[คลิป] สัมภาษณ์ดุลยภาค ปรีชารัชช: จับตารัฐยะไข่ จุดวาบไฟการเมืองโลก

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ประชาไท สัมภาษณ์ อ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิธีกรรายการ ASEAN Weekly ทางเว็บไซต์ประชาไท ต่อกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวอาระกัน ในรัฐอาระกัน ทางตะวันตกของพม่า 

นอกจากการกล่าวถึงปัจจัยที่สำคัญของรัฐอาระกันที่ทำให้ความขัดแย้งดำรงทั้งเรื่องความแตกต่างทางเชื่อชาติ สภาพพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติส่งไปยังจีนและอินเดีย รวมทั้งเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อความมั่นคงในสายตาของกองทัพพม่า โดยก่อนหน้านี้มีการย้ายที่ตั้งกองบัญชาการทางทหารภาคตะวันตก ที่อยู่ในรัฐอาระกัน จากเมืองชายทะเลซิตตเหว่ เข้าไปยังเมืองอานที่อยู่ตอนในแผ่นดิน

ส่วนกรณีที่รัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เรียกร้องให้คนในชาติปรองดอง และว่าเหตุขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนาจะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยนั้น ดุลยภาคแสดงความเห็นว่าท่าทีรอมชอม โอนอ่อนผ่อนปรน และใช้วาทกรรมสร้างสันติและความสมานฉันท์นี้ อยู่ในกระบวนการประชาธิปไตยที่เต็ง เส่งวางไว้และสอดรับกับ "ผู้ใหญ่" ในพม่า ที่ต้องการเปิดประเทศเสริมภาพลักษณ์ประเทศ ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่าหากไม่หยุดสร้างความรุนแรง ไม่หยุดสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ แล้วรัฐบาลเหลือแรงที่จะควบคุม คงปฏิเสธไม่ได้ ที่จะให้กองทัพมาเคลียร์สถานการณ์ 

ในตอนท้ายการสัมภาษณ์ดุลยภาคประเมินว่า หลังจากนี้เป็นต้นไป เมื่อจัดการสถานการณ์เรียบร้อยแล้ว ความเป็นไปได้แรกคือ พม่าจะทบทวนเรื่องสิทธิพลเมือง ความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงยาให้ดีขึ้น เพื่อกันการแทรกแซงจากโลกภายนอก แต่ในทางปฏิบัติจะดูแลเช่นนั้นหรือเปล่าเป็นอีกเรื่อง ความเป็นไปได้อีกประการคือ รัฐบาลพม่าสามารถจัดระเบียบสถานการณ์ได้ แต่หลังจากนี้เป็นต้นไปสถานการณ์ของรัฐอาระกันจะถูกทำให้เป็นจุดวาบไฟทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือจุดวาบไฟทางชาติพันธุ์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งความรุนแรงจะเกิดและหยุด เกิดและหยุดไปเรื่อยๆ แต่อัตราจังหวะเดี๋ยวรุนแรง เดี๋ยวหยุดนี้จะเป็นตัวที่คอยกระตุ้นให้องค์กรระหว่างประเทศ เอ็นจีโอ หรือมหาอำนาจการเมืองโลกเห็นความสำคัญของรัฐอาระกันในหลายมิติ และเริ่มเข้ามาเป็นตัวแสดงในรัฐอาระกัน ซึ่งจะทำให้ปัญหาบานปลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ โดยรายละเอียดของการสัมภาษณ์มีดังนี้

000

 

ประชาไท - กรณีความขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงยากับชาวอาระกันที่กำลังดำรงอยู่ในขณะนี้ มีมูลเหตุความขัดแย้งพื้นฐานมาก่อนหรือเปล่าจึงทำให้สถานการณ์ดูจะปะทุอย่างที่จะหาความสงบระยะสั้นได้ยาก

อันดับแรก ต้องเข้าใจสภาวะแวดล้อมพื้นฐานของรัฐอาระกันในหลายๆ มิติก่อน ในเรื่องของทำเลที่ตั้งนั้นเราจะเห็นงว่ารัฐอาระกัน ตั้งอยู่ฟากตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า ลักษณะสัณฐานค่อนข้างยาวเรียว มีแนวแม่น้ำนาฟ เป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างพม่ากับบังคลาเทศ แต่จุดสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐอาระกันก็คือว่ามีท่อก๊าซจากคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน พาดผ่านตอนกลางของพม่า แล้วมาลงที่รัฐอาระกันเพื่อสูบน้ำมัน สองก็คือมีท่อก๊าซจากอินเดียมาลงที่อาระกันเพื่อสูบน้ำมันแล้วขึ้นไปที่มณีปุระ ตรีปุระ แล้วเข้ากัลกัตตา ประการที่สามก็คือทางหลวงสายเอเชียใต้ ที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทะลุผ่านเอเชียใต้ เซาท์อีสเอเชีย หรือ ASEAN+BIMSTEC นั้นผ่านที่รัฐอาระกัน ประการที่สี่คือ บ่อน้ำมัน หลุ่มก๊าซธรรมชาติประมาณ 18 แห่งทั้งในทะเลลึก ทะเลชายฝั่ง และบนบกบางส่วนกระจัดกระจายอยู่ในรัฐอาระกัน ประการสุดท้าย คือ เขตแดนพิพาททางทะเลที่เป็นเกมแย่งชิงน้ำมันรอบอ่าวเบงกอลระหว่างพม่ากับบังคลาเทศ รวมถึงความขัดแย้งในแนวแม่น้ำนาฟ ก็อยู่ที่รัฐอาระกัน เพราะฉะนั้นหากเราดูตำแหน่งแห่งที่ทางภูมิยุทธศาสตร์ ก็จะเห็นความสำคัญของมันว่าอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการขัดแย้งลุกลามบานปลายได้ แม้กระทั่งในอนาคตเพราะว่าภูมิรัฐศาสตร์ของมันนั้นจะผูกโยงกับการเมืองระหว่างประเทศ นี่คือมิติแรก

มิติที่สอง คือประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ เวลาพูดถึงอาระกัน นักวิชาการฝรั่งจะนึกถึง The Kingdom of Arakan เป็นอาณาจักรยุคโบราณที่มีความรุ่งเรือง เป็นอาณาจักรแบบพุทธผสมกับอิสลาม คณะผู้ปกครองก็เป็นกษัตริย์พุทธผสมกับสุลต่านที่มีสายสัมพันธ์กับสุลต่านใน East เบงกอลของบังคลาเทศ ขึ้นหมุนสลับกันเป็นช่วงๆ อาระกันถือเป็นอาณาจักรที่ร่วมสมัยกับพระนครศรีอยุธยาและพะโค เป็นศูนย์การค้า พ่อค้าอาหรับวาณิชเข้ามาที่อาระกัน เรือสินค้าขนาดใหญ่เข้ามาที่อาระกัน

อิสลามภิวัฒน์จากตะวันตออกกลางเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ซึมผ่านอาระกันในบางมิติ  นี่คือาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และพุทธกับบมุสลิมอยู่ร่วมกันมาเนิ่นนาน แต่ดูประวัติศาสตร์ในยุคอดีตเราจะไม่เห็นความขัดแย้งกันมากนักระหว่างชาวมุสลิมกับชาวพุทธ จนกระทั่ง พ.ศ. 1785 พระเจ้าปดุง กษัตริย์ราชวงศ์คอนบอง สำเร็จในการพิชิตนรัฐอาระกัน จากนั้นมีการเทครัวมุสลิมไปอยู่อังวะ อมราปุระในพม่า แล้วมีประชากรพุทธบางส่วนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน

แต่จุดแตกหักอยู่ที่สมัยนายพลเนวิน ที่ใช้ยุทธการณ์ทางการทหารขับไล่ที่ทำให้ชาวโรฮิงยาต้องถอยร่น ตกทะเล บ้างเข้าไปอยู่ในบังกลาเทศนี่เป็นปฐมบทของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และเชื้อชาติในรัฐอาระกัน จากประวัติศาสตร์ในช่วงโบราณถึงปัจจุบัน สืบย้อนไปเชื่อมกับโลกทัศน์ของรัฐบาลพม่าก็จะได้ความว่ารัฐบาลพม่าทั้งในสมัยนายพลเนวิน สมัย รัฐบาล SLORC (สภาเพื่อฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ) รัฐบาล SPDC (สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ) และรัฐบาลปัจจุบันก็มีกรอบคิดที่มองโรฮิงยาในแง่ลบ หนึ่ง คือมองว่าเป็นชุมชนต่างประเทศ นอกวงต่างจากคนพม่าโดยทั่วไป ประการที่สอง คิดว่าลุ่มนี้อาจเชื่อมต่อกับกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศ ประการที่สาม แม้ว่ารัฐบาลบังคลาเทศจะไม่ยอมรับโรฮิงยา แต่พม่ามองว่ามีสายสัมพันธ์

สุดท้ายแล้วจากฐานที่พูดไปสักครู่นี้ก็ผูกโยงมาได้ว่าความขัดแย้งมันเริ่มปะทุคุโชนสมัยนายพลเนวิน เรื่อยมามาจนปัจจุบัน เพราะพม่ามีการอพยพและสร้างแนวร่วมกับชาวยะไข่ที่เป็นพุทธ เข้าตั้งหมู่บ้านเข้าไปลอมกรอบโรฮิงยา มองโรฮิงยาว่าผิดแผกร้ายแรงกว่าชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม มีปฏิบัติการทางทหารรุกไล่ และคนพม่าหลายส่วนก็รู้สึกไม่พอใจ ไม่ค่อยเข้า ไม่สมานฉันท์กับโรฮิงยาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ต้องตรวจสอบว่าในพื้นที่ว่าจริงๆ บางพื้นที่มีการอยู่กันอย่างสมานฉันท์ แต่บางพื้นที่มีความขัดแย้ง เป็นไปได้ว่าอาจมีปัจจัยทางการเมืองหรือแรงกดจากรัฐบาลพม่าเข้าช่วย

 

การประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่รัฐอาระกันโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือทำไมท่าทีรัฐบาลเต็งเส่ง จึงต่างจากการปราบผู้ชุมนุมในปี 2550 ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลหรือสื่อของรัฐบาลก็กล่าวหาผู้ชุมนุม ประณามสื่อต่างชาติและสื่อพลัดถิ่นพม่าว่าทำให้เกิดความไม่สงบ แต่ในความขัดแย้งรอบนี้ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กลับแถลงเรียกร้องให้เกิดความสมัคคีในชาติ ว่าถ้าขัดแย้งกันจะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย

และขณะเดียวกันสื่อของรัฐเองก็ระมัดระวังในการนำเสนอ ทำไมความขัดแย้งรอบนี้ผู้สนับสนุให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารปราบชาวโรฮิงยากลับเป็นสื่อภาคเอกชน หรือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของพม่า และเป็นไปได้ไหมว่ากองทัพพม่าจะกลับมาเพราะสถานการณ์ไม่สงบในรัฐอาระกัน

อันดับแรกต้องทำความเข้าใจ ประเภทของระบอบ และเงื่อนเวลาแห่งการดำรงอยู่ของแต่ละรัฐบาลในแต่ละห้วงสมัย การปฏิวัติของผู้ครองจีวรในปี 2007 ยังเป็นการดำรงอยู่ของทหาร พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ยังอยู่ในอำนาจ เพียงแต่ช่วงนั้นมีการพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยสู่การเลือกตั้ง ช่วงนั้นเป็นรัฐบาลทหาร เวลามีเหตุจลาจล มีผู้ประท้วง มีการลุกฮือเกิดขึ้น เป็นธรรมดาที่ตอนนั้นมีความเกรี้ยวกราด มีการตอบโต้ที่ดุดัน โจ่งแจ้ง และอย่าลืมว่าเหตุการณ์ขณะนั้นเกิดที่เมืองสำคัญอย่างย่างกุ้งและแพร่ไปตามเมืองยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ล่อแหลมต่อภัยคุกคามประเทศ และกระทบต่อกระบวนการประชาธิปไตยที่กองทัพค่อยๆ จัดระเบียบ หากปล่อยให้แพร่ระบาดเกินไปจะทำให้การวางเกมของรัฐบาลทหารชะงักหยุดลง เพราะฉะนั้นเขาถึงมีการประณามสำนักข่าวต่างประเทศ สื่อพลัดถิ่นต่างๆ ที่รุนแรงพอสมคร และมีการปฏิบัติการทางทหารที่เด็ดขาด ฉับไว รวดเร็ว เพื่อคุมสถานการณ์ไม่ให้ยุ่งเหยิง ท่าทีขณะนั้นเป็นรัฐบาลทหาร เพียงแต่เหตุการณ์ปฏิวัติชายจีวรอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เขาจึงปิดเกมให้เรา

ส่วนในปี 2012 รัฐบาลคือรัฐบาลพลเรือน ประธานาธิบดีเต็ง เส่งมีท่าทีรอมชอม โอนอ่อนผ่อนปรน ใช้วาทกรรมสร้างสันติและความสมานฉันท์ของชาติ ท่าทีนี้อยู่ในกระบวนการประชาธิปไตยที่เต็ง เส่งวางไว้และสอดรับกับ "ผู้ใหญ่" ในพม่าหลายๆ คนที่ให้เปิดพม่าเป็นประชาธิปไตย เพื่อเสริมภาพลักษณ์ประเทศ รัฐบาลเต็ง เส่ง จะแสดงความเกรี้ยวกราดคงไม่เหมาะ สิ่งที่แสดงออกคือสันติ สมานฉันท์ ชุมชนพหุสังคม พหุพรรคเพื่อประชาธิปไตย นี่คือท่าทีที่เต็ง เส่ง แสดงออกไป

แต่เต็ง เส่ง ก็พูดมาว่า หากพี่น้องทั้งพุทธและมุสลิมขัดแย้งบานปลายจนแพร่ระบาดแล้วยากที่จะควบคุม จะส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศ นี่เป็นการเตือนอย่างมีนัยสำคัญ นั่นก็คือหนึ่ง หากคุณอยากได้ประชาธิปไตยจริงๆ คุณต้องยุติความรุนแรง คุณต้องยอมรับความต่างของชาติพันธุ์วรรณาและวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นจงหยุดเถิด นี่คือนัยยะแรก ส่วนนัยยะประการที่สอง หากไม่หยุดสร้างความรุนแรง ไม่หยุดสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ แล้วรัฐบาลเหลือแรงที่จะควบคุม คงปฏิเสธไม่ได้ ที่จะให้กองทัพมาเคลียร์สถานการณ์ และคงจะว่ารัฐบาลพม่าไม่ได้ที่ต้องทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังกลับเล็กน้อย เพราะเป็นการกระทำของพวกคุณ นี่คือวาทกรรมของรัฐที่ลุ่มลึกมาก คือส่วนหนึ่งบอกให้สันติสมานฉันท์ แต่อีกส่วนหนึ่งก็แอบเตือนว่าถ้ากองทัพต้องเข้ามาจริงๆ ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล แต่เป็นความผิดของพวกคุณที่ทะเลาะกัน พวกที่ทะเลาะกันก็จะกลายเป็นเหยื่อการเมือง

ส่วนพื้นที่ยุทธศาสตร์ พื้นที่เกิดเหตุคือรัฐอาระกัน มันไกลจากศูนย์กลางอำนาจ และไม่ได้แพร่ระบาดเหมือนการลุกฮือที่ย่างกุ้งในปี 2550 รัฐบาลก็พยายามจำกัดวงไม่ให้แพร่กระจาย แต่สิ่งที่สุ่มเสี่ยงต่ออนาคตคือจะจำกัดวงได้แค่ไหน เพราะหากไม่สามารถทัดทานวงสวิงที่เหวี่ยงมาจากความรุนแรงนั้น พม่าจะโกลาหลอย่างยิ่ง นักการเมืองสายอนุรักษ์นิยม อย่างแกนกลางของทิน อ่อง มิ้นท์ อู ซึ่งไม่ได้เป็นรองประธานาธิบดีแล้ว อาจจะกลับมาสยายปีกอีกรอบหนึ่ง กองทัพจะเข้ามาควบคุมมากขึ้น

อีกประการหนึ่งรัฐอาระกันไม่ใช่พื้นที่ชายแดนปกติ เป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อความมั่นคงต่อพม่าหลายประเทศ ทรัพยากรและภูมิรัฐศาสตร์ที่ผมวาดไว้ก่อนหน้านั้น ทำให้มหาอำนาจสนใจ พฤติกรรมแบบนี้สังเกตได้เมื่อก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์  รัฐบาลพม่าได้สั่งย้าย บก.กองทัพภาคตะวันตก  จากเมืองซิตตเหว่เข้าไปที่เมืองอาน ที่อยู่ลึกเข้าไปในชายฝั่ง และมีการวางโครงสร้างเครือข่ายที่สลับซับซ้อนทางทหารไว้ที่นั่น เพราะรัฐนี้อุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยาการ และเสี่ยงต่อการแทรกแซงจากโลกภายนอก โดยเฉพาะการยกพลขึ้นบกจากองทัพต่างชาติ แต่สิ่งที่จะเป็นเหตุชักนำให้มหาอำนาจเข้าพม่าได้ อย่างถูกต้องชอบธรรม ถูกกาละเทศะ นั่นก็คือความขัดแย้งชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมที่ปะทุคุโชนนี้เองมันจะทำให้ไฟแดงกระพริบที่พม่า และจะมีตัวแสดงอื่นเข้ามาเล่นเช่น สหประชาชาติ

นี่คือโลกทัศน์ของรัฐบาลพม่าที่มองรัฐอาระกัน ถือเป็นพื้นที่ที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน ธรรมชาติของ power politic ระดับโลกก็คือที่ไหนที่มีทรัพยากรอันล้ำค่า และมีเปราะบางทางการเมือง และชาติพันธุ์ ที่นั้นแหละจะเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงจากมหาอำนาจ มาวันนี้เราอาจจะเห็นไม่ชัด แต่อนาคตอาจเห็นเป็นห้วงๆ รัฐอาระกันอาจจะเป็นด่านหน้าของการแพร่ระบาดของการปฏิวัติ หรือความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่แพร่มาในภูมิภาคอาเซียน "ยะไข่โมเดล" อาจเป็นต้นตำรับให้เกิดโมเดลคล้ายๆ กันเช่นที่อาเจะห์หรือในจังหวัดต่างๆ ของฟิลิปปินส์หรือไทยบางส่วนก็เป็นได้

 

มองบทบาทของพรรคเอ็นแอลดี และออง ซาน ซูจี อย่างไรบ้าง ที่อดีตนักศึกษารุ่น 88 ที่เคยมีบทบาทในการเรียกร้องประชาธิปไตย บางส่วนก็แสดงจุดยืนสนับสนุนปฏิบัติการทางทหาร

อันดับแรกคือดูชีวประวัติ พื้นภูมิ หรือยุทธศาสตร์ทางการเมืองของออง ซาน ซูจี จะเห็นว่าบิดาของเธอคือนายพลออง ซาน มีปฏิสัมพันธ์ที่ค่อนข้างต่ำกับโรฮิงยา  พ่อขอองออง ซาน ซูจี อาจจะสัมพันธ์กับฉานหรือคะฉิ่นในนามข้อตกลงปางโหลง ส่วนตัวเธอเองอาจสัมพันธ์กับนักศึกษารุ่น 88 ที่ถูกเบียดขับจากศูนย์กลางไปตั้งฐานที่มั่นที่ชายแดนด้านตะวันออกและไปร่วมกับกระเหรี่ยงคริสต์ของนายพลโบเมี๊ยะ หรือเคเอ็นยู เป็นปฏิสัมพันธ์ที่ค่อนข้างแนบแน่นกว่าที่เธอมีกับกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มผู้คน ชายแดนด้านตะวันออกจะเหนียวกว่าทางตะวันตก อย่างรัฐอาระกัน เพราะตัวเธอเองกิจกรรมที่มาพบปะชาวมุสลิมแทบไม่เห็นเลย เป็นการมองผ่านดีกรีความสัมพันธ์ที่ไม่แนบแน่น ซึ่งส่งผลต่อท่าทีของเธอที่ไม่ชัดด้วยเพราะไม่ใช่กลุ่มที่เธอสนิทสนมมากนัก

ประการที่สองคือ ที่สำคัญคือมันเป็นความอยู่รอดทางการเมืองบางอย่าง คืออองซานซูจีประสบความสำเร็จในการมาเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม (WEF) แล้วขึ้นไปเยี่ยมแรงงาน ก็เก็บคะแนนเสียงได้ แต่เธอรู้ดีว่ารัฐบาลพม่าปล่อยเธอไปทำเรื่องแบบนี้ แต่เธอก็ต้องระวังตัวในแสดงความเห็นบางอย่างที่จะกระทบต่ออนาคตของเธอโดยเฉพาะกับเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ดังนั้นประเด็นละเอียดอ่อนขณะนี้คุโชนอยู่ที่รัฐอาระกัน ทุกอย่างยังอยู่ในภาวะที่ยุ่งยาก อาจจะเสี่ยงเกินไปที่จะแสดงท่าทีที่ชัดเจนในช่วงนี้ ถ้าไปประณามรัฐบาลพม่ามาก การออกนอกประเทศก็อาจไม่สะดวก ถ้าประณามโรฮิงยามากๆ ก็จะถูกหลายๆ กลุ่มโดยเฉพาะแวดวงต่างประเทศ และเครือข่ายมุสลิมโจมตีก็เป็นได้ นี่จึงอาจเป็นยุทธศาสตร์ของนางออง ซาน ซูจีด้วยเช่นกัน

อันที่สามที่อยากจะกล่าวคือ ความรู้สึกของผู้คนและเชื่อชาติจริง คือความรู้สึกของคนชาติพันธุ์พม่า ไม่ว่าคุณจะเป็นอดีตผู้นำนักศึกษายุค 1988 แกนนำในพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD แกนนำพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ล้วนมองชุมชนมุสลิมในประเทศพม่าที่แตกต่างกัน โดยใช้ศัพท์ว่า "กะหล่า" ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่อพยพมาจากอนุชมพูทวีป โดยไม่เกี่ยงว่าเป็นมุสลิม ฮินดู หรือซิกข์ หรือเรียกว่า Indian Burmese Mestizo ลูกผสมพม่า-อินเดีย โดยกลุ่มชาวโรฮิงยาจะถูกเหมาเรียกในบริบทนี้เช่นกัน เพียงแต่การใช้คำนี้ไปเรียกโรฮิงยา หรือคนที่มาจากอินเดียอื่นๆ แล้ว ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่าโรฮิงยาเป็นชุมชนต่างประเทศ ไม่ใช่ชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิม มองว่าสวนทางเป็นปฏิปักษ์ หรือผิดพวกกับคนพม่า วัฒนธรรมพม่า ทั้งภาษาพูด ทั้งอัตลักษณ์ หรือแม้กระทั่งผิวพันธุืในบางประเด็นว่าเป็นคนละพวกกัน และความรู้สึกของคนพม่าโดยรวมค่อนข้างหวาดระแวง ประกอบกับมีการไหลบ่าของประชากรอันแน่นขนัดจากบังกลาเทศ ซึ่งมีประชากรมากกว่า 140 ล้านคน ที่เข้ามาเป็นแรงงานผิดกฎหมายในพม่า และเข้ามาแย่งงานคนพม่าในรัฐอาระกันด้วย ทำให้ปัญหานี้เกิดบานปลาย

ปฏิบัตินี้เห็นได้ชัดคือรัฐบาลพม่าสร้างรั้วเดี่ยวขึ้นมา คร่อมพรมแดนระหว่างพม่ากับบังกลาเทศ เพื่อปิดไม่ให้แรงงานพวกนี้เข้ามาในพม่า ขณะเดียวกันแนวร่วมที่เป็นพุทธในรัฐยะไข่ ก็เอาด้วยกับรัฐบาลพม่า และมีปฏิบัติการร่วมบางอย่างในการรุกรวบทางวัฒนธรรม ทำให้พี่น้องโรฮิงยาเป็นคนไร้รัฐ ถูกกระบวนการทำให้เป็นชายขอบ เบียดขับผลักไสออกนอกประเทศ ข้ามแม่น้ำนาฟไปก็เจอทหารบังกลาเทศถือปืนยืนจังก้าไม่ให้เข้ามาบังคลาเทศ เพราะบังกลาเทศแม้จะเป็นมุสลิมเหมือนกันแต่อัตลักษณ์ก็แตกต่างกัน และที่สำคัญคือบังคลาเทศจน เขาก็กลัวว่าจะมาแย่งงาน ดังนั้นกลุ่มโรฮิงยาก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกประกับระหว่างรัฐพม่าและรัฐบังกลาเทศ และระหว่างประชากรบะหม่า (Burman) กับเบงกาลี และตัวโรฮิงยาที่เป็นประชากรตัวเล็กๆ และไร้รัฐ

 

มองว่าปัญหาความขัดแย้งจะจบแบบไหน พอจะคาดการณ์หรือประเมินว่าทิศทางที่เรื่องนี้จะคลี่คลายจะไปทางไหนบ้าง 

ซีนารีโอหรือฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นอาจจะทำนายยากอยู่ เช่น สถานการณ์แรก รัฐบาลพม่าสักพักนับจากนี้ไปสามารถปิดเกมได้ อาจเพิ่มตำรวจ ทหาร ปฏิบัติการเข้ากดดันพื้นที่ และใช้เคอร์ฟิวส์จัดระเบียบ และเมื่อสถานการณ์สงบ รัฐบาลพม่าอาจใช้นโยบายหรือใช้โฆษณาบางอย่าง เช่น เสนอหรือบอกประชาคมโลกว่าจะทบทวนเรื่องสิทธิพลเมือง ความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงยาให้ดีขึ้น เพื่อเป็นการลดแรงกดดัน และกันการแทรกแซงจากโลกภายนอก แต่ในทางปฏิบัติจะดูแลเช่นนั้นหรือเปล่าเป็นอีกเรื่อง

สถานการณ์ที่สองคือ รัฐบาลพม่าสามารถจัดระเบียบ ควบคุมสถานการณ์ได้ต่อเนื่องจากสถานการณ์ที่ 1 แต่หลังจากนี้เป็นต้นไปสถานการณ์ของรัฐอาระกันจะถูกทำให้เป็นจุดวาบไฟทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือจุดวาบไฟทางชาติพันธุ์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงจะเกิดและหยุด เกิดและหยุดไปเรื่อยๆ แต่อัตราจังหวะที่เดี๋ยวรุนแรง เดี๋ยวหยุดนี้จะเป็นตัวที่คอยกระตุ้นให้องค์กรระหว่างประเทศ เอ็นจีโอ หรือมหาอำนาจการเมืองโลกเริ่มเห็นความสำคัญของรัฐอาระกันในหลายมิติ และจังหวะที่เดี๋ยววูบเดี๋ยวสว่างจะทำให้มหาอำนาจเริ่มเข้ามาฝังตัว เป็นตัวแสดงในรัฐอาระกัน ซึ่งจะทำให้ปัญหาบานปลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ

เพราะฉะนั้น สมมติรัฐบาลคุมได้ในอนาคต เรื่องนี้ก็จะบานปลายอีก แต่ถ้ารัฐบาลพม่าคุมไม่ได้ตอนนี้ เรื่องนี้ก็จะยิ่งบานปลายยิ่งกว่า และบีบให้กองทัพพม่าจะเข้ามาจัดระเบียบ แต่ทั้งหมดนี้สะท้อนความสำคัญของรัฐอาระกันในศตวรรษที่ 21 ว่าการจำลองการทูตเชิงน้ำมันและท่อก๊าซแบบภูมิภาคเอเชียกลางเข้ามาอยู่ในด่านหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะท่อก๊าซจีน อินเดีย บริษัทข้ามจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปเข้ามาลงทุนในรัฐอาระกันแล้ว เพราะฉะนั้นพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นกระดานหมากรุกทางการเมืองโลก 

ประเด็นที่สองคือ หากแนวคิด "The Clash of Civilizations" ความขัดแย้งทางอารยธรรมที่เสนอไว้โดยแซมมวล ฮันติงตัน (Samuel P.Huntington) นักวิชาการรัฐศาสตร์ ชาวอเมริกัน ซึ่งมองว่าการเมืองโลกยุคหลังสงครามเย็นจะเป็นการปะทะระหว่างอู่อารยธรรมสำคัญ หนึ่งในนั้นคืออารยธรรมของอเมริกันกับอิสลามแบบเคร่งจารีต ส่วนอิสลามกับพุทธไม่รู้จะชนกันบ้างหรือเปล่าในบางมิติ กรอบของฮันติงตันไม่ได้มองเรื่องศาสนาอย่างเดียว เพราะศาสนาบางทีก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน อยู่แบบสันติก็ได้ แต่เขาเอาเรื่องศาสนาไปจับกับกำลังวังชาของมหาอำนาจเจ้าของอารยธรรม และนำการเมืองระหว่างประเทศไปเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ด้วย สุดท้ายศาสนาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทั้งการเมืองภายในและระหว่างประเทศจนปะทุบานปลาย

เรื่องยะไข่โมเดลหรืออาระกัน อาจเป็นจุดที่มองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมพุทธกับอิสลาม และมันจะเชื่อมกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องก็ยกประเด็นนี้อยู่ ก็เชื่อมเรื่องสงครามเชื้อชาติได้อีก ความขัดแย้งในรวันดากระตุ้นให้สหประชาชาติเข้ามาแทรกแซง นี่ก็เป็นได้ แต่ยังไม่รุนแรงในปัจจุบัน แต่ในอนาคตไม่แน่ และจะมีลักษณะบางอย่างที่ทำให้เหมือนคาบสมุทรบอลข่านอย่างอดีตยูโกสลายเวีย บางทีสหรัฐอเมริกาและสประชาชาติก็เข้ามาแทรกแซง และการทำให้เป็นแบบตะวันออกกลางกรณีปาเลสไตน์ก็น่าสนใจ อย่างปาเลสไตน์บอกว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ วันดีคืนดียิวเข้ามาบอกว่านี่เป็นดินแดนแห่งพันธะสัญญาที่โมเสสประกาศไว้แล้วมีมหาอำนาจเข้ามาหนุนหลัง มีการสถาปนารัฐอิสราเอลขึ้นมาเป็นสะพานให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาด้วย แล้วทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางปั่นป่วน โดยใช้เรื่องอารยธรรมแบบยิวกับอารยธรรมแบบยิวกับอิสลามตีกัน

ในอนาคตรัฐอาระกันก็ไม่แน่เหมือนกัน ผมคิดว่าในอนาคตมหาอำนาจต้องเข้ารัฐอาระกันแน่นอน และจะเป็นสะพานโดมิโนให้มีการแพร่ระบาดของความขัดแย้งชาติพันธุ์ และอิทธิพลการเมืองจากภายในและภายนอก สลับตีกันเป็นห้วงๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาระกันเป็นด่านหน้า โจทย์ที่ต้องมองให้ออกคืออาเซียนจะเข้ามามีบทบาทแค่ไหน รัฐบาลพม่าจะคุมได้หรือเปล่า ทิศทางในอนาคตคือจะมีตัวแสดงหรือชาติอื่นๆ เข้ามาแสดงท่าทีในเรื่องนี้ อเมริกาเริ่มแล้ว อังกฤษเริ่มแล้ว เดี๋ยวจะมีจีน เดี๋ยวมีอาเซียน แต่ชาติที่น่าจับตามองคืออินเดีย ปากีสถาน และอิหร่าน เพราะโรฮิงยาผูกโยงกับสามประเทศนี้พอสมควร เช่น โรฮิงยาที่เข้าไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่อินเดีย แม้อินเดียจะเป็นรัฐฮินดูก็ตาม แต่มีพื้นที่แลกเปลี่ยนการศึกษา การศาสนาให้คนเหล่านี้ สื่อสิ่งพิมพ์ของพี่น้องโรฮิงยาแปลมาจากภาษาอูรดู จากปากีสถาน และพี่น้องบางส่วนก็เข้าไปขอความช่วยเหลือที่อิหร่าน อิหร่านแม้ไม่มีสถานทูตที่ย่างกุ้ง แต่สถานทูตอิหร่านที่กรุงเทพฯ จะดูเรื่องรัฐอาระกัน และดูแลเรื่องโรฮิงยา แม้มุสลิมโรฮิงยาจะเป็นสุหนี่ แต่อิหร่านเป็นชีอะห์ แต่อิหร่านให้ความช่วยเหลือโรฮิงยามานาน มาวันนี้เราจะเห็นแกนนำแนวร่วมเข้าไปขอความช่วยเหลือจากสถานทูตอิหร่าน อิทธิพลเปอร์เซียจะเข้ามาด้วย ในอนาคตจะมีตัวแสดงอื่นๆ เข้ามาโลดแล่นในรัฐอาระกัน บวกกับคุณค่าภูมิยุทธศาสตร์ และภูมิรัฐศาสตร์ จะทำให้อาระกันกลายเป็น "Flash Point" คือจุดวาบไฟ สิ่งท้าทายคือรัฐบาลพม่าจะเอาอยู่ไหม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท