Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

(ภาพจาก Facebook: Abhisit Vejjajiva)

 

คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรกับภาพที่เกิดขึ้น หญิงหนึ่งชายหนึ่งจับมือกันในห้องรับรอง  หากแต่ภาพดังกล่าวคือนาง อองซาน ซูจี กับผู้ชายนายหนึ่งที่มีนามว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อาทิตย์นี้คงเป็นบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประเทศไทยและของโลก เป็นความภาคภูมิใจของประชาชนผู้รักและศรัทธาในประชาธิปไตยกับการที่นางอองซาน ซูจี ตอบรับเข้าร่วมการประชุมระดับโลกอย่าง World Economic Forum ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2012 การเยือนประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งต่อประชาชนคนไทย เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเข้าร่วมการประชุมเวทีผู้นำระดับโลกธรรมดา แต่นี่เป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในรอบ 24 ปี ของนางอองซาน ซูจี เลยทีเดียว เป็นเหตุการณ์ที่สื่อทั่วโลกจับตามอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่ว่านางอองซาน ซูจี จะไปที่ไหนจะมีสื่อมวลชนมากมายตามไปทุกที่

เพียงย่างก้าวแรกที่เท้าเธอสัมผัสผื่นแผ่นดินไทย นางอองซาน ซูจี ก็ได้สร้างรอยยิ้มและความประทับใจให้กับคนไทยและผู้สื่อข่าวที่รอต้อนรับเธอที่สนามบินสุวรรณภูมิในทันทีด้วยรอยยิ้มที่บริสุทธิ์ จริงใจ พร้อมกับการโบกมือทักทายอย่างเป็นกันเอง

ยิ่งกว่านั้น ภารกิจแรกที่เธอเลือกที่จะทำ คือ การไปพบปะแรงงานพม่าในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครในเช้าวันรุ่งขึ้น จากข้อเท็จจริงคงจะมีผู้นำระดับโลกไม่น้อยที่ต้องการนัดพบปะเธอเป็นการส่วนตัว แต่เธอเลือกที่จะไปพบกับประชาชนผู้เป็นที่รัก ประชาชนชาวพม่าที่หลายคนเคยเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแต่ปัจจุบันเป็นเพียงผู้พลัดถิ่น ด้อยเกียรติ ด้อยศักดิ์ศรี เป็นคนขายแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม แม้แต่คนไทยเองหลายต่อหลายคนยังเหยียดถึงความด้อยค่าความเป็นมนุษย์ต่อแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ดังนั้น ภารกิจแรกนอกประเทศครั้งนี้ได้สะท้อนถึงความห่วงใยประชาชนชาวพม่าพลัดถิ่นในฐานะมนุษย์ที่มีคุณค่ายิ่งในสายตาของคนบางคนจนก่อให้เกิดกระแสในหมู่คนไทยเอง กระทั่งมีคำกล่าวว่า "ถ้าไม่ใช่ผู้นำที่คิดถึงแต่ประชาชนคงคิดไม่ได้เช่นนี้" 

อองซาน ซูจี บุตรีคนสุดท้องของนางดอว์ ขิ่นจี มารดา กับนายพลอู ออง ซาน บิดา ผู้ซึ่งเป็นผู้นำการต่อสู้ต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นและปลดแอกอาณานิคมจากอังกฤษจนพม่าได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม 1948 

ซูจีเกิดและใช้ชีวิตอยู่ที่พม่าจวบจนบิดา นายพลออง ซาน ถูกสังหารในปี 1947 ก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราช หลังจากนั้นมารดาได้ย้ายไปทำงานที่อินเดียซึ่งซูจีก็สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่นั่น ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อในสาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ที่เซนต์ฮิวจ์คอลเลจ  มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในช่วงเวลาดังกล่าวเธอได้พบกับนายไมเคิล อริส (Michael Aris) ซึ่งเป็นนักวิชาการชาวอังกฤษ ทั้งสองแต่งงานกันและมีบุตรชายด้วยกันสองคน

ในปี 1988 ด้วยวัย 43 ปี ซูจี เดินทางกลับพม่าเพื่อมาดูแลมารดาที่กำลังป่วยหนัก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พม่าตกอยู่ในภาวะวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศของนายพลเนวิน ผู้นำประเทศในขณะนั้น การเรียกร้องประชาธิปไตยโดยกลุ่มนักศึกษาและประชาชนเรือนแสนเริ่มขยายจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป และในวันที่ 26 สิงหาคม 1988 นี้เอง ซูจีได้กล่าวปราศัยครั้งแรกต่อหน้ามวลชนกว่า 5 แสนคน ประมาณหนึ่งเดือนต่อมา เธอได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD โดยพรรคของเธอชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายในปี 1989 

ในขณะที่ประชาชนเรียกร้องให้มีรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ผู้นำทหารกลับสั่งปราบปรามการชุมนุมโดยใช้กองกำลังติดอาวุธ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหลายพันคน

ในปี 1989 เผด็จการทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกสั่งกักตัวซูจีที่บ้านพักเป็นเวลา 3 ปี และภายหลังได้ขยายเป็น 5 ปี เนื่องจากซุจีปฏิเสธการออกนอกประเทศเพื่อไปใช้ชีวิตที่เรียบง่ายกับสามีและบุตรที่ประเทศอังกฤษ เหตุสืบเนื่องมาจากการที่พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งในปีดังกล่าว แต่รัฐบาลเผด็จการทหารปฏิเสธที่จะโอนถ่ายอำนาจให้ และต่อมายังเพิ่มโทษอีก 1 ปีโดยไม่มีข้อกล่าวหา หลังจากนั้นเธอยังถูกกักบริเวณและจำกัดสิทธิอย่างไม่เป็นธรรมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเรื่อยมา

การต่อสู้กับเผด็จการทหารเพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างยาวนาน แม้ช่วงชีวิตการต่อสู้ของเธอจะต้องพรากจากสามีและบุตรชายทั้งสอง กระทั่งเธอได้ทราบว่าสามีผู้เป็นที่รักป่วยด้วยโรคมะเร็งแต่เธอก็ไม่มีโอกาสดูแลจนนายไมเคิลสามีได้เสียชีวิตลงในปี 1999 แต่การต่อสู้ของเธอเพื่อประชาธิปไตยไม่ได้จบลงไปพร้อมกับการเสียชีวิตของสามีเธอแต่อย่างใด

บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในพม่าและการคุมคามต่อผู้คัดค้านทั้งที่เสียชีวิตและถูกจับกุมคุมขัง แม้การข่มขู่เอาชีวิตทั้งต่อกลุ่มที่ร่วมขบวนการและต่อตัวเธอเอง แต่ใบหน้าที่มุ่งมั่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงปรารถนาเพื่อประชาธิไตยกับการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารได้ปรากฎเด่นชัดอีกครั้ง ด้วยภาพถ่ายใบหน้าที่นิ่งไม่สะทกสะท้านต่อความกลัวและความเจ็บปวดที่รายล้อม ท่ายืนแผ่ฝ่ามือขวาพร้อมเขียนชื่อนักโทษการเมือง Soe Min Min (นักโทษการเมืองผู้ถูกจับกุมและคุมขังเป็นเวลา 8 ปี เนื่องจากการอฐิษฐานให้นางซูจีได้รับการปล่อยตัว) ในการเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหารปล่อยตัวนักโทษการเมืองจนเป็นกระแสทั่วโลก ท่าเลียนพระพุทธรูปปางประทานอภัยหรือปางห้ามญาติ (Abhaya) เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายของการปกป้อง สินติสุข และการขับไล่ความกลัว เป็นลักษณะเดียวกันกับที่คนไทยนำมาใช้เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวอากงในคดีหมิ่นฯ

(ภาพจากเว็ปไซต์ http://thuctu.blogspot.com)

 

ซูจีถูกจองจำหลายต่อหลายครั้งจากการใช้อำนาจของเผด็จการทหาร ทั้งห้ามเธอปราศัย พบปะฝูงชน แต่เธอก็ยังต่อสู้ด้วยสันติวิธีด้วยการเขียนจดหมาย ภาพถ่าย และการบันทึกวีดีโอเพื่อสื่อสารต่อรัฐบาลทหารพม่าตามข้อเรียกร้องของเธอ แต่การกระทำทั้งปวงไม่ได้รับการตอบรับจากผู้นำทหารแต่อย่างใด ตลอดการถูกจองจำได้มีกระแสการเรียกร้องจากนักเคลื่อนไหวทั่วโลกเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในพม่าและเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอเป็นอิสระเป็นเวลานานกว่าสองทศวรรษ การเรียกร้อง แทรกแซง และการคว่ำบาตรจากผู้นำประเทศต่างๆ เช่น ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และการเข้าพบผู้นำทหารพม่าของเลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มุน 

ในปี 2010 เริ่มมีการผ่อนปรนมาตราการต่างๆ ตามนโยบายใหม่ของรัฐบาลพม่า กระทั่งปลายปีเดียวกันนี้เองเธอได้รับการปล่อยตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมกับบรรยากาศใหม่ของการเปิดประเทศและการตอบรับต่อการปรับตัวต่อสังคมประชาธิปไตยทั่วโลกจนนำมาสู่การเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปีของเธอในวันนี้ 

อองซาน ซูจี กับพรรค NLD ผู้มีชัยเหนือการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1989 และชัยชนะล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาในการเลือกตั้งซ่อม โดยพรรค NLD ของเธอได้ที่นั่งในสภาถึง 43 ที่นั้งจากที่มีการเลือกตั้งทั้งหมด 45 ที่นั่งซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมของเธอที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของพม่าในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 ซึ่งอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของพม่าอีกครั้ง

แม้การต่อสู้กับเผด็จการทหาร เธอจะต้องถูกข่มเหง ข่มขู่ จนบางครั้งถึงขั้นเสียงต่อการเสียชีวิต แต่เมื่อเธอได้รับอิสระภาพ เธอไม่เพียงไม่คิดที่จะแก้แค้นแต่เธอยังมุ่งทำหน้าที่ “เพื่อให้เกิดการปรองดอง” ของคนในชาติพม่าอย่างจริงใจ

อองซาน ซูจี สตรีผู้เปี่ยมไปด้วยเกียรติยศที่ล้วนมาจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าอย่างยาวนาน นักสู้ต่อผู้ต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารอย่างไม่เกรงกลัว เธอไม่เคยย่อท้อแม้จะถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมมาเป็นเวลายาวนาน คำว่า สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย คือสิ่งที่ผู้หญิงคนนี้ยืนหยัดต่อสู่อย่างกล้าหาญ การเป็นตัวตนที่แท้จริงของเธอจนได้รับการเสนอชื่อให้้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 1991 ซึ่งเธอจะเดินทางไปรับรางวัลดังกล่าวที่เมืองออสโล ประเทศนอรเวย์ ในวันที่ 16 มิถุนายนที่จะถึงนี้

สำหรับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชื่อนี้คงไม่ต้องบรรยายถึงสรรพคุณสำหรับบุคคลที่คร่ำหวอดในวงการการเมือง ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนของไทย แม้ว่าทั้งสองคนจะสำเร็จการศึกษาจากสถาบันเดียวกัน แต่เมื่อกล่าวถึงบทบาทของศิษย์เก่าสถาบันอันทรงเกียรตินี้ คงจะอดตั้งคำถามต่อจุดยืนของศิษย์เก่าสัญชาติไทย(?)คนนี้ไม่ได้

นับแต่เกิดการทำรัฐประหารโดยอำนาจทหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2006 หรือ 19 กันยา 49 มีการกระทำและการออกกฎหมายแบบเผด็จการหลายต่อหลายฉบับ แต่นายอภิสิทธิ์คนนี้ไม่เคยออกมาตอบโต้การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและความไม่ชอบธรรมของเผด็จการทหารเลยแม้แต่ครั้งเดียว ยิ่งกว่านั้น การจัดตั้งรัฐบาลเนื่องจากความร่วมมือของฝ่ายตุลาการและการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองของพรรคเล็กอันก่อคุณูปการใหญ่หลวงยิ่งต่อการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคนนี้ให้ได้เป็นนายกฯ สมใจ ก็โดยการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารนั่นเอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้แพ้การเลือกตั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ที่รักษาความเสมอต้นเสมอปลายในรูปแบบการขับเคลื่อนทางการเมืองมากว่า 66 ปี กับสไตล์การเล่นการเมืองที่มุ่งทำลายฝ่ายตรงข้ามในทุกรูปแบบ การกลับคำแบบไม่มีจุดยืนเป็นที่ประจักษ์ นี่ยังไม่รวมหลายต่อหลายกรณีที่ตนออกมาโจมตีพรรคฝ่ายตรงข้ามว่าใช้นโยบายประชานิยม ในขณะที่ตนเองเมื่อคราวได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลก็มีนโยบายอภิมหานิยมแจกแถมอย่างทั่วหน้า นี่ยังไม่รวมกรณี(เกือบจะ)ล่าสุดที่ลูกพรรคใช้ข้อมูลที่พิสูจน์ไม่ได้ดูหมิ่นเหยียดหยามต่อการเป็นสตรีเพศของ นายกฯนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกรณีที่ นายณัฎฐ์ บรรทัดฐาน ลูกพรรคอีกคนดูภาพโป้กลางสภาอันทรงเกียรติซึ่งเป็นการลดทอนเกียรติยศและศักดิ์ศรีของสตรีเพศในที่สาธารณะที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างน่าละอาย แต่นายอภิสิทธิ์ก็ไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำหรือหัวหน้าพรรคแต่อย่างใด ล่าสุด(จริงๆ)จากกรณีการแสดงมารยาทคัดค้านการเลื่อนร่าง พรบ.ปรองดองฯ ขึ้นมาพิจารณาของสภาทำให้เกิดความวุ่นวายที่ได้รับการประณามว่าเป็นความ “ถ่อย” นี่ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือยัง

แม้ว่าปัจจุบันทั้งอภิสิทธิ์และซูจีจะมีจุดยืนทางการเมืองร่วมกันในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน แต่สำหรับอนาคตนั้นคงเดาได้ไม่ยากว่าทั้งคู่จะยืนอยู่บนจุดที่แตกต่างกันเพียงไรบนเส้นทางการเมืองของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ ผู้เขียนคงไม่มีเจตตนาที่จะถากถางหรือดูหมิ่นเพื่อให้คุณอภิสิทธิ์หรือพรรคประชาธิปัตย์ต่ำต้อยด้อยค่าประการใด เพียงแต่อยากทวงถามถึงจุดยืนทางการเมืองในฐานะประชาชนคนหนึ่งว่า โดยมโนธรรมสำนึกของคุณอภิสิทธิ์ที่เล่นการเมืองนั้น มีจุดยืนเพื่อ สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ดังเช่นที่นางอองซาน ซูจี ยืนหยัดและพร้อมที่จะแลกมาด้วยชีวิตหรือไม่ หากคำตอบคือ “ไม่” ผู้เขียนจะขอยกย่องหากคุณอภิสิทธิ์จะยอมรับว่าคุณไม่สามารถทำหน้าที่เช่นนั้นได้และเลือกที่จะเดินออกจากเส้นทางอาชีพนักการเมืองเพื่อไปทำอาชีพอื่นที่เหมาะสมยิ่งกว่า ไม่ใช่เอาตัวเองมาอยู่บนหน้าสื่อเคียงคู่กันบุคคลที่คนทั่วโลกยกย่องในความศรัทธาต่อสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยเช่นนี้

การเป็นผู้นำทางการเมืองที่ดีไม่ใช่คนที่จะต้องสะอาดบริสุทธิ์ไร้มลทินอย่างที่คุณอภิสิทธิ์พยายามที่จะเป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ผู้นำที่ดีคือบุคคลที่ถ่อมตัวลงยอมรับความผิดพลาดและเรียนรู้เพื่อที่จะแก้ไข และมุ่งทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างจริงใจ ผู้นำคือผู้ที่ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนอย่างกล้าหาญเพื่อความถูกต้องชอบธรรมในทุกๆ สถานการณ์ คำถามวันนี้ต่อคุณอภิสิทธิ์ คือ ท่ามกลางความขัดแย้งของสังคม การมีอำนาจแทรกแซงจากภายนอก กฎหมาย กฎเกณฑ์ที่ยังไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย “อะไรคือจุดยืนทางการเมืองของคุณอภิสิทธิ์”

แม้ครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ทั้งสองคนได้พบกัน เพราะนายอภิสิทธิ์และคณะเคยบินไปพบกับนางอองซาน ซูจี ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่าเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้วครั้งหนึ่ง เช่นนี้ผู้เขียนก็แอบหวังลึกๆ ว่า ในโอกาสที่ดีที่คุณอภิสิทธิ์ได้พบปะพูดคุยกับผู้นำระดับโลกอย่างนางอองซาน ซูจี ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตย (Democracy icon) อย่างที่ผู้นำระดับโลกหลายต่อหลายคนอยากมีโอกาสเช่นนี้บ้างแต่ไม่มีโอกาส ก็หวังว่าการพบปะถึงสองครั้งนี้คงจะทำให้คุณอภิสิทธิ์ได้เรียนรู้ ซึมซับถึงอุดมการณ์ ความกล้าหาญ จิตใจที่เด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง จิตสำนึกความรักต่อประชาธิปไตย และความรักที่มีต่อประชาชนของหญิงเหล็กผู้นี้บ้าง หรือว่าคุณอภิสิทธิ์อาจจะไม่รู้จริงๆ ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่

ก็ยังหวังอีกว่านี่คงไม่ใช่การเข้าพบเพื่อให้มีพื้นที่สื่อทั่วโลกเพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเองของนายอภิสิทธิ์แต่อย่างใด เพราะหากเป็นเช่นนั้นอาจจะก่อให้เกิดคำถามที่ตอบลำบากสำหรับคนไทยหากถูกชาวต่างชาติถามว่า “Who is this guy?”

หากเป็นเช่นนั้น ภาพที่ปรากฏนี้อาจจะต้องเป็นภาพที่ผู้ปกครองของอนุชนรุ่นหลังจะต้องให้คำแนะนำและทำความเข้าใจในการชมภาพดังกล่าวอย่างระมัดระวังยิ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสำคัญผิดในสาระสำคัญจากภาพที่จะให้มองอย่างไรก็ไม่เข้ากันในองค์ประกอบ ซึ่งผู้เขียนก็ได้แต่ภาวนาว่าคงจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง เพราะผู้นำทางการเมืองของไทยนั้นให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ของประชาชนชาวสยาม โดยคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยอย่างดียิ่ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net