Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สองสามวันก่อน สมาชิกเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊คได้แชร์เวบลิงค์ข่าวจากเวบ siamzone พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงขบขันกันอย่างหนัก ข่าวนั้นเป็นข่าวอาชญากรรมว่าด้วยสาวประเภทสองสองคนถูกข่มขืนและทำร้ายร่างกาย ก่อนจะถูกชิงทรัพย์หนีโดยกรรมกรหนุ่มสองคน

ข่าวนี้จะไม่เป็นที่สนใจในวงกว้างเลยแม้แต่น้อยหากลีลาในการเขียนเนื้อหาข่าวไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาอีโรติคขนาดนี้ รายละเอียดข่าวอธิบายเหตุการณ์อย่างชัดเจนเช่น “สังเกต บริเวณเป้าของชายทั้งสอง นูนสวดออกมาเห็นลำอวัยเพศชายที่พองใหญ่ยาว นูนออกมาอย่างเห็นได้ชัด เพราะความกำหนัด” และ “แถมโชว์อวัยเพศหัวถอกบานเห็นเส้นเลือดปูดโปนอย่างเห็นได้ชัด หลังจากนั้นชายทั้งสองก็หันมายิ้มไส่ตน แต่ตนก็ไม่ได้คิดเอะใจอะไร จนกระทั่งผู้ก่อเหตุ ได้ช่วยกันจับล็อคตน ไซร้คอ และดูดนมตน อย่างหื่นกระหาย” (อ่านข่าวเต็ม ๆ ได้ที่ http://www.pantip.com/cafe/social/topic/U12227386/U12227386.html เนื่องจากลิงค์เวบเดิมได้ถูกลบไปแล้ว)
พูดจริง ๆ ว่าไม่ต้องจินตนาการตามก็เห็นภาพว่าเกิดอะไรขึ้น กลายเป็นที่ถกเถียงกันว่ามีความจำเป็นขนาดไหนที่ต้องลงข่าวกันละเอียดขนาดนี้

ปกติข่าวอาชญากรรมที่ถูกรายงานโดยมากเป็นการรายงานข่าวจากนักข่าวส่วนภูมิภาคที่ประจำอยู่ ณ จังหวัดหรือเขตนั้น ๆ มีทั้งเป็นฟรีแลนซ์และนักข่าวประจำ หน้าที่ก็คือหาข่าวภูมิภาคแล้วขายข่าวให้กับทางหนังสือพิมพ์อีกที

การทำข่าวอาชญากรรมมีความลำบากอย่างหนึ่งคือเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้นบ้าง เว้นแต่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นต่อเนื่องเช่น มีการลักทรัพย์ปล้นบ้านในเขตชุมชนนี้อยู่บ่อย ๆ นักข่าวก็อาจจะพอคาดการณ์ได้ว่าชุมชนนี้อาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยได้อีก เมื่อไม่สามารถรู้ได้ว่าเหตุอาชญากรรมรายวันจะเกิดที่ไหน วิธีการง่าย ๆ เพื่อจะได้ข่าวคือไปอยู่โรงพัก

จะมีที่ไหนที่อุดมไปด้วยข่าวอาชญากรรมกว่าสถานีตำรวจ ใครมีเรื่องก็ต้องมาแจ้งความ พี่ ๆ นักข่าวเมื่ออยู่แถวนั้นก็ได้ข่าวไปในตัว และโดยมากตัวนักข่าวเองก็ไม่ได้เขียนข่าวเองด้วยซ้ำ อาศัยตีซี้ร้อยเวรพนักงานสอบสวนแล้วคัดลอกบันทึกสำนวนมาลงข่าว ไม่เสียเวลาแถมยังได้เนื้อความครบถ้วน

จากกรณีข่าวกะเทยสองสาว ผมเดาเอาว่าตอนที่เธอให้การต่อพนักงานสอบสวนนั้น แม้พึ่งผ่านเหตุการณ์ร้ายมา แต่จริตในการเล่าเรื่องคงฝังลึกแล้ว ดังนั้นเธอจึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นต่อพนักงานสอบสวนอย่างละเอียด พร้อมกับใส่สีสันให้พอมีอรรถรสเพื่อเรียกคะแนนสงสาร พนักงานสอบสวนจึงบันทึกไปตามเรื่องที่เธอทั้งสองกล่าวพร้อมปรับแต่งภาษาให้เป็นทางการเสียนิด เราจึงได้เห็นประโยคอธิบายความชัดเจนเช่น ‘ชายฉกรรจ์ หน้าตาแบบชายไทยแท้ หุ่นล่ำ’ และ ‘เส้นเลือดปูดโปนอย่างเห็นได้ชัด’ คาดว่าประโยคนี้คงสามารถทำให้สืบหาตัวผู้ต้องสงสัยได้เร็วขึ้น

คาดว่าพี่นักข่าวของเราก็ทำตามหน้าที่ โดยการคัดลอกมาโดยทันทีมิได้ปรับแต่งให้ดูเหมาะสม คือการเสนอข่าวต้องเป็นการให้ข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึกลงไปในการรายงานข่าว ข่าวที่ดีไม่ควรอุดมด้วยความเมโลดราม่า ดังนั้นการเลือกใช้คำที่แสดงให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกโดยเฉพาะคำที่อ่านแล้วนำไปสู่อคติบางอย่างไม่ว่ากับฝ่ายใดควรเลี่ยงและปรับให้เหมาะสม

ดังนั้นจากข่าวนี้น่าสนใจที่จะตั้งคำถามต่อการทำงานแบบรายวันของทั้งตัวนักข่าวเองในการกลั่นกรองข่าวเบื้องต้นว่าข่าวแบบไหนควรถูกนำเสนอหรือไม่ รวมถึงการใช้ภาษาในข่าวให้เป็นไปตามหลักการเขียนข่าว มิใช่อาศัยสะดวกพึ่งพาจากบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวนทั้งดุ้น นอกจากนั้นตัวบรรณาธิการข่าวเองที่เป็นกรองอีกชั้นอาจปล่อยละเลยไม่พิจารณาอย่างละเอียดด้วยถือเป็นเพียงแค่ข่าวอาชญากรรมภูมิภาคที่ความสำคัญไม่มากนัก

ข่าวชิ้นนี้คงเป็นความขำขันระหว่างวันของคนอ่าน แต่สำหรับคนหนังสือพิมพ์แล้ว สิ่งนี้สะท้อนการทำงานของสื่อที่ทำงาน routine ที่ไม่ควรปล่อยผ่านให้เกิดอีกขึ้นอีก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net