำแบบจำลองคณิตศาสตร์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือแบบจำลองคดีโลกร้อนที่นักวิชาการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการฟ้องร้องกับเกษตรกรและชุมชนที่มีพื้นที่พิพาททับซ้อนเขตป่าทั่วประเทศประมาณ 200 คน จะเดินทางไปที่ศาลปกครอง เพื่อยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ โดยให้เพิกถอนคำสั่งการใช้แบบจำลองดังกล่าว  เพราะการคำนวณค่าความเสียหายขาดความน่าเชื่อถือ และชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
บุญ เปิดเผยต่อไปว่า จากการให้ความคิดเห็นทางวิชาการอิสระด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ 16 คน ถึงข้อมูลผลการประเมินรายงานวิจัยแบบจำลองเพื่อค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือแบบจำลองคดีโลกร้อนของกรมอุทยานฯ ระบุว่ารายงานวิจัยดังกล่าวยังไม่เคยผ่านการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง คุณภาพของงานวิจัยอยู่ในระดับไม่น่าพอใจ รายงานวิจัยยังไม่เหมาะสมมีข้อต้องปรับปรุงหลายประการ และนักวิชาการเกือบทั้งหมดสรุปว่าผลการประเมินโดยรวมแล้วผลงานวิจัยอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ได้เปิดเผยอีกว่า จากนั้นเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และชาวบ้านทั้งหมดจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เร่งรัดให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และเรียกร้องให้ดำเนินการสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน ตามที่ได้แถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555  ในข้อ 5.4 ระบุว่ารัฐบาลจะสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปการจัดการที่ดินจะเกิดขึ้นได้จะต้องทำให้เกิดการกระจายสิทธิในที่ดินอย่างยั่งยืน แนวทางสำคัญคือจะใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย จะผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล จะทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน
 
“มติคณะรัฐมนตรีสัญจรวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 ที่จังหวัดกาญจนบุรีมีการอนุมัติงบประมาณ 50,128,000 บาท เพื่อดำเนินการตามโครงการปราบปรามการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ต้นน้ำลำธารเพื่อปลูกไม้ยางพาราในท้องที่จังหวัดภาคใต้ ให้กรมอุทยานฯ ซึ่งก่อนหน้านี้กรมอุทยานฯ ได้บุกตัดฟันต้นยาง รื้อสะพาน และจับชาวบ้านที่นำหมากแห้ง เห็ดแครง ชุมชนในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดที่นำร่องดำเนินการโฉนดชุมชน”  ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด   กล่าว
 
สำหรับแบบจำลองคณิตศาสตร์ประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือแบบจำลองคดีโลกร้อนที่นักวิชาการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้เป็นหลักในการเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งจากเกษตรกร ประกอบด้วย
 
1.การทำให้ธาตุอาหารในดินสูญหาย คิดค่าเสียหาย 4,064 บาท/ไร่/ปี เป็นการคิดค่าใช้จ่ายในการซื้อแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ขึ้นไปโปรยทดแทน
 
2.ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาท/ไร่/ปี
 
3.ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาท/ไร่/ปี คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงความสูงของน้ำจาก 3 ส่วน คือ น้ำที่ดินไม่ ดูดซับน้ำจากการระเหย และฝนตกน้อยลง คิดเป็นปริมาตรน้ำทั้งหมดต่อพื้นที่ 1 ไร่ แล้วคิดเป็นค่าจ้างเหมารถบรรทุกเอาน้ำไปฉีดพรมในพื้นที่เดิม
 
4.ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรทุกดินขึ้นไปและปูทับไว้ที่เดิม
 
5.ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาท/ไร่/ปี คำนวณจากปริมาตรของอากาศในพื้นที่ที่เสียหายเอามาคูณด้วยความหนาแน่น (1.153 คูณ 10-3 ตัน/ลูกบาศก์เมตร) เพื่อหามวลของอากาศ แล้วใช้มวลหาปริมาณความร้อนที่ต้องปรับลด หลังจากนั้นเอาจำนวน B.Th.U. ของเครื่องปรับอากาศขนาด 1 ตัน (3,024,000 แคลอรี่/ชั่วโมง) มาหารเพื่อจะได้รู้ว่าต้องใช้เครื่องปรับอากาศเท่าไหร่ แล้วคิดค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับเดินเครื่องปรับอากาศเพื่อให้อุณหภูมิของอากาศเย็นลงเท่ากับพื้นที่ป่าปกคลุม
 
6.ทำให้ฝนตกน้อยลง คิดเป็นค่าเสียหาย 5,400 บาท/ไร่/ปี
 
7.มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่า 3 ชนิด คือ การทำลายป่าดงดิบค่าเสียหายจำนวน 61,263.36 บาท การทำลายป่าเบญจพรรณค่าเสียหายจำนวน 42,577.75 บาท และการทำลายป่าเต็งรังค่าเสียหาย 18,634.19 บาท
 
เมื่อนำค่าเฉลี่ยของมูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่า 3 ชนิด มีค่าเท่ากับ 40,825.10 บาท/ไร่/ปี มารวมกับมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม 1-6 จำนวน 110,117.60 บาท/ไร่/ปี รวมมูลค่าทั้งหมดเท่ากับ 150,942.70 บาท/ไร่/ปี แต่เพื่อความสะดวกของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาท/ไร่/ปี
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net