Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคนใต้-ประจวบ-ภาคตะวันออกแห่ร่วม นายก อบต.ปากน้ำชี้พลังบริสุทธิ์ ชาวบ้านค้านท่าเรือฯ แนวทางถูกต้อง ผู้ว่าฯ รับพัฒนาสตูลท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ สัญญาประชาคมย้ำขอกำหนดแผนพัฒนาสตูลเอง

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 มิ.ย.55 ที่จุดชมวิวลานสาธารณะ 18 ล้าน ชายหาดปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เครือข่ายประชาชนตำบลปากน้ำ เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาภาคใต้ และเครือข่ายรักจังสตูล จัดเวที “สัญญาประชาคมคนสตูลไม่เอาท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา” โดยมีนายพิศาล ทองเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายฮอซาลี ม่าเหร็ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล พรรคประชาธิปัตย์ นายรัฐการ ลัดเลีย นายกองค์การบริหารตำบลปากน้ำ
 
กิจกรรมครั้งนี้มีผู้นำศาสนา  นักเรียน นักศึกษา ชาวบ้านตำบลอำเภอละงูและอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสตูล เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จังหวัดสงขลา เครือข่ายท่าศาลารักษ์บ้านเกิด เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายรักษ์ละแม จังหวัดชุมพร เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง เครือข่ายนักศึกษาเพื่อสังคมภาคใต้ เข้าร่วมราว 1,000 คน
 
นายรัฐการ ลัดเลีย นายกองค์การบริหารตำบล (อบต.) ปากน้ำ กล่าวว่า การมาแสดงพลังคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบาราวันนี้เป็นพลังบริสุทธิ์ของชาวบ้านตำบลปากน้ำจริงๆ ตนเองมั่นใจว่าเป็นจุดยืนที่ถูกต้อง ตอนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีมติให้ อบต.ปากน้ำร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวจัดการท่าเรือเอนกประสงค์ปากบาราที่เพิ่งเสร็จยังไม่เปิดใช้งาน ถ้ามีการบริหารจัดการดีคาดว่าจะมีกำไร 40 ล้านบาทต่อปี
 
ส่วนนายพิศาล ทองเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ชาวละงูและชาวสตูลเห็นพ้องต้องกันว่าสตูลควรพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการเกษตรแบบมาตรฐาน โดยทางจังหวัดจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 365 ล้านบาทจัดทำโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งนี้ตนเองจะพยายามรักษาทรัพยากรของสตูล ไว้ให้สมกับคำขวัญที่ว่า “สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์” ต่อไป
 
นายดินัน พัทลุง ชาวบ้านปากบาราผู้ประกอบการท่องเที่ยวถามนายฮอซาลี ม่าเหร็ม ส.ส.จังหวัดสตูล พรรคประชาธิปัตย์จังหวัดสตูล ว่า ทำไมในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลนั้นไม่สั่งยกเลิกโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล
 
ด้านนายฮอซาลี ชี้แจงว่า ในสมัยของรัฐบาลประชาธิปัตย์นั้นได้อนุมัติงบประมาณในการศึกษาผลกระทบต่อโครงการท่าเรือปากบารา และผลการศึกษาพบว่าโครงการนี้ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน จึงสั่งทบทวนให้ลดขนาดเป็นท่าเรือขนาดเล็กลง การจะอนุมัติหรือยกเลิกโครงการใดๆ หรือไม่นั้นต้องมีการศึกษาผลกระทบต่างๆ
 
ขณะที่ชาวบ้านส่งเสียงคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือทุกขนาดที่จะสร้างที่ปากบาราอีก เนื่องจากปัจจุบันมีท่าเรือเอนกประสงค์ปากบารา ซึ่งมีขนาดใหญ่ เป็นทั้งท่าเรือท่องเที่ยว และท่าเรือขนส่ง เพิ่งก่อสร้างเสร็จยังไม่เปิดใช้งาน
 
จากนั้น เมื่อเวลา 15.00 น.มีพิธีการละหมาดฮายัตและขอดุฮ์อา ให้ปลอดภัยจากภัยบาลา คืนความสันติสุขและความสมบูรณ์สู่สตูล ตามด้วยละหมาดอัศรี ในขณะที่ฟ้าฝนอึมครึม
 
เวลา 17.00 น. มีการลงนามสัญญาประชาคม “คนสตูลไม่เอาท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา” กลางฝนตกหนัก โดยนายดลอาซีส องศารา ครูสอนศาสนาโรงเรียนตาดีกามัสยิดบ้านท่ามาลัย ตำบลปากน้ำ ท่ามกลางสายฝนที่ตกหนัก
 
สัญญาประชาคมฉบับดังกล่าว ระบุว่า
 
1.ยืนยันใน “อุดมการณ์และคุณค่าที่ยึดถือร่วมกัน” ของจังหวัด คือ สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ ซึ่งหมายถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สงบ สะอาด บริสุทธิ์, สังคม สงบ สะอาด บริสุทธิ์, และผู้คนรักความสงบ จิตใจสะอาดบริสุทธิ์
 
2.ขอกำหนด “ทิศทางการพัฒนา” ของจังหวัดสตูล ให้มุ่งเน้นความยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การศึกษาและวัฒนธรรม ขอเป็นสังคมสีเขียว ไม่เป็นสังคมอุตสาหกรรม ไม่เอาโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
 
3.โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดสตูลต้องใช้ “กระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง” ทุกขั้นตอน โดยประชาชนต้องมีฐานะในการเข้ามีส่วนร่วม เท่าเทียมกับภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ มิใช่เป็นเพียงเป็นผู้ได้รับแจ้งให้ทราบ ผู้ร่วมประชุมลงชื่อ แต่ต้องเป็นผู้ร่วม กำหนด ออกแบบ และตัดสินใจการพัฒนา
 
4.“ไม่เอาโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่” ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ      ริมฝั่งทะเลและหมู่เกาะ รวมทั้งไม่เอาโครงการพัฒนาใดๆที่จะส่งผลทำลายดิน ทำลายน้ำ ทำลายป่า ทำลายทะเล ทำลายแหล่งอาหารของสตูล และสังคมวิถีวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการท่าเรืออุตสาหกรรม หรือโครงการอื่นๆ
 
5.รัฐบาล “ควรยุติความคิดฝันหรือแผนการใดๆที่จะกำหนดให้ภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของสะพานเศรษฐกิจโลก” เลิกมุ่งหวังที่จะแสวงหารายได้หรือความมั่งคั่งจากการเป็นตัวกลางของระบบขนส่งสินค้าโลก ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนโลก ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่ยั่งยืน และเป็นที่มาของสารพัดโครงการ การพัฒนาขนาดใหญ่ในภาคใต้ อันก่อให้เกิดความทุกข์แก่ประชาชนไม่สิ้นสุด
 
6.ชาวสตูลและพี่น้องทั่วภาคใต้ “จะร่วมกันปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด” วิถีวัฒนธรรมและสุขภาวะไว้ให้ลูกหลานในอนาคตสืบไป
 
“ทั้งหมดนี้นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอีกครั้งของชาวสตูล ในการยืนยันทิศทางการพัฒนาของสตูล ว่าจะต้องให้ชาวสตูลกำหนดอนาคตของตนเอง” แถลงการณ์ ระบุ
 
 
 
เปิดเมกะโปรเจ็กต์จังหวัดสตูล
 
 
ท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล
 
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณปากคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ฉบับสมบูรณ์ จัดทำโดยบริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเชียเทคโนโลยี่ จำกัด และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจีเนียริ่ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด ระบุรายละเอียดโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ระบุว่า ท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราและลานกองสินค้า เป็นพื้นที่ถมทะเล อยู่ใกล้แนวน้ำลึก 4.2 กิโลเมตร โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ
 
ระยะที่ 1 แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน
 
ส่วนที่ 1 ประกอบด้วย ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ 2 ท่า ความยาวหน้าท่า 750 เมตร และท่าเทียบเรือบริการ ความยาว 212 เมตร ลานกองสินค้าตู้ ขนาดกว้าง 280 เมตร ยาว 350 เมตร อาคารต่างๆ 26 อาคาร ถนนภายในท่าเทียบเรือและลานจอดรถบรรทุกสินค้า ระบบสาธารณูปโภค สะพานและถนนเข้าสู่ท่าเทียบเรือ การขุดลอกร่องน้ำ แอ่งกลับเรือและที่จอดเรือบริเวณหน้าท่า ทางรถไฟเข้าท่าเทียบเรือและลานขนส่งตู้สินค้าจากรถไฟ
 
ส่วนที่ 2 ประกอบด้วย ลานกองเก็บตู้สินค้า กว้าง 280 เมตร ยาว 35 เมตร และระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติม
 
พื้นที่ท่าเทียบเรือระยะที่ 1 ตั้งอยู่บนพื้นที่ถมทะเลขนาด 430 X 1,086 เมตร คิดเป็น 198 – 3 – 50 ไร่ พื้นที่ด้านหน้าเป็นท่าเทียบเรือสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ด้านข้างเป็นท่าเทียบเรือบริการ และด้านหลังเป็นลานกองตู้สินค้าและรางรถไฟ
 
การพัฒนาระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นหลังจากท่าเรือระยะที่ 1 เปิดใช้งานไปแล้ว 6 ปี ต้องก่อสร้างเพิ่มด้วยการถมทะเลส่วนปลายด้านที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง เป็นรูปตัว L ทำเป็นท่าเทียบเรือความยาวหน้าท่า 500 เมตร พร้อมลานกองตู้สินค้าและอาคารประกอบ
 
การพัฒนาระยะที่ 3 ทำต่อจากระยะที่ 2 โดยก่อสร้างท่าเทียบเรือดานทิศตะวันออกของท่าเรือเดิมหลังเปิดใช้งานแล้ว 12 ปี โดยให้มีความยาวหน้าท่า 1,000 เมตร
 
หลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณปากคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก็เดินหน้าขอให้มีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราเพื่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จำนวน 4,734 – 0 – 62 ไร่
 
 
รถไฟรางคู่
 
สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ว่าจ้างบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัดบริษัท พีซีบีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท โชติจินดา มูเชล คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท พีทีแอล คอนซัลแทนส์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม และว่าจ้างบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการรถไฟรางคู่  กำหนดระยะเวลาศึกษา ระหว่างเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนกันยายน 2553 
 
แนวเส้นทางที่ 2A จะตัดผ่านพื้นที่ตำบลต่างๆ จากท่าเรือน้ำลึกปากบารา ไปยังท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ได้แก่ ตำบลปากน้ำและละงู อำเภอละงู ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ ตำบลควนกาหลงและทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ตำบลเขาพระ ท่าชะมวง และกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ ตำบลฉลุง ทุ่งตำเสา บ้านพรุ คอหงส์และทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ ตำบลพิจิตร อำเภอนาหม่อม ตำบลจะโหนง ตลิ่งชัน และนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
 
ทั้งหมดเป็นเขตแนวใหม่ตลอดสาย ตัดผ่านทางรถไฟสายหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ บริเวณตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และตัดผ่านทางรถไฟสายหาดใหญ่ – สุไหงโกลก บริเวณตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปยังท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 รวมระยะทาง 142 กิโลเมตร
 
แนวเส้นทางที่เลือกนี้ ประกอบด้วย แนวเขตทางกว้าง 40 เมตร มีสถานีรับ – ส่งผู้โดยสาร 2 แห่ง คือ สถานีละงู และสถานีควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล โดยแนวเขตทางบริเวณย่านสถานีจะมีความกว้าง 80 เมตร ในเบื้องต้นกำหนดให้มีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) 2 แห่งคือ ศูนย์ซ่อมบำรุงควนกาหลง และศูนย์ซ่อมบำรุงบ้านคลองทิง อำเภอจะนะ และสถานีบรรจุและแยกสินค้า (Inland Container Depot, ICD) 1 แห่ง บริเวณบ้านนายสี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะทำการพิจารณาความเหมาะสมในขั้นต่อไป
 
 
นิคมอุตสาหกรรมละงู-มะนัง-ควนกาหลง-ท่าแพ  1.5 แสนไร่
 
โครงการสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี หรือกรมเจ้าท่าในปัจจุบัน ศึกษาโดยบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท แปซิฟิค คอนซัลแทนส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เมื่อปี 2550 ระบุว่า  การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้ประสบความสำเร็จ รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม 1.5 แสนไร่ ซึ่งในรายงานดังกล่าวระบุพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างอำเภอละงู อำเภอมะนัง อำเภอควนกาหลง และอำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล
 
จากการลงสำรวจแนวเขตพื้นที่ที่มีศักยภาพจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม 150,000 ไร่ พบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ฝั่งทิศเหนือของถนนสายละงู-ฉลุง แนวเขตเริ่มจากพื้นที่อำเภอละงู ตรงบริเวณสามแยกเขาขาว บ้านโกตา ตำบลกำแพง, บ้านดาหลำ บ้านหาญ ตำบลเขาขาว, บ้านหนองสร้อย บ้านหัวควน บ้านทุ่งไหม้ บ้านหนองหอยโข่ง บ้านทุ่งนางแก้ว ตำบลน้ำผุด จากสามแยกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำผุด ตรงไปยังบ้านวังสายทอง
 
ถึงแยกวังสายทองเข้าพื้นที่อำเภอมะนัง ที่บ้านมะนัง บ้านผังปาล์ม 1 บ้านไทรทอง บ้านผัง 1 บ้านผัง 17 ตำบลปาล์มพัฒนา, บ้านผัง 12 บ้านผัง 13 ตำบลนิคมพัฒนา
 
จากนั้นเข้าพื้นที่อำเภอควนกาหลง ที่บ้านอุไดเจริญเหนือ บ้านอุไดเจริญใต้ บ้านผัง 35 ตำบลอุไดเจริญ เข้าพื้นที่อำเภอท่าแพ ตรงแยกบ้านสวนเทศ ตำบลแป-ระ วกกลับเข้าพื้นที่อำเภอละงู มาตามถนนสาย 416 ละงู – ฉลุงฝั่งทิศเหนือเข้าบ้านห้วยไทร บ้านคลองน้ำเค็ม บ้านทุ่ง บ้านคลองขุด ตำบลละงู มาจนถึงสามแยกเขาขาว ตรงบ้านโกตา ตำบลกำแพง
 
 
ท่อน้ำมันและคลังน้ำมันละงู-สิงหนคร
 
ปี 2551 กระทรวงพลังงานได้ศึกษาเบื้องต้นโครงการท่อส่งน้ำมันดิบและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล) มูลค่าโครงการก่อสร้างทั้งหมดเบื้องต้น 51,500 กว่าล้านบาท
 
ผลการศึกษาพบว่า แนวเส้นทางเชื่อมระหว่างสงขลา – สตูล ที่เหมาะสมกับการวางท่อส่งน้ำมัน จะเริ่มจากทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลฝั่งอันดามัน ห่างจากชายฝั่งอำเภอละงูประมาณ 37 กิโลเมตร ที่ระดับร่องน้ำลึก 25 เมตร ขนถ่ายน้ำมันจากเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 300,000 ตัน
 
จะมีการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันที่บริเวณบ้านปากบาง อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยออกแบบเป็นคลังขนาดกลาง ใช้พื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ เนื่องจากบ้านปากบาง เป็นพื้นที่การเกษตร มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง
 
ส่วนฝั่งอ่าวไทย จะมีการวางทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลห่างฝั่งออกไปในระยะพอๆ กับด้านฝั่งทะเลอันดามัน แต่การก่อสร้างคลังเก็บน้ำมัน ออกแบบให้มีขนาดใหญ่กว่า โดยจะใช้พื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ตรงบริเวณติดกับบ้านวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เนื่องจากเป็นที่ราบกว้างใหญ่ เป็นพื้นที่เพาะปลูก ทำนากุ้ง มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง
 
อนึ่ง แลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล ประกอบด้วย เส้นทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน ระหว่างท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล กับท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ท่อขนส่งน้ำมันและคลังน้ำมัน ถนน รถไฟรางคู่และนิคมอุตสาหกรรม
 
 
อุโมงค์เชื่อมทางหลวงสตูล–เปอร์ลิส
 
เมื่อปี 2535 กระทรวงมหาดไทยเสนอให้มีการก่อสร้างถนนสตูล – เปอร์ลิส โดยให้กรมทางหลวงไปศึกษารายละเอียดความเหมาะสมเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2537
 
ต่อมา ปี 2538 มีการเสนอให้โครงการถนนสตูล – เปอร์ลิส อยู่ในโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย หรือ IMT – GT ต่อที่ประชุม IMT – GT ที่อำเภอสุไหงโก – ลก จังหวัดนราธิวาส
 
ปี 2539 กรมทางหลวงได้ว่าจ้างบริษัท เทสโก้ จำกัด ศึกษา การศึกษาแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2540 โดยเลือกเส้นทางผ่าตำบลปูยู ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร
 
ต่อมาปี 2540 ไทยได้เปลี่ยนให้ไปพัฒนาสายสตูล – วังประจัน – วังเกลียน – เปอร์ลิส เนื่องจากเส้นเดิมผ่าป่าชายเลน มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่มาเลเซียยังต้องการให้สร้างถนนในแนวเดิม จึงไม่สามารถตกลงกันได้
 
จนปี 2552 ไทยจึงอนุมัติงบประมาณก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง ถนนหมายเลข 4148 ควนสะตอ – วังประจัน ขนาด 2 ช่องจราจร วงเงิน 240 ล้านบาท
 
ต่อมา วันที่ 11 มิถุนายน 2552 จังหวัดสตูล ได้เสนอโครงการเจาะอุโมงค์สตูล – เปอร์ลิส ต่อมุขมนตรีประเทศมาเลเซีย โดยเจาะผ่านเขาสันกาลาคีรี ระหว่างไทย – มาเลเซีย ระยะทาง 4 กิโลเมตร โดยหอการค้าจังหวัดสตูลออกมาช่วยผลักดัน
 
จนในการประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 4 ระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 นายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศ แสดงความสนใจโครงการก่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าว เนื่องจากจะช่วยอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ระหว่างไทยกับมาเลเซีย และสนับสนุนการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค
 
วันที่ 5 มกราคม 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้ศึกษาความเหมาะสมในโครงการอุโมงค์เชื่อมทางหลวงระหว่างจังหวัดสตูล – เปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย โดยมอบหมายให้จังหวัดสตูล ร่วมกับกรมทางหลวง และสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาความเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจสงขลา – สตูล
 
ล่าสุดกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ว่าจ้างบริษัท เอ็มเอเอ คอนซัลแคนท์ จำกัด บริษัท ไทย เอ็มเอ็ม จำกัด และบริษัท พรีดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแคนท์ จำกัด เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ และตำแหน่งที่เหมาะสมในการก่อสร้าง
 
นายนิรัตน์ ตันสวัสดิ์ วิศวกรโครงสร้าง ชี้แจงว่า ใช้ระยะเวลาดำเนินการศึกษาโครงการ 12 เดือน โดยเริ่มจากวันที่ 28 เมษายน 2554 ถึงเมษายน 2555 โดยมีการจัดสัมมนา 3 ครั้ง คือในวันที่ 22 กันยายน 2554 ครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 และมีการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการในช่วงเดือน เมษายน 2555 มีการประชุมกลุ่มย่อย 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมิถุนายน 2554 และเดือนมกราคม 2555
 
แนวศึกษา 3 เส้นทาง คือ 1.ถนนวังประจัน – วังเกลียน ประเทศมาเลเซีย 2.ถนนเชื่อทางหลวงอุโมงค์สตูล –เปอร์ลิศ บริเวณบ้านนาแค ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล 3.ถนนสะพานเชื่อมทางหลวงตำมะลัง – ปูยู –เปอร์ลิศ ซึ่งทั้ง 3 เส้นทางต้องผ่านอุทยานแห่งชาติทะเลบันทั้งสิ้น ซึ่งจะต้องขอเพิกถอนพื้นที่หากมีการก่อสร้างโครงการ
 
 
เขื่อนคลองช้าง ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
 
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองช้าง มีพื้นที่เก็บน้ำ 1,700 ไร่ เก็บกักน้ำได้ 36ล้านลูกบาศก์เมตร สันเขื่อนสูง 89.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง กั้นห้วยคลองช้าง ซึ่งเป็นต้นลำน้ำสาขาของคลองท่าแพรอยู่ในลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก
 
ที่ตั้งหัวงานอยู่บริเวณหมู่ที่ 2 บ้านทุ่งนุ้ย ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ห่างจากทางหลวงหมายเลข 406 ประมาณ 1 กิโลเมตร ความยาวลำน้ำจากต้นน้ำถึงเขื่อนดินประมาณ 12 กิโลเมตร พื้นที่รับน้ำลงอ่าง 44.04 ตารางกิโลเมตร งบประมาณ 510 ล้านบาท
 
เขื่อนคลองช้าง ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กรมชลประทานจึงว่าจ้างบริษัท พรีดีเวลอปเมนท์ บริษัท เอกรุ๊ป คอนซัลแตนท์ และบริษัท ร้อจแอนด์แอสโซซิเอทส์จำกัด ในวงเงิน 18 ล้านบาท เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 27กันยายน 2553 – 21 ธันวาคม 2554
 
 
โรงไฟฟ้าถ่านหินสตูล
 
นายชวการ โชคดำลีลา วิศวกร 9 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า พื้นที่จังหวัดสตูลมีศักยภาพในการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ กฟผ.เคยลงไปศึกษา แต่พบว่ามีพื้นที่ไม่เพียงพอในการตั้งโรงไฟฟ้า
 
ขณะที่ นายเจ๊ะยาหยา สาเบต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านบุโบย ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา มีคนติดต่อทางโทรศัพท์ให้ตนว่าพอจะหาที่ดินในตำบลแหลมสน 400 ไร่ บริเวณชายฝั่งทะเล เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net