Skip to main content
sharethis

ให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และทบทวนเนื้อหาถึงหลักความชอบธรรมด้วยกฎหมาย หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักนิติรัฐ หรือหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน

13 มิถุนายน 2555 นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายทำหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ... เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ให้เลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ  พ.ศ... ออกไป เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และทบทวนเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวถึงหลักความชอบธรรมด้วยกฎหมาย (Legality) หลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of power) หลักนิติรัฐ (Legal State) หรือหลักนิติธรรม (Rule of law) และหลักสิทธิมนุษยชน (Human rights)

ทั้งนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) มีความเห็นและข้อสังเกต 3 ประเด็นคือ 1. การนิรโทษกรรมหรือการบัญญัติให้การกระทำใดที่เป็นความผิดตามกฎหมายไม่เป็นความผิด โดยให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและพ้นจากการกระทำความผิดอย่างสิ้นเชิงนั้น เป็นการยกเว้นกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางปกครองแล้วแต่กรณี ดังนั้นบทบัญญัติดังกล่าวต้องมีความชัดเจนและมีเหตุผลอันสมควร ขณะเดียวกันคปก.เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดที่อาจได้รับการนิรโทษกรรมไว้อย่างกว้างขวางและให้อำนาจผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นผู้ตีความขอบเขตการ นิรโทษกรรม โดยไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการ ขั้นตอน หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะพิจารณาถึงความชอบธรรมและความเหมาะสมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อาจสุ่มเสี่ยงให้เกิดการกระทำอันเป็นการทุจริต และก่อให้เกิดวัฒนธรรมการปล่อยตัวคนผิดลอยนวลอาจเป็นเหตุให้ผู้เสียหายและประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงซ้ำสองเกิดขึ้นอีก

2.การนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมทั่วไป โดยไม่พิจารณามูลเหตุจูงใจ บริบทสภาพแวดล้อม และความชอบธรรมหรือความสมเหตุสมผลในการกระทำความผิด และยังขาดกระบวนการตรวจสอบอย่างมีระบบย่อมขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมาย คือไม่มีการทบทวนถึงความเหมาะสมว่าการให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลใดๆนั้นจะได้บรรลุวัตถุประสงค์ของหลักการปรองดองหรือไม่ และจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างไร จะเป็นการลดความชอบธรรมทั้งด้านสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาคและหลักประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ

และ 3.การที่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างเพียงพอ อีกทั้งความจริงเกี่ยวกับเหตุความขัดแย้งรุนแรงยังไม่ปรากฏ การพิจารณากฎหมายดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ แต่กลับกลายเป็นการทำลายบรรยากาศการสร้างความไว้วางใจในสังคมซึ่งเป็นสาระสำคัญที่จะเอื้อให้เกิดการปรองดอง

อนึ่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.2553 มาตรา 19(5) กำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งที่เสนอโดยส.ส. ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่เห็นสมควร จึงเห็นควรเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ....ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net