Skip to main content
sharethis

"สารี อ๋องสมหวัง" นำกลุ่มองค์กรผู้บริโภค ยื่นหนังสือประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องตรวจสอบ กสท.ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และอาจจะเข้าข่ายการละเลย จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค ยกเว้น กสทช.สุภิญญา

ภาพจาก: http://www.consumerthai.org
 

วันนี้ 21 มิ.ย.55 สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำโดยสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะ ขอให้ตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และอาจจะเข้าข่ายการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของ กสท.จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค โดยยกเว้นนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

 
ในความจดหมายระบุรายละเอียด ดังนี้
 
 
เรื่อง  ขอให้ตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และอาจจะเข้าข่ายการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของกสท.จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค (ยกเว้นนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์)  
 
เรียน  ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะ
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย  สำเนาหนังสือของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๕
            และวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕
                 
ตามที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคจำนวน ๓๐๒ องค์กร ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติโดยเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถดูการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร โดยขอให้มีคำสั่งทางปกครองกับช่อง ๓, ๕ และ ๙ บริษัทแกรมมี่ ตรวจสอบการดำเนินการของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้เกิดการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจากบริษัททรู
 
แต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐ ล้านครัวเรือน และอาจจะเข้าข่ายการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของ กสท. ยกเว้นนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ที่เป็นกรรมการ กสท. เสียงข้างน้อยที่สนับสุนนการดำเนินการตามมติของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและได้สงวนความเห็นเสียงข้างน้อยไว้ ซึ่งการไม่ดำเนินการดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายการไม่ปฏิบัติหน้าที่ หลายประการดังนี้
 
๑.      การดำเนินการของ กสท. อาจจะถือเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๗ ที่ระบุว่าในการให้บริการสื่อสาธารณะนั้น จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของชาติ ประโยชน์สาธารณะอื่นๆ และการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม
 
๒.      การไม่ดำเนินการกับสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๓, ๕ และ ๙ ที่อาจจะเข้าข่ายละเลยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๒๗ (๑๓) ให้กสท. คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
 
๓.      อาจจะเข้าข่ายละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๑ วรรคสองต่อบริษัทแกรมมี่ “ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมดำเนินการใดๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดตามหลักเกณฑ์ที่กสทช.กำหนด ให้กสทช.มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้
 
๔.     รวมทั้งสามารถมีคำสั่งให้ฟรีทีวี ช่อง ๓, ๕ และ ๙ ระงับการดำเนินการในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยให้ทำการแพร่ภาพและเสียงรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒ ผ่านระบบการส่งทางภาคพื้นดินและทางอากาศโดยผ่านระบบจานรับสัญญาณดาวเทียมหรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับชมผ่านการรับสัญญาณทุกประเภทตามที่เคยปฏิบัติ โดยด่วนที่สุด
 
๕.     อาจจะเข้าข่ายการละเลยและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ในการออกคำสั่งทางปกครองกับช่อง ๓, ๕ และ ๙ ในฐานะผู้มีสิทธิประกอบกิจการ เมื่อสถานีฯ ดังกล่าว หยุดให้บริการสาธารณะในบางช่องทางที่ดำเนินการอยู่ตามปกติ ในบางช่วงเวลาหรือมีการออกอากาศเพียงบางช่องทาง จึงเป็นการขัดต่อแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งอาจขัดต่อมาตรา ๒๗ (๑๓) ในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือแม้แต่ กสทช. จะยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำผังรายการสำหรับใบอนุญาตแต่ละประเภทไว้ก็ตาม แต่การที่ผู้ประกอบกิจการจะเปลี่ยนแปลงผังรายการจากเดิมก็จะต้องแจ้งให้ กสทช. พิจารณาก่อนตามมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒ เป็นการเปลี่ยนแปลงผังรายการจากผังรายการเดิมของสถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง ๓, ๕ และ ๙ ซึ่งได้มีข้อตกลงกับบริษัทในเครือแกรมมี่ล่วงหน้าเป็นเวลานาน
 
๖.      อาจจะเข้าข่ายการละเลยหรือยกเว้นการดำเนินการตามมาตรา๓๒ ต่อการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ ให้หมายรวมถึงการถือครองธุรกิจในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกันในการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ติดตั้งเป็นพิเศษเพื่อรับสัญญาณเสียงหรือภาพในลักษณะที่กีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
 
๗.     อาจจะละเลยการตรวจสอบอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในการตรวจสอบผู้รับใบอนุญาต คือการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) หากไม่มีการขออนุญาต เนื่องจากร่วมมือกับเอกชนในการส่งและตัดสัญญาณ ทำให้เอกชนบางรายได้ประโยชน์ และทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงบริการฟรีทีวีในครั้งนี้ อาจเข้าข่ายสมคบกระทำความผิดด้วย
 
ในการนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ๓๐๒ องค์กร จึงได้เรียนมายังท่านและคณะ ให้ดำเนินการตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัด และอาจจะเข้าข่ายการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของ กสท. (ยกเว้นนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์) จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนมากและกว้างขวางทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับบริการสาธารณะอย่างทั่วถึงจากฟรีทีวีในการถ่ายทดสดฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net