จับตาทุนจีน เปิดแผนอภิมหาโปรเจ็คต์ของจีนในพม่า-อาเซียน

 

จีนกำลังก้าวไปสู่การเป็นนายทุนใหญ่ของโลกมากขึ้นเป็นลำดับ หลังการจีนเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ 30 ปี จีนจึงเปลี่ยนนโยบายจาก “เชิญเข้ามา” ไปสู่การ “เดินออกไป” เมื่อปี 1999 สมัยเจียงเจ๋อหมิน โดยนายกฯจูหรงจีผลักดันนโยบายสนับสนุนการออกไปลงทุนในต่างประเทศ

จีนมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนในต่างประเทศ (Outward FDI) ของจีนในปี 2007 คือ 26.51 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในปี 2008 กราฟสูงขึ้นเท่าตัวเป็น 55.91 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตัวเลขยังสูงขึ้นเรื่อยๆ  ที่น่าสังเกตคือผู้ลงทุนจากจีนนั้นไม่ใช่เอกชนเป็นส่วนใหญ่เหมือนตะวันตก แต่เป็นรัฐวิสาหกิจถึงร้อยละ 70.5 ของการออกไปลงทุนต่างประเทศทั้งหมดของจีน นัยยะสำคัญคือ กำไรจากการลงทุนมหาศาลนั้นไหลเข้ารัฐบาล

เป็นที่น่าสนใจว่า อะไรทำให้จีนเร่งฝีเท้าในการบุกโลกด้วย “ทุน” อย่างหนักหน่วงในระยะหลังนี้? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาเซียนเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ยักษ์ใหญ่กำลังหาทางรุกเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศพม่า ปริมาณการลงทุนของจีนในประเทศพม่าเพียงช่วงระยะเวลา 4 ปี พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจถึง 3800% เกิดอะไรขึ้นกับพม่าในระยะที่ผ่านมา?

ดร.อักษรศรี พาณิชสาส์น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ได้วิเคราะห์การที่ทุนจีนเดินทางออกต่างประเทศ และเล่าถึงโครงการยักษ์ของจีนที่เกิดขึ้นในพม่าในงานสัมมนาปัญญาภิวัตน์ “อาณาจักรทุนจีนในอาเซียน” ที่โรงแรมทวินทาวเวอร์เมื่อ 30 พ.ค. 55 ที่ผ่านมา

 

ทุนจีนบุกทั่วโลก มีรัฐบาลอุ้มอยู่เบื้องหลัง

ดร.อักษรศรีสรุปปัจจัยที่ทำให้ทุนจีนเดินออกไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ไว้ 7 ข้อ

1.    จีนต้องการทรัพยากรทางธรรมชาติ และแสวงหาความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะจีนเคยประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ด้วยจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก และการขยายอย่างรวดเร็วของเมือง ทำให้จำเป็นต้องออกไปแสวงหาแหล่งพลังงานทรัพยากรภายนอก

2.    จีนต้องการวัตถุดิบหรือผลผลิตเกษตร เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตภาคอุตสาหกรรม แปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น การซื้อยางพาราถูกๆจากไทยนำไปผลิตยางล้อรถยนต์ในจีน

3.    เพื่อเรียนรู้ระบบบริหารจัดการสมัยใหม่ และเทคโนโลยีทันสมัย โดยเฉพาะจากภูมิภาคยุโรป จีนจึงไปลงทุนในยุโรปทั้งที่มีต้นทุนในการลงทุนสูง แต่มองว่าคุ้มในการเรียนรู้

4.    กระแสกดดันจากคู่ค้าหลายชาติที่ต่อต้านสินค้า “Made in China” จึงย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เพื่อสามารถระบุข้อมูลแหล่งผลิตเป็นชื่อประเทศอื่นที่ตนไปตั้งโรงงานได้

5.    เพื่อเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ในต่างประเทศ บางประเทศส่งสินค้าไปขายได้ยาก หากไปตั้งโรงงานที่นั่นได้จะสะดวกกว่า

6.    ต้นทุนการผลิตในจีนสูงขึ้น ค่าแรงแพงขึ้นในมณฑลชายฝั่ง จึงต้องการออกไปหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่า ปัจจุบันค่าแรงในจีนแพงมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายแรงงานในจีนมีการเพิ่มค่าแรง จีนจึงสนใจอาเซียนซึ่งเป็นแหล่งแรงงานราคาถูก

7.    ค่าเงินหยวนแข็งค่ามากขึ้นตลอดเวลา ทำให้การส่งออกแพงขึ้น การไปซื้อโรงงานถูกๆในต่างประเทศจะคุ้มกว่า

ดร.อักษรศรี กล่าวว่าทุนจีนยังมีมือที่มองไม่เห็นมาช่วย “อุ้ม” ออกไปยังต่างประเทศ รัฐบาลจีนใช้หลายมาตรการเพื่อการสนับสนุนการ “เดินออกไป” ของทุนจีน เช่นการตั้งหน่วยประสานงานเฉพาะเพื่อการออกไปลงทุน สนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นต่อการลงทุนในต่างประเทศ ที่สำคัญคือการสนับสนุนทางการเงินโดยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว หรือกู้โดยปลอดดอกเบี้ยเป็นบางโครงการ รัฐบาลยังส่งเสริมการออกไปลงทุนตั้ง "นิคมเศรษฐกิจการค้า" ของทุนจีนในต่างประเทศ หรือที่รัฐบาลจีนเรียกว่า "China’s National Overseas Trade and Economic Cooperation Zone" เพื่อให้ทุนจีนได้รวมตัว และ "จับมือกัน" เดินออกไป หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นการออกไปสร้าง "คลัสเตอร์ จีน" ในต่างแดน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของทุนจีนในต่างแดน

ตัวอย่างของนิคมจีนในประเทศไทยอยู่ภายในนิคมอมตะ จังหวัดระยอง มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่  บริหารจัดการโดยบริษัท Thai-Chinese Industrial Realty Development  หรือชื่อภาษาไทยว่า "บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยอง (ไทย-จีน) จำกัด" นิคมจีนแห่งนี้เป็นการเข้ามาลงทุนในไทยโดยกลุ่ม Holley Group จากมณฑลเจ้อเจียง ร่วมมือกับกลุ่มอมตะ (ร่วมถือหุ้นประมาณร้อยละ 25) จดทะเบียนในปี 2007 ในขณะนี้ มีนักลงทุนจีนตามเข้ามาตั้งโรงงานในนิคมจีนในไทยดังกล่าวแล้วประมาณ 32 ราย

ภูมิภาคที่จีนออกไปลงทุนมากที่สุดในปี 2010 คือเอเชีย คิดเป็นร้อยละ 46.3 หรือเกือบครึ่งของการลงทุนทั้งหมดในต่างประเทศของจีน ส่วนมากอยู่ที่ฮ่องกง รองลงมาคือแอฟริกา และละตินอเมริกา ส่วนการลงทุนในอเมริกาเหนือและยุโรปยังค่อนข้างน้อย เนื่องจากยังมีอุปสรรคในด้านกฎหมาย การเงิน นโยบายที่ให้การบริการอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

 

เมื่ออาเซียนคือขุมทรัพย์สำหรับจีน ยุทธศาสตร์รุกลงใต้จึงเกิดขึ้น

เป้าหมายหนึ่งที่จีนพยายามจับให้อยู่หมัดคือ อาเซียน  อาเซียนอยู่ลำดับที่ 3 ของมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดของจีน รองจากฮ่องกง และออสเตรเลีย สถิติการลงทุนของจีนในแต่ละประเทศแถบอาเซียนมีกราฟที่พุ่งกระโดดอย่างมากในช่วงปี 2008-2010

“การที่จีนเข้ามาลงทุนในอาเซียนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และไม่ใช่กระแสภูมิภาค แต่เป็นความตั้งใจของผู้นำจีนอย่างลุ่มลึก” ดร.อักษรศรีกล่าว

อาเซียนมีอะไรที่ดึงดูดจีน?

ดร.อักษรศรีมองว่ามีเหตุผลหลายอย่างประกอบกัน ในทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศตอนใต้อย่างอาเซียนดูจะราบรื่นกว่าประเทศเพื่อนบ้านด้านอื่นๆ มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอาเซียนกับประเทศต่างๆที่จีนใช้เป็นสปริงบอร์ดได้ ในทางเศรษฐกิจ อาเซียนเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรเกือบ 600 ล้านคน มีกำลังซื้อมาก มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีทั้งปัจจัยการผลิตที่จีนต้องการ มีแรงงานค่าจ้างต่ำฝีมือพอใช้ มีแหล่งทุน พื้นที่สภาพอากาศเหมาะสมกับการเพาะปลูก มีวัตถุดิบหลายชนิด กรณีที่จีนเข้ามาลงทุนสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ "มี้ตโสน" กั้นแม่น้ำอิรวดีในพม่า แล้วถูกต่อต้านกระทั่งประธานาธิบดีเตงเส่งสั่งระงับโครงการ ก็เป็นความต้องการทรัพยากรพลังน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า

ดร.อักษรศรีเรียกการเข้ามาของจีนในอาเซียนว่า “ยุทธศาสตร์รุกลงใต้ของจีน” (China’s Look South Policy) รัฐบาลจีนดำเนินยุทธศาสตร์นี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการเบิกทางการค้าด้วยการ “จีบ” อาเซียนให้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA ค่อยๆลดภาษีการนำเข้าให้เหลือศูนย์

“สิ่งหนึ่งในเชิงสัญลักษณ์ที่ชัดเจนมากในการรุกลงใต้ของจีนคือข้อตกลงการค้าเสรี ASEAN-China FTA ที่นายกรัฐมนตรีจูหรงจีของจีนชักชวนอาเซียนให้ทำเมื่อปี 2000 อาเซียนตกใจงงว่าจะทำไปทำไมเพราะก่อนหน้านั้นอาเซียนไม่ได้สนใจค้าขายกับจีนเลย มีแต่จะแข่งกันด้วยซ้ำ แต่อาเซียนก็ไม่ปฏิเสธที่จะขึ้นขบวนรถไฟนี้ จีนผลักดัน FTA ฉบับนี้มากตั้งแต่ปี 2000 พวกเราทราบดีถึงฤทธิ์เดชของ FTA ฉบับนี้ที่สินค้าจีนเต็มบ้านเต็มเมืองทั้งในไทยและอาเซียน จนจีนผงาดขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของหลายประเทศในอาเซียน”

เมื่อเบิกทางให้ค้าขายได้ราบรื่นแล้ว สเต็ปต่อไปของยุทธ์ศาสตร์รุกลงใต้คือเบิกทางด้านการลงทุน จีนไม่ได้นำสินค้ามาอย่างเดียว แต่พ่อค้า นักธุรกิจ โรงงานจีนยังทยอยเข้ามาด้วย ทางการจีนพยายามเพิ่มอิทธิพลของสกุลเงินหยวนโดยเริ่มผลักดันโครงการชำระเงินด้วยสกุลหยวน (RMB Trade Settlement) ในปี 2007 อินโดนิเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยเข้าร่วม จีนพัฒนาประตูการค้าและการลงทุนกับอาเซียน โดยในปี 2009 รัฐบาลมณฑลกวางสีซึ่งเป็นเกตเวย์สู่อาเซียนผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ หรืออ่าวตังเกี๋ย ในบริเวณทะเลจีนใต้ (Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation: PBG) เพื่อพัฒนาโลจิสติกทางทะเล ขนานไปกับการพัฒนาโลจิสติกทางบกโดยกลุ่มความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Grater Mekong Sub-Region) ที่มีอยู่ก่อนแล้ว

ดร.อักษรศรีเล่าถึงกรณีล่าสุดที่สามีของ กลอเรีย อาโรโย อดีตประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ โดนคดีความเรื่องรับเงินสินบนจากบริษัท ZTE ของจีน ในการทำสัมปทานระบบโทรคมนาคมของฟิลิปปินส์ ในมูลค่าโครงการประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีเงินสินบนของสามีอดีตประธานาธิบดีรวมอยู่ราว 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สิ่งนี้แสดงว่าเวลาจีนไปลงทุนในประเทศที่เรื่องพิพาทกับตนอย่างฟิลิปปินส์ ซึ่งมีข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ บางครั้งการจ่ายเบี้ยใบ้รายทางก็เป็นวิธีการหนึ่งเพื่อทำให้การลงทุนนั้นราบรื่น

สิ่งที่นักธุรกิจชาวจีนต้องระวังเมื่อมาลงทุนในประเทศไทยคือ ถ้าจีนมาแบบใหญ่โตมโหฬารแล้วมีรูปแบบพฤติกรรมด้านเสียมากไปหน่อย อาจจะมีกระแสไม่เอาจีนเกิดขึ้นได้ และตอนนี้เริ่มมีกระแสแบบนี้แล้ว พม่าก็เป็นเช่นกันในบางเมืองอย่างมัณฑะเลย์ที่ชาวจีนอพยพเข้าไปอย่างรวดเร็ว การที่บางบริษัททำผิดพลาดก็อาจทำลายภาพลักษณ์ของคนชาติเดียวกัน เช่น กรณี China City Complex ที่บางนา ถูกคนไทยต่อต้านเพราะโครงการนี้เหมือนเป็นโครงการกำมะลอ มีแต่การแสดงภาพ แสดงโมเดล แต่ที่ดินก็ยังไม่ได้ซื้อ ยังไม่มีหุ้นส่วนตอนที่เปิดตัวโครงการเมื่อ 18 มกราคมเมื่อปีที่แล้ว ดร.อักษรศรีกล่าวว่าตนเองก็ไม่เคยเห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เขาตั้งใจเปิดเพื่อขายของจีนโดยคนจีนในแผ่นดินไทย

ส่วนทุนจีนที่มีความเป็นมืออาชีพและไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรกับไทยก็มีหลายราย เช่น บริษัทแนวหน้าจากจีนที่มาผลิตท่อไร้ตะเข็บในทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาลงทุนในนิคมจีนในระยองด้วยมูลค่ามหาศาล ใช้ไทยเป็นฐานผลิต แต่ไม่ได้เน้นขายไทย ขายทั่วโลก

“บางคนอาจมองว่าจีนไปเที่ยวดูดทรัพยากรโลก แต่จริงๆแล้วไปว่าจีนไม่ได้ เพราะมหาอำนาจก็ทำกันทั้งนั้น อย่างสหรัฐฯเก็บน้ำมันของตัวเองไว้ดิบดีแต่ไปเที่ยวดูดน้ำมันคนอื่น นั่นคือพฤติกรรมของมหาอำนาจมากกว่า เราต้องรู้ทันว่าเขาทำเพื่อผลประโยชน์ของคนในชาติเขา อย่าไปคิดว่าจีนคือตาแป๊ะใจดี อากงใจดี มาเที่ยวช่วยนู่นช่วยนี่ เขาทำเพื่อคนของเขา และนั่นก็ไม่ผิด เราต่างหากที่จะต้องทำแบบเขาบ้าง คือทำเพื่อคนของเรา เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติตัวเองบ้าง ภาษารัฐศาสตร์เรียกว่า National Interest” อ.อักษรศรีกล่าว

 

จีนเปิดอภิมหาโปรเจกต์ ผ่ากลางประเทศพม่า สร้างทางลัดสู่ทะเล

หากไปดูสถิติการลงทุนของจีนในพม่า จะพบตัวเลขที่พุ่งกระโดดอย่างน่าทึ่งกว่าทุกประเทศในอาเซียน เมื่อปี 2005 จีนมีมูลค่าการลงทุนเพียง 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่พอถึงปี 2009 ตัวเลขสูงขึ้นไปเป็น 930 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 3800% ทำให้พม่าติดอันดับ 19 ของประเทศที่จีนไปลงทุนมากที่สุด

อะไรอยู่เบื้องหลังสถิติการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงแบบทะลุเพดานเช่นนี้?

คำตอบคือโครงการยักษ์ของจีนในพม่าเพื่อแก้ปัญหาในการออกสู่ทะเลของจีน ดร.อักษรศรีกล่าวว่าทุกวันนี้จีนออกทะเลได้ข้างเดียวคือทางมหาสมุทรแปซิฟิก ถ้าจะออกมหาสมุทรอินเดียเพื่อไปยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง ต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกา ช่องแคบมะลาจึงเป็นชีพจรทางทะเลของจีน มีสถิติว่าเรือจีนผ่านช่องแคบมะละกาเฉลี่ย 140 ลำต่อวัน แต่ช่องแคบมะละกามีโจรสลัดชุกชุม จีนจึงพยายามหาทางออกทะเลโดยลดการพึ่งพาช่องแคบมะละกาโดย “ผ่ากลางพม่า”

“ดิฉันเคยไปสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยยูนนาน เมืองคุนหมิง เมื่อประมาณปี 2005 พบว่า Professor ของเขากำลังศึกษาใหญ่เลยว่าจีนจะออกทะเลทางไหนได้ เขาเน้นศึกษาพม่าทั้งหมด แล้วในที่สุดเขาเคาะว่าจะออกทางนี้ คือออกจากชายแดนจีนที่เมืองรุ่ยลี่ เข้าสู่พม่าที่เมืองมูเซ แล้วไปยังเมืองที่ภาษาพม่าเรียก จ้าวผิ่ว ภาษาจีนเรียก เจียวเพียว พอเขาตัดสินใจได้ตรงนี้ปุ๊บ 4 อภิมหาโปรเจกต์มาทันที "

 

http://www.southasiaanalysis.org/%5Cpapers46%5Cpaper4517.html

อักษรศรีอธิบายถึงโครงการยักษ์ 4 โครงการที่รัฐบาลจีนสั่งดำเนินการหลังตัดสินใจเลือกเส้นทางลัดทางน้ำจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่จีนได้ (โดยไม่ต้องไปอ้อมทางช่องแคบมะละกาอีกต่อไป) จากการที่ตนไปเก็บข้อมูลในคุนหมิง ประเทศจีน และย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี 2553

โครงการแรก ท่อส่งน้ำมันดิบ น้ำมันดิบที่ขนมาจากตะวันออกกลางจะมาลงท่อที่นี่ แนวท่อทอดจากเมืองเจียวเพียว (เรียกตามสำเนียงจีน) ผ่านมัณฑะเลย์-ลาโช-มูเซ ประเทศพม่า เข้าสู่เมืองมูเซ ไปถึงคุนหมิง ประเทศจีน ความยาวท่อ 1,100 กม. คาดว่าจะขนส่งน้ำมันดิบได้ 22 ล้านตันต่อปี

โครงการที่ 2 ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เชื่อมจากแหล่งก๊าซในพม่า วางแนวขนานกับท่อส่งน้ำมันดิบ คาดว่าจะขนส่งก๊าซได้ถึง 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีของจีน ได้มาลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนการบริหารท่อก๊าซดังกล่าวระหว่างการเยือนพม่าเมื่อมิถุนายนปี 2009

โครงการที่ 3 รถไฟ เจียวเพียว-มูเซ เส้นทางแนวเดียวกับท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมัน รถไฟวิ่งได้เร็ว 160 กม./ชม. ความยาวของระยะทางรถไฟคือ 810 กม. หากเปรียบเทียบแล้วจะประหยัดเวลากว่าเส้นทางท่าเรือทวาย-มูเซ ที่มีความยาว 1,700 กม. เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีเตงเส่งไปเยือนจีนเป็นประเทศแรกหลังได้รับตำแหน่ง พม่าได้รับเงินจาก China Development Bank ในปี 2011 เพื่อสร้างรถไฟสายนี้

โครงการที่ 4 นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกที่เมืองเจียวเพียว ท่าเรือน้ำลึกสามารถรองรับเรือบรรทุกน้ำมัน 3 แสนตันได้ เมืองนิคมอุตสาหกรรมจะมีทุกอย่างครบวงจร ทั้งสนามบิน โรงงานปิโตรเคมี โรงงานถลุงเหล็ก เรียกได้ว่าเอามาบตาพุดกับแหลมฉบังมารวมกัน

 

แผนที่นิคมอุตสาหกรรมที่เมืองเจียวเพียว แหล่งที่มา http://econ.tu.ac.th/archan/aksornsri/China_%20High%20Speed%20Train%20in%20GMS_by%20Aksornsri_PDF.pdf

 

 

ดร.อักษรศรีอธิบายขั้นตอนการดำเนินโครงการว่า เริ่มจากรัฐบาลเซ็นให้ความช่วยเหลือ จากนั้น บริษัท CITIC Groups ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของรัฐบาลจีนจะรับงานไปดูแลทั้งหมด แล้วไปแบ่งให้บริษัทจีนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำต่อ เช่น ท่าเรือบรรทุกน้ำมันดิบ จะดำเนินการสร้างโดย China National Petroleum Coporation (CNPC)  และ CNPC จะไปตั้งบริษัทลูกในพม่ามาดูแลอีกที ในแผนระบุอย่างละเอียดว่าโครงการจะเสร็จวันที่ 23 พฤศจิกายน 2012 งานนี้ได้รับเงินอัดฉีดเต็มที่จากรัฐบาลจีน จึงไม่มีติดขัดเรื่องแหล่งทุน มีแต่รอให้โครงการเสร็จแล้วไปใช้

โครงการยักษ์ 4 โครงการนี้ทำให้มูลค่าการลงทุนของในพม่าพุ่งสูงลิ่ว เราไม่ค่อยรู้เรื่องนี้เพราะทางการจีนเองก็ไม่อยากให้ใครมารู้ เพราะนี่เป็นแผนสำคัญของเขา ถ้าโครงการเหล่านี้เสร็จ ปี 2013 จีนจะเลิกใช้เส้นทางช่องแคบมะละกาในการเดินเรือสินค้า พันอากาศโท Christopher J. Pehrson กองทัพอากาศสหรัฐฯ เรียกโครงการเหล่านี้ว่า “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกของจีน” ในบทความ String of Pearls: Meeting the challenge of China’s rising power across the Asian littoral. ซึ่งวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การออกทะเลของจีนในมุมการทหาร

ลาวเกือบมีรถไฟที่ล้ำหน้ากว่าไทย แต่กระอักกับเงื่อนไขสุดพิสดารของจีน

ดร.อักษรศรีเล่าถึงบันทึกความเข้าใจ (MOU) รถไฟจีน-ลาว ที่รัฐมนตรีกระทรวงรถไฟของจีน กับรัฐมนตรีลาว ลงนามร่วมกันตั้งแต่ 7 เมษายน 2010 ทางรถไฟมีความยาว 421 กิโลเมตร มี 5 สถานีหลักคือ บ่อเต็น-อุดมไซ-หลวงพระบาง-วังเวียง-เวียงจันทร์ รางแบบทันสมัยกว้าง 1.4 เมตร จีนเป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก แต่จีนมีเงื่อนสารพัด เช่น สัดส่วนลงทุน 70:30 ต้องสร้างโดยบริษัทจีน และใช้เทคโนโลยีของจีนเท่านั้น ลาวก็ยอมทั้งหมด เพราะตอนนี้ลาวมีรถไฟระยะทางเพียง 3.5 กม. รางเล็กๆที่ไทยสร้างให้จากหนองคาย ไปท่านาแร้ง กระทรวงการรถไฟของจีนทำคลิปโมเดลออกโชว์ และจะวางศิลาฤกษ์ปี 2011 กำหนดสร้างเสร็จในปี 2015 ลาวกำลังจะมีรถไฟที่สุดทันสมัย

นี่คือเรื่องราวอันชวนฝัน แต่......... ณ บัดนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เกิดอะไรขึ้นกับรถไฟสายนี้?

เหตุผลที่ทำให้โครงการนี้ถูกระงับ ดร.อักษรศรีกล่าวว่ามี 4 เหตุผล ข้อแรก หลิว จื้อจวิน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงรถไฟจีน ผู้ดูแลโครงการถูกปลดออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ข้อหาคอรัปชัน ข้อสอง มูลค่าโครงการถไฟสายนี้ประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่า GDP ทั้งประเทศลาว ทำให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย (ADB) ไม่สนับสนุน ข้อสาม จีนขอใช้แรงงานจีนสร้างทางรถไฟสายนี้ 50,000 ครอบครัว ถ้าตีว่าครอบครัวละ 10 คน ก็จะมีประมาณ 500,000 คน ซึ่ง “มาแล้วไม่กลับ” ดูได้จากคนงานจีนที่มาสร้างสนามกีฬาซีเกมส์ที่เวียงจันทน์ มีกลับประเทศเป็นส่วนน้อย

ข้อสำคัญที่สุดที่ทำให้ลาวเหลือที่จะรับ คือการขอสิทธิในการใช้ที่ดินเลียบทางรถไฟสายนี้ ข้างขวา 5 กม. และข้างซ้ายอีก 5 กม. ตลอดความยาว 421 กิโลเมตรของทางรถไฟ จีนขอสิทธิในพื้นที่แต่เพียงผู้เดียวทั้งบนฟ้า บนดิน ใต้ดิน เป็นเวลา 50 ปี รัฐบาลลาวตัดสินใจขอศึกษาความเป็นไปได้ใหม่อีกรอบ และเรื่องยังค้างจนถึงบัดนี้

 

http://econ.tu.ac.th/archan/aksornsri/China_%20High%20Speed%20Train%20in%20GMS_by%20Aksornsri_PDF.pdf

ถ้ารถไฟสายนี้เกิด จะเป็นการลงสู่อาเซียนของจีนโดยใช้ทางรถไฟ ตามภาพคือแนวรถไฟที่จีนวางแผนไว้ตอนแรกสุดหากไม่เกิดปัญหาสะดุดอะไร คือรถไฟลงมาจากคุนหมิงในจีน มาถึงเวียงจันทร์ ประเทศลาว ต่อลงมาที่หนองคายซึ่งอยู่ติดเวียงจันทร์ มายังกรุงเทพฯ แล้วมุ่งลงใต้เป็นแนวที่เชื่อมลงมายังอาเซียน นี่คือสิ่งภาพทางรถไฟที่อยู่ในใจจีน แต่เกิดปัญหาเสียก่อน

 

จีนจับมือกับไทยสร้างรถไฟความเร็วสูง ต้องช่วยกันจับตามอง

ดร.อักษรศรี กล่าวว่าเมื่อ 17 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา นายกฯยิ่งลักษณ์ไปเยือนจีน ตนได้ร่วมคณะของนายกฯไปด้วย มีการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) หลายฉบับ แต่ที่น่าจับตามองที่สุดคือบันทึกความเข้าใจ “รถไฟ ไทย-จีน” ลงนามวันที่ 17 เมษายน 2555 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคมของไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรถไฟคนใหม่ของจีน

ดร.อักษรศรีนำภาพถ่ายเอกสารบันทึกความเข้าใจฉบับภาษาอังกฤษดังกล่าวที่ชื่อหัวข้อ Railway Development Corporation between Thailand and China มาแสดง มีข้อความที่ระบุว่า รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ จะเชื่อมไปลาวและประเทศอื่นๆในอาเซียน  “…hi-speed rail link from Bangkok to Chiangmai and other rail system to connect to Laos and other Asean…”

“สิ่งที่ติดใจมาก คือมีประโยคที่เขียนว่า การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจะทำโดยฝั่งจีน The feasibility study will be conducted by Chinese side. ทำไมไม่ศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกัน ดิฉันอยากให้ประเทศมีรถไฟความเร็วสูง แต่ต้องรอบคอบ อย่าให้เกิดเหตุเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน อย่าอยากได้อะไรบางอย่างจนขาดความรอบคอบ ฝากให้ทุกคนเป็นหูเป็นตา”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท