Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 เมื่อสนามบอลกลายเป็นสนามอุดมการณ์: ว่าด้วยการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปและการต่อสู้ทางการเมือง

ใน ค.ศ. 2012 นอกเหนือไปจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน (Summer Olympics) ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ยังมีการแข่งขันทางกีฬาอีกรายการที่ได้รับความสนใจในระดับโลก การแข่งขันกีฬาข้างต้นคือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (The European Championship) หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นชินว่าบอลยูโร ที่จัดโดยเจ้าภาพร่วมโปแลนด์ (Poland) และยูเครน (Ukraine)

การแข่งขันฟุตบอลแห่งชาติยุโรปในครั้งนี้ไม่เพียงได้รับความใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลการแข่งขัน หรือนักฟุตบอลและผู้จัดการทีมที่ลงทำศึกในสังเวียนผืนหญ้าในตลอดเวลาเกือบหนึ่งเดือน แต่การแข่งขันครั้งนี้ยังได้รับการจับตาในประเด็นของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศยูเครนที่เป็นเจ้าภาพร่วม ประเทศยูเครนที่ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมกดดันให้ทีมชาติที่ผ่านรอบคัดเลือกทำการบอยคอตไม่เข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อเป็นการประท้วงที่รัฐบาลยูเครนได้ดำเนินมาตรการทางการเมืองที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ได้รับความสนใจจากสื่อในยุโรปตะวันตกมากคือ การคุมขังผู้นำทางการเมืองของพรรคคู่แข่ง ยูเรีย ติโมเชนโก (Yulia Tymochenko) ที่ทำการประท้วงรัฐบาลด้วยการอดอาหารในที่คุมขังด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ทำให้นิตรสารการเมืองหัวเสรีนิยมอย่าง The Economist แสดงความเห็นว่ายูเครนได้เปลี่ยนจากประเทศประชาธิปไตยมาเป็นระบบอำนาจนิยม [1]

ประเทศที่แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจนคือประเทศเยอรมัน ดังเห็นได้จากคำประกาศของนาย เดิร์ก นีเบล (Dirk Niebel) รัฐมนตรีการพัฒนาที่มีเนื้อความว่าการบอยคอตฟุตบอลยูโรครั้งนี้เป็นการส่งสาสน์ทางการเมืองให้ยูเครนทบทวนมาตรการทางการปกป้องสิทธิมนุษยชนให้เข้าใกล้มาตรฐานของชาติตะวันตกมากขึ้น [2] หรือการที่กัปตันทีมชาติเยอรมันอย่าง ฟิลิป ลาห์ม (Philip Lahm) ที่ประกาศกร้าวถึงกรณีของการแข่งขันฟุตบอลในยูเครนว่า “พวกเรา (ทีมชาติเยอรมัน) เป็นตัวแทนของเยอรมัน เรายืนข้างสังคมประชาธิปไตย และคุณค่าต่างๆ เช่นความเสมอภาค การยอมรับความแตกต่าง และความเป็นหนึ่งเดียว” และลาห์มยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์ในยูเครนตอนนี้ ไม่มีอะไรที่ตรงกับความคิดของเขาในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน เช่นเสรีภาพส่วนบุคคล หรือเสรีของสื่อ และเขายังรู้สึกดีใจที่คณะรัฐมนตรีของเยอรมันมีท่าทีที่ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศเจ้าภาพ [3]

อย่างไรก็ตาม มาตรการการบอยคอตไม่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ยูเครนก็ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ เพราะการบอยคอยการแข่งขันอาจไม่ได้ส่งผลอะไรต่อสถานการณ์ทางการเมืองในยูเครนเลย วารสาร Financial Times ได้ยืนกรานว่าการบอยคอตการแข่งขันกีฬายากที่จะเกิดผลใดๆ ขึ้น เช่นกรณีการบอยคอตกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่จัดในสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1980 เพื่อประท้วงการส่งกำลังทหารรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียต การบอยคอตในครั้งนั้นมีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม การให้การแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ยูเครนดำเนินต่อไปอาจทำให้ปัญหาต่างๆ ในยูเครนได้มีโอกาสถ่ายทอดไปไกลกว่าพรมแดนประเทศได้ [4]

บอลยูโรที่ยูเครนไม่ได้เป็นครั้งแรกที่การแข่งขันฟุตบอลในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง เหตุการณ์ที่แสดงถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการเมืองและฟุตบอลเกิดขึ้นตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งแรก (ค.ศ. 1960) ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ เหตุการณ์ข้างต้นคือการที่นายพลฟรังโกที่เป็นผู้นำเผด็จการทหารของสเปนในขณะนั้น ปฏิเสธการส่งทีมชาติสเปนลงแข่งกันกับทีมสหภาพโซเวียตในรอบแปดทีมสุดท้าย เนื่องจากโซเวียตได้สนับสนุนสาธารณรัฐสเปนที่สอง (Second Spanish Republic) ที่เป็นกลุ่มต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War) [5]

หรือในกรณีของเทพนิยายเดนส์ที่เป็นเรื่องเล่าของการผงาดเป็นผู้ชนะการแข่งขันฟุตบอลยุโรปที่จัดขึ้นในสวีเดนใน ค.ศ. 1992 อย่างพลิกความคาดหมาย แน่นอนชัยชนะของเดนมาร์กครั้งนั้นต้องยกความดีความชอบให้ผู้จัดการทีมอย่าง ริชาร์ด โมลเลอร์ นีลเซน (Richard Moller Nielsen) และนักเตะคนสำคัญอย่างปีเตอร์ ชไมเคิล (Peter Schmeichel) หรือไบรอัน เลาดรูป (Brian Laudrup) แต่ชัยชนะของเดนมาร์กไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ถ้าทางสมาคมฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่า (UEFA) ไม่ได้ทำการตัดสิทธิ์ทีมชาติยูโกสลาเวียออกจากการแข่งขันบอลยูโรในครั้งนั้น เหตุผลที่ยูฟ่าตัดสิทธิทีมชาติยูโกสลาเวียคือการเกิดขึ้นของสงครามกลางเมืองในประเทศยูโกสลาเวีย ทำให้ยูฟ่าตัดสินใจให้เดนมาร์กเป็นผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันแทน [6]

ยิ่งไปกว่านั้น เงื่อนไขทางการเมืองไม่ได้ส่งผลต่อการแข่งขันฟุตบอลยุโรปเพียงแค่เรื่องของการตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันของทีมชาติต่างๆ หรือตัดสิทธิ์การแข่งขัน แต่เงื่อนไขทางการเมืองยังส่งผลต่อจำนวนทีมที่เข้าร่วมในการแข่งขันฟุตบอลยูโรรอบคัดเลือก ตัวอย่างที่ชัดเจนสามารถเห็นได้ในช่วงสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นที่อดีตสหภาพโซเวียตและอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกเช่น ยูโกสลาเวียและเชคโกสโลวาเกียได้แตกออกเป็นรัฐอิสระใหม่ขึ้นมาอย่างมากมาย ทำให้จำนวนทีมที่ลงเล่นในรอบคัดเลือกมีจำนวนเพิ่มขึ้น ดังเช่นการแข่งขันฟุตบอลยูโรใน ค.ศ. 1996 ที่มีทีมชาติลงเล่นในรอบคัดเลือกถึง 47 ทีม [7] เพิ่มขึ้นจากจำนวน 32 ทีม ในค.ศ. 1984 [8]

จากข้อมูลข้างต้น การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปมีความข้องเกี่ยวกับเงื่อนไขทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะในด้านหนึ่งแล้ว ทีมชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันของประเทศต่างๆ เป็นเสมือนตัวแทนหรือภาพลักษณ์ของประเทศ การกระทำของทีมชาติจึงสื่อถึงมุมมองหรือจุดยืนของประเทศที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศเจ้าภาพ (หรือตัวผู้นำของประเทศ อย่างกรณีของสเปนในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งแรก) และในอีกด้านหนึ่ง ทีมชาติอาจถูกตัดสิทธิจากการแข่งขันก็ได้ ถ้าทางสมาคมฟุตบอลยุโรปเห็นว่ารัฐบาลได้กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องในทางการเมือง หรือแม้กระทั่งจำนวนทีมที่เข้าร่วมคัดเลือกเข้าแข่งขันยังไปเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของรัฐชาติใหม่ แต่ผู้เขียนก็ยังมีคำถามทิ้งท้ายว่า ถ้าเกิดประเทศไทยเกิดจับพัดจับพลูได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเอเชีย ประเทศที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยจะทำการบอยคอตประเทศไทยหรือไม่ หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศเหล่านั้นหรือไม่ หรือถ้าประเทศไทยเกิดฟลุคได้เข้าไปแข่งขันในการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติ (ที่ไม่ใช่ซีเกมส์) ที่จัดขึ้นในประเทศเจ้าภาพที่หย่อนยานในเรื่องของการปกป้องสิทธิมนุษยชน นักฟุตบอลไทยหรือผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมืองจะกล้าแสดงความเห็นวิจารณ์แบบตรงไปตรงมา อย่างที่ ฟิลิป ลาห์มทำไหม หรือพวกเขาจะไม่แสดงความเห็นอะไร นอกจากให้เคารพถึงเอกลักษณ์ของแต่ละชาติ

 

อ้างอิง:

  1. The Economit, 2012. Body Blow. viewed 27/05/2012
  2. EUbusiness, 2012. German Minister says will boycott Ukraine 2012. viewed 27/05/2012
  3. Lahm, P., 2012. ‘We Stand for Democratic Society’. viewed 27/05/2012.
  4. Financial Times, 2012. EURO 2012 Cannot be Political Football. Viewed 27/05/2012.
  5. World Soccer, 2012. 1960 France: Soviets Claim First title. G. Hamilton, ed. 2012. History of the European Championship: Star Players, Great Teams and Memorable Player. London: IPC.
  6. Chowdbury, S., 2012. Euro 1992: Denmark’s Fairytale. viewed 27/05/2012.
  7. World Soccer, 2012. 1996 England: German Strike Gold in 16-Team Tournament. G. Hamilton, ed. 2012. History of the European Championship: Star Players, Great Teams and Memorable Player. London: IPC.
  8. World Soccer, 2012. 1984 France: Imperious Platini Inspires Hosts to Victory. G. Hamilton, ed. 2012. History of the European Championship: Star Players, Great Teams and Memorable Player. London: IPC.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net