"สุรินทร์" แจงอาเซียนกำลังศึกษาปัญหาโรฮิงยา ก่อนฟันธงมาตรการในยะไข่

เลขาธิการอาเซียนแจง ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลที่เหมาะสมเพื่อหามาตรการแก้ไขความรุนแรงในยะไข่ ในขณะที่องค์กรสิทธิ์เรียกร้องยูเอ็นและอาเซียนเข้าไปสังเกตการณ์และให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโดยเร็ว 

 15 มิ.ย. 55 - สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความรุนแรงในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่าที่ดำเนินมาราวสองอาทิตย์ที่แล้วว่า อาเซียนได้รับมอบหมายจากกระทรวงการต่างประเทศให้ศึกษาปัญหาของชนกลุ่มน้อยโรฮิงยาตั้งแต่สามปีมาแล้ว และในขณะนี้ กำลังรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นและอาจเข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อหาวิธีแก้ไขให้เหตุการณ์ดังกล่าวสงบลงโดยเร็ว

ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (13 มิ.ย.) แถลงการณ์ร่วมขององค์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาค อาทิ ฟอรั่ม เอเชีย (FORUM-ASIA),  อัลต์เซียน เบอร์มา (ALTSEAN-Burma), คณะกรรมการเพื่อคนสูญหายและเหยื่อความรุนแรงของอินโดนีเซีย (KontraS) และสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ได้เรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติ ทั้งหน่วยงานทางการทูตและสหประชาชาติ ส่งตัวแทนเข้าไปสังเกตการณ์เพื่อประเมินวิกฤตทางมนุษยธรรมที่อาจเกิดขึ้นและให้ความช่วยเหลือ 

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้บังกลาเทศเปิดชายแดนเพื่อรับผู้อพยพจากเหตุการณ์การปะทะในชายแดนตะวันตกของพม่า ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล โดยล่าสุด มีรายงานว่า บังกลาเทศได้ส่งกลับชาวโรฮิงยาราว 1,500 คนที่พยายามหนีความรุนแรงจากพื้นที่ดังกล่าว และได้เพิ่มกำลังทหารและตำรวจบริเวณชายแดนให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น 

ดิภู โมนิ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของบังกลาเทศได้กล่าวในสภาเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาว่า ตนขอเรียกร้องต่อองค์กรต่างประเทศและองค์กรภาคประชาชนว่า อย่าเรียกร้องให้บังกลาเทศต้องรับคนโรฮิงยาเข้าประเทศตนเอง เพราะไม่เคยลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศใดๆ ที่ให้ความช่วยเหลือและที่พักแก่ผู้ลี้ภัย และกล่าวว่าเป็นเรื่องของพม่าที่ต้องแก้ปัญหาของตนเอง

เด็บบี้ สต็อทฮาร์ท ตัวแทนจากองค์กรรณรงค์ประชาธิปไตยในพม่า อัลต์เซียน เบอร์ม่า ให้ความเห็นว่า ความรุนแรงในรัฐยะไข่ หรืออาระกัน อาจนับเป็นความรุนแรงในระดับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เนื่องจากรัฐบาลพม่าได้บังคับใช้กฎหมายที่จำกัดชาวโรฮิงยาในการแต่งงาน มีลูก และเคลื่อนย้ายข้ามถิ่นมาเป็นเวลานาน นอกเหนือจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ 

ล่าสุด ข้อมูลจากรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและชายแดนรัฐยะไข่ ระบุว่า มีชาวมุสลิมเสียชีวิตแล้ว 16 คน และชาวพุทธ 13 คน บาดเจ็บหลายสิบคน และบ้านราว 2,600 หลังเสียหายจากไฟเผา

อนึ่ง ความไม่สงบในรัฐอาระกันเริ่มมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ซึ่งมีกลุ่มมุสลิมแสวงบุญ 10 คนถูกชาวอาระกันตีจนเสียชีวิต ระหว่างเดินทางไปย่างกุ้ง โดยการโจมตีดังกล่าวเพื่อตอบโต้กับข้อกล่าวหาว่ามีสตรีอายุ 26 ปีรายหนึ่งถูกข่มขืนและฆ่าโดยชาวมุสลิมสามคนเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวแล้วและอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี ขณะที่เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่่ผ่านมา มีรายงานโดยสื่อพม่าว่า หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาได้ฆ่าตัวตายในเรือนจำ

และสถานการณ์รุนแรงในรัฐอาระกันเริ่มขยายตัวมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุประท้วงเมื่อวันศุกร์ที่่่ผ่านมาโดยชาวโรฮิงยา โดยซึ่งได้เข้าโจมตีชุมชนชาวอาระกัน ในเมืองมงดอว์ รัฐอาระกัน โดยหลังเกิดเหตุ ทางการพม่าได้ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ทันทีและห้ามประชาชนในพื้นที่ชุมนุมกันเกิน 5 คน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท