ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา: 24 มิถุนายน 2475: สงครามบนแผ่นฟิล์ม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภาพยนตร์ในวันพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

"เมื่อเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แสงทองส่องฟ้าเรื่อเรือง มวลชีวิตได้พลิกตัวตื่นพร้อมกับการพลิกหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ แต่กลุ่มชีวิตที่รุ่งโรจน์ด้วยอำนาจวาสนา ยังหลับไหลด้วยความบรมสุขอันสืบต่อมาจากศตวรรษเก่า...อำนาจใหม่ซึ่งเติบโตขึ้นมาในสายตาอันฝ้าฟางของอำนาจเก่ากำลังย่างสามขุมออกมาเพื่อจะเข้าบดขยี้อำนาจเก่าที่ง่อนแง่นโงนเงนให้ย่อยยับไป ประวัติศาสตร์ของสยามกำลังจะขึ้นบทใหม่ และผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์ หรืออีกนัยหนึ่งผู้ลิขิตชะตากรรมของมนุษย์ผู้ลิขิตความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของมนุษย์นั้นก็หาใช่พระพรหม หรือพระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนไม่ หากเป็นมนุษย์นั่นเอง เมื่อชนชั้นสูงผู้ครองอำนาจได้ตื่นขึ้นมาในเช้าวันนั้น เขาก็ได้พบว่า อำนาจลายครามของเขาได้ถูกกลุ่มชนชั้นหนึ่งเข้าจู่โจมยืดเอาไปเสียแล้ว

ในตอนสายของวันที่ 24 มิถุนายน ข่าวการยึดอำนาจการปกครองจากกษัตริย์ และการจับกุมเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และนายพลมาคุมตัวไว้ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ได้แพร่ออกไปจากกองบัญชาการยึดอำนาจอย่างรวดเร็ว ประดุจถูกลมพายุหอบไป จากถนนใหญ่น้อยเข้าไปสู่อาคารร้านค้าสองฟากถนน ผู้คนที่กำลังทำการซื้อขายต่อราคาด้วยกิริยาอันเนิบนาบและกำลังนั่งอ้อยอิงสนทนารับประทานอาหารและเครื่องดื่มอยู่ ต่างก็ฟังข่าวอย่างหูผึ่ง บ้างตกตลึงพรึงเพริด บ้างร้องวื้ดว้าด บ้างหน้าบาน บ้างกังวล บ้างลุกพรวดพราว เผ่นออกไปนอกร้าน ร้านรวงบางแห่งก็ปิดอย่างฉับพลัน ประหนึ่งเตรียมรับกองโจรที่จะบุกเข้ามาในสองสามนาทีข้างหน้า บางร้านกลับโหมไฟในเตาตระเตรียมอาหารสดไว้เต็มที่ประหนึ่งจะคอยต้อนรับผู้คนซึ่งมาเที่ยวงานเทศกาลรื่นเริงมโหฬาร..."

นี่คือเหตุการณ์ของวันพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งศรีบูรพาได้ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรด้วยถ้อยคำอันเร้าใจ ในบทนำของนวนิยายอมตะ "แลไปข้างหน้า"

ภาพของเหตุการณ์ในวันนั้นนอกจากจะถูกบันทึกลงบนกระดาษโดยปลายปากกาและแท่นพิมพ์ของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์แล้ว มันยังถูกบันทึกเก็บไว้บนแผ่นฟิล์มอย่างมีชีวิตวา โดยฝีมือนักสร้างภาพยนตร์ชั้นแนวหน้าสุดของไทยขณะนั้นอีกด้วย

คณะถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ให้กับฝ่ายคณะราษฎร เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองวันนั้นถูกบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มขนาด 35 ม.ม. มีความยาวถึง 3,000 ฟุต เมื่อทำการตัดต่อและใส่อักษรบรรยายแล้วได้ถูกนำไปโฆษณาเผยแพร่ชัยชนะของคณะราษฎรต่อสาธารณชน ซึ่งกำลังหลงไหลคลั่งไคล้ในมหรสพบันเทิงชนิดนี้ [1] ภาพยนตร์ "วันพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" นี้ถือได้ว่าเป็นเสมือนคำประกาศแห่งชัยชนะของราษฎรสามัญชนที่มีต่อชนชั้นปกครองเก้าเจ้าขุนมูลนายเป็นประจักษ์พยานที่ตอกย้ำว่ายุคสมัยแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สิ้นสุดลงแล้ว และความหวังใหม่ของสยามคือ ประชาธิปไตย และความเสมอภาคเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมที่จะเข้าแทนที่สังคมแบบไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ซึ่งได้มาจากการต่อสู้แย่งชิง มิใช่ร่วงหล่นมาจากฟากฟ้าหรือสรวงสวรรค์

ภาพยนตร์ชุดนี้ถูกนำไปฉายเผยแพร่ยังโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยได้รับการต้อนรับจากผู้ชมอย่างกว้างขวาง แน่นอนภาพยนตร์ชุดนี้ได้ทำการแย่งอำนาจรัฐจากกษัตริย์และเจ้านายมาสู่มือของคณะราษฎรมีความชอบธรรม และได้รับการยอมรับจากประชาชนมากยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามฐานะองค์กษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงย่อมถูกดูแคลนโดยผู้ชม ด้วยเหตุนี้ย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจของกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์และบรรดาพวกอนุรักษ์นิยมหัวประจบทั้งหลาย

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองพลิกกลับ โดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมภายใต้การนำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี สามารถผนึกกำลังของตนดึงอำนาจการเมืองกลับคืนมาจากสมาชิกคณะราษฎร ภายหลังวิกฤตการณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทำให้ความขัดแย้งภายในคณะราษฎรที่ดำรงอยู่ก่อนหน้านั้นปรากฏตัวเด่นชัดและถึงจุดแตกหักในที่สุด สมาชิกคณะราษฎรบางส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 ทหารเสือ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิ์อาคเนย์ และ พ.ท.พระประศาสน์ วิทยายุทธ ได้ถอนตัวออกจากการสนับสนุนคณะราษฎรไปอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมกลับมามีอำนาจในวงการรัฐบาลอีกครั้ง พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้มีคำสั่งให้ภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นภาพยนตร์ต้องห้าม โดยให้เหตุผลว่า "ยังไม่สมควรให้นำออกฉายตามโรงมหรสพ เพราะเป็นการระหว่างหัวต่อ จะทำให้เห็นเป็นการเย้นหยันหรือที่เรียกว่าย้ำหัวตะปู เป็นการชอกช้ำแก่ในหลวงและพระบรมวงศาสนุวงศ์มากเกินไป" [2] โดยมอบหมายให้นายประยูร ภมรมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการราษฎรจัดการห้ามมิให้นำออกฉาย

ภายหลังการทำรัฐประหารแย่งอำนาจคืนจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ภาพยนตร์ชุดดังกล่าวจึงกลับมาโลดแล่นบนจออีกครั้ง ภาพยนตร์ชุดนี้นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของการเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยไทย น่าเสียดายที่ปัจจุบันฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวได้สูญหายไปเสียแล้วโดยไม่หลงเหลือร่องรอยให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวาของมัน

อย่างไรก็ตามมีหลักฐานแสดงว่า ภาพยนตร์ชุดนี้ได้ถูกส่งไปยังสหรัฐอเมริกา 2 ก๊อปปี้ ทั้งนี้เพราะมีบริษัทถ่ายภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกาได้ทราบข่าวว่า เกิดการปฏิวัติขึ้นในสยาม และรู้ว่าบริษัทศรีกรุงได้ถ่ายภาพเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ จึงโทรเลขมาขอซื้อฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าว "ให้ถ่ายหนังคุปเดต้าต์ในสยามไว้มีเท่าไรเอาหมด คิดราคาให้ตามอัตราพิเศษส่งเนกาติฟทางเรือบินด่วน" โดยบริษัทศรีกรุงได้ส่งฟิล์มที่ตัดต่อและใส่อักษรบรรยายภาษาอังกฤษแล้วไปให้ทั้ง 2 บริษัท แต่ภาพยนตร์ดังกล่าวไม่ตรงกับจินตภาพของการรัฐประหารที่บริษัทภาพยนตร์ดังกล่าวตั้งไว้ คือจะต้องมีการสู้รบที่รุนแรง ดังนั้นเมื่อฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวไปถึงมือแล้ว บริษัทหนึ่งจึงมีโทรเลขแจ้งกลับมาว่า "คุปเดต้าต์ เมืองไทยไม่เห็นมียิงกันสักหน่อย บริษัทไม่เอา หากจะเอาหนังคืนก็ให้ส่งเงินไปสำหรับเป็นค่าส่งกลับ" ส่วนอีกบริษัทเมื่อได้รับฟิล์มแล้วเงียบหายไปเลย ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน [3]

จากนั้นเราก็ไม่ทราบชะตากรรมของฟิล์มภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ชุดนี้ว่า เป็นตายร้ายดีอย่างไร ปัจจุบันฟิล์มดังกล่าวยังถูกเก็บรักษาไว้หรือไม่ก็สุดที่จะคาดคะเน เนื่องจากวัสดุฟิล์มดังกล่าวทำด้วยสารไนเตรทที่มีคุณสมบัติระเบิดและลุกไหมได้ง่าย หากไม่มีวิธีเก็บรักษาที่ถูกต้องก็จะเสื่อมสลายไปได้โดยง่ายดายและอาจเป็นอันตราย

 

เมื่อคนเท่ากับคนบนสยามใหม่

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้พยายามปลดปล่อยสามัญชนออกจากโซ่ตรวนของอุดมการแบบศักดินาที่ได้พันธนาการราษฎรไว้กับสถานะ "ข้าของแผ่นดิน" ซึ่งต้องอาศัยภายใต้ร่มใบบุญของเจ้าขุนมูลนายมีฐานะที่ต่ำต้อยในสังคมไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพ คณะราษฎรได้ประกาศลดสลายฐานะอันสูงส่งของชนชั้นเจ้าลงพร้อม ๆ กับการเชิดชูสามัญชนให้สูงเด่นขึ้น ดังปรากฏในประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1 และหลัก 6 ประการ ข้อ 4 และข้อ 5

"ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎรไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสระภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎร เพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่งเอง...

4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่

5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ชัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น..." [4]

ในทางนิตินัยฐานะของสามัญชนถูกยกให้สูงเด่นขึ้นทัดเทียมกับชนชั้นอื่น ๆ ดังที่ระบุไว้อย่างชัดแจ้งในมาตราที่ 12 ของรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ที่ว่า "ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประกาศอื่นใดก็ดี ไม่ทำให้เกิดอภิสิทธิแต่อย่างใดเลย" [5]

นอกจากนี้ชนชั้นนำกลุ่มใหม่ยังพยายามลดช่องว่างของโครงสร้างทางชนชั้นแบบเก่าลง ตัวอย่างเช่น การแก้ไขกฎมฑเฑียรบาลที่ห้ามไม่ให้เจ้านายแต่งงานกับสามัญชนหรือการพยายามกระจายอำนาจการปกครองออกไปตามหลักการประชาธิปไตย เช่นการให้มีการเลือกตั้ง การจัดระเบียบเทศบาล เป็นต้น

รัฐบาลในระบอบใหม่ยังได้ตราพระราชบัญญัติยกเลิกการปรับโทษตามศักดินา พ.ศ.2476 เพื่อตอกย้ำหลักการเรื่องความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ ดังคำแถลง

"...โดยเหตุที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ในรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ราษฎรทั้งหลายมีความเสมอกันในกฎหมาย ความผิดทั้งหลายที่กระทำขึ้น ก็ควรจะได้รับการพิจารณาโทษเท่าเทียมกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นราษฎรสามัญธรรมดาหรือมีบรรดาศักดิ์ฐานนันดรศักดิ์อย่างไร..." [6]

นอกจากนี้สภาผู้แทนราษฎรยังได้ผ่านร่างประมวลกฎหมายแพ่งฯ ให้ชาวไทยมีภรรยาตามกฎหมายได้เพียงคนเดียว อันเป็นการยกเลิกการกดขี่สตรีเพศตามธรรมเนียมศักดินา ซึ่ง เทียนวรรณ เคยเรียกร้องให้เลิกมาแล้วแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้นประสบความสำเร็จเพียงทำลายอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชของกษัตริย์ลง แต่การยักย้ายถ่ายเทอำนาจรัฐจากชนชั้นศักดินามาสู่ผู้ปกครองใหม่นั้นไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความอ่อนแอของคณะราษฎรทั้งในด้านการจัดองค์กร ความเป็นเอกภาพทางอุดมการณ์ และฐานสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจในสังคม จึงนำไปสู่การประนีประนอม แม้คณะราษฎรจะพยายามเข้าปรับกลไกด้านการปราบปรามของรัฐโดยการปลดและถอดถอนกลุ่มผู้ปกครองเก่าออกไปและจัดสรรคนของตนเข้าไปแทนที่บ้างบางส่วนก็ตาม แต่ในภาวะการณ์ที่กลไกทางอุดมการณ์ของสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นวัด โรงเรียน และสถาบันอื่น ๆ ของสังคมยังคงดำเนินการผลิตซ้ำอุดมการณ์แบบศักดินาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลให้อุดมการแบบศักดินาที่สนับสนุนชนชั้นเจ้ายังคงครองความเป็นใหญ่เหนือสังคมอยู่ ประกอบกับการที่อำนาจรัฐของชนชั้นปกครองเก่ายังมิได้ถูกทำลายล้างลงอย่างสิ้นเชิง การประนีประนอมจึงทำให้อำนาจรัฐถ่ายกลับไปสู่กลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นานนัก ดังจะเห็นได้จากชัยชนะของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในกรณีความขัดแย้งเนื่องจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีอนุรักษ์นิยม ในการประกาศปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และออกกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์โดยไม่ผ่านสภา

ข้ออ่อนดังกล่าวทำให้คณะราษฎรหันมาตระหนักถึงภาระกิจอันเร่งด่วนของงานสร้างอุดมการณ์ใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากอุดมการณ์แบบ "ไพร่ฟ้าข้าไทย" ที่สนับสนุนราชาธิปไตยของเจ้าศักดินานั้นมีอิทธิพลครอบงำความคิดชีวิตจิตใจของผู้คนในสังคมไทยอยู่เป็นเวลาช้านานแล้ว คณะผู้ปกครองกลุ่มใหม่ต้องการปรับแต่งและโยกย้ายเป้าหมายแห่งอุดมการณ์ของสังคมไทยให้มาเป็นเครื่องมือสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการปกครองแบบใหม่และผู้ปกครองกลุ่มใหม่ การสร้างอุดมการใหม่ขึ้นมานั้น จำต้องสร้างรากฐานทางสังคม และวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้นมารองรับด้วยเช่นกัน เพราะอุดมการจะแสดงตัวเองออกมาก็โดยผ่านรูปแบบการดำเนินชีวิต ภาษา การแสดงออกทางศิลปะ ตลอดจนกิจกรรมทางการเมือง ภารกิจในการวางรากฐานทางอุดมการจึงครอบคลุมรากฐานทางสังคมทั้งหมด (Social Infrastructure) ด้วย [7]

นอกจากคณะผู้ปกครองกลุ่มใหม่จะทำการเคลื่อนไหวเผยแพร่อุดมการผ่านระบบการศึกษา สถาบันการปกครองของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีเครือข่ายกว้างขวางทั่วประเทศแล้วยังได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นหน่วยหนึ่งทำหน้าที่ทางด้านอุดมการณ์โดยตรง คือ กรมโฆษณาการ [8] ในปี พ.ศ.2476 ประกอบด้วย 2 กองใหญ่ คือ กองการหนังสือพิมพ์ และกองเผยแพร่ความรู้ ในกองเผยแพร่ความรู้นั้นได้แบ่งออกเป็น 5 แผนกย่อย คือ แผนกเอกสาร แผนกวิทยุกระจายเสียง แผนกปาฐกถา แผนกภาพยนตร์ และแผนกแสดงเบ็ดเตล็ด

 

รัฐธรรมนูญ : หล่นจากฟ้าหรือมาจากการต่อสู้?

ขณะที่ภาพยนตร์เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ถูกห้ามฉายโดยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ด้วยเหตุผล "ทำให้เห็นเป็นการเย้ยหยันหรือที่เรียกว่า ย้ำหัวตะปู เป็นการชอกช้ำแก่ในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์มากเกินไป" รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดากลับเชื้อเชิญคณะถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงเจ้าเก่าให้เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์พิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 โดยมีการตระเตรียมสถานที่ ไฟ และซักซ้อมกล้องแบบซ้อมใหญ่เหมือนพิธีจริงก่อนหน้าวันที่ 10 ธันวาคม โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเข้าร่วมการซ้อมใหญ่ครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้ภาพและเสียงออกมาชัดเจนที่สุด

พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญซึ่งจัดขึ้นอย่างมโหฬารตระการตา เมื่อประกอบเข้ากับ ฉลองพระองค์ที่ดูมลังเมลือง ราชพิธีแบบศักดินา เสียงดนตรี มโหรีปีพาทย์ ที่บรรเลงประกอบและอื่น ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้พิธีกรรมในวันนั้นดูขึงขัง และศักดิ์สิทธิ์ไม่ผิดกับพระราชพิธีอื่น ๆ ที่เคยมีมาแต่ครั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภาพและเสียงของเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ถูกบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มภาพยนตร์ ขนาดมาตรฐาน 35 ม.ม. ด้วยระบบเสียงในฟิล์ม ด้วยกล้องถ่ายถึง 4 ตัว ภาพยนตร์พิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญนี้เมื่อถ่ายเสร็จแล้วตัดต่อรวมกับภาพยนตร์เหตุการณ์ฉลองรัฐธรรมนูญเข้ามีความยาวถึง 4,200 ฟุต ได้ถูกขอซื้อไว้โดยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาด้วยเงิน 4,000 บาท พร้อมกับมอบหมายให้สำนักโฆษณาการนำออกเผยแพร่ และกำชับให้เก็บรักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์สมบัติของประเทศสืบต่อไป [9] ราวกับจงใจเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างเช่นที่ปรากฏบนแผ่นฟิล์ม ภาพที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์จากฟิล์มภาพยนตร์ชุดนี้ได้สื่อสารไปสู่ผู้ชมคือ

1. บัดนี้สังคมไทยเข้าสู่ยุคใหม่ คือระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งทันสมัยกว่า สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของผู้คนในสังคมขณะนั้น

2. รัฐธรรมนูญที่เป็นหัวใจของระบอบใหม่นี้องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้พระราชทานพสกนิกรของพระองค์

3. สถาบันกษัตริย์ ยังทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์สมควรแก่การสักการะบูชา ซึ่งแตกต่างจากภาพยนตร์ชุดแรกที่ถ่ายทำเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่แสดงให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของระบอบเก่า และที่มาของระบอบใหม่ คือ การต่อสู้เรียกร้องโดยคณะราษฎร ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเห็นว่าเป็นการ "ย้ำหัวตะปู" จึงสั่งห้ามฉาย ขณะที่ภาพยนตร์ที่ถ่ายเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ให้ภาพของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลักษณะ "ถอนหัวตะปู" ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มอนุรักษ์นิยม จึงได้รับการสนับสนุนให้จัดฉายต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตามภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 อันเป็นผลให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องตกจากเวทีการเมืองไป ภาพยนตร์ชุด "ย้ำหัวตะปู" จึงได้รับการอนุญาตให้กลับมาฉายได้อีกครั้งจากรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และภาพยนตร์ฉลองรัฐธรรมนูญถูกนำออกไปฉายต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวางในช่วงนี้ อย่างเช่น พ.ท.หลวงพิบูลสงครามได้ขอฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวไปฉายตามกองพันทหารต่าง ๆ [10] นอกจากนี้ สำนักโฆษณาการยังได้จัดทำภาพยนตร์ชุดอื่น ๆ ขึ้นโฆษณาเผยแพร่ผลงาน และอุดมการของรัฐบาลคณะราษฎรต่อสาธารณชนอีกหลายชุด ภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นโดยสำนักโฆษณาการนี้จะถูกนำไปฉายประกอบกับการฉายภาพยนตร์อื่น ๆ ตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ รวมทั้งส่งไปฉายตามจังหวัดต่าง ๆ ที่ร้องขอมา อย่างเช่นที่งานสมโภชรัฐธรรมนูญฉบับจำลองที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นต้น [11]

ภาพยนตร์เหล่านี้น่าจะมีส่วนช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจจากกษัตริย์โดยคณะราษฎรได้อย่างดีทีเดียว

 

จากทหารของพระเจ้าแผ่นดินสู่ทหารของรัฐธรรมนูญ

การประนีประนอมทางการเมืองระหว่างพลังตกค้างของระบอบเก่ากับคณะราษฎรได้มาถึงจุดแตกหักในเดือนตุลาคม 2476 เมื่อพลเอกพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช นำกำลังทหารจากหัวเมืองหมายแย่งยึดอำนาจรัฐจากรัฐคณะราษฎร ทว่าประสบความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ เป็นผลให้พลังของฝ่ายอนุรักษ์นิยมถดถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปีถัดมา นับแต่นั้นรัฐบาลคณะราษฎรก็ก้าวเข้ามาสู่ยุคแห่งมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น การดำเนินการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์จึงเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากการจัดงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญอย่างเอกเกริกติดต่อกันถึง 5 วัน 5 คืน การตอกย้ำและประกาศชัยชนะของฝ่ายคณะราษฎรเหนือฝ่ายเจ้าที่สำคัญคือการประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 อันเป็นช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพ.อ. พหลพลพยุหเสนา แต่ก็ได้ถูกยกเลิกไปในที่สุดในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 [12]

ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในช่วงนี้ คือการก้าวขึ้นมามีบทบาทของสถาบันทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงพิบูลสงคราม ผู้มีบทบาทเด่นชัดที่สุดในการกำจัดศัตรูของคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นกรณีการปราบปรามกบฎบวรเดชหรือกบฎนายสิบหลวงพิบูลสงครามยังได้มีการผลักดันให้มีการขยายเครือข่ายของสถาบันทหารออกไปอย่างกว้างขวาง เริ่มมีการเปิดโรงเรียนเสนาธิการและโรงเรียนเทคนิคทหารบกในปี 2477 ตั้งกรมยุวชนทหารบกและยุวนารีขึ้นในปี 2478 และยังมีการสั่งซื้ออาวุธจำนวนมากมายจากเยอรมัน อิตาลี และสวีเดน ทำให้งบใช้จ่ายด้านกลาโหมในช่วง 2476-2481 สูงมากถึงกับเฉลี่ยประมาณ 26 % ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด [13] ปรากฏการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นชัดว่า รัฐบาลคณะราษฎรขณะนั้นได้มุ่งหน้าสู่การใช้สถาบันทหารเป็นฐานอำนาจของตนเอง เพื่อบรรลุการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ อาจารย์อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ ได้ชี้ให้เห็นในงานวิจัย "คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย : ด้านการทหารของเขาว่า การย้ายสัญญาลักษณ์จาก "กษัตริย์" ในระบอบการปกครองเก่าสู่ "รัฐธรรมนูญ" ในระบอบใหม่ ส่งผลให้คณะราษฎรต้องดำเนินการเปลี่ยนฐานะ "ทหารของพระเจ้าแผ่นดิน" สู่ "ทหารของรัฐธรรมนูญ" [14]

การลอกคลายไคลของสถาบันทหารนั้นกระทำในหลายวิธี การใช้ภาพยนตร์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ดำเนินไปอย่างได้ผล ภาพยนตร์ข่าวการปราบกบฎบวรเดช เป็นผลงานของสำนักงานโฆษณาการโดยหลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) และบริษัทถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงเจ้าเก่า ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้าไปบันทึกภาพจากเหตุการณ์สู้รบจริง ๆ มีความยาวถึง 7 ม้วน ภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหม่เกรียงไกรและชัยชนะของทหารผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต่อทหารของฝ่ายกบฎที่ถูกอธิบายว่าเป็นศัตรูต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้ภาพทหารของรัฐธรรมนูญเด่นชัดขึ้น ขณะที่ทหารของพระเจ้าแผ่นดินค่อย ๆ เลือนหายไป

ภาพยนตร์ชุดนี้ถูกพิมพ์เป็น 2 ก๊อปปี้ แล้วนำออกฉายเผยแพร่ที่โรงภาพยนตร์วัฒนากร (พัฒนากร) และแคปปิตอล ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ชั้นแนวหน้าสุดขณะนั้นก่อนแล้วจึงนำไปฉายยังโรงภาพยนตร์อื่น ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด [15] นอกจากการเผยแพร่ภาพยนตร์ชุดปราบกบฎบวรเดชแล้ว กระทรวงกลาโหมยังได้มอบหมายให้บริษัทถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ซึ่งมีสถานะคล้ายกับเป็นหน่วยผลิตภาพยนตร์ของรัฐบาลคณะราษฎรขณะนั้นโดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล [16] ร่วมกับสำนักงานโฆษณาการจัดสร้างภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่และเชิดชูกิจกรรมของทหารในระบอบการปกครองใหม่ให้ชื่อว่า "เลือดทหารไทย" โดยมอบหมายให้กาญจนาคพันธุ์ เป็นผู้ประพันธ์เรื่องและกำกับการแสดง มีพันตรีหม่อมหลวงขาบกุญชร แสดงนำภาพยนตร์จุดชี้จัดได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี เพราะได้รับความสนับสนุนจากหน่วยราชการต่าง ๆ อย่างพร้อมเพรียง รัฐบาลให้เงินสนับสนุนในการจัดทำภาพยนตร์ชุดนี้ถึง 10,000 บาท ภาพยนตร์ถ่ายทำในระบบมาตรฐานโลก 35 ม.ม. เสียงในฟิล์ม ซึ่งภาพยนตร์เสียงในฟิล์มขณะนั้นยังถือว่าเป็นของใหม่สำหรับโลกอยู่ ใช้เวลาถ่ายทำอย่างพิถีพิถันอยู่นานหลายเดือน ในที่สุดก็เสร็จสมบูรณ์ โดยผู้บัญชาการสามเหล่าทัพและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งบุคคลสำคัญของรัฐบาลได้ถูและให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงบางส่วนจนเป็นที่พอใจของรัฐบาลและทหาร ภาพยนตร์จึงได้ลงโรงฉายเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ในปี 2478 [17] โดยมีคนดูแน่นขนาด เนื้อหาของภาพยนตร์นั้นสนับสนุนอุดมการของรัฐ ขณะนั้นคือการสร้างศรัทธาให้กับระบอบการปกครองใหม่และทหารคือ ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ปกป้องปฐพีและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ด้วยฝีมือการสร้างการประพันธ์ และเสน่ห์ของภาพยนตร์มิต้องสงสัยเลยว่าภาพยนตร์ชุดนี้ได้ทำหน้าที่สื่อสารความคิดจากรัฐบาลไปสู่ผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพชนิดที่สื่ออื่น ๆ ในยุคร่วมสมัยมิอาจทำได้ดีเท่า การสร้างด้วยระบบเสียงในฟิล์มยิ่งทำให้การสื่อสารข้อมูลเป็นไปอย่างตรงจุดหมายยิ่งขึ้นกว่าภาพยนตร์เงียบในยุคก่อนหน้านั้น เพลงประกอบในหนังยังช่วยเร่งเร้าให้ผู้ชมเข้าสู่จุดมุ่งหมายของผู้สร้างได้เร้าใจยิ่งขึ้นอย่างเพลง "มาร์ซไตรรงค์" ซึ่งมีท่วงทำนองที่เร่าร้อนและปลุกใจยิ่งนัก

"คนไทย นี่คืออะไร มิใช่ความจำ
เป็นที่ได้ทำ ให้เรารู้สึกตัว มาแล้วหรือไร
ฉะนั้นไทย จึงต้องเตรียมพร้อม เสมอที่จะรักษาไว้
ซึ่งความเป็นไทย ทั้งชาติ ศาสนา กษัตริย์ รัฐธรรมนูญ" [18]

ภาพยนตร์ "เลือดทหารไทย" นี้อาจถือได้ว่าเป็นเสมือนเช่น อนุสาวรีย์บนแผ่นฟิล์มของทหารไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งสร้างขึ้นก่อนหน้าที่อนุสาวรีย์ที่มีความหมายเดียวกันนี้จะถูกสร้างขึ้นด้วยถาวรวัตถุในปีถัดมาที่หลักสี่

 

จากศักดินานิยมสู่ชาตินิยม

ความพยายามของคณะราษฎรที่จะลบล้างอุดมการณ์แบบศักดินานิยม ซึ่งส่งเสริมบทบาทและสถานะของชนชั้นเจ้าได้ค่อย ๆ คลี่คลายไปสู่การขยายตัวของอุดมการณ์แบบชาตินิยมที่สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมของทหารที่กำลังขยายบทบาทของตนเองมากขึ้นในอำนาจรัฐ อุดมการณ์แบบชาตินิยมนี้ด้านหนึ่งมันได้เข้าบดขยี้โครงสร้างทางชนชั้นและรูปการจิตสำนึกแบบไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของระบอบศักดินาลงพร้อมกับสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ยังคงปกปักษ์รักษาสถานะและบทบาทของประชาชนในฐานะผู้ตามหรือผู้ถูกกระทำเอาไว้ ประชาชนมิได้ถูกกระตุ้นให้พัฒนาศักยภาพทางการเมืองของตนเพื่อเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองแบบที่เกิดขึ้นในประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย กระแสความคิดชาตินิยมถูกอัดฉีดสู่ประชาชนผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนซึ่งมักถูกควบคุมโดยรัฐเช่นกัน นอกจากกรมโฆษณาการและกรมศิลปากรที่มีหลวงวิจิตรวาทการ นักคิดคู่บารมีของหลวงพิบูลสงคราม ผู้ทำให้อุดมการณ์แบบชาตินิยมซึมซาบสู่ผู้คนด้วยบทประพันธ์และการละครแล้ว ภาพยนตร์ก็เป็นสื่ออีกชนิดหนึ่งที่รัฐบาลมิได้มองข้ามไป บริษัทถ่ายภาพยนตร์ศรีกรุง ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐให้จัดสร้างภาพยนตร์ "ค่ายบางระจัน" เพื่อสนับสนุนอุดมการณ์แบบชาตินิยมของรัฐ แต่เนื่องจากงานภาพยนตร์เป็นงานใหญ่มีขบวนการผลิตที่ซับซ้อน ต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณก้อนใหญ่อีกทั้งใช้เวลาในการผลิตที่ค่อนข้างยาวนานและกระบวนการเผยแพร่ที่ต้องพึ่งพิงโรงฉายภาพยนตร์ของเอกชนนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้รัฐมิได้ทุ่มความสนใจมายังสื่อประเภทนี้เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งพิมพ์ วิทยุ และการละครที่รัฐให้ความสนใจมากกว่า

อย่างไรก็ตามแม้รัฐจะมิได้ลงมาผลิตโดยตรง แต่ภาพยนตร์ก็ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐอย่างใกล้ชิดด้วยระบบเซนเซอร์ ซึ่งดำเนินรอยตามกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลเก่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้วางเอาไว้ สถานภาพทางสังคมของผู้คนและบริบททางอุดมการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทยภายใต้ระบอบใหม่นี้ย่อมส่งผลไปยังเนื้อหาของภาพยนตร์ด้วยเช่นเดียวกับที่มันส่งผลต่อวงการวรรณกรรม [19] จึงมีภาพยนตร์บางเรื่องหันมาเชิดชูชีวิตของสามัญชนผู้ต่ำต้อยด้อยค่าในสังคมเก่า อย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง "เลือดชาวนา" และภาพยนตร์เรื่อง "เลือดชนบท" ของบริษัทถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง เป็นต้น แต่ก็นับว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอยู่ในอัตราส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงในวรรณกรรม

ในช่วงนี้ได้เกิดการสร้างภาพยนตร์ไทยระบบพากษ์ขึ้นมา โดยใช้วิธีการถ่ายทำเช่นเดียวกับภาพยนตร์เงียบ แต่แทนที่จะใช้อักษรบรรยายภาพกลับใช้คนให้เสียงพากษ์ขณะฉาย ซึ่งระบบนี้ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้จำนวนมาก เปิดโอกาสให้นักสร้างหนังใหม่ได้ปรากฏตัวในวงการภาพยนตร์มากขึ้น

ขณะที่กลุ่มนักสร้างภาพยนตร์เสียงในฟิล์มพยายามสร้างมาตรฐานของภาพยนตร์ไทยทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหา รวมทั้งพยายามดึงรสนิยมของคนดูหนังให้ไปสู่ความเป็นสากล (ตะวันตกฮอลลีวู๊ด) กลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์พากษ์กลับพยายามปรับมาตรฐานของภาพยนตร์ให้ถูกรสนิยมคนส่วนใหญ่คือ ชาวบ้านซึ่งเขาต้องการดึงเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์

แน่นอนเนื้อหาที่เอาใจชาวบ้านของภาพยนตร์พากษ์และการเข้าใกล้มหรสพพื้นบ้านของไทยที่มักเป็นการสื่อสารสองทาง คือ ระหว่างผู้ชมกับผู้แสดงสามารถโต้ตอบกันได้ [20] ทำให้ภาพยนตร์พากษ์เป็นที่ยอมรับจากผู้ชมระดับชาวบ้านมากกว่าภาพยนตร์เสียงที่สนองตอบของคนเมืองมากกว่า ปรากฎการณ์นี้ โดม สุขวงศ์ บอกว่าทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่การแตกแยกออกเป็น 2 แนวทางของภาพยนตร์และผู้ชมภาพยนตร์ไทย คือ แนวทางหนึ่งคือ การเข้าหาความเคยชินของชาวบ้านของภาพยนตร์พากษ์และการเข้ามาหามาตรฐานสากล (แบบตะวันตก) ของภาพยนตร์เสียง [21] การเข้าหาความเคยชินของชาวบ้านก็คือ การสื่อด้วยรูปแบบที่ง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน และเรื่องราวที่คุ้นเคยของชาวบ้าน ซึ่งหมายถึงเรื่องราวจากวรรณกรรมยุคศักดินาที่สร้างสำนึกยอมจำนนให้กับผู้คน ส่วนการเข้าหามาตรฐานสากล (แบบตะวันตก) ก็คือการก้าวไปสู่การถูกครอบงำโดยเรื่องราวแบบทุนนิยมจักรวรรดินิยมที่ละเลยการสะท้อนปัญหาของสังคมที่ดำรงอยู่จริง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดภาพยนตร์ส่วนใหญ่ได้หลุดลอยไปจากสภาพความเป็นจริงของสังคมเข้าไปสู่โลกมายาโลกแห่งความเพ้อฝันมากขึ้นทุกที เพราะผู้สร้างใช้กำไรเป็นตัวกำหนดทิศทางของภาพยนตร์ น้อยรายนักที่จะกล้าเสี่ยงสร้างภาพยนตร์ให้แวกวงล้อมที่ครอบงำความคิดของผู้ชมและผู้สร้างหนังไทยออกไปได้ ภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนี้ ได้แก่ โมรา ระเด่นลันได กุหลาบเชียงใหม่ กุหลาบนครสวรรค์ ขุนช้างขุนแผน ดงตาล หนามยอกหนามบ่ง พญาน้อยชมตลาด เมืองแม่หม้าย กลัวเมีย ปู่โมเฝ้าทรัพย์ แก่นกลาสี วิวาห์เที่ยงคืน และเพลงหวานใจ เป็นต้น

 

ลัทธิเชื่อผู้นำและการปฏิวัติวัฒนธรรมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

หลวงพิบูลสงครามมีบทบาททางการเมืองที่เด่นชัดมาแต่หลังการปราบกบฎบวรเดช และในที่สุดก็เข้ากุมบังเหียนประเทศในปี พ.ศ.2481 บทบาทที่สูงเด่นทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นี้พัฒนาเคียงคู่กับการใช้อำนาจแบบทหารไทยตลอด ดังนั้นเมื่อได้รับตำแหน่งผู้นำสูงสุดทางการเมืองลักษณะอำนาจนิยม จึงปรากฏเด่นชัดขึ้นเป็นเงาตามตัวประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ขมึงเกลียวเข้าทุกที ได้กลายเป็นเงื่อนไขของการพลิกอุดมการชาตินิยมของคณะราษฎรไปสู่ลัทธิเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ที่มอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับท่านผู้นำ

"...ญี่ปุ่นมีเครื่องยึดมั่นอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินของเขา เราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดแน่นอน ที่มีอยู่ก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ชาติก็ยังไม่มีตัวตน ศาสนา ก็ไม่ได้ทำให้คนเลื่อมใสถึงยึดมั่น พระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นเด็กเห็นแต่รูป รัฐธรรมนูญก็เป็นหนังสือ เวลาบ้านเมืองคับขัน จะเอาอะไรเป็นเครื่องยึดไม่ได้ ผมจึงให้ตามนายกรัฐมนตรี..." [22] ลัทธิเชื่อผู้นำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นี้ด้านหนึ่งทำให้ภาพประชาธิปไตยของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กลายเป็นเพียง "เงา" แห่ง "ความฝัน" [23] แล้ว อีกด้านหนึ่งมันยังคงดำเนินการบดขยี้ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของโครงสร้างทางชนชั้นแบบศักดินาต่อไปอย่างไม่ยั้งมือ เช่น การประกาศยกเลิกการใช้บรรดาศักดิ์แบบศักดินา โดยให้เหตุผลว่าในเมื่อบุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมายและฐานันดรศักดิ์มิอาจก่อให้เกิดเอกสิทธิ์แต่อย่างใดได้อีกต่อไปแล้ว จึงสมควรที่จะยกเลิกบรรดาศักดิ์ ที่ทำให้คนมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกันลงเสีย [24]

ยุคสมัยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยนี้เป็นยุคแห่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญสุดของประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งนี้เพราะ "...ประเทศไทยยังไม่มีประเพณี ระเบียบแบบแผนเหมือนอารยะประเทศทั้งหลาย อันประเพณีหรือขนบธรรมเนียมของชาติ เท่าที่สังเกตมารู้สึกว่าคนไทยยังละเลยอยู่มาก เช่น การแต่งกายก็ยังไม่มีระเบียบ มีนุ่งผ้าบ้าง กางเกงบ้าง ผ้าขาวม้าบ้าง กางเกงชั้นในบ้าง ฯลฯ เป็นเหตุให้ชาวต่างประเทศที่ได้พบเห็น นำไปพูดในทางที่ไม่ดี นอกจากนั้นการเที่ยวเตร่ การรับประทานอาหาร การหลับนอนก็ไม่มีกำหนด สำหรับการรับประทานอาหารนั้นเกือบตลอดทั้งวันทำให้เสียทรัพย์ และสุขภาพของคนเอง..." [25]

ดังนั้นเพื่อให้สมกับการเข้าสู่ระบอบใหม่อย่างแท้จริง จอมพล ป. จึงเร่งดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรมเสียงใหม่ โดยใช้ทั้งมาตราการ "ชักชวน" และ "บังคับ" [26] นับจากเดือนมิถุนายน พ.ศ.2482 ถึงเดือนมกราคม 2485 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกรัฐนิยมทั้งสิ้น 12 ฉบับ อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมไทยหลายประการ เช่น เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย เปลี่ยนเนื้อร้องและทำนองเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญบารมี นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้ประชาชนต้องเคารพธงชาติ รู้จักแบ่งเวลาปฏิบัติงานแต่ละวันให้เป็นสัดส่วน รู้จักออกกำลังกาย ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ฟังวิทยุกรมโฆษณาการ ซึ่งมีเพียงสถานีเดียวในขณะนั้น ฯลฯ

จอมพล ป. ยังได้มีหนังสือไปถึงคณะกรรมการจัดหวัดทุกจังหวัด และอธิบดีกรมตำรวจให้สอดส่องดูแลตักเตือนให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และแนวทางที่รัฐ รัฐบาลกำหนดขึ้นเกี่ยวกับการแต่งกายของประชาชน [27] วันที่ 14 กรกฎาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดงาน และมีการชักชวนให้ประชาชน ชักธงชาติขึ้นเสาตามข้อเสนอของหลวงวิจิตรวาทการ [28] ก่อนหรือหลังการฉายภาพยนตร์ทางโรงภาพยนตร์จะต้องเปิดเพลงมหาฤกษ์มหาชัย และให้ผู้ชมทุกคนยืนตรงเพื่อทำความเคารพรูปของท่านผู้นำ [29] ซึ่งต่อมาภายหลังถึงกับมีการแต่งเพลงประจำตัวของท่านผู้นำขึ้นชื่อเพลง "สดุดีพิบูลสงคราม" มีสง่า อารัมภีร์ เป็นผู้ประพันธ์ เนื้อร้อง และพระเจนดุริยางค์ เป็นผู้ใส่ทำนอง

"ไชโย วีรชนชาติไทย ตลอดสมัยที่ไทยมี
ประเทศไทย คงชาตรี ด้วยคนดีพยองไชย
ท่านผู้นำพิบูลสงคราม ขอเทอดนามให้เกริกไกร
ขอดำรงคงคู่ชาติไทย นำชาติให้ไพบูลย์เทอญ"

เพลง "สดุดีพิบูลสงคราม" นี้จะถูกเปิดทุกครั้งที่ท่านผู้นำปรากฏตัวต่อสาธารณชน หรือปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและตามโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ [30] ดังนั้นผู้ชมภาพยนตร์ในยุคนี้จึงถูกยัดเยียดให้ต้องเสพลัทธิเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยของรัฐไปพร้อม ๆ กับการแสวงหาความบันเทิงจากการชมภาพยนตร์ของเขา

ภาพยนตร์ขางเรื่องสร้างขึ้นเพื่อสนองตอบและขานรับนโยบายของรัฐอย่างชัดแจ้ง อย่างเช่นในช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพมหานครในปี พ.ศ.2485 ซึ่งผู้คนพากันด่ารัฐบาลท่านผู้นำจนแทบจะจมหายไปกับสายน้ำ รัฐบาลมิอาจแก้ไขอะไรได้ นอกจากปลอบใจประชาชนด้วยคำขวัญ "น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง" ศรีกรุงบริษัทสร้างภาพยนตร์คู่บุญรัฐบาลก็รีบทำหนัง "น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง" ออกมาปลอบใจประชาชนขานรับนโยบายรัฐบาลท่านผู้นำอย่างครื้นเครง

นโยบายที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งของยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยนี้ คือ "ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ" ดังที่ จอมพล ป. ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า "...ผมต้องการให้เดินนโยบายอย่างเข้มแข็ง มุ่งให้ชาติไทยได้เอกราชในทางเศรษฐกิจให้จงได้ ให้ไทยขายไทยซื้อ" [31]

โดยรัฐได้เข้าปลุกใจและส่งเสริมการประกอบอาชีพของพลเมือง ทางด้านกสิกรรม อุตสาหกรรม และพานิชยกรรม ที่เรียกกันสืบไปยุคนั้นว่า "นโยบายกอุพากรรม" การปฏิวัติทางวัฒนธรรมและอุดมการชาตินิยมของยุคสมัยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยนี้ ได้ไปไปรากฎบนจอใหญ่ของโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ เมื่อรัฐบาลได้ทุ่มทุนสร้างภาพยนตร์เกียรติยศยิ่งใหญ่ เรื่อง "บ้านไร่-นาเรา" โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นสื่อในการถ่ายทอดวัฒนธรรมใหม่และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวทางเศรษฐกิจแต่ประชาชนไทย โดยมีกองถ่ายภาพยนตร์ของกองทัพอากาศที่เพิ่งจะซื้อกิจการโรงถ่ายมาจากบริษัทไทยฟิล์มมาสด ๆ ร้อน ๆ เป็นผู้รับผิดชอบในการถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าว กองถ่ายทำภาพยนตร์ของกองทัพอากาศนี้ได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยผลิตภาพยนตร์โฆษณาของรัฐโดยเฉพาะ

ภาพยนตร์ "บ้านไร่-นาเรา" นี้ กาญจนาคพันธุ์ ผู้ประพันธ์เรื่องได้รับทอดความคิดและโครงเรื่องมาจากความประสงค์ของท่านผู้นำโดยตรง "บ้านไร่-นาเรา" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของชาวนาไทยที่มีความมุ่งมั่นบากบั่นในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมจนประสบความสำเร็จและมีความสุข ชาวนาไทยในภาพยนตร์เรื่องนี้ผู้สร้างจงใจที่จะให้แต่งกายผิดจากความเป็นจริงของชาวนาไทย คือ แต่งตัวทันสมัย ใส่ท๊อปปบู๊ต ทั้งนี้เนื่องจากท่านผู้นำต้องการที่จะยกฐานะของชาวนาให้สูงขึ้นตามแบบอย่างต่างประเทศ ซึ่งชาวนามีฐานะดีและเท่าเทียมอาชีพอื่น ๆ เรืออากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้แสดงนำฝ่ายชายและมีเพลงประกอบที่ผู้คนร้องกันอย่างติดปาก

"เรืองแสงทอง กระดึงก้องกริ๋งมา
เป็นสัญญาออกทุ่งนาจับทำงาน
ฟังเสียงกระดึง ดูผึ้งบินคลุกคลาน
กินน้ำหวานเก็บไปสร้างรังถาวร" [32]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางจากผู้ชม ซึ่งแน่นอนว่าสถานะของการเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพของภาพยนตร์ น่าจะทำให้เป้าหมายบางประการของรัฐไปบรรลุผล

 

สัมพันธ์มิตร V.S. อักษะ : ปรีดี V.S. พิบูล : พระเจ้าช้างเผือก V.S. รวมไทย

การใช้ยุทธวิธี "ขวาหัน" เข้าหาสถาบันทหารเพื่อเสริมอำนาจของรัฐบาลคณะราษฎร นับแต่กรณีกบฎบวรเดชเป็นต้นมาทำให้ฐานะและบทบาททางการเมืองของหลวงพิบูลสงครามโดยยังเกาะแน่นอยู่กับอาวุธและใช้อำนาจทางการทหารมาสนับสนุนอำนาจทางการเมืองของตนอีกทางหนึ่ง นั้นเป็นการปิดโอกาสทางการเมืองของนักการเมืองนอกเครื่องแบบ และโน้มนำให้การเมืองไทยเบี่ยงเบนออกจากลัทธิประชาธิปไตยไปสู่อำนาจนิยมมากขึ้น ปรากฏการณ์นี้ได้นำไปสู่ความไม่พอใจของนายปรีดี พนมยงค์และคณะที่ไม่เห็นด้วยกับแนวโน้มทางการเมืองเช่นนี้ จนเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าความเป็นมิตรระหว่างปรีดี

พนมยงค์กับหลวงพิบูลสงครามนั้นได้แปรผันไปสู่ความเป็นศัตรูกันอย่างสมบูรณ์แบบแล้วก่อนหน้าที่สงครามมหาเอเชียบูรพาจะคืบคลานเข้าสู่ประเทศไทย

บรรยากาศของสงครามระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายอักษะได้แปรความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างบุคคลทั้งสองไปเป็นความขัดแย้งในนโยบายระหว่างประเทศต่อสถานการณ์สงครามจอมพล ป. พิบูลสงคราม นำไทยเข้าร่วมวงไพบูลย์ในสงครามมหาเอเชียบูรพาข้างฝ่ายญี่ปุ่น ขณะที่นายปรีดี เข้าจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น แผ่นฟิล์มได้กลายเป็นสมรภูมิอีกแห่งหนึ่งของการต่อสู้ระหว่างแนวทางที่ต่างกันของสองมหาบุรุษ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เข้าบงการให้กรมสาธารณสุขและกรมรถไฟ ซึ่งมีช่างภาพและนักสร้างภาพยนตร์ฝีมือเยี่ยมสังกัดอยู่คือ หม่อมเจ้าศุกร์วรรณดิศ ดิศกุล แห่งกรมรถไฟ และนายฟื้น เพ็งเจริญ จากกรมสาธารณสุขร่วมกันผลิตภาพยนตร์สนองนโยบายทางทหารของท่านผู้นำเรื่อง "รวมไทย" อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการรบของทหารไทยกับทหารฝรั่งเศสเกี่ยวกับกรณีพิพาทไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ซึ่งฝ่ายไทยได้รับชัยชนะ อันเป็นการยืนยันความถูกต้องของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลท่านผู้นำ [33]

ภายหลังที่ญี่ปุ่น กรีฑาทัพเข้าแผ่นดินไทย ปลายปี พ.ศ.2484 และรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรในต้นปีถัดมา กองทัพฟิล์มของญี่ปุ่นได้เข้าหนุนช่วยงานโฆษณาบนแผ่นฟิล์มให้กับรัฐบาลไทยอีกหนึ่งแรง เช่นมีการส่งภาพยนตร์ประมวลข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยที่หน่วยภาพยนตร์ของญี่ปุ่นเป็นผู้บันทึกไว้ เกี่ยวกับการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส การเดินขบวนของราษฎร และภาพยนตร์การเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นของคณะฑูตไทย ซึ่งมีความยาวรวม 6 ม้วน ให้กับรัฐบาลไทยไว้สำหรับเผยแพร่ [34] มีการส่งช่างภาพเข้ามาร่วมบันทึกภาพงานฉลองรัฐธรรมนูญของไทยในปี 2486 [35] และรัฐบาลญี่ปุ่นยังสนับสนุนให้บริษัท เองะไฮคิวชะ เข้ามาบุกตลาดภาพยนตร์ไทย โดยนำเอาภาพยนตร์โฆษณาลัทธิบูชิโด เข้ามาฉายเผยแพร่ตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ

ก่อนที่จะตกจากเวทีการเมือง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้กองภาพยนตร์ทหารอากาศสร้างภาพยนตร์ต่อต้านฝ่ายสัมพันธมิตร เรื่อง "นักบินกลางคืน" แต่ทว่ายังมิทันสร้างเสร็จ จอบพล ป. ก็มีอันตกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเสียก่อน โครงการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวต้องยุติไปโดยปริยาย

ทางฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ก็จัดตั้งบริษัทภาพยนตร์ของตนขึ้นมาบริษัทหนึ่งให้ชื่อว่า ปรีดีโปรดักชั่น ดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" ด้วยระบบมาตรฐาน 35 ม.ม. เสียงในฟิล์มเป็นภาษาอังกฤษ โดยนายปรีดี เป็นผู้เขียนบทประพันธ์เอง อาจารย์ชาญ เกษตรศิริ ได้เขียนถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "หนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกน่าจะถือได้ว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นความคิดทางการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศของผู้อำนวยการสร้างเป็นอย่างดี ความคิดนี้คงจะเป็นเรื่องตอนก่อนสงครามมหาเอเซียบูรพา และก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุกประเทศไทยในระยะนี้ลัทธิทหารฟาสซิสต์กำลังเฟื่องฟูทั้งในเยอรมนี ญี่ปุ่น และไทย หนังเรื่องนี้เนื่องจากมีทำนองเรียกร้องสันติภาพ ฉะนั้นจึงคล้ายกับเป็นการต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์และการทำสงครามของฝ่ายอักษะไปในตัว อาจจะคล้ายเป็นคำเรียกร้องให้คนดูมีความโน้มน้าวไปในทางที่จะต่อต้านสงคราม พยายามแนะแนวทางและความหมายของสันติภาพ" [36]

นายปรีดีเคยแสดงทัศนะอันตระหนักถึงบทบาทางอุดมการของศิลปะไว้ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ.2478 ว่า "...ศิลปะเป็นของสำคัญของชาติ เพราะว่าศิลปะของชาติเป็นเครื่องชักจูงประชาชนให้รักชาติ และภูมิใจในเกียรติยศแห่งชาติของตน นี้เป็นผลในทางการภายในส่วนผลในทางภายนอกนั้นศิลปะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้รับความนิยมของนานาชาติ จะทำให้ต่างประเทศแลเห็นชัดว่าเรามิใช่แต่ป่าเถื่อน เรามีอารยธรรมและวัฒนธรรม เรายิ่งได้มีโอกาสเผยแพร่ศิลปะของชาติออกไปมากเท่าใด เราก็ยิ่งได้รับความนับถือในหมู่นานาชาติยิ่งขึ้นเพียงนั้น" [37]

นายปรีดี ตั้งใจที่จะนำภาพยนตร์ชุดนี้ออกฉายเผยแพร่ทั่วโลก จึงได้ใช้บทสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ ภาพยนตร์เข้าฉายในเมืองไทย ณ โรงภาพยนตร์เครือศาลาเฉลิมกรุง โดยมีทิดเขียว นักพากย์นามกระเดื่องแห่งยุคเป็นผู้พากย์ภาษาไทย ทว่าภาพยนตร์ฉายได้ไม่กี่วันไฟสงครามโลกก็ลุกลามเข้าสู่ประเทศไทย ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกจึงกลายเป็นหนังต้องห้ามเมื่อรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศเข้าร่วมสงครามฝ่ายญี่ปุ่น

 

อ้างอิง:

  1. กาญจนาคพันธุ์ ยุคเพลงหนังและละครในอดีต (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เรืองศิลป์, 2519) หน้า 127-139.
  2. หจช. สร.0201 .53/1 เรื่อง เบ็ดเตล็ดเกี่ยวด้วยภาพยนตร์และสำนักงานโฆษณา (กรมโฆษณาการ) (24 มิถุนายน 2475-10 พฤศจิกายน 2477) หน้า 7
  3. กาญจนาคพันธุ์ ยุคเพลงหนังและละครในอดีต, หน้า 130
  4. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต เอกสารการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพ, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศ, 2518) หน้า 209-211
  5. พ.ต.ท.วิฑูรย์ สุทธวิชัย ประวัติรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรก พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน (กรุงเทพ: พิมพ์ไทยการพิมพ์, 2516) หน้า 93
  6. ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพ: หจช. ช. ชุมนุมช่าง, 2517) หน้า 56-57.
  7. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล "ปฏิบัติการทางการเมืองของคณะราษฎร" ในสำนักวิจัยและพัฒนา และคณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยเกริก คณะราษฎรในประวัติศาสตร์ไทย(เอกสารประกอบการสัมมนา วิทยาลัยเกริก 9-10 พฤษภาคม พ.
  8. เมื่อแรกตั้งมีฐานะเป็นกองโฆษณาการ ต่อมาปลายปี 2476 เปลี่ยนเป็นสำนักงานโฆษณาการ ปี พ.ศ.2482 จึงเป็นกรมโฆษณาการ
  9. หจช. สร.0201 .53/2 เรื่อง ทำภาพยนตร์เสียง พิธีพระราชทานและงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2475 (19 ธันวาคม - 18 กุมภาพันธ์ 2475)
  10. หจช. สร.0201 .53/1 เบ็ดเตล็ดเกี่ยวด้วยการภาพยนตร์ของสำนักงานโฆษณา (กรมโฆษณาการ) (24 มิถุนายน 2475-10 พฤศจิกายน 2477) หน้า 1-4
  11. เรื่องเดียวกัน, หน้า 9
  12. ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 24 มิถุนา เคยเป็นและเลิกเป็นวันชาติได้อย่างไร http://www.crma.ac.th/histdept/archives/viewpoint/thai-02-09-03.htm
  13. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล "ปฏิบัติการทางการเมืองคณะราษฎร", หน้า
  14. อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ "คณะราษฎรกับการเปลี่ยนแปลงสังคม: ด้านการทหาร" ในเรื่องเดียวกัน หน้า
  15. หจช. สร.0201 .53/7 เรื่อง สำนักงานโฆษณาการขอให้บริษัทสหศินิมาถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่อง การปราบกบฎ พงศ.2476 (26 ธันวาคม 2476-19 กรกฎาคม 2477)
  16. หจช. สร.0201 .53/13 เรื่อง บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง นายมานิต วสุวัตร หัวหอกสำคัญของบริษัทยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 1 ในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของประเทศไทยด้วย
  17. ดู กาญจนาคพันธุ์ ยุคเพลงหนังและละครในอดีต, หน้า 59-71
  18. เรื่องเดียวกัน, หน้า 200
  19. การเปลี่ยนแปลงในวงการวรรณกรรม ดู ตรีศิลป์ บุญขจร นวนิยายกับสังคมไทย (2475-2500) และเสถียร จันทิมาธร สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เจ้าพระยา, 2525)
  20. ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์ "ความล้ำลึกของน้ำเน่าในหนังไทย" ในชมรมหนังไทยและศูนย์สังคีตศิลป์ 85 ปี ภาพยนตร์ในเมืองไทย 2525, ไม่ปรากฏเลขหน้า
  21. จากการสนทนากับคุณโดม สุขวงศ์ ณ หอภาพยนตร์แห่งชาติ ถนนเจ้าห้า 16 มกราคม 2531
  22. กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี, ครั้งที่ 20/2485, 25 เมษายน 2485 อ้างถึงใน ประชัน รักพงษ์ "การศึกษาบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาของรัฐบาลทหาร และรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย พ.ศ.2481-2500 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2520
  23. เสถียร จันทิมาธร "สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย" (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เจ้าพระยา, 2525) หน้า 192
  24. ดู "พระบรมราชโองการเรื่องการยกเลิกบรรดาศักดิ์" ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 59 (19 พฤษภาคม 2485) หน้า 1089 ต่อมาภายหลังที่จอมพล ป. พิบูลสงครามตกจากเวทีการเมืองเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487 แล้ว นายควง อภัยวงศ์ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้กฎหมายดังกล่าวเป็นโมฆะ ดู "พระบรมราชโองการให้คำประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์เป็นโมฆะ" ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 62 (23 มกราคม 2488) หน้า 126
  25. รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี, วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2482
  26. ดู นามว่า "นิมิตร" "บทบาทคณะราษฎรทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม" ในคณะราษฎรในประวัติศาสตร์ไทย หน้า 12-19
  27. ดู สังข์ พัธโนทัย, ความนึกในกรงขัง, (พระนคร: บริษัทประสารชัยสิทธิ, 2499) หน้า 243-244
  28. ดู รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 33/2485 วันที่ 1 กรกฎาคม 2485
  29. ดู ศรีกรุง วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2485
  30. สง่า อารัมภีร์ "ท่านเป็น-ครูพักลักจำ-ของผม ท่านขุนวิจิตมาตรา หรือท่าน ส. กาญจนาคพันธุ์", หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ (สง่า กาญจนาคพันธุ์" 80 ปี ในชีวิตของข้าพเจ้า" ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม พฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2523 (มปท. มปป.) หน้า 459.
  31. กระทรวงมหาดไทย รายงานการประชุมข้าหลวงประจำจังหวัด พ.ศ.2484 เล่ม 1 (มปท. มปป.) หน้า 42 อ้างใน แถมสุข นุ่มนนท์ "จอมพล ป. พิบูลสงครามกับการสร้างชาติไทย" ใน แถมสุข นุ่มนนท์ ฟื้นอดีต (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เรืองศิลป์, พ.ศ.2522) หน้า 136.
  32. มานพ อุดมเดช. "ภาพยนตร์ไทยกับสังคมไทย" ในสังคมพัฒนา ป.8 ฉ.4 กันยายน-ตุลาคม 2523
  33. ดู ใบปลิว ภาพยนตร์เกียรติประวัติของชาติไทย คือ "รวมไทย" (พระนคร: บ.การพิมพ์ไทย จำกัด 2484)
  34. หจช. สร.0201 .53/1 เรื่อง ฟิล์มภาพยนตร์ประมวลข่าวประเทศไทย (26 พฤศจิกายน 2485-30 พฤศจิกายน 2486)
  35. หจช. สร.0201 .53/16 เรื่อง ญี่ปุ่นจอถ่ายภาพข่าว ฯลฯ
  36. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ "หนังไทยเมื่อ 30 ปีก่อน พระเจ้าช้างเผือก" ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 2515 หน้า 76
  37. หจช. ศร.0701.48/2 เรื่อง แถลงการณ์แก้ข่าวหนังสือพิมพ์ (พ.ศ. 2477-2479)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท