Skip to main content
sharethis

นักวิชาการเผย ร้อยเอกสารประวัติปาตานี พบอีกเพียบในต่างแดน รวมธงชาติ-เหรียญตรา ชีกว่าจะได้ข้อมูลต้องใช้ความไว้ใจสูง

เอกสารปาตานี - ตัวอย่างเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี ที่จัดแสดงในนิทรรศการในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “ปาตานี ในมิติประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เมื่อ 15 มิถุนายน 2555

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 มิถุนายน 2555 ที่สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับวารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วารสารรูสะมิแล และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ปาตานี ในมิติประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม” เพื่อนำเสนอและเผยแพร่งานวิจัย ซึ่งส่วนหนึ่งรวบรวมอยู่ในวารสารวิชาการด้านเอเชียศึกษา “รุไบยาต” โดยมีเข้าร่วมประมาณ 200 คน

ภายในงานมีนิทรรศการเกี่ยวกับ 100 เอกสารประวัติศาสตร์ปาตานี รวมถึงโปสเตอร์ Patani Timeline ซึ่งเป็นการนำเสนอประวัติศาสตร์ปาตานีในความสัมพันธ์กับสยามและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเส้นทางกาลเวลา อีกทั้งยังมีการจัดแสดงหนังสือเก่าในสมัยอดีตจำนวนมาก และรูปถ่ายบรรดาอูลามาอ์ (นักปราชญ์) ที่สำคัญๆ ของปาตานีหรือมีเชื้อสายปาตานี

นายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน อาจารย์ประจำภาควิชาภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี กล่าวในช่วงแนะนำโครงการ “ร้อยเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปาตานี” ว่า เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปาตานี ไม่ได้มีแค่เพียง 100 เอกสารเท่านั้น แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้นำมารวบรวมในรายชื่อเอกสารสำคัญ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเอกสารสำคัญมีเพียง 100 เอกสารเท่านั้น แต่สามารถหามาได้ 200 เอกสารก็ยังได้ หากได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของเอกสาร 

นายนิอับดุลรากิ๊บ เปิดเผยว่า ตนได้เดินทางไปตามหาเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปาตานีในหลายประเทศแถบมลายูพบปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะหากเดินทางไปด้วยกันหลายคน เช่น การเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในมาเลเซีย ซึ่งพบตู้เอกสารที่ระบุว่าเป็นตู้เก็บหนังสือ “Hikayat Patani” แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า กุญแจหายไม่สามารถไขตู้ได้ แต่หลังจากนั้นเมื่อตนเดินทางไปคนเดียว เจ้าหน้าที่ได้นำหนังสือดังกล่าวมาให้ดู ซึ่งหมายความว่า การหาเอกสารบางชิ้นต้องใช้ความไว้วางใจสูง

นายนิอับดุลรากิ๊บ เปิดเผยอีกว่า นอกจากเอกสารแล้ว ยังพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปาตานีอื่นๆ อีกหลายชิ้น เช่น ตนพบธงปาตานีที่บ้านหลังหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งพบว่าธงชาติปาตานีมีหลายแบบ แต่ละกลุ่มขบวนการกู้เอกราชของปาตานีก็มีธงชาติของปาตานีในรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งหากได้รับเอกราชแล้ว ปัญหาความขัดแย้งที่จะตามก็คือจะเอาธงของใครมาเป็นธงประจำชาติก็อาจเป็นได้

นอกจากธงชาติปาตานีแล้ว ยังพบเหรียญตราประจำหัวเมืองต่างๆของปาตานีในสมัยที่แบ่งเป็น 7 หัวเมืองด้วย ซึ่งแต่ละหัวเมืองจะมีเหรียญเป็นของตัวเอง

นายอาหมัด ฟัตฮี อัล – ฟาตานี (Mr.Ahmad Fathy Al-Fatani) นักวิชาการอิสระจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “Patani : Dari Negara Darul Salam Sampai Changwat Pattani" ("ปาตานี": จากประเทศนิวาสสถานแห่งสันติสุข สู่จังหวัด "ปัตตานี") ซึ่งอธิบายถึงประวัติศาสตร์ของรัฐปาตานีตั้งแต่ยุครุ่งเรืองมาจนกระทั่งแพ้สงครามและตกเป็นของสยาม โดยเฉพาะในยุคที่อังกฤษเข้ามายึดครองพื้นที่แหลมมาลายา ซึ่งขณะนั้นอังกฤษมองว่าปาตานีเป็นส่วนหนึ่งของสยาม บวกความสามารถในทางการทูตของสยามที่เหนือกว่าปาตานี ทำให้ปาตานีตกเป็นของสยามไปในที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net