ASEAN Weekly: มองยุทธภูมิอุษาคเนย์ จากอดีตถึงอนาคต

ASEAN Weekly โดยสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช สัปดาห์นี้ ช่วงแรก ติดตามการเยือนยุโรป 5 ประเทศของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ที่ยังเดินทางไปออสโล ประเทศนอร์เวย์ เพื่อรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ รางวัลที่เธอได้รับเมื่อ 21 ปีที่แล้ว แต่ไม่มีโอกาสไปรับด้วยตัวเองเนื่องจากขณะนั้นถูกรัฐบาลทหารพม่ากักบริเวณ ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวอาระกันและชาวโรฮิงยา ที่รัฐอาระกัน ประเทศพม่า ยังคงดำเนินต่อไป มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตและเกิดผู้อพยพมากขึ้น ขณะที่หลายฝ่ายก็วิจารณ์กรณีที่นางออง ซาน ซูจี พูดถึงเรื่องความขัดแย้งในรัฐอาระกันได้อย่างไม่เต็มปาก

ขณะที่มาเลเซีย จีนได้ทำข้อตกลงกับมาเลเซียว่าจะส่งแพนด้า 1 คู่ เพื่อฉลองความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศครบ 40 ปี ในด้านหนึ่งสะท้อนการทูตเชิงวัฒนธรรมเพื่อแผ่อิทธิพลเชิงลึกของจีน ขณะที่อีกด้านหนึ่งนาจิป ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้จัดให้มีการประกวดตั้งชื่อแพนด้าทางเฟซบุค ทำให้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในมาเลเซียล้อเลียนด้วยการเสนอชื่อที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล เช่น "เบอร์เซะ" (Bersih) ซึ่งเป็นขบวนการเรียกร้องการปฏิรูป "หยุดไลนาส" (Stop-Lynas) ซึ่งเป็นการรณรงค์ต่อต้านบริษัทออสเตรเลียที่จะตั้งโรงงานถลุงธาตุโลหะหายากในภาคตะวันออกของมาเลเซีย ขณะที่บางคนเสนอชื่อ "อัลตันตูยา" (Altantuya) สตรีมองโกเลีย ที่ถูกฆาตกรรมในมาเลเซียเมื่อปี 2549 และผู้ต้องสงสัยเป็นอดีตคนสนิทของนายกรัฐมนตรีและได้รับการตัดสินให้พ้นผิด 

ส่งท้ายช่วงแรกด้วยข่าวที่ทางการเวียดนามปฏิเสธการให้เอกชนเข้ามาดำเนินธุรกิจสื่อ ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยอมให้เอกชนเข้ามาทำธุรกิจสื่อมวลชนแล้ว

 

ช่วงที่ 2 ของรายการ ติดตามข่าวการประชุมว่าด้วยเรื่องความมั่นคง หรือ "Shangri-La dialogue" จัดโดยสถานบันศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติ (IISS) ของอังกฤษ ซึ่งปีนี้จัดที่สิงคโปร์ของชาติในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งงานนี้สหรัฐอเมริกาส่งรัฐมนตรีกลาโหมเข้าร่วมด้วย สะท้อนความต้องการเข้ามาช่วงชิงบทบาทในภูมิภาคนี้จากจีนอีกครั้ง

ขณะที่ดุลยภาค ปรีชารัชช ชวนคุยเรื่องจุดภูมิยุทธศาสตร์ (Geostrategy) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความสำคัญด้านความมั่นคงต่อทั้งประเทศในภูมิภาค และประเทศมหาอำนาจในโลก เริ่มจากสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อังกฤษบุกเบิกแม่น้ำอิระวดีในพม่า เพื่อใช้เป็นเส้นทางการค้ากับจีนตอนใต้ ขณะที่ฝรั่งเศสซึ่งครอบครองอินโดจีน พยายามบุกเบิกแม่น้ำโขงบ้าง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากมีเกาะกลางแม่น้ำโขงจำนวนมาก รวมทั้งแก่งหลี่ผี 

จุดภูมิยุทธศาสตร์ ต่อมาช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นเปิดยุทธการขับไล่กองทัพอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งสะท้อนความสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยญี่ปุ่นต้องการเดินทัพผ่านประเทศไทยเข้าสู่พม่าและอินเดียซึ่งขณะนั้นปกครองโดยอังกฤษ ขณะที่ "Burma road" ถนนที่ตัดสมัยอังกฤษปกครองพม่าจากรัฐฉาน ผ่านรัฐคะฉิ่นของพม่าเข้าสู่ชายแดนจีน และถนน "Ledo Road" หรือ "Stilwell Road" ที่เพิ่งตัดโดยญี่ปุ่น โดยตัดจากถนน Burma Road ช่วงรัฐคะฉิ่นเพื่อเข้าสู่รัฐอัสสัมของอินเดียนั้น ถนนทั้ง 2 เส้นนี้ ตกเป็นสมรภูมิสำคัญเมื่อฝ่ายกองทัพสัมพันธมิตรเปิดศึกเพื่อชิงการควบคุมเส้นทางดังกล่าว จากกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

นอกจากนี้คำว่า "Southeast Asia" ก็ใช้เรียกภูมิภาคนี้เป็นครั้งแรกเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตั้งกองบัญชาการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นหรือ "South East Asia Command" ที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกาด้วย

ขณะที่ในศตวรรษที่ 21 ต้องจับตาพื้นที่ซึ่งมหาอำนาจจะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาค และพื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อความขัดแย้ง โดยในส่วนพื้นฝั่งภาคพื้นทวีปนอกจากรัฐอาระกัน ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมแล้ว ยังมีรัฐฉานซึ่งคาดหมายว่ามีแร่ยูเรเนียม นอกจากนี้เขตแดนไทยกับพม่าด้านทิศเหนือที่ยังไม่มีการปักปัน ในอนาคตก็เสี่ยงที่จะขัดแย้งกัน เช่นเดียวกับพื้นที่ด้านเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา รวมทั้งปราสาทพระวิหาร และเรื่องการขีดเส้นพรมแดนทางทะเลในอ่าวไทยที่มีการทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชาด้วย

ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฝั่งที่เป็นทะเล บริเวณช่องแคบมะละกา นอกจากจีนและสหรัฐอเมริกาแล้ว นักวิชาการด้านความมั่นคงของอินเดียเองก็พิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวมีรูปทรงเหมือนปากจระเข้หากชาติมหาอำนาจใดมีอิทธิพล ก็จะเป็นภัยคุกคามอินเดียในอ่าวเบงกอล นอกจากนี้จุดภูมิยุทธศาสตร์ที่สำคัญอื่นๆ เช่น บริเวณช่องแคบซุนดา และช่องแคบลอมบอกในอินโดนีเซีย และหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ต่างๆ ก็เป็นจุดที่อาจเกิดความขัดแย้ง และทำให้มหาอำนาจเข้ามามีบทบาทในภูมิภาค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท