Skip to main content
sharethis

ประชาคมโรฮิงยาในไทยและต่างประเทศยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อยูเอ็น ร้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระเพื่อค้นหาความจริงและดำเนินกระบวนการทางกฎหมาย ในขณะที่สถานการณ์ในรัฐอารกันยังคงทวีความรุนแรงขึ้น 

 11 มิ.ย. 55 - ราว 10 นาฬิกา บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถ.ราชดำเนินนอก ชาวโรฮิงยากว่าร้อยคน นำโดยสมาคมโรฮิงยาแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกต่อสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิบัติการหยุดยิงในสถานการณ์ความขัดแย้งทางเชื้อชาติในรัฐอาระกัน ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหลังจากนั้นตัวแทนจากมูลนิศักยภาพชุมชนและสมาคมโรฮิงยา เดินทางไปยื่นหนังสือที่สถานทูตในชาติอาเซียนอีก 8 ประเทศ ยกเว้นพม่าและไทย รวมถึงสถานทูตสหรัฐฯ และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยด้วย 


ที่มาภาพ: มูลนิธิศักยภาพชุมชน 

จดหมายเปิดผนึกที่ร้องถึงบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ และร่วมลงนามโดยมูลนิธิศักยภาพชุมชน และประชาคมชาวโรฮิงยาในประเทศต่างๆ อาทิ สมาคมพม่าโรฮิงยา องค์กรอาระกันโรฮิงยาแห่งชาติ องค์กรพม่าโรฮิงยาประเทศอังกฤษ  ระบุว่า หากไม่มีการแทรกแซงจากภายนอกในเร็ววัน ประชากรมุสลิมอาระกันอาจสูญหายไปจากโลก เนื่องจากสถานการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุเป็นไปอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และมีข้อเรียกร้องอีก 7 ข้อ ได้แก่ 

๑ ขอให้มีปฏิบัติการหยุดยั้งสถานการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุโดยทันทีด้วยการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติ เข้าไปในรัฐอารกัน เพื่อคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ 

๒ ขอให้สหประชาชาติ  ส่งหน่วยปฏิบัติการสหประชาชาติ เข้าควบคุมสถานการณ์ที่เลวร้ายในรัฐอารกันอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะป็นได้ 

๓ ประชาชาคมโลก ต้องเข้าแทรกแซงสถานการณ์โดยทันทีเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนอารกันมุสลิม 

๔ ขอให้นักข่าวนานาชาติ เฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เลวร้ายในรัฐอารกันอย่างใก้ลชิด

๕ ขอให้องค์กรด้านมนุษยธรรมเข้าไปช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมในรัฐอารกันอย่างเร่งด่วน 

๖ ต้องการได้ยินคำอธิบายจากรัฐบาลทหารพม่าต่อสถานการณ์ในรัฐอารกัน

๗ เรียกร้องให้สหประชาชาติ จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระเพื่อพิจารณาการกระทำที่เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ และนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการศาล 

นายอับดุล การัม หนึ่งในแกนนำสมาคมพม่าโรฮิงยา ประเทศไทย กล่าวว่า ที่มายื่นหนังสือในวันนี้ เพราะอยากให้ยูเอ็นเข้าดูแลตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและดำเนินคดีแก่ผู้ที่ทำผิดตามกฎหมาย และมองว่า ชาวโรฮิงยาเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยที่ปราศจากเครื่องมือและอาวุธ หากเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ในรัฐยะไข่ที่เป็นประชาชนส่วนมาก 

"ที่นางออง ซาน ซูจี เพิ่งเดินทางมาไทย ก็ได้บอกว่า หากชาวพม่ามีปัญหาอะไรก็ขอให้บอก หากว่ามีคนกลุ่มใหญ่ดูแลคนกลุ่มน้อยก็ขอให้บอก แต่นี่ซูจีกลับไม่เท่าไรก็เกิดปัญหาแล้ว" การัมกล่าว "ตอนนี้รัฐบาลพม่าไม่เห็นประชาธิปไตย และกำลังทำลายประเทศของตนเอง"​

ทั้งนี้ ความไม่สงบในรัฐอาระกันเริ่มมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ซึ่งมีกลุ่มมุสลิมแสวงบุญ 10 คนถูกชาวอาระกันตีจนเสียชีวิต ระหว่างเดินทางไปย่างกุ้ง โดยการโจมตีดังกล่าวเพื่อตอบโต้กับข้อกล่าวหาว่ามีสตรีอายุ 26 ปีรายหนึ่งถูกข่มขืนและฆ่าโดยชาวมุสลิมสามคนเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวแล้วและอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่่ผ่านมา มีรายงานโดยสื่อพม่าว่า หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาได้ฆ่าตัวตายในเรือนจำ

ขณะที่สถานการณ์รุนแรงในรัฐอาระกันเริ่มขยายตัวมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุประท้วงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาโดยชาวมุสลิม โดยซึ่งได้เข้าโจมตีชุมชนชาวอาระกัน ซึ่งเป็นชาวพุทธในเมืองมงดอว์ รัฐอาระกัน โดยทางการพม่ารายงานเบื้องต้นว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ 7 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 17 คน สื่อของรัฐบาลพม่ายังรายงานว่า มีบ้านเรือนถูกทำลายได้รับความเสียหาย 494 หลัง ร้านค้าอีก 19 แห่ง รวมถึงโรงแรมอีก 1 แห่ง ในจำนวนนี้พบมีบ้านเรือน 4 – 5 หลัง ถูกเผา ส่วนชาวอาระกันกว่า 300 คน ที่หนีไปอยู่ที่วัดได้รับความช่วยเหลือแล้ว โดยหลังเกิดเหตุ ทางการพม่าได้ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ทันทีและห้ามประชาชนในพื้นที่ชุมนุมกันเกิน 5 คน มีรายงานว่า มีการประกาศเคอร์ฟิวในเมืองบูทีดองด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ประธานาธิบดีเต็ง เส่งห่วงความรุนแรงในรัฐยะไข่อาจส่งผลกระทบกับประชาธิปไตย)

ที่มาภาพ: มูลนิธิศักยภาพชุมชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net