Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

สหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชจากอังกฤษด้วยการต่อสู้ปฏิวัติมาอย่างยากลำบาก  ทุกวันนี้ไม่มีความรู้สึกโกรธแค้นต่อกันหลงเหลืออีกแล้ว  พันธมิตรแองโกล-อเมริกันผูกพันกันแน่นแฟ้น  เราชาวอเมริกันชื่นชอบซีรีส์ชุด Downton Abbeyและการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างชาวอเมริกันกับอังกฤษส่วนใหญ่จำกัดแค่การเถียงกันว่า ซิทคอมชุด The Office เวอร์ชั่นประเทศไหนตลกกว่ากัน  หรือควรสะกดและออกเสียงคำว่า “aluminum” อย่างไรถึงจะถูกต้องกว่ากัน  

ชาวอเมริกันเคยรบพุ่งกับชาวเยอรมัน ญี่ปุ่นและอิตาเลียน  แต่ความสัมพันธ์ระหว่างชาวอเมริกันกับชนชาติเหล่านี้ในปัจจุบันก็แน่นแฟ้นเช่นกัน  ความสัมพันธ์กับเกรนาดาและปานามาก็ไม่แย่มากนัก ทั้ง ๆ ที่สหรัฐฯ ไปเปิดฉากสงครามย่อย ๆ ในประเทศเหล่านี้เมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อน  ศัตรูเก่าก่อนของชาวอเมริกันล้วนแล้วแต่กลายเป็นมิตรในปัจจุบัน  

แต่ประเด็นสำคัญก็คือ เดี๋ยวนี้อังกฤษไม่ใช่ระบอบกษัตริย์แบบเจ้าอาณานิคมอีกแล้ว  พวกนาซี ฟาสซิสต์และรัฐบาลจักรพรรดิญี่ปุ่นก็ไม่มีเหลือหลอ  เกรนาดากับปานามาก็มีระบอบการปกครองแตกต่างไปจากเมื่อก่อน  เช่นเดียวกับอดีตปัจจามิตรประเทศอื่นที่กลายเป็นพันธมิตรในปัจจุบันอย่างอัฟกานิสถานและอิรัก  

นี่ทำให้เวียดนามเป็นกรณีที่น่าสนใจ  ตอนแรกพวกเวียดกงต่อสู้กับฝรั่งเศส  แล้วก็มาต่อสู้กับชาวอเมริกันอีกหลายทศวรรษ ก่อนที่จะชนะศึกทั้งในสมรภูมิและบนโต๊ะเจรจา  ชาวเวียดนามกว่า 2 ล้านคน (และอาจมากถึง 3.8 ล้านคน) เสียชีวิตระหว่างการสู้รบ  ประเทศเวียดนามโดนทิ้งระเบิดมากกว่าที่สหรัฐอเมริกาใช้ในสงครามโลกครั้งที่สองถึงสองเท่า  ในท้ายที่สุด เวียดนามก็รวมประเทศเป็นปึกแผ่นภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ และพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามยังรักษาการปกครองระบบพรรคเดียวมาจนถึงทุกวันนี้  กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ พวกเขาเอาชนะสหรัฐฯได้และยังรักษาระบอบการเมืองของตัวเองไว้ได้ไม่มากก็น้อย  

แล้วทีนี้ จะอธิบายอย่างไรต่อการที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม นายลีออน พาเน็ตตา ไปแถลงการณ์ยืนยันที่อ่าว Cam Ranh Bay ในประเทศเวียดนามเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การเปิดช่องทางให้กองทัพเรืออเมริกันเข้ามาในน่านน้ำของประเทศเวียดนามมากขึ้น “คือกุญแจสำคัญของความสัมพันธ์นี้และเรามองเห็นศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่นี่ในอนาคต”  เรือรบอเมริกันเข้าไปทอดสมอแล้วที่เมืองท่าดานัง  ถ้ามุ่งหน้าลงใต้ไปตามชายฝั่งเวียดนาม อดีตฐานทัพเรือของโซเวียตที่อ่าว Cam Ranh Bay คือทางออกสู่ทะเลจีนใต้  โดยมีหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีอยู่ในเขตน่านน้ำทางตะวันออกที่ค่อนไปทางประเทศฟิลิปปินส์  ในปัจจุบัน  หลายประเทศกำลังแย่งชิงกันอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะและอาณาเขตทางทะเลโดยรอบ  แน่นอน ประเทศที่ใหญ่ที่สุดและมีอำนาจที่สุดที่เข้ามาอ้างสิทธิ์ก็คือ ประเทศจีน  

พาเน็ตตายืนยันในการเดินทางเยือนเอเชียครั้งนี้ว่า การที่สหรัฐอเมริกากำลังเอาอกเอาใจเวียดนามอยู่ตอนนี้ ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับการพยายามคานอำนาจกับประเทศจีน  ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ลองมาดูกันซิว่า นั่นหมายความว่า การที่สหรัฐฯต้องการส่งเรือรบเข้าไปในเวียดนามมากขึ้นเป็นเพราะอะไรได้บ้าง

1. เพนตากอนทำข้อตกลงเชิงพลเรือน-กองทัพกับเวียดนามเพื่อการผลิตน้ำปลาคุณภาพสูงเพื่อการส่งออก โดยใช้กองเรือรบขนไปร้านอาหารรสนิยมเลิศวิไลในนิวยอร์กซิตี

2. โจรสลัดโซมาเลียดันเลี้ยวพวงมาลัยมาทางมหาสมุทรแปซิฟิกและขยายปฏิบัติการมาถึงทะเลจีนใต้

3. ทหารผ่านศึกในสงครามเวียดนามจำนวนมหาศาลเกิดเต็มใจที่จะจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อมาท่องเที่ยวรำลึกความหลัง อันจะช่วยให้เพนตากอนได้งบประมาณเพียงพอแก่ความต้องการขึ้นมา  

เอาล่ะ พูดกันตรง ๆ ดีกว่า  สหรัฐอเมริกาทำเช่นนี้เพราะจีนนั่นแหละ  แต่สหรัฐฯพูดออกมาไม่ได้  อนึ่ง ทั้งจีนและเวียดนามก็จัดอยู่ในกลุ่มนโยบายต่างประเทศอันประหลาดพิสดารของการเป็น “มิตรกึ่งศัตรู”(frenemy) ของอเมริกา  จะว่าเป็นศัตรูก็ไม่ใช่  จะว่าเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรก็ไม่เชิง  อเมริกาค้าขายกับพวกเขา ทอดไมตรีให้  สร้างความสัมพันธ์เชิงกองทัพต่อกองทัพ  พอลับหลัง อเมริกาก็บ่นวิจารณ์พวกเขา  อเมริกาอยู่กับพวกเขาไม่ได้ อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีพวกเขา และหมากตาล่าสุดที่เข้าไปอี๋อ๋อกับเวียดนามก็คือกรณีคลาสสิกของความคิดแบบว่า....มิตรกึ่งศัตรูของมิตรกึ่งศัตรูคือมิตรกึ่งศัตรูที่ใกล้ชิดกว่าเดิม  สำหรับเวียดนามเอง มิตรกึ่งศัตรูที่มีพรมแดนติดกันเป็นเรื่องน่ากังวลมากกว่ามิตรกึ่งศัตรูที่อยู่โพ้นทะเล  วอชิงตันจึงได้กลิ่นโอกาสทางการเมืองในสถานการณ์เช่นนี้  

แน่นอน เวียดนามก็อยากได้บางอย่างตอบแทน  อเมริกายกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตเข้าสู่ภาวะปรกติใน ค.ศ. 1995  20 ปีหลังสงครามเวียดนาม  ในเวลานั้น สหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจเวียดนาม  เป็นเจ้าของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเกือบร้อยละ 50 ใน ค.ศ. 2009  หากสหรัฐอเมริกาต้องการปฏิบัติการร่วมทางการทหารที่แนบแน่นกว่าเดิม  เวียดนามก็ต้องการให้วอชิงตันยกเลิกการคว่ำบาตรการขายอาวุธให้เวียดนามที่ดำเนินติดต่อมานมนานเสียที  

อย่าเพิ่งคาดว่าจะได้เห็นเข็มกลัดตรา “สหรัฐฯ-เวียดนาม มิตรแท้” ปรากฏบนปกเสื้อนอกของกระทรวงต่างประเทศในเร็ววันนี้  การไปเยือนของพาเน็ตตา “ไม่ใช่หลักฐานบ่งบอกถึง ‘ความสัมพันธ์แนบแน่นลึกซึ้ง’ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเวียดนาม”  คือคำเตือนจาก Andrew Wells-Dang ผู้เขียนงานค้นคว้าวิจัยชิ้นล่าสุดในชื่อ Civil Society Networks in China and Vietnam  “เพราะประการแรก ผู้นำเวียดนามระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะสร้างสมดุลระหว่างการติดต่อพัวพันกับสหรัฐอเมริกาให้เท่า ๆ กับหรือน้อยกว่าการไปเยือนและร่วมมือกับจีน  ประการที่สอง ผู้แทนอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ เช่น วุฒิสมาชิกแมคเคนและลีเบอร์มัน ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับเวียดนามโดยรวมจะไม่เกิดขึ้น หากปราศจากความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน [ในเวียดนาม—ผู้แปล] (หรืออย่างน้อยที่สุด ก็สำคัญเป็นรองจากประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐอเมริกาให้ความสนใจอยู่)”  

ประเด็นที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอาจอยู่ที่สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเวียดนามประท้วงอย่างดุเดือดต่อการที่จีนตั้งหน้าตั้งตาอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำรอบหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลี  สหรัฐอเมริกาพยายามวางตัวเป็นคนกลางผู้จริงใจในความขัดแย้งนี้  ใน ค.ศ. 2010 ฮิลลารี คลินตันแถลงว่า ทะเลจีนใต้เป็น “ความสนใจระดับชาติ” สำหรับสหรัฐอเมริกา  เมื่อเดือนพฤศจิกายนศกก่อน  คลินตันให้คำอธิบายเพิ่มเติมในการแสดงความคิดเห็นที่ประเทศฟิลิปปินส์  “สหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าข้างใครในการอ้างสิทธิ์เหนืออาณาเขต  เพราะทุกประเทศมีสิทธิ์ที่จะยืนยันถึงสิทธิเหนืออาณาเขตของตัวเอง” คลินตันกล่าวต่อว่า “แต่ทุกประเทศไม่มีสิทธิ์ที่จะอ้างสิทธินั้นด้วยการข่มขู่หรือใช้กำลังบีบบังคับ  ทุกประเทศควรปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ  หลักนิติธรรม อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล”  

เมื่อคำนึงถึงการที่สหรัฐอเมริกาใช้ทั้งการข่มขู่และการบีบบังคับในกลุ่มประเทศที่ถือเป็นหลังบ้านของตัวเอง  ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการใช้กำลังทหารโดยตรงแล้ว  คำกล่าวของคลินตันฟังดูแล้วก็ไม่ค่อยจริงใจเลย  เช่นเดียวกับการที่เธอยืนยันให้ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ทั้ง ๆ ที่สหรัฐอเมริกาไม่ยอมลงนามอย่างหน้าตาเฉยด้วยซ้ำไป  อันที่จริง ประเทศจีนปฏิบัติต่อทะเลจีนใต้ไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกาปฏิบัติต่อหมู่เกาะแคริบเบียนสักเท่าไร  

ลองดูข้อพิพาทล่าสุดที่จีนมีกับฟิลิปปินส์  ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์ทำสัญญากับบริษัทแห่งหนึ่งให้สำรวจคลื่นไหวสะเทือนในบริเวณใกล้เกาะปาลาวัน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในการสำรวจหาแหล่งน้ำมัน  เกาะปาลาวันเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศฟิลิปปินส์ที่อยู่ใกล้หมู่เกาะสแปรตลีมากที่สุด  เรือตรวจการณ์ของจีนสองลำเข้ามาขัดขวางการสำรวจครั้งนี้  ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องส่งเครื่องบินเจ็ตของกองทัพสองลำเข้าไปบีบให้เรือของจีนถอยออกไป  

หลังจากนั้น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เอง  ข้อพิพาทคาราคาซังคล้าย ๆ กันนี้เกิดขึ้นอีกทางตอนเหนือใกล้กับแนวกลุ่มเกาะปะการังสกาโบโร  คราวนี้ทางการฟิลิปปินส์จับชาวประมงชาวจีนที่เข้ามาหาปลาในพื้นที่นั้น  กล่าวหาพวกเขาว่าจับสัตว์น้ำหายากและละเมิดอธิปไตยของฟิลิปปินส์  จีนส่งเรือรบของตัวเองมาขับไล่เรือรบของฟิลิปปินส์และตอบโต้ทางเศรษฐกิจ  ผู้ปลูกกล้วยในฟิลิปปินส์ถูกกีดกันจากตลาดจีน จนได้แต่นั่งมองผลิตผลของตนกองเน่าเสียตาปริบ ๆ   นี่คือผลพวงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมิตรกึ่งศัตรูทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นมา  

ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาเองก็รอท่าอยู่แล้วที่จะเก็บเกี่ยวผลพลอยได้  “ผลสรุป ณ ตอนนี้” เคิร์ก สปิตเซอร์ เขียนไว้ในนิตยสาร Time ว่า “สหรัฐอเมริกากับฟิลิปปินส์ได้ข้อตกลงที่จะเปิดฐานทัพอากาศคลาร์กและฐานทัพเรือที่อ่าวซูบิกให้กองเรือสหรัฐฯ เข้ามาสับเปลี่ยนกำลังพล เข้ามาแวะจอดเรือและซ้อมรบ  สหรัฐฯมอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่งที่ปลดประจำการแล้วสองลำให้แก่กองทัพเรือฟิลิปปินส์  รวมทั้งส่งเรดาร์และอุปกรณ์ตรวจสอบทางทะเลเพื่อคอยจับตาดูคนที่คุณก็รู้ว่าใคร”

แน่นอน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่การเดินหมากด้านภูมิศาสตร์การเมืองเท่านั้น  “สหรัฐฯมีมูลค่าการซื้อขายเกือบ 1.2 พันล้านดอลลาร์ไหลเวียนอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกกับมหาสมุทรอินเดียผ่านช่องทางทะเลจีนใต้”  ตามการวิเคราะห์ของดีเร็ก โบลตัน ผู้เขียนบทความให้แก่ Foreign Policy In Focus (FPIF) ในบทความชื่อ “Pivoting Toward the South China Sea” “ในแง่ของการค้าระดับโลก  ร้อยละ 90 ของสินค้าเชิงพาณิชย์ทั้งหมดถูกขนส่งทางทะเลจากทวีปหนึ่งไปอีกทวีปหนึ่ง  ในจำนวนนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของปริมาตรการขนส่งทางเรือและหนึ่งในสามของมูลค่าทางการเงินทั้งหมดถูกส่งผ่านทะเลจีนใต้  นอกจากนี้ ทะเลจีนใต้ยังอุดมไปด้วยแร่ ทรัพยากรการประมง ก๊าซธรรมชาติและแหล่งน้ำมันอีกต่างหาก”  กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทะเลจีนใต้ก็คือเกาะมหาสมบัติคูณพันเท่าดี ๆ นี่เอง  

ประเทศจีนอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างมีอำนาจต่อรองสูงในการรักษาขุมสมบัตินี้ไว้  “แผนที่เส้นประเก้าเส้น” (nine-dash line หรือ nine-dotted line map) ของจีนครอบคลุมพื้นที่ทะเลจีนใต้ไปเป็นส่วนใหญ่  ถึงขนาดกินพื้นที่เข้าไปในพื้นที่ชายฝั่งของเวียดนาม มาเลเซีย บรูไนและฟิลิปปินส์ด้วย  ประเทศจีนอ้างว่า จีนมีประวัติศาสตร์และแผนที่เดินเรือมากมายเป็นหลักฐานสนับสนุน  นั่นก็คงจริง  แต่ในเมื่อจีนลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลระหว่างประเทศไปแล้ว  ย่อมหมายความว่า จีนตกลงให้สนธิสัญญาฉบับใหม่มีผลบังคับแทนที่ข้ออ้างสิทธิ์ก่อนหน้านี้  

โดยรวมแล้ว นอกเหนือจากเหตุพิพาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่กี่ครั้ง  ประเทศจีนก็ยังจำกัดการอ้างสิทธิ์ของตนโดยไม่ใช้ความรุนแรง  บางครั้งบางคราวจีนก็คล้ายมีแนวโน้มที่จะคิดว่า ทะเลจีนใต้เป็น “ความสนใจหลัก” (core interest—ศัพท์ตัวนี้เป็นคำศัพท์ด้านนโยบายต่างประเทศของจีนโดยเฉพาะ—ผู้แปล) ในระดับเดียวกับไต้หวันและทิเบต  แต่แล้วจีนก็ถอยออกมาจากการยืนยันความคิดนี้  จีนยังคงยอมรับว่าสหรัฐอเมริกาครองความเป็นใหญ่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งหมายความว่า จีนยังไม่ได้คิดที่จะรับเอาลัทธิมอนโรมาใช้กับนโยบายต่างประเทศของตัวเอง  นักวิเคราะห์ทางตะวันตกมักแสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่จีนพัฒนาเทคโนโลยีต่อต้านการโจมตีทางทหาร (anti-access technologies)  เช่น อาวุธต่อต้านขีปนาวุธที่ยิงจากเรือรบ เป็นต้น  แต่มีประเทศไหนบ้างจะไม่หาทางป้องกันตัวเองในสถานการณ์ที่คล้ายนักเล่นเกมส์โกะกำลังเผชิญกับตัวหมากสีดำจำนวนมากพยายามเข้ามาล้อมหมากสีขาวกลุ่มใหญ่  

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดูไม่น่าไว้วางใจนัก  จีนกังวลกับการถูกห้อมล้อมด้วยมิตรกึ่งศัตรู  โดยมีสหรัฐฯเป็นหัวเรือใหญ่  และจีนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างหลักประกันว่า จะมีทรัพยากรด้านพลังงานไหลเข้าประเทศอย่างพอเพียงต่อการขับเคลื่อนความเติบโตทางเศรษฐกิจของตน  ส่วนสหรัฐอเมริกาก็เที่ยวพูดถึงแปซิฟิกอย่างโน้นแปซิฟิกอย่างนี้  ราวกับการอ้างถึงเอเชียจะช่วยลบเลือนรสชาติขมขื่นของอิรักกับอัฟกานิสถานได้  ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตั้งหน้าตั้งตาซื้ออาวุธกันราวกับเตรียมพร้อมที่จะรบพุ่งกันวุ่นวายในทะเลจีนใต้  ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มการใช้จ่ายด้านอาวุธถึง 13.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว  แม้แต่ประเทศขนาดจิ๋วอย่างสิงคโปร์ยังกลายเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดอันดับห้าของโลก  

ขาใหญ่ในภูมิภาคนี้ประกาศตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง  สหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้ามาอ้างสิทธิ์เหนืออาณาเขตใด ๆ   จีนวางตัวด้วยการ “ก้าวสู่ความเป็นใหญ่อย่างสันติ”  แต่พฤติกรรมของทั้งสองฝ่าย ถ้าไม่ควบคุมให้ดี ก็สามารถเปลี่ยนทะเลจีนใต้ให้กลายเป็นคาบสมุทรบอลข่านแห่งแปซิฟิกไปได้เหมือนกัน  แน่นอน มิตรย่อมเป็นมิตรตลอดกาล  แต่มิตรกึ่งศัตรูไม่มีหลักประกันให้อุ่นใจเช่นนั้น

 

 

 

หมายเหตุผู้แปล:

1.ลัทธิมอนโร หมายถึง นโยบายของประธานาธิบดีเจมส์ มอนโรในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ถือว่า ทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้ทั้งหมดอยู่ภายใต้อำนาจการครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐอเมริกา  และมหาอำนาจภายนอกใด ๆ ที่เข้ามาแทรกแซงย่อมถือเป็นปฏิปักษ์ของสหรัฐฯ

2.John Feffer เป็นผู้อำนวยการร่วมของ Foreign Policy In Focus ซึ่งเป็นเว็บไซท์ของ Institute for Policy Studies  เฟฟเฟอร์เขียนหนังสือหลายเล่มและบทความจำนวนมาก  เคยเป็นรองบรรณาธิการวารสาร World Policy Journal  เคยทำงานเป็นตัวแทนด้านกิจการต่างประเทศให้แก่ American Friends Service Committee  และเคยเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย Sungkonghoe ในกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้  ได้รับเชิญไปบรรยายในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก  มหาวิทยาลัยคอร์แนล  มหาวิทยาลัยโซเฟีย (โตเกียว) เป็นต้น

3ในต้นฉบับเดิมของบทความนี้  ผู้เขียนใช้คำว่า “เรา” ในความหมายถึงชาวอเมริกันและมีนัยยะแฝงที่ประชดประชันพอประมาณ  แต่ในการแปลนั้น ผู้แปลได้เปลี่ยนคำว่า “เรา” เป็นสหรัฐอเมริกาหรือชาวอเมริกัน) 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net