ถอดคำตอบจากคำพิพากษาว่าด้วย‘ตัวกลาง’ กับ ‘ความมั่นคง’ บันทึกคดีฉบับ ilaw

 ที่มา: http://freedom.ilaw.or.th/th/case/112

30 พฤษภาคม 2555

 

ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีผู้ให้บริการเว็บบอร์ดประชาไท 
ศาลนัดอ่านคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดี 910 ซึ่งเป็นห้องขนาดที่ผู้สังเกตการณ์คดีสามารถเข้าฟังได้ประมาณ 30 คน แต่เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ร่วมฟังคำพิพากษาราว 120 คน เพียงแค่เวลาประมาณ 9.30 น. ที่นั่งภายในห้องพิจารณาคดี 910 ก็เต็ม มีผู้เข้าฟังยืนอยู่ในห้องและหน้าห้องเป็นจำนวนมาก ทนายความจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ศาลเพื่อขอใช้ห้องพิจารณาคดีที่ใหญ่ขึ้น เจ้าหน้าที่ศาลไปเดินเรื่องสักพักก่อนกลับมาแจ้งว่าสามารถย้ายไปใช้ห้อง พิจารณาคดี 704 ได้ ซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่ มีเครื่องขยายเสียง 

เวลาประมาณ 9.45 น. จำเลย ทนายความ และผู้สังเกตการณ์คดีทุกคนจึงเดินไปยังห้องพิจารณาคดี 704 ภายในห้องพิจารณาคดีมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลอยู่ทั้งภายในและ ภายนอกห้อง 4-5 คน เจ้าหน้าที่ศาลเดินตรวจผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์พร้อมประกาศว่า ให้ผู้ที่พับแขนเสื้อปลดแขนเสื้อออก ให้ปิดโทรศัพท์มือถือ และห้ามมิให้นั่งไขว่ห้าง

ผู้พิพากษากำพล รุ่งรัตน์ พร้อมด้วยผู้พิพากษานิตยา แย้มศรีขึ้นบัลลังก์เมื่อเวลา 10.11 น. ฝ่ายโจทก์และอัยการไม่ได้มาศาล 

ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาผ่านเครื่องขยายเสียง ระบุว่า คดีดังกล่าวโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ หรือ “เว็บมาสเตอร์” ประชาไท จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความที่มีเนื้อหาดูหมิ่นกษัตริย์ ราชินี และรัชทายาท อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จำนวน 10 กระทู้ (ในที่นี้ จะอ้างถึงสิบกระทู้ดังกล่าว โดยใช้คำว่า เอกสารหมาย จ.23-32) 

จำเลยให้การปฏิเสธ 

รายละเอียดคำพิพากษาสรุปได้ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

กระทู้ทั้งสิบกระทู้ อยู่ในเว็บบอร์ดประชาไทจริงหรือไม่ 
ศาลวินิจฉัยว่า ข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.23-31 ที่โจทก์ทำสำเนาหน้าเว็บไว้นั้น มีส่วนที่อ้างอิงถึงเว็บไซต์ประชาไทหลายแห่ง โดยเฉพาะที่หัวกระดาษมีชื่อเว็บไซต์ประชาไทระบุอยู่ชัดเจน และปรากฏในเพจต่างๆ ปรากฏตัวหนังสือภาษาไทยและอังกฤษที่เขียนว่าประชาไทเว็บบอร์ด ที่อยู่ยูแอร์แอลที่ระบุว่า http://prachatai.com/webboard ซึ่งมีลักษณะเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ประชาไทที่จำเลยดูแลอยู่ ข้อเท็จจริงส่วนนี้ จำเลยไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้ง เพียงแต่เบิกความลอยๆ ว่า ไม่เคยเห็นกระทู้ดังกล่าวในเว็บไซต์ประชาไท 

นอกจากนี้ จำเลยยังเคยเป็นพยานในคดีเบนโตะ (หมายเหตุ - คดีเบนโตะเป็นอีกคดีหนึ่งในเว็บบอร์ดประชาไทที่มีสมาชิกถูกฟ้อง ซึ่งกระทู้ดังกล่าวก็ปรากฏเป็นเอกสารหมาย จ.32 ที่ฟ้องจีรนุชในฐานะผู้ให้บริการด้วย) จำเลยได้ไปให้การเป็นพยานในคดีดังกล่าวในฐานะผู้ให้บริการและยอมรับว่ามี กระทู้ดังกล่าวอยู่ในเว็บไซต์ประชาไทจริง และศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเนื้อหาทั้งสิบกระทู้เป็นไปในทำนองดูหมิ่นกษัตริย์ ราชินี และรัชทายาท เข้าข่ายการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความเหล่านั้นหรือไม่ 
ศาลวินิจฉัยว่า โจทก์เองก็มิได้บรรยายว่าจำเลยเป็นผู้นำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ เว็บบอร์ดประชาไท ไม่พบพยานหลักฐานเรื่องนี้ จึงบอกไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 14 (3) 

จำเลยเป็นผู้ให้บริการตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 หรือไม่ 
ศาลวินิจฉัยว่า เนื่องจากจำเลยเคยเป็นพยานในคดีเบนโตะ ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับข้อความที่ปรากฏในเว็บบอร์ดประชาไท โดยจำเลยเบิกความในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ด ข้อมูลนี้ก็สอดคล้องกับคำให้การของจำเลยเอง จำเลยจึงถือเป็นผู้ให้บริการตามกฎหมาย

ความรับผิดชอบของตัวกลาง: การประสานระหว่างกระทรวงไอซีทีและผู้ดูแลเว็บ 
ศาลวินิจฉัยว่า นายอารีย์ จิวรรักษ์ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และข้าราชการกระทรวงไอซีที ผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้ เป็นผู้ตรวจพบข้อความตามหมายจ.23-32 และได้แจ้งไปยังกระทรวงไอซีที แต่นายอารีย์ไม่ยืนยันว่าเคยแจ้งไปที่จำเลยโดยตรงหรือไม่ในช่วงเวลาใด การแจ้งนั้นเกิดขึ้นก่อนหรือหลังกระทู้ทั้งสิบถูกลบออกไปแล้วหรือไม่อย่างไร ก็ไม่ปรากฏ 

ข้อมูลจากพยานโจทก์จากกระทรวงไอซีทีซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ระงับการ เข้าถึงยูอาร์แอลดังกล่าวนั้น ก็พบว่าเป็นการยื่นคำร้องหลังจากที่มีผู้ลบกระทู้ตามหมาย จ. 23-31 ออกจากเว็บบอร์ดประชาไทแล้ว ทำให้เมื่อกระทรวงไอซีทีแจ้งให้ประชาไทปิดกั้นข้อมูลเหล่านั้น ประชาไทก็ไม่อาจดำเนินการปิดกั้นข้อมูลดังกล่าวได้อีก 

ความรับผิดชอบตัวกลาง: กรณีพยานแวดล้อมส่อเจตนา 
โจทก์นำฮาร์ดดิสก์ของจำเลยไปตรวจและนำสืบว่า พบข้อความภาพที่มีเนื้อหาพาดพิงพระมหากษัตริย์ มีพระบรมฉายาลักษณ์ถูกตัดต่อในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ศาลเห็นว่าเรื่องนี้มิใช่ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำมาฟ้องในคดีนี้ และข้อความดังกล่าวก็ไม่ปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดของประชาไท จึงเป็นเรื่องไกลเกินกว่าเหตุที่จะนำมาใช้พิจารณาว่าจำเลยจงใจสนับสนุนให้มี การนำเข้าสู่ข้อความคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิด

ความรับผิดชอบตัวกลาง: ภาระและต้นทุนของตัวกลาง 
ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ของจำเลย ซึ่งเป็นผู้ดูแลเว็บบอร์ด มีหน้าที่ตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ รวมถึงตัดสินใจนำเสนอหรือไม่นำเสนอสิ่งใดบนเว็บไซต์ ซึ่งมีลักษณะเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง กับจำนวนผู้เข้าไปใช้บริการเว็บบอร์ดประชาไทในช่วงเกิดเหตุที่จำเลยอ้างว่า มีถึงวันละประมาณ 20,000-30,000 คน มีกระทู้ใหม่วันละ 300 กระทู้ และความเห็นที่เข้าไปแลกเปลี่ยนวันละ 2,800 ความเห็น ซึ่งหากจำเลยจะตรวจสอบ ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบในหัวข้อกระทู้และความเห็นเท่านั้น โดยกระทู้ที่ตรวจสอบก็เป็นเพียงข้อความสั้นๆ อ่านแล้วก็สามารถเข้าใจได้โดยง่ายว่าอาจมีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้อื่น หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้ และเมื่อจำเลยพบเห็นหัวข้อกระทู้ที่มีลักษณะดังกล่าว ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบความเห็นเกี่ยวกับกระทู้ดังกล่าวเพื่อควบคุมดูแลให้ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 

หากปริมาณกระทู้มีมากจนเกินความสามารถของจำเลย ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้อำนวยการ ที่จะจัดหาลูกจ้างเพื่อดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่จำเลยรับผิดชอบ 

ที่จำเลยนำสืบว่า หลังรัฐประหารมีผู้แสดงความเห็นในเว็บบอร์ดประชาไทมากขึ้น และเพิ่มมาตรการในการดูแลมากขึ้นโดยกำหนดให้ผู้ที่จะเข้าไปโพสต์ข้อความได้ จะต้องเป็นสมาชิกก่อน และเพิ่มการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ของประชาไท และหากพบข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็จะนำข้อความดังกล่าวออก มีวิธีให้แจ้งลบข้อความ และเพิ่มมาตรการให้อาสาสมัครที่เป็นสมาชิกเว็บบอร์ดประชาไทตรวจสอบเว็บไซต์ ประชาไท ซึ่งหากพบข้อความที่ไม่เหมาะสมก็สามารถเอาข้อมูลออกได้โดยไม่ต้องรับอนุญาต จากใครก่อนนั้น กรณีดังกล่าวก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้ให้บริการ อินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของประชาไท อาสาสมัคร และสมาชิก ที่จำเลยมอบหมายให้ทำหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อมูลที่นำเข้าในเว็บไซต์ประชาไท ดังกล่าว ไม่มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายกำหนด ทั้งไม่มีหน้าที่ผูกพันกับจำเลยไม่ว่าเป็นไปตามสัญญาหรือนิติกรรมอื่นๆ จึงอาจปล่อยปละละเลยหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการตรวจสอบตามที่ได้รับมอบหมายไว้ ดังนั้น ภาระหน้าที่ของจำเลยในการควบคุมดูแลมิให้มีการกระทำความผิดในฐานะผู้ให้ บริการมีอยู่เช่นใดก็ยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง 

ส่วนที่ว่า เว็บไซต์ประชาไทดำเนินงานภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน จุดประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ที่เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมประชาธิปไตยนั้น ศาลก็ยอมรับว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองซึ่งให้การ รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงธรรมาภิบาลและความ เป็นประชาธิปไตยของประเทศ หรือองค์กรนั้นๆ การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั้งด้านบวกและด้านลบแล้ว ย่อมเป็นโอกาสในการนำไปปรับปรุงประเทศ องค์กร และตนเองให้ดียิ่งๆขึ้น 

แต่เมื่อจำเลยเปิดช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นในระบบคอมพิวเตอร์ที่จำเลย เป็นผู้ให้บริการและอยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อคิดเห็นหรือข้อมูลที่อาจกระทบกระเทือนถึง ความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นที่ต้องเคารพเช่นกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยยินยอมให้มีการนำข้อคิดเห็นหรือข้อมูล ตามที่ปรากฏอยู่ในเอกสารหมาย จ.32 ลงในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลยดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยจึงมิอาจอ้างถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อให้ หลุดพ้นจากความรับผิดได้ 

ความรับผิดชอบตัวกลาง: ระยะเวลาเป็นตัวกำหนดความรับผิด 
ข้อเท็จจริงพบว่า จำเลยปล่อยให้มีกระทู้ตามเอกสารหมาย จ. 23-32 อยู่ในเว็บบอร์ดประชาไทนาน 11,1,3,2,2,1,3,2,1 และ 20 วัน  ตามลำดับ ศาลวินิจฉัยว่า การให้บริการเว็บบอร์ด ซึ่งเป็นการใช้สื่อสนทนา พูดคุย บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อมีผู้โพสต์ข้อความ ข้อความที่โพสต์ก็จะปรากฏทันที ซึ่งโดยปกติแล้วย่อมไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ก่อนดังเช่นข้อมูลข่าวสาร ทั่วไป คงตรวจสอบได้หลังจากที่นำข้อมูลลงในกระดานสนทนาแล้วเท่านั้น 

ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ก็มิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งเกี่ยวกับระยะเวลาว่าควรมีระยะเวลาเท่าใดจึงจะถือ ว่าผู้ให้บริการยินยอมให้มีการกระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความ ควบคุมของตน นอกจากนี้ กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ดำเนินการ แก้ไขกรณีที่มีการนำข้อความที่ไม่เหมาะสมเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตของผู้ให้ บริการ เพื่อให้ผู้ให้บริการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลที่ไม่เหมาะสมที่ผู้ใช้ บริการโพสต์ 

กรณีจะถือว่า ผู้ให้บริการยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตนและต้องรับผิดโดยทันทีหลังจากมี การนำเข้าข้อความที่ไม่เหมาะสมสู่ระบบอินเทอร์เน็ตของตัวกลางนั้น นับว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการในฐานะตัวกลาง 

แต่ผู้ให้บริการเองจะอ้างว่าไม่ทราบถึงการกระทำความผิด โดยมิได้คำนึงถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะผู้ดูแลเว็บไซต์หรือเว็บ มาสเตอร์เพื่อให้หลุดพ้นจากความผิดดังกล่าว และทำให้กฎหมายไม่มีสภาพบังคับนั้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย 

เมื่อพิจารณาจากจำนวนกระทู้และความเห็นที่แลกเปลี่ยนในแต่ละวัน กับภาระหน้าที่ในการตรวจสอบตามที่วินิจฉัยมา น่าเชื่อว่า หลังจากมีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลยแล้ว หากจำเลยใส่ใจดูแลและตรวจสอบตามหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยแล้ว ควรจะใช้เวลาในการตรวจสอบข้อความภายในระยะเวลาอันสมควร ตามที่อาจพึงคาดหมายได้ว่าจำเลยรู้อยู่ว่ามีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ คอมพิวเตอร์โดยผิดต่อกฎหมาย เพราะมิฉะนั้นแล้ว หากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไปกว่านี้อาจมีการนำข้อมูลที่มีลักษณะไม่เหมาะสม เผยแพร่ต่อไปไม่จบสิ้นจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ 

เมื่อปรากฏว่า เอกสารตาม จ.23-31 อยู่บนเว็บบอร์ดเป็นเวลา 11,1,3,2,2,1,3,2 และ 1 วัน ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในกรอบเวลาอันควรในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะเป็นผู้ควบคุม องค์กร จึงไม่อาจฟังได้ว่า จำเลยได้ล่วงรู้ถึงการนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามหมาย จ.23-31 อันจะถือว่าเป็นการยินยอมให้มีการกระทำความผิด 

ส่วนบันทึกตามเอกสารหมายจ.32 นั้นเห็นว่า ปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดซึ่งอยู่ในความควบคุมของจำเลยเป็นเวลานานถึง 20 วัน ซึ่งเกินเวลาอันควรที่จำเลยจะตรวจสอบพบ ตลอดจนนำข้อมูลดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลย จึงเป็นการงดเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในเวลาอันสมควร ซึ่งหากจำเลยทำหน้าที่ควบคุมดูแลกระทู้ต่างๆ เชื่อว่าจำเลยควรตรวจสอบกระทู้ตามเอกสารหมาย จ.32 ดังจะเห็นได้จากที่จำเลยนำสืบว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2551 จำเลยได้รับหมายเรียกให้ไปให้ปากคำกระทู้ที่โพสต์โดยเบนโตะ ซึ่งกระทู้ดังกล่าวเป็นกระทู้ตามเอกสารหมายจ. 32 เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกจึงนำข้อมูลไปตรวจสอบในเว็บบอร์ดประชาไทพบว่ามี กระทู้ดังกล่าวจริงจึงปิดกั้นข้อมูลดังกล่าวโดยทันที ซึ่งย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า หากจำเลยทำหน้าที่ตรวจสอบในเว็บบอร์ดตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ ก็สามารถพบเห็นกระทู้ที่มีลักษณะไม่ประสงค์ได้โดยไม่ยาก แต่จำเลยกลับปล่อยให้กระทู้ดังกล่าวอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์นานถึง 20 วัน และหากว่าจำเลยไม่ได้รับหมายเรียกให้ไปให้ปากคำดังกล่าวก็ไม่แน่ว่า กระทู้ดังกล่าวตามหมายจ. 32 จะคงอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ไปอีกนานเพียงใด กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยให้ความยินยอมโดยปริยายในการนำเข้าข้อมูลตามเอกสาร หมายจ. 32 เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อข้อมูลดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) จำเลยในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตย่อมมีฐานะเป็นผู้กระทำความผิด 

ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า หลังจากได้รับแจ้งข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ จำเลยตรวจสอบข้อมูลจากเว็บบอร์ดและปิดกั้นข้อมูลจากเอกสารหมายจ.32 โดยทันทีนั้น ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากมีการกระทำความผิด และไม่อาจทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดได้ 

คำพิพากษา: จำคุก 1 ปี ปรับสามหมื่นบาท 

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14(3) ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับสามหมื่นบาท เนื่องจากทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน และปรับสองหมื่นบาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้จำเลยมีโอกาสเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และให้ชำระค่าปรับ ข้อหาและคำขออื่นให้ยก. 

ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นเมื่อเวลาราว 10.45 น. พร้อมประกาศว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาฉบับย่อเผยแพร่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท