Skip to main content
sharethis

แม้การลุกฮือต่อต้านจนสามารถโค่นล้มอดีต ปธน. มูบารัค จะริเริ่มมาจากชาวอียิปต์ที่เป็นผู้หญิง แต่แทนที่จะทำให้สถานภาพของผู้หญิงดีขึ้น กลับทำให้ผู้หญิงอียิปต์มีบทบาทแค่ตัวประกอบในวงการการเมือง

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2012 ในขณะที่กลุ่มต่อต้านยังคงวางแผนประท้วงต่อต้านการยืนอุทธรณ์ของ อดีตปธน. มูบารัค สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน มีรายงานข่าวชื่อว่า 'สตรีอียิปต์ : พวกเขาเป็นอยู่ดีกว่านี้ในสมัยมูบารัค' โดย นาบิลา รามดานี ซึ่งกล่าวไว้ว่า แม้ผู้หญิงชาวอียิปต์จะเป็นผู้ที่ริเริ่ม และเป็นมวลชนครึ่งหนึ่งของการปฏิวัติจัตุรัสทาห์เรีย แต่ผู้หญิงในอียิปต์ทุกวันนี้กลับถูกเมินเฉย ไม่ให้ความสำคัญ

รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงการปฏิวัติบียิปต์เมื่อปีที่แล้ว ผู้หญิงเป็นผู้ที่ที่ริเริ่มวางแบบแผนการชุมนุมประท้วง และเมื่อการลุกฮือแพร่สะพัดไปทั่วประเทศในช่วงปลาย ม.ค. ก็มีนักเขียนหญิงที่ชื่อ นาวารา เนกม์ เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ไว้ โดยเผยแพร่ผ่านทางบล็อก ทางเว็บข่าวอัลจาซีร่า และกลุ่มผู้หญิงในลานชุมนุมจัตุรัสทาห์เรียก็มีอยู่ร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของผู้ชุมนุม

มันชวนให้รู้สึกหมดกำลังใจที่อีกปีครึ่งต่อมา กลุ่มผู้หญิงที่มีบทบาททางการเมืองอย่างมากถูกผลัดไสให้ไปอยู่เป็นผู้ชม ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างแท้จริงครั้งแรกในอียิปต์

ในกรุงไคโรทุกวันนี้ ไม่ได้มีความรู้สึกแบบว่า ปิตาธิปไตยสมัยเก่าถูกทำลายไปโดยพ่ายแพ้แก่จิตวิญญาณประชาธิปไตยของอาหรับสปริง แต่กลับกลายเป็นว่าผู้หญิงหลายแสนคนที่มีส่วนในการโค่นล้มอดีต ปธน. มูบารัค กลับไม่ได้รับความสนใจหรือถูกเพิกเฉยเสียเอง

และจากการที่พรรค Freedom and Justice ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมชนะมาได้ร้อยละ 40 ของที่นั่งทั้งหมด ในการเลือกตั้งส.ส. เมื่อต้นปีนี้ นักวิจารณ์ก็ตั้งข้อสังเกตว่า อียิปต์กำลังจะเปลี่ยนแปลงตัวเองจากเผด็จการฆราวาสนิยมที่มีชาติตะวันตกหนุนหลัง กลายเป็นเผด็จการในคราบศาสนาอิสลามแทน แต่สำหรับบางคนแล้วประเด็นสำคัญจริงๆ อยู่ตรงที่ มีผู้หญิงได้ที่นั่งเพียง 12 ที่นั่งเท่านั้นจากทั้งหมด 498 ที่นั่ง

ซึ่งหมายความว่ามีผู้แทนเป็นผู้หญิงอยู่เพียงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับ การสำรวจของสหประชาชาติที่บอกว่ามีผู้แทนหญิงเฉลี่ยทั้งโลกร้อยละ 19 ทางด้านการเลือกตั้งปธน. ผู้ลงสมัครทั้ง 13 คนก็เป็นผู้ชายทั้งหมด

"ความจริงคือ ผู้หญิงเป็นอยู่ดีกว่าในสมัยของมูบารัค" ดีนา โชบรา กล่าว เธอเป็นนักศึกษาวิชากฏหมายอายุ 20 ปี จากมหาวิทยาลัย อัล-อัซชาร์ กำลังออกช็อปปิ้งที่ย่านใจกลางเมืองไคโร ดีนาสวมฮิญาบและยังคงอยู่กับครอบครัวที่มีพ่อแม่และพี่น้องอีกสี่คน เธอคิดว่าความรู้สึกว่าพอใจแล้ว ผสมกับความกลัว ทำให้การปฏิวัติ 18 วันของอียิปต์กลายเป็นการถอยหลังลงคลอง

"ความรู้สึกว่าพอใจแล้ว มาจากชาวอียิปต์อนุรักษ์นิยมที่เชื่อว่าผู้หญิงควรจะอยู่แต่ในบ้าน" ดีนากล่าว "ส่วนความกลัว คือกลัวกองทัพและการปราบปรามของพวกเขา"

ความท้าทายของผู้หญิงแบบดีนากลายเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ทันทีเมื่อ มานาล อาบูล ฮัสซาน โฆษกหญิงของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมออกมากล่าวในประเด็นนี้ เธอบอกว่าการที่มีผู้หญิงเพียงไม่กี่คนในสภาไม่ถือเป็นปัญหา ความเป็นธรรมในสังคมยังคงเกิดขึ้นได้

มานาล อาบูล ฮัสซานยังได้กล่าวประณามผู้หญิงที่ออกมาประท้วงทหารจากกรณีที่ทหารให้อำนาจเกินกว่าเหตุในการสั่งตรวจพรหมจรรย์ผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน และทำร้ายผู้หญิงที่ออกมาประท้วงหรือเขียนบล็อก ดร.ฮัสซาน เป็นสตรีผู้มีอำนาจทางการเมืองมากในอียิปต์ เธอเชื่ออีกว่า เป็นหน้าที่ของพ่อ พี่ชาย น้อยชาย และสามี ในการออกไปประท้วงแทนผู้หญิง

แนวความคิดว่าผู้ชายคือ "ผู้ปกครอง" มีอยู่ทุกที่ ตั้งแต่คาเฟ่ ร้านอาหาร ที่ถูกครอบงำโดยผู้ชายจอมวางท่า ผู้หญิงวัยรุ่นพากันมานั่งเบียดเสียดกันที่ม้านั่งสาธารณะที่แตกหักเพื่อสถานะทางสังคมขณะที่ถูกจับตามองโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชายตัวเขื่อง ผู้หญิงซาลาฟีคลุมหน้าหนึ่งในผู้หญิงสามร้อยคนผู้ลงสมัครเลือกตั้งส.ส. นำรูปของสามีเธอขึ้นเป็นโปสเตอร์รณรงค์หาเสียง

กลุ่มหญิงวัยรุ่นที่เบียดกันบนม้านั่ง มีคนหนึ่งชื่อโนฮา ฮุสเซนนี อายุ 16 ปี เธอชี้ไปที่ร้านค้าใกล้กับจัตุรัสทาห์เรียที่เต็มไปด้วยโปสเตอร์ของดาราป็อบสตาร์นุ่งน้อยห่มน้อยของสหรัฐฯ อย่างริฮานน่ากับบียอนเซ่ แล้วกล่าวว่า "คนหนุ่มสาวอาจรู้สึกขุ่นเคืองกับวัฒนธรรมตะวันตกในหลายๆ ด้าน แต่ไม่ช็อกมากเท่าคนรุ่นเก่าที่ต้องการย้อนเวลากลับ"

"คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่อยู่มาเป็นหลายร้อยปีได้ภายในชั่วข้ามคืน ในพวกเราไม่มีใครเลยที่อยากเป็นนักร้องเพลงป็อบ แต่พวกเราแค่ต้องการประสบความสำเร็จในฐานะผู้หญิงที่พึ่งตนเองได้ การออกไปต่างประเทศอาจจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำแบบนี้ได้" โนฮา กล่าว

แนวคิดแบบของโนฮาก็เช่นเดียวกับชาวอียิปต์คนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ได้รับข่าวสารจากโซเชียลมีเดียและบล็อกโพสท์ ที่เป็นหัวหอกของการปฏิวัติ แต่พวกเขากลายเป็นสิ่งแปลกแยกมากเท่ากับที่ริฮานน่าเป็นสำหรับหลายๆ คน ความเท่าเทียมกันทางเพศสำหรับหลายๆ คนที่ว่านี้เป็นเพียงแค่สิ่งนำเข้าจากตะวันตกที่ไม่พึงประสงค์ เช่นเดียวกับ ฟาสต์ฟู้ดและภาพยนตร์ฮอลลิวู้ด

มูบารัคถูกมองว่าเป็นมิตรที่ดีกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ และความใกล้ชิดที่ว่าในตอนนี้กลับกลายมาเป็นอุปสรรคต่อสตรีนิยมเสียเอง เกิดความต้องการของคนจำนวนมากในการปฏิเสธอะไรก็ตามที่เป็นจุดยืนของเปด็จการผู้นี้ รวมถึงแนวคิดแบบตะวันตก ซึ่งจริงๆ แล้วการปฏิเสธเช่นนี้จะทำให้กลุ่มศาสนาเฟื่องฟู ขณะที่เสรีนิยมก้าวหน้า รวมถึงนักสตรีนิยมถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

หากกลุ่มศาสนาเข้าครอบงำ อันตรายจะเกิดขึ้นไม่เพียงแค่กับสภาผู้แทนฯ เท่านั้น แต่กับฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ สิทธิมตรีดูจะล้าหลังขึ้นเรื่อยๆ

ซูซาน มูบารัค อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งเคยหลักดันร่างกฏหมายที่ให้แประโยชน์กับผู้หญิง รวมถึงสิทธิที่ภรรยาจะสามารถฟ้องหย่า และระบบโควต้าจำนวนส.ส.หญิงของผู้ลงสมัครเลือกตั้ง ตัวกฏหมายตัวหลังถูกยุบไปแล้ว ขณะที่กฏหมายแรกกำลังสุ่มเสี่ยงจะโดน

นอกจากนี้ยังมีข่าวน่ารังเกียจของการออกกฏหมายใหม่จากสภาฯ เช่นกฏหมายลดอายุหญิงที่สามารถแต่งงานด้วยได้เป็น 14 ปี ขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายอีกว่าหากมีการหย่าจะต้องให้เด็กอายุมากกว่าแปดปีกับฝ่ายชาย ทั้งหมดนี้ชวนให้รู้สึกว่าถูกทรยศ แต่ก็ไม่ใช่ความรู้สึกใหม่เท่าใด

เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่นเดียวกับในปี 2011 ในยุคสมัยปี 1919 ผู้หญิงอียิปต์ก็มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติต่อต้านการปกครองของอังกฤษ แต่ก็ถูกผลักให้ออกไปอยู่ข้างสนามโดยพรรคชาตินิยม Wafd หลังจากที่อียิปต์ได้รับเอกราชในปี 1922 ในอีกหนึ่งปีต่อมา ฮูดา ชาราวี เริ่มเคลื่อนไหวสตรีนิยมโดยเอาผ้าคลุมหน้าออกต่อหน้าสาธารณชน มรดกการต่อสู้ของเธอยังดำเนินมาจนทุกวันนี้

อัสมา มาห์ฟูซ์ นักกิจกรรมอายุ 26 ปี ในตอนนี้ถูกกล่าวถึงในฐานะ "ผู้นำ" ของการปฏิวัติอาหรับสปริง จากการที่เธออัพโหลดวีดิโอในเดือน ก.พ. 2011 เรียกร้องให้ผู้ชายมาร่วมชุมนุมกับเธอ

เรื่องที่ชวนให้ท้อคือเรื่องราวของอัสมาและผู้หญิงอีกหลายพันที่คล้ายเธอ ทำให้รู้ว่าผู้หญิงอียิปต์ควรจะเป็นผู้ให้แรงดลใจและคอยขับเคลื่อน แต่อย่าได้สะเออะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง

 

 

ที่มา
Egyptian women: 'They were doing better under Mubarak', The Guardian, 04-06-2012
http://www.guardian.co.uk/world/2012/jun/04/egyptian-women-better-under-mubarak

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net