'เรื่องเล่าของมนุษย์ล่องหน'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หมายเหตุ เสนอในการเสวนาในหัวข้อ “แหกคุก :สถานะของนักโทษการเมือง” ในกิจกรรมนิทรรศการศิลปะ “เรื่องเล่าของมนุษย์ล่องหน” วันที่ 2 มิถุนายน 2555 ที่ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่

 

 

ในปี 2548 (2005) ศิลปินชาวจีนนามว่า หลิว โบลิน (Liu Bolin) ได้เริ่มต้นงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “Hiding in the city” หรือ “ซ่อนตัวในเมืองใหญ่” ของ โบลินแสดงงานของเขาโดยการตกแต่งตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ตนไปยืนอยู่ เขาจะยืนพรางตัวนิ่งๆ อยู่บริเวณสถานที่ที่เลือกไว้ ซึ่งโดยมากจะเป็นพื้นที่เมืองใหญ่ และฉากสำคัญก็มักเป็นสัญลักษณ์ของเมือง โบลินเริ่มต้นกิจกรรมนี้ในประเทศจีนบ้านเกิด ภายหลังสตูดิโอศิลปะของเขาถูกทางการจีนปิดลง หลังจากนั้นก็ตระเวนไปแสดงในอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก เขาอธิบายงานของตนเองว่า มันคือการประท้วงที่ไร้เสียง (silent protest) เป็นการประท้วงทั้งต่อสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ในเมืองดำรงชีวิตอยู่ และประท้วงต่อรัฐ รวมทั้งเรียกร้องความใส่ใจของศิลปินในจีน ต่อการใช้อำนาจต่อวงการศิลปะของรัฐบาลจีน เขาจึงถูกผู้คนรู้จักในนาม “มนุษย์ล่องหน” (invisible man)


ตัวอย่างงานของหลิว โบลิน (ดูเพิ่มเติม)

 

เราอาจกล่าวได้ว่าการล่องหน (invisible) คือภาวะที่บางสิ่งบางอย่างถูกมองไม่เห็น ถูกทำให้ไม่ปรากฏ หรือถูกซ้อนเร้นไว้ ทั้งๆ ที่บางสิ่งบางอย่างนั้นยังคงมีอยู่ มีตัวตน และดำรงอยู่จริง การล่องหนต่างจากการหายไป (disappear) ซึ่งมีลักษณะของการสาบสูญหรือสูญหายไปเลย สำหรับการล่องหนในบางครั้งบางเวลา เรา (หรือผู้ดู) ก็ตระหนักในการดำรงอยู่ของสิ่งนั้นๆ แต่กลับทำเสมือนมันไม่มีอยู่ หรือกระทั่งถูกทำให้รู้สึกเสมือนมันไม่มีอยู่หรือไม่สำคัญ 

คำถามคืออะไรสักสิ่งหรือใครสักคนจะล่องหนไปได้อย่างไร กระบวนการแบบไหนที่ทำให้เกิดมนุษย์ล่องหน? ถ้าดูจากกิจกรรมศิลปะของหลิว โบลิน เขาทำตัวเองให้ล่องหนไปโดยการเพนท์และทาสีตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เหมือนกิ้งก่าที่เปลี่ยนสีของมันและพรางตัวตนเข้ากับต้นไม้หรือโขดหินที่มันซ่อนตัวอยู่ ขณะเดียวกันก็อาศัยการหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้สัตว์ชนิดอื่นรับรู้การมีอยู่ของมัน เพียงแต่กรณีของมนุษย์การจะทำเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยการอยู่นิ่งๆ ในพื้นที่ที่จะหายตัวไปนานนับหลาย 10 ชั่วโมง เพื่อค่อยๆ ระบายสีลงบนร่างกายตัวเอง ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัว

ผู้คนจำนวนมากในสังคมหนึ่งๆ ก็อยู่ในสภาวะที่อาจเรียกได้ว่า “ล่องหน” เช่นเดียวกัน เพียงแต่ผู้คนเหล่านั้นไม่ได้เลือกจะล่องหนด้วยตัวเองในแบบงานศิลปะของโบลิน แต่พวกเขาหรือกลับถูกกระบวนการบางอย่างทำให้ล่องหน ทำให้มองไม่เห็น ทำให้เสียงไม่ดัง ถูกทำให้เลือนหายไป หรือถูกซ่อนเร้นไว้ ทั้งๆ ที่ตัวตนของพวกเขาและเธอดำรงอยู่ และบ่อยครั้งกระบวนการบางอย่างที่ทำให้เลือนหายเหล่านั้นมักเป็นความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ จากทั้งรัฐ ทุน หรือคนอื่นๆ ในสังคมเอง

 “นักโทษการเมือง” และผู้ต้องหาในคดีความจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เช่นกัน ที่อยู่ในสถานะและสภาวะของการเป็น “มนุษย์ล่องหน” ในสังคมของตนเอง ผู้ต้องหาหรือนักโทษในคดีนี้เป็นตัวอย่างอันดีของการชี้ให้ความรุนแรงโดยรัฐและสังคม ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์การล่องหนในหลายมิติ ในบทความนี้ จึงอยากลองสำรวจบางส่วนดูว่าสิ่งที่ล่องหนหายไปด้วยอำนาจที่ถูกใช้ผ่านประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และกระบวนการต่างๆ ที่รายล้อมจากการบังคับใช้มาตรามีอะไรบ้าง และมันทำให้เกิดผลอย่างไรได้บ้างต่อผู้ต้องหา นักโทษในคดี หรือสังคมของเราเอง

ผู้เขียนใช้เรื่องเล่าบางเรื่องที่มีโอกาสได้ฟัง ได้อ่าน และได้ประสบพบเห็นในระหว่างที่ได้มีโอกาสติดตามบรรยากาศ ผู้คน และกระบวนการที่แวดล้อมมาตรา 112 นี้อยู่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น คือ คดีล่องหน, บริบทล่องหน, “ความเป็นคน” ล่องหน และการปรากฏตัวของมนุษย์ล่องหน

คดีล่องหน

จนถึงปัจจุบัน คนจำนวนมากในสังคมไทย ไม่ว่าอยู่ในฝั่งฝ่ายการเมืองไหน หรือถึงแม้จะไม่สนใจการเมืองเลย อย่างน้อยก็น่าจะเคยได้ยิน ได้ฟัง หรือผ่านตาเรื่องราวเกี่ยวกับมาตรา 112 (หรือที่มักถูกเรียกว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”) มาบ้างไม่มากก็น้อยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่จะได้ยินมาแบบไหน และรับรู้มันอย่างไรคงมีความแตกต่างกันไปตามกลุ่มฝ่ายการเมือง และสถานะในสังคมของแต่ละคน แต่การรับรู้ที่เริ่มเป็นไปกว้างขวางขนาดนี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง

หากย้อนกลับก่อน “อากง sms” จะเสียชีวิต ย้อนไปก่อนเกิดการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ในนามของคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) และคณะนิติราษฎร์ ก่อนการตัดสินลงโทษจำคุกอากง 20 ปี ก่อนการอภิปรายเสวนาบ่อยครั้งในประเด็นกฎหมายและสถาบันกษัตริย์ในระยะหลัง ก่อนการจับสมยศ พฤกษาเกษมสุข และสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำทางฝั่งเสื้อแดงด้วยข้อหานี้ ก่อนหน้านั้นการเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนต่อปัญหาของกฎหมายมาตรานี้ หรือการถกเถียงอย่างกว้างขวางก็ยังมีไม่มากนัก (อาจจะนับการอภิปรายเรื่องหลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อเดือนมีนาคม 2552 เป็นครั้งแรกๆ ของการนำเรื่องนี้ขึ้นสู่สาธารณชน ซึ่งก็เพิ่งในช่วง 3 ปีมานี้)

อีกทั้ง สภาวะของการพูดถึงปัญหาของกฎหมายมาตรานี้จนถึงปัจจุบัน ก็ยังติดอยู่ภายใต้เพดานบางอย่าง ข่าวการรณรงค์การเสนอชื่อเข้าสู่สภา ข่าวการเสียชีวิตของอากง ข่าวข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์อย่างครบถ้วนรอบด้าน แทบจะไม่มีพื้นที่ในหน้าสำคัญของสื่อกระแสหลักหรือในโทรทัศน์ ทั้งอาจโดยการเลือกจะทำเป็นไม่สนใจ และการเซ็นเซอร์ตนเองก็ตาม ในขณะที่สื่อและองค์กรต่างประเทศพากันจับตามองการใช้กฎหมายนี้อย่างค่อนข้างกว้างขวาง แต่การถกเถียงพูดถึงให้รอบด้านในประเด็นนี้ในเมืองไทยก็ยังทำได้อย่างจำกัด และต้องระแวดระวังสิ่งที่ตนเองจะพูดกันอย่างสูง

ขณะเดียวกันแม้เราจะทราบว่ามีการฟ้องร้องคดีนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ในระดับสาธารณชน เราก็ไม่ทราบกันนักว่ามีใครบ้างที่โดนกล่าวหาในคดีนี้ ถ้าไม่ใช่บุคคลสาธารณะที่เป็นรู้จักกันอยู่ก่อนแล้วเช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือกรณีอย่าง อากง sms, ดา ตอร์ปิโด, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่พอจะมีชื่อเสียงอยู่บ้าง เราก็แทบไม่รู้จักว่ามีใครบ้างที่โดนกล่าวหาในมาตรานี้กันนัก

อีกทั้งในทางสาธารณะ เราก็แทบไม่รู้ว่าข้อความหรือการแสดงออกซึ่งคนที่ถูกกล่าวหาในคดีพูดหรือทำคืออะไร ซึ่งนั่นดูจะเป็นข้อมูลหรือสิ่งพื้นฐานที่สุดของคดีในลักษณะหมิ่นประมาท ทุกคนรู้ว่าคนนั้นคนนี้โดนคดีนี้ แต่แทบไม่มีใครรู้ว่าคนนั้นทำอะไร พูดอะไร หรือแสดงออกแบบไหน และการนำคำพูดนั้นมาวิเคราะห์วิจารณ์ กล่าวซ้ำ หรือเผยแพร่เพื่อทำความเข้าใจอย่างมีเหตุมีผลสามารถทำได้หรือไม่  ถึงที่สุด เราแทบบอกไม่ได้เลยว่าเส้นแบ่งระหว่างการหมิ่นฯ หรือไม่หมิ่นฯ ทางกฎหมายอยู่ตรงที่ใด เราสามารถเอ่ยถึงสถาบันในแบบใดได้บ้าง ทำให้ความเงียบล้อมรอบประเด็นเหล่านี้กลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ราวกับว่าข้อมูลในคดีนี้และเส้นแบ่งต่างๆ กลายเป็นสิ่งล่องหนอย่างหนึ่ง

ในส่วนของผู้โดนจำขังหรือกล่าวหาจากมาตรานี้เอง ก็ไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็น “คดีการเมือง” หรือ “นักโทษการเมือง” ทั้งในมุมมองของรัฐและทางกฎหมาย ด้วยฐานคิดว่าว่าเรื่องนี้เป็นคดีอาญาในหมวดของความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และเป็นคดีร้ายแรงกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน มุมมองเช่นนี้นำไปสู่ความลักลั่นกับการจัดประเภทของผู้ต้องหาจากคดีมาตรา 112 เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการย้ายเฉพาะ “นักโทษการเมือง” คดีต่างๆ ที่ยังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังเรือนจำหลักสี่เพื่อให้นักโทษมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่กลับไม่นับนักโทษจากคดีมาตรา 112 รวมไว้ด้วย ทำให้พวกเขาและเธอยังถูกคุมขังไว้ที่เดิม หรือข้อเสนอเรื่องปรองดองจากฝ่ายต่างๆ ก็ไม่นับคดีจากมาตรานี้อยู่ในกรณีที่จะมีการนิรโทษกรรม ทั้งที่ในบริบทและเงื่อนไขทางการเมืองในปัจจุบัน สิ่งที่พวกเขาพูด สิ่งที่พวกเธอแสดงออก ล้วนเป็นปัญหาทางการเมือง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับประเด็นสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์โดยตรง

การไม่ถูกยอมรับเป็นนักโทษทางการเมืองหรือนักโทษทางความคิด แต่กลับจัดวางในหมวดความมั่นคงและคดีอาญา ทำให้กระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาคดีเหล่านี้ ยืนอยู่บนฐานการมองผู้ต้องหาในฐานะอาชญากรที่ทำอาชญากรรมรุนแรง ถูกมองว่ามีความผิดตั้งแต่ถูกแจ้งความทั้งที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ความผิดในชั้นศาลไม่ต้องพูดถึงกระบวนการยุติธรรมและพิจารณาคดี ที่คดีนี้ถูกปฏิบัติแตกต่างไปจากความผิดในลักษณะอื่นๆ เช่น การพิจารณาคดีในทางลับ อย่างกรณีของคุณดา ตอร์ปิโด,  สิทธิในการประกันตัวที่ไม่ได้รับการพิจารณา ไม่ว่าจะยื่นประกันไปกี่ครั้ง หรือการตัดสินโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ก็ได้สร้างความลักลั่นในสัดส่วนของโทษในระบบกฎหมายขึ้นมา อย่างที่เราพอทราบกัน

เหตุผลหนึ่งที่ผู้เขียนค้นพบว่าเหตุใดกรณีมาตรา 112 จำนวนมากแทบไม่เป็นที่รู้จักนั้น คือตัวผู้ต้องคดีจำนวนมากเลือกที่จะทำตัวเองให้ล่องหนเสียเอง เพื่อไม่ให้ตนเองหรือครอบครัวต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยหรือความรุนแรง รวมถึงการเลือกจะต่อสู้และโด่งดังกลับทำให้ยิ่งเป็นที่จับตาและเพ็งเล็งจากอำนาจ กระบวนการยุติธรรม หรือกระบวนการทางสังคมมากยิ่งขึ้น  และส่วนมากคนเหล่านี้จะเป็นคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีสถานะทางสังคม และโดยมากเป็นคนไม่มีฐานะนัก ทำให้การคุ้มครองจากสาธารณะแทบเป็นไปไม่ได้ 

ทนายความในคดีมาตรา 112 ที่เงียบๆ คดีหนึ่งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยด้วย ย้ำหลายครั้งว่า “คดีนี้ต้องเงียบๆ อย่างเดียว ยิ่งตีมากยิ่งทำให้เขาโกรธแค้น และยิ่งสั่งลงมาแรง” ความเงียบเช่นนี้ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาในกรณีนี้ได้รับการประกันตัวในชั้นสืบสวน และคาดว่าจะยอมรับสารภาพเพื่อให้เสร็จสิ้นกระบวนการโดยเร็ว

หรือผู้ต้องหาอีกกรณีหนึ่งที่ปัจจุบันยังถูกจำขังในเรือนจำกรุงเทพฯ โดยยังอยู่ในระหว่างรอการสืบพยานในชั้นศาล แม่ของผู้ต้องหาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “พี่ชายเขาขอเงียบๆ ไม่อยากโด่งดัง เราไม่มีอะไรที่จะต่อสู้ เป็นคนสามัญชนไม่มีอะไรเลย ถ้าดังแล้ว เขาอาจจะหมั่นไส้เรา เหมือนปูเหมือนปลา ยิ่งดิ้นเท่าไรก็ยิ่งรัดตัว ไม่รู้จะทำอย่างไร...”

แม้เรื่อง 112 จะเป็นปัญหาที่ถูกอภิปรายกว้างขวางมากขึ้นแล้ว แต่ผู้ต้องหาจำนวนมากยังคงเลือกจะอยู่ในความเงียบ อยู่ในสถานะล่องหน และเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมเองอย่างเงียบๆ ซึ่งต้องแลกมาด้วยการจำยอม รับสารภาพ และรอคอยการอภัยโทษหรือลดโทษในขั้นตอนต่างๆ กระบวนการเช่นนี้ก็ดูไม่ต่างไปจากการยืนนิ่งๆ ให้มีการเพนท์สีเพื่อทำตนเองให้เข้าสิ่งแวดล้อมในงานของโบลิน ศิลปินจำเป็นต้องอดทนยืนให้นิ่งที่สุด และเงียบที่สุด เพื่อถูกทำให้กลืนเข้ากับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด จนกระทั่งล่องหนหายไป...

บริบทล่องหน

ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปฟังการสืบพยานในคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกกล่าวหาในฐานะบรรณาธิการ ที่ดูแลรับผิดชอบการตีพิมพ์บทความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นฯในนิตยสาร  การนำสืบพยานในครั้งนี้มีคำถามหรือการพูดถึงปัญหาที่สำคัญต่อสังคมการเมืองไทยอย่างมาก หลายคำถามโดยเฉพาะที่ทนายจำเลยถาม ไม่ได้เป็นเพียงการถามในประเด็นเรื่องเนื้อหาบทความว่าหมิ่นฯหรือไม่หมิ่น หรือปัญหาทางเทคนิคต่างๆ ในคดี แต่ทนายจำเลยพยายามถามไปถึงปัญหาเชิงอุดมการณ์ของกฎหมาย ปัญหาสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ และคำถามเกี่ยวกับบริบททางการเมืองที่เป็นอยู่อันทำให้เกิดปัญหาการกล่าวหากันในคดีมาตรา 112 กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งคำถามเหล่านี้ถามกันไม่ได้ง่ายนักในที่สาธารณะภายนอกศาล   และสิ่งที่ผู้เขียนพบในการถามคำถามทำนองนี้กับพยานกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะพยานฝ่ายโจทก์ คือพวกเขาบ่ายเบี่ยง ปัดปฏิเสธ และไม่ยอมพูดถึงมันแต่อย่างใด เสมือนกับมันไม่มีอยู่

พยานฝ่ายโจทก์คนหนึ่งในคดีเป็นเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายคนหนึ่งในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หลังการเบิกความโดยอัยการเป็นผู้ถาม ทนายจำเลยก็ทำหน้าที่ซักค้าน (ในบทความส่วนหนึ่งมีการพูดถึงการวางแผนสังหารประชาชนของ “อำมาตย์” ทำให้การสืบพยานจำเป็นต้องมีการตีความว่าคำนี้หมายถึงใครบ้าง)

ทนายถามว่า: 4-5 ปีหลังประชาชนแบ่งออกเป็นสีๆ ทราบหรือไม่

พยานเบิกความว่า: ทราบ

ทนายถามว่า: ฝ่ายสีเหลืองมักจะอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และหาว่าเสื้อแดงไม่จงรักภักดีทราบหรือไม่

พยานเบิกความว่า: ไม่เคยได้ยิน ไม่ได้สนใจ

ทนายถามว่า: ประชาชนฝ่ายสีแดงมีการประท้วงและปราศรัยบนเวทีโจมตีว่าไทยเรามีปัญหาทุกวันนี้เพราะอำมาตย์ทราบหรือไม่

พยานเบิกความว่า: ไม่ทราบ ไม่สนใจเรื่องนี้

ทนายถามว่า: คำว่าอำมาตย์ตีความหมายว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่

พยานเบิกความว่า:  ไม่ได้สนใจ ไม่ได้เกี่ยวข้อง

ทนายถามว่า:  พยานไม่สนใจเรื่องการเมืองเลยหรือ

พยานเบิกความว่า: ใช่

ทนายถามว่า: พยานทำงานให้สำนักงานทรัพย์สินฯ มีประชาชนเรียกพยานว่าอำมาตย์ใช่หรือไม่

พยานเบิกความว่า:  ไม่ทราบ มันแล้วแต่คนเรียก เรื่องของเขา

จะเห็นว่าไม่ว่าจะถามอย่างไร คำตอบของพยานยังคงเป็นไม่ทราบ ไม่เคยได้ยิน ไม่สนใจ ไม่ขอออกความเห็น ไม่ขอตอบ ซึ่งอีกหลายคำถามที่พยานให้การยังคงเป็นไปในลักษณะนี้ ยกเว้นการยืนยันว่าพยานเข้าใจว่าในบทความมีการกล่าวถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เราอาจจะตั้งคำถามได้ว่าพยานไม่ทราบอะไรเลยเกี่ยวกับปัญหาการเมืองเรื่องสีตลอดหลายปีที่ผ่านมาในสังคมไทยจริงหรือไม่ แม้จะดูประหลาดอยู่ที่พยานในฐานะตำแหน่งเช่นนั้นจะไม่ทราบเรื่องเหล่านั้นเลย แต่หากเชื่อว่าพยานไม่ทราบจริงๆ ก็กลับยิ่งน่าตระหนกมากกว่า ว่าพยานโจทก์ที่มาเป็นผู้พยายามยืนยันความผิดต่อจำเลย กลับไม่ได้สนใจ ไม่ทราบถึงบริบทหรือเงื่อนไขแวดล้อมที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมไทย และมีส่วนทำให้เกิดการกล่าวหากันจำนวนมากด้วยข้อหาจากมาตรา 112 หรือบริบทการเมืองที่ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องพูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ราวกับประเด็นเหล่านี้ไม่มีอยู่  

หรือในอีกกรณีหนึ่ง พยานโจทก์อีกคนเป็นทหารยศพันเอกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

ทนายถามว่า: เพราะสังคมโลกเติบโตขึ้น เปิดให้สถาบันกษัตริย์วิจารณ์ได้เท่าที่ไม่ผิดกฎหมาย และที่คนพูดถึงในหลวงมาก
เพราะมีคนบางกลุ่มเอาสถาบันกษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนประชาชนต้องพูดถึงใช่หรือไม่

พยานเบิกความว่า: ขอไม่แสดงความคิดเห็น   

ทนายถามว่า: พระมหากษัตริย์หลัง 2475 เป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ปัจจุบันการพูดถึงสถาบันพูดได้มากน้อยแค่ไหน

พยานเบิกความว่า: ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิ

ทนายจำเลยถามว่า: พยานเคยได้ยินพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ในหลวงทรงดำรัสถึงหัว The King can do wrong และพูดถึงว่ากษัตริย์สามารถทำผิดได้หรือไม่

พยานดูเอกสารแล้วตอบว่า: ไม่ขอแสดงความคิดเห็น

ทนายถามว่า: ถ้าประชาชนติดคุก ก็ทรงไม่สบายพระราชหฤทัย เคยได้ยินไหมว่ามีพระราชดำรัสนี้

พยานตอบว่า: ใครละเมิดกฎหมาย ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย

คำตอบสุดท้ายของพยานแทบจะเป็นการตอบคำถามที่ไม่ตรงกับคำถามเลย แต่มันกลับสะท้อนปัญหาการมองกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีมาตรา 112 นี้ได้อย่างน่าสนใจ เป็นไปได้ไหมว่าคำถามที่พยานผู้นี้ดูเหมือนตอบไม่ตรง แต่ในอีกมุมเขาได้ตอบตรงกับที่ตัวเองคิดและเชื่ออยู่ กล่าวคือไม่ว่าคำถามจะเป็นอย่างไร (เช่น สถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์เป็นอย่างไร วิพากษ์วิจารณ์ทำได้หรือไม่ ทำไมถึงมีการฟ้องร้องข้อหานี้กันมากขึ้น ฯลฯ) เขายังคงจะตอบว่าใครละเมิดกฎหมายก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย มันคล้ายๆ มนต์ที่ถ่องบ่นซ้ำๆ จนตอบเป็นสูตร มันทำให้เห็นว่าคนจำนวนมากพิจารณากฎหมายอย่างโดดๆ แยกขาดออกจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่ในสังคม ราวกับสิ่งอื่นๆ ไม่มีอยู่ มีแต่เพียงตัวกฎหมาย และผู้คนที่อยู่ดีๆ ก็ลุกขึ้นมากระทำการหมิ่นฯ หรือแม้แต่อยู่ๆ ก็จ้องล้มเจ้าอยู่เต็มไปหมด โดยไม่มีที่มาที่ไป เรื่องอื่นๆ ไม่ใช่สาระหรือประเด็นที่สำคัญ ผู้เขียนเข้าใจว่าในหลายกรณีศาลก็ไม่ได้บันทึกความเห็นเหล่านี้ลงในคำให้การด้วย แต่เลือกบันทึกเฉพาะประเด็นทางเทคนิคหรือการตีความข้อความที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น

ไม่ว่าจะด้วยความกลัว ความหวาดระแวง การปิดหูปิดตา หรืออย่างไรก็ตาม แต่การไม่รับรู้ รับรู้แต่ทำเสมือนว่าไม่มีอยู่ รับรู้แต่ไม่อยากพูดถึง การทำความเข้าใจมิติที่ซับซ้อนของผู้ถูกกล่าวหาจำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับเงื่อนไขหรือบริบทที่เกิดการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวางในสังคมไทยหลายปีหลัง แต่เรื่องนี้ก็แทบไม่ถูกอภิปราย หรือทำความเข้าใจในทางสาธารณะ และดูเหมือนแทบเป็นไปไม่ได้ในสังคมไทย

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงในศาล แต่ในสังคมเอง มันทำให้สังคมเราการเป็นสังคมสองระนาบ หรือสังคมสองหน้า ที่มีฉากหน้ากับฉากหลัง ด้านหนึ่งในทางสาธารณะ เราทำราวกับปัญหาทุกอย่างล่องหน ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ชีวิตทางการเมืองดำเนินไปอย่างปกติ ในอีกด้านหนึ่งสิ่งที่ล่องหนเหล่านี้ถูกพูดถึง ถูกแสดงออกอย่างวุ่นวาย มากมากหลายรูปแบบในพื้นที่ส่วนตัว ทั้งในโลกอินเตอร์เนต ในการชุมนุมบนถนน แผ่นซีดี หรือหนังสือหนังหาหลายรูปแบบ การทำให้ประเด็นที่ใหญ่โตขนาดนี้เสมือนไม่มีอยู่ กลับยิ่งทำให้การมีอยู่ของมันขยายใหญ่ขึ้นในพื้นที่ที่ไม่ใช่สาธารณะ ทั้งที่ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใจกลางอย่างหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมการเมืองไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ถ้าเทียบกับงานศิลปะของหลิว โบลิน แล้ว การทำให้บริบทล่องหนนี้ก็ตรงกันข้ามกับการทาตัวเองให้กลืนเข้ากับสิ่งแวดล้อม แต่มันกลับคือการทำลายสภาพแวดล้อมทั้งหมด และเพ่งความสนใจไปที่ตัวคนเพียงอย่างเดียว ทำให้คนที่ล่องหนลอยเด่นขึ้นมา ขณะเดียวกันก็ทำให้ทิวทัศน์ฉากหลังทั้งหมดล่องหนหายไป คำถามก็คือว่าเราทำเช่นนั้นได้จริงๆ หรือ ฉากหลังแบบไหนกันที่ไม่มีอะไรอยู่เลย และเราแต่ละคนยืนอยู่อย่างโดดๆ เช่นนั้นไม่ได้เกาะเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมเงื่อนไขสังคมที่เราอยู่เลยหรือ เราจะเข้าใจนักโทษในคดีมาตรา 112 โดยดูแต่เฉพาะข้อความที่พวกเขาหรือเธอถูกหาว่ากล่าวหรือแสดงออก โดยไม่พิจารณาเหตุผลหรือสภาพแวดล้อมที่ทำให้พวกเขาทำเช่นนั้นออกมาได้จริงๆ ล่ะหรือ

“ความเป็นคน” ล่องหน

นอกจากการถูกกระทำผ่านความรุนแรงในเรือนจำ ตั้งแต่การถูกล่ามโซ่ตรวนหนาหนัก ข้าวปลาอาหารที่นักโทษได้กิน การดูแลรักษาพยาบาลในเรือนจำ สวัสดิภาพความปลอดภัย ความแออัดยัดเหยียดภายใน การถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นมนุษย์ของนักโทษ และสภาพแวดล้อมซึ่งค่อยๆ ดูดกลืนจิตวิญญาณ และทำลาย “ความเป็นมนุษย์” ของคนที่เข้าไปอยู่ในนั้นนานๆ ไป จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมในกรณีของ “อากง” หรือการจำเป็นต้องรับสารภาพในคดีของจำเลยในหลายกรณี (ดูตัวอย่างปัญหาเรือนจำไทยได้ในบทความ “ปิดฉาก ‘อากง’ เปิดฉาก ‘คุกไทย’ เรื่องใหญ่ต้องยกเครื่อง”) ผู้เขียนอยากจะพูดถึงการทำให้ความเป็นคนล่องหนไปในอีกมิติหนึ่งโดยกฎหมายมาตรา 112  

ตัวอย่างที่สำคัญคือกรณีของ “หนุ่ม เรดนนท์” พ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเวบไซต์นปช.ยูเอสเอ และมีการนำข้อความที่มีเนื้อหาให้ร้ายพระมหากษัตริย์ขึ้นสู่เวบไซต์  เขาถูกตัดสินจากศาลชั้นต้นให้จำคุกจากข้อหามาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมแล้ว 13 ปี โดยปัจจุบันเขาอยู่ในคุกกว่าสองปีแล้ว

บทความในวารสารฟ้าเดียวกันฉบับเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2554 คุณหนุ่มได้เขียนบทความขนาดสั้นส่งออกมาจากคุกในเรื่อง “ผมสูญเสีย ‘สถาบันครอบครัว’ไปอย่างไม่มีวันกลับ เพียงเพราะคนบางกลุ่ม (อ้างว่า) ต้องการปกป้อง ‘สถาบันกษัตริย์’” โดยบทความเน้นเล่าเรื่องครอบครัวคนจีนขนาดใหญ่ของเขา และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมากับครอบครัวเมื่อเขาถูกกล่าวหาในคดีนี้ วันที่เขาถูกจับ เขาติดต่อทางบ้านให้มารับลูกชายของเขาไป เพราะต้องถูกนำตัวไปศาล แต่ปรากฏว่าไม่มีญาติคนใดมารับตัวหลานชายไป ช่วงที่โดนจับ หนุ่มเล่าว่าญาติพี่น้องทุกคนทราบข่าวดีแต่ไม่มีใครกล้ามาเยี่ยมและช่วยเหลือลูกชายของเขา

หนุ่มเล่าว่า “พ่อถูกห้ามไม่ให้ติดต่อหรือยุ่งเกี่ยวใดๆ กับผมและลูก จะโทรหาหลานก็ต้องแอบโทร แต่พ่อบอกกับผมในจดหมายว่า ‘เขามิอาจทำใจได้ที่จะลืมผม’ เหมือนกับที่คนอื่นเขาทำกัน และในเดือนนี้เอง (ตุลาคม 2553 ราวครึ่งปีหลังถูกจับ—ผู้เขียน) พ่อก็หอบสังขารวัย 72 ปีมาเยี่ยมผมเป็นครั้งแรก และยังคงแอบมาเยี่ยมผมจนถึงทุกวันนี้ ทุกเดือนไม่เคยขาด พ่อยังบอกอีกว่า ยังมีอีกคนที่รักและห่วงใยผมและอยากมาเยี่ยมเช่นกัน นั่นคือแม่ของผม แต่ท่านก็ถูกห้ามเอาไว้ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับผม อีกทั้งกลัวคดีที่ผมโดนว่าจะนำความเดือดร้อนไปสู่พี่น้องคนอื่นๆ อีก...ไม่ต้องพูดถึงคำถามทำนองว่า ที่โดนจับนี่ทำจริงหรือไม่ได้ทำ ได้รับความยุติธรรมหรือเปล่า ความเป็นอยู่ข้างในสบายดีไหม ขาดเหลืออะไร มีทนายหรือยัง จะให้หลานอยู่ที่ไหน จะประกันตัวได้หรือเปล่า คำถามเหล่านี้ไม่เคยมีเลย พวกเขาทำเหมือนผมกับลูกไม่เคยมีอยู่ในโลกนี้” (หน้า 161-162)

ประโยคสุดท้ายที่ว่า "พวกเขาทำเหมือนผมกับลูกไม่เคยมีอยู่ในโลกนี้" ประโยคนี้อธิบาย “การล่องหน” ของความเป็นมนุษย์ของนักโทษมาตรา 112 ได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนอ่านแล้วรู้สึกถึงความเลือดเย็นจนน่าตื่นตระหนก เมื่อ “พวกเขา” ที่ทำเหมือนกับคุณหนุ่มและลูกไม่เคยมีอยู่ในโลกนี้กลับคือครอบครัวและญาติพี่น้องของตนเอง มิหนำซ้ำการกระทำนี้ยังเกิดขึ้นโดยไม่มีการถามไถ่การกระทำ มุมมอง ความคิด จากเจ้าตัวเสียด้วยซ้ำ เพียงแค่รู้ว่าใครคนหนึ่งในครอบครัวโดนกล่าวหาด้วยกฎหมายมาตรานี้ ความเป็นมนุษย์ในด้านที่ดำรงอยู่ด้วยสายสัมพันธ์ ความไว้เนื้อเชื่อใจของครอบครัวเพื่อนฝูง กลับถูกทำลายขาดสะบั้นลงอย่างง่ายดายจนน่าตระหนก

บางทีความรุนแรงอย่างถึงที่สุดของมาตรา 112 อาจไม่ใช่การฆ่าให้ตาย ทำร้ายร่างกายให้เจ็บปวด แต่คือการฆ่าการดำรงอยู่ของใครสักคนทั้งที่เขายังมีชีวิตอยู่ ทำ “เสมือน”ไม่เคยมีเขาอยู่  สำหรับปัจเจกบุคคลแล้ว ต่อให้สังคมหรือคนแปลกหน้าคนอื่นๆ จะพิพากษาคนๆ หนึ่งเป็น “อาชาญกร” “ปีศาจ” “มนุษย์ล่องหน” อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่รุนแรงเท่ากับญาติมิตร คนในครอบครัวตัวเองรู้สึกและมองคนๆ หนึ่งเช่นนั้นเสียเอง

แน่ละ, ไม่ใช่ความผิดของครอบครัวหรือญาติพี่น้องของคุณหนุ่ม แต่คำถามคือสังคมและคุณค่าในสังคมแบบไหนกันแน่ที่มีพลัง มีอานุภาพพอขนาดจะตัดผ่าแบ่งแยกทำลายสายใย สายสัมพันธ์ของครอบครัว ของญาติมิตร ของคนสนิทกันลงได้ ทำให้คนในครอบครัวเป็นคนแปลกหน้า และล่องหนระหว่างกันและกันได้ถึงเพียงนี้

ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมคุณหนุ่ม และได้เจอคุณพ่อของแกที่ไปเยี่ยมด้วยในวันนั้น ถึงวันนี้เกือบสองปีผ่านไป คุณพ่อก็ยังบ่นให้ผู้เขียนฟังว่าญาติพี่น้องเขากลัวหมด ยังคงไม่มีใครกล้าไปเยี่ยม มีพ่อเพียงคนเดียวที่มาอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่คุณแม่ก็เคยมาบ้างเป็นบางครั้ง ผู้เขียนไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไรแล้ว พี่น้องของคุณหนุ่ม “ลืม” เขาได้จริงๆ หรือ แล้วเขาจัดการอย่างไรกับความทรงจำในการดำรงอยู่ของคุณหนุ่ม แต่เท่าที่รับรู้เพียงแค่นี้ ครอบครัวนี้ก็กำลังเผชิญกับความรุนแรงที่ล่องหนและมองไม่เห็นจากสังคมที่เรากำลังอาศัยอยู่

การปรากฏตัวของมนุษย์ล่องหน

เวทีสรุปการรณรงค์ล่ารายชื่อ ของ “ครก.112” เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่เสียงของผู้ต้องหาและครอบครัวของนักโทษมาตรา 112 หลากหลายกรณีขึ้นไปดังอยู่บนเวทีสาธารณะกลางหอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ “เสียงจากเหยื่อ 112

ภรรยาของสุรชัย ขึ้นไปเล่าถึงปัญหาการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลในเรือนจำ ภรรยาของสมยศขึ้นไปเล่าเรื่องปัญหาการประกันตัว และประกาศว่าพวกตนไม่ใช่เหยื่อ โต้แย้งหัวข้อการพูดคุยที่ชื่อ คุณพ่อของ “หมี” นักโทษคดีมาตรา 112 อีกคนที่ยังคงอยู่ในเรือนจำ ขึ้นไปเล่าสภาพที่ลูกชายถูกซ้อมขณะสอบสวน ขณะคุณแม่ “หมี” ขึ้นไปนั่งเงียบๆ เพราะคุณพ่อบอกว่า “คุณแม่ไม่สามารถพูดถึงเรื่องลูกชายได้ เพราะจะร้องไห้ทุกทีที่นึกถึง” ณัฐ อดีตผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ ที่ได้รับการอภัยโทษอีกคนหนึ่งขึ้นไปเล่าถึงคดีที่ตนเผชิญ  และ “ป้าอุ๊” ภรรยาของอากงที่เพิ่งผ่านความสูญเสียมา ขึ้นไปเล่าความรู้สึกของภรรยานักโทษคดีหมิ่นได้อย่างแหลมคมด้วยประโยคว่า “สามีติดคุกในเรือนจำ ภรรยาก็มีนรกอยู่ในเรือนใจ

วันนั้น ป้าอุ๊พูดและเรียกร้องต่อสังคมบนเวทีว่า “…ขอร้องสังคม ช่วยนักโทษ ไมว่าคดีไหนก็แล้วแต่ มองเห็นว่าเขายังเป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเรา ให้เขาเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของเขาด้วยค่ะ…(คิดถึง) ความเป็นคนของนักโทษ เขาเท่าเทียมกับพวกเรา ให้เขาได้มีโอกาสรับรู้ความเป็นไปในร่างกายของเขา ให้ได้พบหมอเมื่อเจ็บป่วย จะได้รู้เท่าทันมัน อย่าให้เป็นเหมือนอากง และอากงคงไม่ชอบใจที่ใครจะมาเป็นเหมือนเขา”

การเล่าเรื่องราวของตนเองด้านหนึ่งก็ดูจะเป็นการเยียวยาสิ่งที่แต่ละคนได้ประสบพบเจอ เปิดเผยเรื่องราวที่อัดอั้น เจ็บปวด คับแค้น ของครอบครัวและผู้ต้องหา  อีกด้านหนึ่งมันทำให้เรื่องราวของพวกเขาได้ดำรงอยู่ ได้มีที่ทางในที่สาธารณะ เอ่ยเสียง ส่งแจ้งข่าวสาร ชะตะกรรมของนักโทษและครอบครัวต่อสังคมส่วนรวม ย้ำเตือนว่าพวกเขาและเธอไม่ควรถูกทำให้เป็นมนุษย์ล่องหน ไม่ควรถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ ปัญหาจากคดีมาตรา 112 สิ่งแวดล้อมหรือบริบทสังคมที่แวดล้อมกฎหมายนี้อยู่ไม่ใช่สิ่งที่ควรซ่อนตัวล่องหนอยู่ในความเงียบ แต่ควรออกมาอยู่บนพื้นที่สาธารณะเพื่อพูดคุยกันอย่างสงบสันติ เสียงเรียกร้องเหล่านี้ดูเหมือนจะค่อยๆ ปรากฏดังขึ้นจากรอบทิศทางของสังคมไทย ถ้าเราสดับรับฟังมัน

ขณะเดียวกัน เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำหลัง “อากง sms” ได้เสียชีวิตลง พวกเขาต่างก็แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าตนเองจะเผชิญกับสภาวะเช่นใด ก็ยังคงพยายามรักษาความเป็นมนุษย์ของตนเองไว้อยู่ “หมี” นักโทษคนหนึ่งที่ผู้เขียนได้ไปเยี่ยม น้ำตารื้นๆ ขึ้นมาเมื่อถูกถามถึงเรื่องอากง เพราะอยู่ในแดนเดียวกัน และเล่าว่าพ่อกับแม่เขาเห็นอากงแก่แล้ว เลยเคยฝากเขาซึ่งยังหนุ่มแน่นให้ดูแล หรือคุณ “หนุ่ม เรดนนท์” ก็ตัดสินใจโกนหัวของตนหลังทราบข่าวอากงเสียชีวิต เพราะเขาเป็นคนดูแลอากงยามอยู่ในคุกตลอดมา ทำให้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน และหนุ่มยังยิ้มหน้าบาน เมื่อได้แนะนำคุณพ่อซึ่งในวันนั้นได้ไปเยี่ยมเขา ให้ผู้เขียนได้รู้จัก ผู้เขียนคิดเอาเองว่าเขาดีใจมากเสมอที่พ่อมาเยี่ยม และดีใจที่ได้แนะนำคนอื่นๆ ที่มาเยี่ยมให้รู้จักกันกับคุณพ่อ

สายใยความเป็นมนุษย์ที่ผู้ต้องขังมีต่อกัน ผู้เขียนคิดว่ามันคือการยืนยันความเป็นมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจ เป็นคนที่มีความสุขความทุกข์เหมือนๆ เรา ไม่ใช่ “ปีศาจ” “อาชญากร” “นักโทษคดีร้ายแรง” “ภัยต่อความมั่นคง” ที่สมควรถูกกระทำและลงโทษอย่างร้ายแรงเข่นนี้ และรอยยิ้มหรือหยาดน้ำตาเหล่านี้ สำหรับผู้ที่ได้เห็นหรือพบเจอ มันทำให้ “ความเป็นมนุษย์” ของพวกเขาและเธอที่สังคมพยายามทำลายมันลง ปรากฏออกมาและย้ำเตือนการดำรงอยู่ หาได้ล่องหนซ่อนตัวอยู่อีกต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท