ค้าน “รัฐบาลญี่ปุ่น” เปิดเดินเครื่อง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” ร้องฟังเสียงประชาชน

กลุ่มนักกิจกรรม-เครือข่ายประชาชนรวมตัวหน้าสถานทูตญี่ปุ่นร้องนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทบทวนการเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ พร้อมให้กำลังใจรัฐบาล-ประชาชนญี่ปุ่นในการเปลี่ยนนโยบายไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานหมุนเวียน

 
 
15 มิ.ย.55 ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กลุ่มนักกิจกรรมและเครือข่ายประชาชน นำโดยนายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ โครงการจับตานิวเคลียร์ รวมตัวกับเรียกร้องให้ นายโยชิฮิโกะโนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ทบทวนการเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ ในจังหวัดทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกซึ่งร่วมลงชื่อโดยองค์กรพัฒนาสังคม รวม 25 องค์กร และประชาชนกว่า 70 คน ต่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ผ่านสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย โดยมีนาย Tomohiro Kondo ตำแหน่ง Third Secretary เป็นผู้รับหนังสือ
 
สืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศที่จะเปิดดำเนินการเตาปฏิกรณ์ 2 เครื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ ในเขตฟูคกุย ทางตะวันตกของญี่ปุ่นอีกครั้งจากที่ก่อนหน้านี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นปิดดำเนินการอยู่ทั้งหมดแม้จะมีเสียงของประชาชน และเสียงจากสมาชิกสภาจากพรรคการเมืองเดียวกันไม่เห็นด้วยก็ตาม
 
อีกทั้งมาตรการความปลอดภัยที่จำเป็นยังไม่มีการดำเนินการ กรอบมาตฐานความปลอดภัยใหม่ที่ควรได้รับการกำหนดขึ้นโดยองค์กรความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ แต่ในปัจจุบันองค์กรดังกล่าวยังไม่ได้รับการก่อตั้ง และขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ยังเพิ่งเริ่มต้นดำเนินการในสภาของญี่ปุ่นเท่านั้นนอกจากนี้ยังมีความจริงที่ว่ามีแนวรอยเลื่อนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ
 
นายสันติ กล่าวเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย และฟังเสียงประชาชนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการให้ประเทศกลับไปใช้พลังงานนิวเคลียร์อีก  
 
“เราขอให้กำลังใจทั้งรัฐบาลและประชาชนญี่ปุ่นในการเปลี่ยนนโยบายไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้จริงจากการรณรงค์การประหยัดพลังงานเมื่อปีทีแล้วในหน้าร้อน อยากให้ญี่ปุ่นแสดงความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศอื่นๆ ต่อไป” เจ้าหน้าที่โครงการจับตานิวเคลียร์แสดงความเห็น
 
นายสันติ กล่าวด้วยว่า แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นอาจมีความเสี่ยงที่จะขาดพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่มีค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด แต่น่าสนใจที่การรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ประชาชนเกินครึ่งหนึ่งมีความเห็นว่าควรมีการพัฒนาระบบการป้องกันความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เข้มแข็ง ก่อนที่จะเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ อีกทั้งยังมีกรณีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจทั่วไป โดยรอยเตอร์ ยังพบว่าส่วนใหญ่คำนึงเรื่องความปลอดภัยในการเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้า ทั้งที่คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีปัญหาเกิดขึ้นในระบบพลังงาน
 
“ในฐานะคนไทย เรามองว่าพลังงานนิวเคลียร์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่ประเด็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะมีผลกระทบข้ามพรมแดน ดังนั้น การตัดสินใจจึงไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นการตัดสินใจร่วมกัน เช่นเดียวกับเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยที่ต้องการให้ส่วนประชาชนมีส่วนในการตัดสินอย่างแท้จริง” นายสันติกล่าว
 
ทั้งนี้จดหมายเปิดผนึกของกลุ่มที่ออกมารณรงค์คัดค้านการตัดสินใจเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ มีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
 
จดหมายเปิดผนึก
กรณีการตัดสินใจเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิ
15 มิถุนายน 2555
 
 
เรียน นายโยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
 
พวกเราประชาชนไทยซึ่งมีรายชื่อท้ายจดหมายนี้ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของท่านที่จะเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์2 เครื่องที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิในจังหวัดฟูกุยในเร็วๆ นี้ เราขอให้ท่านทบทวนการตัดสินใจดังกล่าวด้วยเหตุผลดังนี้
 
1.      เราไม่ได้มีเจตนาที่จะแทรกแซงกิจการภายในของญี่ปุ่น แต่ผลกระทบจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นผลกระทบที่ข้ามพรมแดน อันตรายจากพลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถรับประกันได้ว่าประเทศอื่นๆ จะไม่ได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นเราจึงขอใช้สิทธินี้ในการแสดงความคิดเห็นต่อการตัดสินใจของท่าน
 
2.      หลังจากอุบัติเหตุฟูกูชิมะ ประชาชนญี่ปุ่นรวมทั้งในประเทศอื่นๆ ต้องการเห็นระบบมาตรฐานการกำกับความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ซึ่งสามารถเชื่อถือได้ และภายใต้หน่วยงานกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์ที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง แต่ ณ ขณะนี้ การปรับปรุงดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น
 
3.      สถานการณ์ของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ยังคงน่าเป็นห่วงจากปัญหาความไม่มั่นคงของโครงสร้างอาคารปฏิกรณ์ ขณะนี้ประชาชนชาวญี่ปุ่น และชาวไทยที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นซึ่งเป็นญาติพี่น้องที่รักของเราเป็นจำนวนมากกำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านความปลอดภัยจากกัมมันตภาพรังสี และการฟื้นฟูความเสียหายที่ยากลำบากในฟูกูชิมะ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิซึ่งตั้งอยู่บนแนวการเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลก ก็มีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากแผ่นดินไหวมากขึ้น เนื่องจากรอยเลื่อนในบริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ดังนั้น การเดินเครื่องใหม่ของเตาปฏิกรณ์โออิในขณะนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง
 
4.      จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นไม่ได้เห็นด้วยกับการตัดสินใจเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ใหม่ในครั้งนี้ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกในพรรคของท่านบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เราจึงขอให้ท่านคำนึงถึงหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักการธรรมาภิบาล และหลักของประชาธิปไตย พิจารณายุติการผลักดันให้เดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โออิใหม่
 
เราทราบดีว่า การขาดไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเป็นภาวะที่ยากลำบากสำหรับประเทศของท่าน อย่างไรก็ตาม ท่านนายกรัฐมนตรีเองได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญแก่การรักษาวิถีชีวิตที่เคยเป็นมาของชาวญี่ปุ่น เราเชื่อว่าการหวนกลับมาสู่การพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่แนวทางที่พึงปรารถนาแม้แต่ในทัศนะของชาวญี่ปุ่นเอง เพราะพลังงานนิวเคลียร์คือพลังงานที่เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ เราหวังจะเห็นนโยบายพลังงานของญี่ปุ่นที่มุ่งไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และพลังงานหมุนเวียน โดยปราศจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะยาวและจะเป็นแบบอย่างที่ดีของการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
 
การรณรงค์ประหยัดไฟฟ้า (setsuden) เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ปรากฏผลสำเร็จเป็นอย่างสูง และสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลและชาวญี่ปุ่นมีพลังที่เข้มแข็งและสร้างสรรค์ในการร่วมมือกันฟันฝ่าภาวะที่ยากลำบาก ทั้งยังช่วยจุดประกายแห่งความหวังให้กับนานาชาติรวมถึงประเทศไทยถึงสังคมที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพานิวเคลียร์ แต่ใช้ความความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในชาติในการแก้ไขวิกฤติพลังงานที่เป็นไปได้จริง
 
เมื่อปลายปี 2554 สมาคมสมาร์ตเซ็ดซูเด็น (Smart Setsuden Association) ได้ก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่น และเราหวังว่าองค์กรนี้จะเป็นกลไกที่มีประโยชน์อย่างแท้จริงในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นไปสู่สังคมที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแบบอย่างที่สร้างสรรค์สำหรับประเทศอื่นๆ
 
เราเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อประชาคมโลก การลดและเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นจะเป็นแบบอย่างอันหนักแน่นที่จะเป็นแรงจูงใจให้ประเทศอื่นๆ หันมาปฏิบัติตาม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อโลกที่จะสามารถลดความเสี่ยงจากอันตรายของพลังงานนิวเคลียร์ และเราเชื่อว่าสิ่งที่กล่าวมานี้ เป็นความเห็นของชาวญี่ปุ่นจำนวนมากด้วยเช่นกัน
 
ขอแสดงความนับถือ
 
(ลงชื่อ)
 
.................................
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท