Skip to main content
sharethis


 

(15 มิ.ย.55) ในวงเสวนา “เกษตรพันธสัญญา ความจริงที่ยังไม่ได้พูด” ที่ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า ปัจจุบัน การผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญาเพิ่มมากขึ้น จนเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมครอบครัว มาสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยถือเป็นขบวนการผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและส่งออก สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่ามีเกษตรพันธสัญญา 150,000 ราย ขณะที่ส่วนตัวคาดว่ามีมากกว่า 500,000 ครัวเรือน เนื่องจากระบบการผลิตได้ขยายไปถึงพันธุ์พืชชนิดอื่นๆ อาทิ หน่อไม้ฝรั่ง ทานตะวัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบว่า ระบบนี้เป็นธรรมหรือไม่ ปลอดภัยหรือมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาและสถาบันวิจัยสังคมจึงจะร่วมกันจัดเวทีวิชาการขึ้น เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงจากพื้นที่ ในวันที่ 26-27 มิ.ย. ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

อุบล กล่าวต่อว่า ระบบเกษตรพันธสัญญายังอยู่ได้ เพราะหนึ่ง เกษตรกรสามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคาร เพื่อนำเงินก้อนมาลงทุนได้ โดยผ่านการออกจดหมายรับรองของบริษัท สอง เกษตรกรมีความคาดหวังต่อรายได้ที่จะได้รับ และสาม เกษตรกรมั่นใจว่าเมื่อเข้าระบบแล้วจะมีตลาดรองรับและมีรายได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีกลไกรัฐหรือระบบกฎหมายดูแล ด้านผู้บริโภคก็ไม่มีกลไกตรวจสอบและกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งในการคุกคามเกษตรพันธสัญญาโดยไม่รู้ตัวเสียเองในทุกครั้งที่บริโภคอาหาร

ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่ากฎระเบียบเรื่องการสร้างโรงเลี้ยงซึ่งกลายมาเป็นภาระของเกษตรกรนั้นเป็นการทุจริตเชิงนโยบายที่ภาคธุรกิจเข้ามาแทรกแซงภาครัฐ และเมื่อดูโครงสร้างกฎหมายหนี้ ก็พบว่ากลไกทางกฎหมายและการบังคับคดีให้ประโยชน์เจ้าหนี้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ไพสิฐยังตั้งคำถามกับภาครัฐด้วยว่าให้ความเป็นธรรมตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ เพราะศาลมักนำสู่การไกล่เกลี่ย และแม้จะมี พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ที่ให้ศาลตรวจสอบสัญญาได้แต่กลับไม่มีคดีฟ้องต่อศาล เพราะเกษตรกรไม่กล้าฟ้อง แต่เป็นบริษัทเองที่จะนำสัญญามาเป็นข้อขู่จะฟ้อง โดยเขาเองในฐานะนักกฎหมายอยากเห็นตัวสัญญาว่าเป็นธรรมหรือไม่ ปรากฏว่าเกษตรกรก็ไม่มีสัญญาในมือ ทำให้ยากต่อการให้ความช่วยเหลือ เพราะมีแค่คำบอกเล่าเท่านั้น

เขาเสนอว่า ในระบบทุนนิยมเสรี กลไกของผู้บริโภคและภาครัฐต้องเข้มแข็งมากกว่านี้ รวมถึงสื่อจะต้องตื่นตัว รายงานสถานการณ์เพื่อสรุปบทเรียนไม่ให้เกิดการผูกขาด พร้อมเสนอว่าความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและเกษตรกรควรเป็นแบบหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน หากเป็นเช่นนี้ได้เชื่อว่าอันดับในการส่งออกของประเทศไทยจะขึ้นจากอันดับที่ 12 ของโลกแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ไพสิฐกล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีหลายบริษัทที่ไม่ได้มุ่งกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีความพยายามพัฒนาระบบแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งยังมีหอการค้าจังหวัดเข้ามาร่วมตรวจสอบข้อสัญญาด้วย รวมถึงได้เริ่มมีการพูดคุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามาดูแลเรื่องสัญญาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ตอนหนึ่ง โชคสกุล มหาค้ารุ่ง ผู้ได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงสุกรในระบบพันธสัญญา เล่าว่า ต้องกู้เงินจำนวนมากจากธนาคาร เพื่อซื้ออุปกรณ์การผลิตและอาหารจากบริษัทคู่สัญญารวมถึงสร้างคอก ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จ บริษัทก็มาบอกทีหลังว่าให้สร้างคอกเพิ่มเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ แต่เมื่อเขาไปกู้ธนาคารอีกครั้ง ปรากฏว่าธนาคารไม่ให้กู้แล้ว และเมื่อเขาไปต่อรองขอใช้วัสดุคนละชนิดกับที่บริษัทระบุ บริษัทก็กลับแจ้งว่าหากทำไม่ได้ ก็จะปิดฟาร์มเสีย และนำไปสู่การที่บริษัทนำหมูกลับไปในที่สุด ส่งผลให้เขาเป็นหนี้ธนาคารถึง 4 ล้านบาท

 


เพจเฟซบุ๊ก "FAIR Contract FREE Farming ปลดแอกเกษตรกรจากพันธนาการ"
รวบรวมข้อมูล-บทความในประเด็นเกษตรพันธสัญญาในสื่อต่างๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net