Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากที่หันหลังให้กับการเมืองมาเป็นเวลานาน เพราะรู้สึกว่าการเมืองเดินทางมาในจุดเดิมๆ ที่อย่างน้อยผลประโยชน์ก็มาก่อนอะไรทั้งนั้น แต่ก็นั่นแหละ มันคือการเมืองไม่ใช่มูลนิธิฯที่จะมาทำอะไรที่ไม่หวังผลตอบแทน หรือจะว่าไปก็ไม่ถูกเสียทีเดียวที่เราจะกล่าวว่า มูลนิธิฯไม่ได้แสวงหากำไร เพราะจากการที่มีโอกาสเข้าไปศึกษาถึงมูลนิธิฯหนึ่งที่ต่อสู่เรื่องป่าไม้มาเป็นเวลานานก็ไม่พ้นที่จะทำงานเพื่อผลตอบแทนบางอย่างมากกว่าสู้เพื่ออุดมการณ์อย่างสุดลิ่มตามที่ผู้เขียนคิดและจินตนาการไว้

ช่วงเวลานี้สิ่งที่สร้างปัญหาอย่างมากให้กับคนจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับการเมือง นั่นก็คือจุดยืนของผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน มีคำถามมากมายว่า เหตุใดเล่าบรรดาผู้ที่ต่อสู้ทางการเมืองเหล่านั้นไม่ได้สนับสนุนกันอย่างที่เคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีของกลุ่มคนที่สังคมเรียกว่าคนเสื้อแดงและดูเหมือนว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นเอกภาพเสมอไปซึ่งก็มีคนที่ถูกใจและไม่ถูกใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแต่อันนั้นก็ไม่ใช่ประเด็น

สำหรับผู้เขียน ในที่นี้อยากกล่าวถึงหลักการคิดของผู้คนจำนวนหนึ่งที่ในที่สุดแล้วปัจจุบันเกิดความสับสนว่า “มันก็เป็นเสื้อแดงเหมือนกันนี่หว่า ทำไมมันไปคนละทาง” ผู้เขียนมองว่าปัจจุบันแล้วผู้คนจำนวนหนึ่งมักมองการเมืองและแบ่งแยกสิ่งต่างๆ แบบหยาบกระด้างเกินไป สิ่งเหล่านี้มันอาจจะเกิดขึ้นมาได้จากหลายกรณีด้วยกันแต่ผู้เขียนมองว่า ที่มันสำคัญที่สุดนั่นก็คือ ความไม่ใส่ใจและความขี้เกียจที่จะนั่งมองมันแบบลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นก็เอาเป็นว่าแบ่งมันแบบง่ายๆ เลยละกัน เช่น มองว่าทุกคนที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยเป็นเสื้อแดง หรือมองว่าผู้ที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนคือ คนเสื้อแดง หรือมองว่าผู้ที่เคลื่อนไหวในนามคนเสื้อแดงทุกคน คือผู้ที่ชอบอดีตนายกฯ ท้ายที่สุดสรุปสั้นๆ ก็คือ มองทุกอย่างตายตัวเพียงแคสองเฉดสีเท่านั้น (อาจจะสามหากเชื่อว่ามีคนที่อยู่ตรงกลาง)

เมื่อเขาคิดเช่นนั้นการคิดต่างๆ ทางการเมืองก็มักจะไม่รอบด้านเท่าที่ควรนัก เพราะที่สุดแล้วสมองก็จะสั่งการก่อนเลยว่า เขาเป็นพวกไหน หากเป็นพวกนี้ให้มองก่อนเลยว่าเป็นคนดี หรือหากเป็นพวกนี้ให้มองว่าเป็นคนเลวหรือคนโง่ ไปในที่สุด ดังนั้นในที่นี้ผู้เขียนอยากลองมองว่าเพราะเหตุใดเราจึงมองและคัดแยกแบบง่ายๆเช่นนี้เกิดจากฐานคิดอะไรเป็นสำคัญ

ในเรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าการมองในลักษณะนี้ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรเลย หลักการเชื่อในตัวบุคคลมากเกินไป ซึ่งในที่นี้อาจเกิดจากโครงสร้างเกือบทุกเรื่องของประเทศเรามักจะมีโครงสร้างในลักษณะแนวดิ่ง กล่าวคือ บนสุดของยอดความคิดมักจะมีบางสิ่งเป็นสัญลักษณ์เสมอ หากมองมันก็จะทราบได้ทันทีว่ามันเป็นตัวแทนของสิ่งใด ส่วนมากแล้วเรามักจะอิงกับบุคลเสมอ เช่นเมื่อนึกถึงประชาธิปไตยของไทยหลายคนคงมีภาพ ปรีดี พนมยงค์ เกิดขึ้นในหัวเป็นแน่หรือ เรามักมีสิ่งยึดเหนี่ยวที่ว่า หรือแม้แต่การนึกถึงเหล่าบรรดานักการเมืองผู้เป็นเผด็จการทั้งหมาย ถนอม ประภาส ณรงค์ ก็คงเป็นชื่อแรกๆที่คุณจะนึกถึง

หรือหากจะเป็นในส่วนของการกระทำ การกระทำก็จะกำหนดว่าคุณนั้นเป็นพวกใด ดังเช่น หากทำแบบนี้หรือไม่ทำ รักหรือไม่รัก ก็จะเป็นสิ่งที่บอกคุณได้ว่า “คุณเป็นหรือไม่เป็นคนในชาตินั้น”  สิ่งนี้ยังใช้ได้เสมอและมันก็ถูกพัฒนามาสู่เรื่องต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วในเรื่องของการเมือง เช่น ในสังคมเรามักจะกล่าวว่า ใครชอบพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นเสื้อเหลือง (หรือพูดง่ายๆไม่ใช่เสื้อแดง) ใครชอบพรรคเพื่อไทยก็เป็นเสื้อแดง ใครชอบคุณอภิสิทธิ์ก็ถูกพวกหนึ่งตราหน้าว่าเป็นสีหนึ่ง ใครชอบคุณทักษิณก็ตราหน้าว่าเป็นสีหนึ่ง หรือขนาดเอากันว่าชอบสีนี้เป็นคนดีและหากชอบสีนี้เป็นคนไม่ดี กันเลยทีเดียว ดังนั้นกล่าวโดยรวมแล้วหลักการยึดถือในตัวบุคคลหรือแค่การกระทำบางอย่างเป็นที่ตั้งก็น่าจะมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้การแบ่งแยกนั้นหยาบๆเกินไป

ต้องยอมรับก่อนว่าในองค์กรการเคลื่อนไหวของสังคมนั้นมีองค์ประกอบอยู่หลายส่วนด้วยกัน ในที่นี้ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงแนวคิดและทฤษฎีขบวนการทางการเมืองซักเล็กน้อยเพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ โดยในที่นี้ผู้เขียนขอใช้หลักการระดมทรัพยากร ซึ่งจะบ่งบอกถึงองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการเคลื่อนไหวหรือในขบวนการทางการเมือง

องค์การเคลื่อนไหวทางสังคมสามารถแบ่งออกได้หลายมิติ ดังนี้[i]

1. สมาชิกผู้ร่วมจุดหมายเดียวกัน  คือ ปัจเจกบุคคล หรือองค์กรที่มีเป้าหมายเดียวกัน

2. สมาชิกผู้สนับสนุน คือ ปัจเจกบุคลที่สนับสนุนทรัพยากรแก่องค์กรที่เคลื่อนไหว

3. สาธารณชนผู้เฝ้ามอง คือ ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในขบวนการเคลื่อนไหว แต่รับรู้และไม่มีท่าทีในลักษณะการต่อต้าน

4. ฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ต่อต้าน

แน่นอนว่าตรงนี้หากมองกันดีๆแล้วก็จะมีความเข้าใจมากขึ้นว่า ในที่สุดแล้วการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะองค์กรใดในโลกก็มักจะมีส่วนประกอบที่สำคัญในลักษณะข้างต้นเสมอ ไม่ว่าเราจะมั่งใจในเหตุและผลของเราแค่ไหนสุดท้ายก็มักจะมีมุมมองที่เห็นต่างกับเราได้เสมอเช่นกัน

ดังนั้นข้อที่ควรคิดในการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ หากพูดถึงในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี ฯลฯ ควรคำนึงเสมอว่ามีหลายส่วนด้วยกันที่อยู่ในกระบวนการเคลื่อนไหว และแม้แต่ในองค์กรการเคลื่อนไหวเองก็ตามก็ไม่ได้มีผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันเสมอไป อาจจะมีผู้ที่เห็นประโยชน์ในบางส่วน บางเรื่องเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากเราทำความเข้าใจได้ก็น่าที่จะลดความสงสัยเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นภายในองค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมืองไม่มากก็น้อย

นอกจากนี้ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนหรือองค์กรต่างๆ อาจจะจำแนกได้ในอีกลักษณะหนึ่งคือใช้ผลประโยชน์ที่ได้รับจากความสำเร็จของการเคลื่อนไหว ดังนี้[ii]

1. ผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง เป็นปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มองค์กรที่ได้ประโยชน์เมื่อการเคลื่อนไหวสำเร็จ

2. ผู้ให้การสนับสนุนแต่ไม่ได้รับผลประโยชน์ เป็นปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มองค์กรที่ไม่ได้ประโยชน์เมื่อการเคลื่อนไหวสำเร็จ แต่เป็นผู้มีความเห็นอกเห็นใจและเต็มใจที่จะให้ความช่วยเหลือ

ผู้ให้การสนับสนุนแต่ไม่ได้รับผลประโยชน์นั้น มักเป็นปัญหาเสมอต่อองค์กรเคลื่อนไหว เพราะเขาเหล่านี้มักจะเป็นกลุ่มบุคคลและมาจากหลายๆองค์กร เป็นกลุ่มที่มิได้แสวงหาประโยชน์ทางด้านวัตถุ ดังนั้นผู้สนับสนุนในลักษณะนี้มักจะไม่มีความยั่งยืนในการสนับสนุน อาศัยการเข้ามาเพียงครั้งคราวเท่านั้น[iii]

เมื่อมองจากสิ่งนี้ การแบ่งแยกแบบหยาบๆโดยมองแต่ตัวบุคคลแบบข้างต้นก็เท่ากับว่าเรามองข้ามองค์ประกอบอื่นๆในองค์กรการเคลื่อนไหว เราสรุปรวมเพียงว่าผู้ที่มาร่วมในองค์กรทางการเมืองเป็นผู้มีอุดมการณ์เดียววันเสมอ ดังนั้นเมื่อผู้นำคิดอย่างไรคุณก็ต้องคิดแบบนั้น หรือเมื่อคุณมีอุดมการณ์ที่ตรงกับผู้ใด ฝังไหน ก็มักจะถูกเหมารวมว่าคุณเป็นพวกเดียวกันกับกลุ่มนั้น และถ้าหากมองความเป็นจริงนักการเมืองส่วนมากก็มิได้มีอุดมการณ์เหมือนกันเท่าใดนัก หากแต่สิ่งที่เหมือนกันและทำให้เข้าร่วม ก็น่าจะเป็นเรื่องการได้รับผลประโยชน์และอิงแอบกับองค์การมากกว่า

สำหรับการเข้าๆออกๆของผู้ที่สนับสนุนองค์กรทางการเมืองนั้น หลักการระดมทรัพยากรกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเคลื่อนไหวแล้วก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่คนเหล่านั้นจะอยู่ยาวในการเคลื่อนไหวจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่ต้องการ หากการเคลื่อนไหวของผู้ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์แล้วล่ะก็การเข้าๆออกๆก็เป็นสิ่งที่เห็นเป็นประจำ ดังนั้นสองคั่วนี้อาจจะมีปัญหากันได้ภายใต้การเคลื่อนไหว เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯในช่วงก่อนยึดอำนาจปี 2549 พรรคประชาธิปัตย์ก็เคลื่อนไหวอิงแอบกับพันธมิตร แต่ครั้นเสร็จศึกหลังจากนั้นสองฝั่งก็เกิดอาการไม่ลงรอยกัน เพราะสิ่งที่ผู้เขียนมองก็คือพรรคประชาธิปัตย์คงเป็นผู้เล่นที่อยู่ในกลุ่มของ ผู้สนับสนุนที่ไม่ได้รับประโยชน์ใดจากการเคลื่อนไหวโดยตรงแต่พวกเขาก็ได้ประโยชน์อย่างมากกับการกำจัดศัตรูทางการเมืองที่น่ากลัวที่สุดของเขาไป แต่น่าเสียดายแม้ว่าศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์จะไม่อยู่แต่วิญญาณของศัตรูหมายเลขหนึ่งของพวกเขาก็ยังตามหลอกหลอนอยู่และมิอาจหาหมอผีตนไปมากำจัดได้ และพวกเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุนผู้อื่นๆเช่นกันหากตนเองได้ประโยชน์เช่นเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรฯทำให้ ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่ขัดกันอย่างมากกับหมู่ที่เป็นผู้รับผลประโยชน์โดยตรง เกิดการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันตามมาและก็เกิดความขัดแย้งกันในที่สุดซึ่งก็เห็นๆกันอยู่ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล [iv]

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจกับหลักคิดที่มักจะหาผู้รับผิดชอบเสมอ เช่น เรามักมีบิดาของเรื่องต่าง เรามักมีผู้ที่ควรแก่การสรรเสริญในภาวะที่เศรษฐกิจดี เรามักมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบในวันที่เศรษฐกิจแย่ ทั่งที่ความเป็นจริงแล้วมันมีองคาพยพอื่นๆอีกมากมาย เช่นเดียวกับที่มองว่าที่บ้านเมืองที่เป็นเช่นนี้ เพราะอดีตนายกฯเพียงคนเดียวเท่านั้น หรือแม้แต่ผู้ที่ศรัทธาอดีตนายกผู้เขียนก็ไม่แน่ใจนักว่าวันที่เขากลับมาแล้วมันจะทำให้อะไรๆที่คุณคาดหวังดีขึ้น ผู้เขียนคิดว่ามันเป็นเรื่องตลกอย่างไม่น่าเชื่อที่คนเพียงหนึ่งคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากมายขนาดนั้นแต่ผู้เขียนก็ไม่ปิดโอกาสที่จะเชื่อและเฝ้ารอวันที่อดีตนายกฯลาโลกไปว่า ประเทศเราจะดีขึ้นหรือไม่ การกล่าวเช่นนี้มิได้ว่าผู้เขียนสนับสนุนอดีตนายกแต่อย่างใด แต่ว่าโดยหลักคิดของผู้เขียนมันอาจจะแตกต่างกับคนอื่นๆนั่นก็คือผู้เขียนมองว่าทุกคนเท่าเทียมกันและมันก็น่าที่จะหมดยุคของนักรบที่เราเคยดูในภาพยนต์ที่ต่อสู้เพื่อบ้านเมืองของตนเองจนได้รับชัยชนะเพราะความสามารถอันยอดเยี่ยมของเขาเพียงผู้เดียว และอีกเหตุผลที่สำคัญผู้เขียนไม่มีความศรัทธาในตัวบุคคล เพราะอย่างน้อยคนก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและไว้ใจไม่ได้มากที่สุด

ผู้เขียนได้บอกกับผู้อื่นตลอดเวลาว่าไม่นานนักการการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆในบ้านเราก็จะอ่อนแรงลงไป เนื่องจากเราอิงแอบกับตัวบุคคลมากเกินไป เมื่อเรามองบุคคลเป็นที่ตั้งวันหนึ่งคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นนักการเมืองด้วยแล้วเขาเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนไปเพราะการเมืองไม่ว่าจะเป็นที่ใด การเจรจาต่อรองให้ได้มาซึ่งประโยชน์ก็มาก่อนอุดมการณ์เสมอ ดังเช่นสถานการณ์ที่ต่อรองกันเรียบร้อยในสังคมบ้านเราของบรรดาผู้มีอำนาจที่ขัดแย้งกันมาเป็นเวลานานก็ส่อเค้าและสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับบรรดาผู้ที่ต่อสู้ด้วยหลักการมากกว่าเพื่อบุคคล

เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เป็นผลสะท้อนออกมาก็คือการเปลี่ยนไปของคนในกลุ่มซึ่งบางส่วนอาจจะรับไม่ได้ที่อยู่ๆคุณก็ไปกอดกันทั้งที่ก่อนหน้านี้คุณแทบจะฆ่ากันตายอยู่แล้ว มันจึงทำให้แนวร่วมบางส่วนต่างไปกันคนละทางและกระจัดกระจายมากขึ้น แต่เมื่ออ่านข่าวผ่านเสื่อออนไลน์ฉบับหนึ่งก็ได้เห็นบางอย่างขึ้นมาที่ทำให้อย่างน้อยก็เชื่อว่าการต่อสู้ก็ยังมีผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่บ้าง และคิดว่าน่าสนใจที่จะได้นำมากล่าวถึง

กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ [v] ได้สร้างสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าคนเสื้อแดงคนอื่นๆไม่กล้าที่จะทำนั่นก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์สัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงส่วนมาก นั่นก็คืออดีตนายกฯ มันทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าอย่างน้อยสังคมก็มีความหวังอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เมื่อออกมาเตือนสติของผู้คนที่มักจะเคลื่อนไหวตามคนมากกว่าอุดมการณ์ให้หันมาคิดดูบ้างว่า เห็นไหมล่ะว่าวันหนึ่งนักการเมืองมันก็เปลี่ยนไป เมื่อคุณใช้คนเป็นหลักยึดเมื่อไรคุณก็ต้องผิดหวังเมื่อนั้นเว้นแต่คุณเปลี่ยนตามไปด้วยดังเช่นนักการเมือง

นี่เป็นสิ่งที่ผู้เคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อยที่พยายามจะบอกกับสังคมว่าควรยึดมั่นในหลักการมากกว่าตามผู้นำหรือตัวบุคคล อาทิเช่น นักวิชาการ ที่มักจะถูกตราหน้าเมื่อออกมาให้ความเห็นว่าใส่เสื้อสีโน้นสีนี้ จนทำให้นักวิชาการ ช่วงหลังไม่อยากที่จะออกมาวิจารณ์อะไรมาก เพราะเปลืองตัวสอนหนังสืออย่างเดียวดีกว่า ซึ่งผู้เขียนมองว่าเราเสียประโยชน์มากเพราะหน้าที่ของอาจารย์ทั้งหลาย คือนักคิด (ซึ่งบางคนอาจจะกล่าวว่าอยู่บนหอคอยงาช้าง) แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่นักวิชาการควรที่จะทำมากที่สุด มากกว่าการนั่งอยู่เฉยๆ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเพราะจากการต่อสู้ที่ผ่านมาในโลกนักต่อสู้แนวคิดสังคมนิยมอย่าง มาร์กซ ก็มักจะถูกพวกเดียวกันกล่าวหาทำนองนี้เช่นกัน

สิ่งที่ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งต่อการต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ต่อสู้กับการคอรัปชั่น กลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อสู่เพื่อประชาธิปไตย นั่นก็คือ การยึดมั่นและถือมั่นในอุดมการณ์ แน่นอนว่าการต่อสู่คงไม่สามารถใช้เวลาสั้นๆ ในการเปลี่ยนแปลงสังคม อาจจะใช้เวลาเป็นสิบเป็นร้อยปีก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยก็ทำให้มีความหวังว่าเราพร้อมที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมจริงๆมากกว่าการแอบอิงการต่อสู่เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของตัวเองและพวกพ้องแค่นั้น ในการต่อสู้เพื่ออะไรบางอย่างไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีที่ผิดและไม่สนใจต่อระเบียบบ้านเมือง การต่อสู้มันมีอีกหลายวิธีมาก แต่ถ้าคุณจะใช้วิธีที่ผิดหลักบ้านเมืองแล้ว สิ่งที่อยากให้ผู้เคลื่อนไหวทุกคนไม่ว่าใครยอมรับ นั่นก็คือปฏิบัติตามที่ท่านพูดนั่นก็คือ อารยะขัดขืน หรือว่าที่พูดไปท่านไม่ได้เข้าใจอะไรเลยแต่ใช้เพียงเพราะให้พวกของตนดูดีเท่านั้น และสิ่งสำคัญสุดท้ายคือ คุณอย่ายอมตายเพื่ออะไร เพราะการที่คุณอยู่คุณมีโอกาสได้สู้แต่ถ้าคุณตายการต่อสู้มันก็จบลงเมื่อคุณหยุดหายใจ

               

 



 

[i] ประภาส ปิ่นตกแต่ง. 2552. “ทฤษฎีการระดมทรัพยากร”   (บทที่ 2: 79-80 ). ในกรอบการวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีขบวนการทางสังคม. เชียงใหม่: มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์  สำนักกงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

 [ii]  เรื่องเดียวกัน.”   (บทที่ 2: 80 ).

 [iii]  เรื่องเดียวกัน.”   (บทที่ 2: 82 ).

 [iv] ที่มา  http://www.khaosod.co.th.  “วันก่อนด่าพ่อล่อแม่กันเสียๆ หายๆ วันนี้ พันธมิตร กับ ประชาธิปัตย์ กลับมารัดเอว จูบปากกันจ๊วบๆ” วันที่สืบค้น  วันที่สืบค้น 5 มิถุนายน 2555.

 [v] ที่มา www.komchadluek.net . “รถไฟไม่ใช่เรือ'แดง'แตกซัด'แม้ว'หนี”.   วันที่สืบค้น 5 มิถุนายน 2555.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net