Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ขณะประเทศยุโรปตะวันออกหรือค่ายคอมมิวนิสต์กำลังถึงกาลล่มสลายในช่วงปี 1989 นั้น ฟรานซิส ฟูกุยามา นักรัฐศาสตร์ผู้เคยประกาศตนว่า เป็นพวกนวอนุรักษ์นิยมใหม่ก็ไม่รอช้าในการประกาศถึง "การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์" (End of History) ลงในบทความของเขาว่า ประวัติศาสตร์ที่จะเป็นจุดสุดท้ายหรือขั้นสุดยอดของมนุษยชาติหาได้ใช่โลกคอมมิวนิสต์ตามคำทำนายของคาร์ล มาร์กซ์ไม่ แต่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy) ฟูกุยามาได้ตอกย้ำแนวคิดเช่นนี้ของเขาหลังจากสหภาพโซเวียตปราศนาการจากแผนที่โลกในปี 1991 โดยขยายบทความเดิมเป็นหนังสือที่ชื่อ The End of History and the Last Man (1992)

แม้คำทำนายของฟูกุยามาจะดูลึกซึ้ง และเป็นอากาลิโก (เหนือเวลา) แต่ดูเหมือนเขาจะไม่สามารถพ้นข้ามปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของรัสเซียในยุคหลังคอมมิวนิสต์ไปได้ ถึงแม้ว่าสหภาพโซเวียตจะล่มสลายกลายเป็นประเทศใหญ่เล็กไปกว่า 15 รัฐ แต่รัสเซียยังคงเป็นรัฐที่ใหญ่ มีพลเมืองมากกว่า 140 ล้านคนพร้อมกับมรดกทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับจากสหภาพโซเวียตเก่า ที่สำคัญกำลังทหารและอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ยังคงมีศักยภาพที่น่าสะพึงกลัวต่อตะวันตกไม่ใช่น้อย สิ่งหนึ่งที่อเมริกาในยุคของบิล คลินตันหวาดหวั่นคือภาวะการไร้ขื่อไร้แปรของรัสเซียย่อมส่งผลต่อระเบียบโลกยุคใหม่อย่างมาก

รัสเซียในทศวรรษที่ 90 ถูกผลักดันโดยบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีขี้เมาซึ่งมีแนวโน้มปกครองประเทศแบบเผด็จการ การเปลี่ยนแปลงประเทศยักษ์ใหญ่ที่คุ้นเคยกับระบอบสังคมนิยมมาสู่ทุนนิยมถือได้ว่าเป็นภาระอันหนักหน่วงสำหรับรัฐบาลใหม่ ความล้มเหลวประการหนึ่งของรัสเซียยุคเยลต์ซินคือการที่ความร่ำรวย มั่งคั่งตกไปอยู่ภายใต้มือของคนหนุ่มจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่ในแวดวงของท่านประธานาธิบดี ดังที่เรียกว่ากลุ่มคณาธิปไตยหรือ Oligarchy การเมืองรัสเซียเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎรบังหลวง ถึงแม้รัสเซียจะเป็นลูกหนี้รายใหญ่ขององค์กรการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เศรษฐกิจรัสเซียกลับตกต่ำมีอัตราเงินเฟ้อสูง สังคมรัสเซียเต็มไปด้วยคนตกงานกับปัญหายาเสพติดและโสเภณี โดยที่รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้มากนัก

ปัจจัยเช่นนี้ย่อมส่งผลถึงทัศนคติของชาวรัสเซียต่อประเทศของตนในอดีตอย่างมาก มีชาวรัสเซียไม่น้อยที่มองอดีตสหภาพโซเวียตว่ามีความรุ่งโรจน์ ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะในยุคของสตาลินและมุมมองเช่นนี้ก็ได้ส่งผลต่อความนิยมต่อผู้นำคนที่สืบต่อจากเยลต์ซินคือวลาดิเมีย ปูตินในฐานะบุรุษเหล็กผู้มากู้ชาติเหมือนสตาลิน (ซึ่งปูตินพยายามสร้างภาพพจน์ให้มีความคล้ายคลึง) รวมไปถึงนโยบายทางการประเทศของรัสเซียซึ่งมีความก้าวร้าวและการพยายามกลับเข้าไปมีอิทธิพลเหนือดินแดนที่เคยเป็นของสหภาพโซเวียตเก่ามากขึ้น

ก่อนจะมาเป็นนักการเมือง ปูตินเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของรัสเซียหรือเคจีบี เขาเคยประจำการอยู่ที่เมืองเดรสเดนขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ของเยอรมันตะวันออกถึงกาลอวสาน การได้แลเห็นอวสานของโลกคอมมิวนิสต์และการที่รัสเซียถูกลดชั้นเป็นประเทศมหาอำนาจระดับล่างๆ ตกเป็นลูกไล่ของอเมริกาช่วยตอกย้ำทัศนคติของผู้นำของรัสเซียคนนี้ว่าสงครามเย็นไม่ควรสิ้นสุดเป็นอันขาด (ไปพร้อมๆ กับความคิดที่จะนำอเมริกาเป็นเจ้าโลกอีกครั้งของบุชในยุคหลัง 9/11)

ตัวอย่างที่สะท้อนมุมมองของรัสเซียได้แก่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือ NATOนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียกับนาโตลงนามเป็นพันธมิตรกัน แต่เมื่อนาโตใช้อาวุธโจมตียูโกสลาเวียในปี 1999 ด้วยข้อหาสังหารชาวอัลบาเนียในโคโซโว ทำให้รัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรกับยูโกสลาเวียไม่พอใจจึงระงับความสัมพันธ์กับนาโต ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ในภาวะเลวร้ายขึ้นไปอีก

เมื่อจอร์จ ดับเบิลยู บุชึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2001 ถึงแม้สงครามต้านก่อการร้าย(War on Terror) ของบุชจะได้รับการตอบรับจากปูตินเพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมในการบดขยี้ฝ่ายขบถ แบ่งแยกดินแดนชื่อในเชชเนีย แต่การที่บุชติดตั้งระบบการป้องกันขีปนาวุธในโปแลนด์และเช็คซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลเก่าของรัสเซียด้วยข้ออ้างว่าต้องการป้องกันการโจมตีจากอิหร่านทำให้เครมลินตื่นตะหนกว่าอเมริกากลายเป็นภัยคุมคามต่อความมั่นคงของตน เช่นเดียวกับรัฐที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตคือยูเครนและจอร์เจียล้วนมีความพยายามจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การนาโต (ตามสายตาของรัสเซียคือการเข้าไปเป็นลูกน้องของอเมริกา) โดยได้รับการสนับสนุนจากบุช ผู้นำของทั้งสองประเทศยังแบ่งเป็น 2 กลุ่มในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันคือกลุ่มหนึ่งต้องการพึ่งตะวันตก อีกกลุ่มหนึ่งต้องการพึ่งรัสเซีย

ในปี 2008 จอร์เจียประสบปัญหารัฐที่ต้องการแยกตัวคือเซาว์ โอเซทเทียและอับคาเซียซึ่งหันไปขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย รัฐบาลของจอร์เจียส่งกองกำลังเข้าโจมตีเซาท์ โอเซทเทีย ทำให้รัสเซียและอับคราเซียส่งกำลังเข้าช่วยเซาท์ โอเซทเทียกลายเป็นสงครามย่อยๆ รัสเซียได้ให้การยอมรับต่อรัฐทั้ง 2 และความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตกก็เสื่อมทรามลงอีก

คำทำนายของฟูกุยามาเมื่อ 2 ทศวรรษก่อนยังดูกลายเป็นเรื่องขำขันไป ถึงแม้กระแสระบบทุนนิยมก็แพร่ไปทั่วโลกแต่ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศจำนวนมากเป็นประชาธิปไตยเสมอไปอย่างเช่น จีนซึ่งอเมริกาสนับสนุนให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ด้วยความหวังว่าเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมจะทำให้จีนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่การณ์กลับตรงกันข้าม สำหรับรัสเซียนั้นเมื่อทศวรรษที่ 90 เน้นตลาดเสรี เมื่อปูตินก้าวขึ้นมามีอำนาจ เขาใช้กลไกอำนาจของรัฐในการเข้ายึดทรัพย์ของพวกเศรษฐีใหม่ที่รวยในยุคของเยลต์ซิน หลายคนต้องหนีไปต่างประเทศ แต่บางคนโชคร้ายติดคุกเช่นนายมิคเคล โครดอคอฟสกีประธานบริษัทยูคอสด้วยข้อหาทั้งหนีภาษี การฟอกเงิน ถึงแม้รัสเซียจะมีรูปแบบเป็นทางการคือประชาธิปไตย แต่ในเนื้อหาการปกครองยุคปูตินมักถูกสื่อตะวันตกโจมตีว่าเป็นเผด็จการไม่เปิดพื้นที่ให้ประชาสังคมได้แสดงความคิดเห็นมากนัก (2)

แต่แล้วปูตินจำใจต้องลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008 ตามรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้กับดมีตรี เมดเวเดฟผู้ตกอยู่ใต้อำนาจแต่มีหัวเสรีนิยม ส่วนตัวเองไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อรอเวลากลับมาอย่างอดทน ประจวบกับเวลาที่อเมริกาได้ประธานาธิบดีสีผิวคนแรกในประวัติศาสตร์คือบารัก โอบามาที่ต้องรื้อถอนมรดกในทุกด้านของยุคบุชที่คนอเมริกันไม่ชื่นชอบ เช่นการระงับโครงการต่อต้านขีปนาวุธในยุโรปตะวันออก ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

แต่ปรากฎการณ์อีกประการหนึ่งที่ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกาและรัสเซียคือการประท้วงครั้งใหญ่ในกลุ่มประเทศอาหรับ (Arab spring) โดยเฉพาะความวุ่นวายทางการเมืองในลิเบียที่อเมริกาและนาโตแสดงตนอย่างชัดเจนในการสนับสนุนกำลังอาวุธแก่ฝ่ายขบถ เมื่อสหประชาชาติต้องการห้ามกำหนดพื้นที่ห้ามบิน (No-fly Zone) ไม่ให้รัฐบาลของโมอัมมา กัดดาฟีส่งเครื่องบินเข้าโจมตีฝ่ายประท้วงในเดือนมีนาคม ปี 2011 โดยผ่านมติของสภาความมั่นคงอย่างท่วมท้นแต่รัสเซียกับจีน (รวมถึงเยอรมัน บราซิลและอินเดีย)งดออกเสียง

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการสังหารพลเรือนอย่างโหดเหี้ยมของซีเรียซึ่งยังคงดำเนินจนมาถึงปัจจุบัน จีนและรัสเซียในยุคที่ปูตินกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งได้แสดงการสนับสนุนรัฐบาลของ บัชชาร อัลอะซัดอย่างโจ่งแจ้ง เช่นไม่ยอมลงมติให้สหประชาชาติในการประนามรัฐบาลซีเรีย และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง กระนั้นแม้อเมริกาและนาโตจะแทรกแซงทางทหารเหมือนลิเบียก็อาจทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปเพราะซีเรียอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองเหมือนสเปนในทศวรรษที่ 30 (3)เพราะอัลอะซัดจะได้อาวุธและกำลังทหารสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย ทั้งนี้สื่อตะวันตกชี้ว่าเกิดจากทั้งรัสเซียและจีนมีผลประโยชน์กับซีเรียอยู่ไม่น้อย รัสเซียเป็นประเทศที่ขายอาวุธรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งให้กับซีเรีย และจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสามให้กับซีเรีย ทั้งจีนและรัสเซียเองก็มีประวัติในการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่มาก (4)

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ได้แสดงถึงการไม่ไว้วางใจ การชิงไหวชิงพริบ แย่งชิงอำนาจ รอบใหม่ระหว่างอเมริกาและรัสเซีย 2 ประเทศมหาอำนาจที่ไม่ได้มีอุดมการณ์เหมือนสงครามเย็นครั้งแรกแต่มีประเทศหุ่นเชิด (Proxy state) ที่ไม่สามารถสังกัดค่ายได้ชัดเจนนักอยู่เต็มไปหมด (5) ที่น่ากลัวกว่านั้นรัสเซียได้พันธมิตรใหม่ซึ่งน่ากลัวสำหรับอเมริกามากคือจีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของอเมริกา

สำหรับจีนและรัสเซียมีความสัมพันธ์อันดีโดยการร่วมก่อตั้งองค์การการร่วมมือกันแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) ตั้งแต่ปี 1996 ถึงแม้ความสัมพันธ์อาจจะไม่ลึกซึ้งนักแต่ก็แตกต่างจากสงครามเย็นครั้งแรกที่จีนมีความขัดแย้งกับโซเวียตอย่างรุนแรงและหันไปมีความสัมพันธ์อันดีกับอเมริกาในยุคของนิกสันเมื่อทศวรรษที่ 70 ทำให้ค่ายประเทศคอมมิวนิสต์ขาดความเป็นเอกภาพและต้องล่มสลายไปในที่สุด แต่ในปัจจุบันความสัมพันธ์ของอเมริกาและจีนเป็นไปในเชิงแข่งขันกันมากว่าจะร่วมมือกัน อเมริกากำลังวางแผนจะโอบล้อมจีนผ่านการเข้ามามีอิทธิพลในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ถ้าจะให้กล่าวให้ถูกกว่านี้สงครามเย็นจึงอยู่ในรูปแบบ

อเมริกา + ตะวันตก  VS  รัสเซีย + จีน

สงครามเย็นในรูปแบบใหม่นี้เป็นปรากฎการณ์ที่จับตาดูอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับชะตากรรมของกลุ่มประเทศที่ใช้ค่าเงินยูโร

 

เชิงอรรถ
(1) ชื่อนี้ไม่ได้ถูกเรียกเป็นครั้งแรกเพราะมีคนเรียกชื่อนี้กับยุคของโรนัลด์ เรแกนในทศวรรษที่ 80 ที่เขาหันมาวางนโยบายแข็งกร้าวกับโลกคอมมิวนิสต์อีกครั้งหลังจากทั้งอเมริกาและโซเวียตอยู่ในภาวะผ่อนปรนต่อกัน (Detente) ในทศวรรษที่ 70

(2) รัสเซียมีการปกครองเป็นทางการว่าประชาธิปไตยแบบ Semi-presidential republic คือประธานาธิบดีมีอำนาจคู่กับนายกรัฐมนตรี

(3)สงครามกลางของสเปนเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกคอมมิวนิสต์โซเวียต กลุ่มสังคมนิยม พวกอนาธิปไตย พวกเสรีนิยม กับฝ่ายชาตินิยมที่มีขุนศึกคนสำคัญคือนายพลฟรังโกที่ได้รับการ สนับสนุนจากประเทศฟาสซิสต์คือเยอรมันนาซีและอิตาลี สงครามกินเวลาเกือบ 3 ปีมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 500,000 คน

(4)น่าสังเกตว่าประเทศเผด็จการที่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายแต่ไม่ถือว่าเป็นภัยต่ออำนาจของอเมริกาอย่างประเทศที่ลงท้ายด้วยสถานเช่นอุซเบกิสถานไม่ได้รับการกล่าวถึงจากสื่อกระแสหลักของอเมริกามากนัก ส่วนอเมริกาเองก็มีสถิติการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่มากมายเช่นคนผิวดำ และอเมริกาไม่ใส่ใจต่อการปราบปรามประชาชนของบาเรนในช่วงการประท้วงครั้งใหญ่ในกลุ่มประเทศอาหรับเพราะบาเรนเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือของอเมริกา อเมริกายังไม่ใส่ใจต่อการประท้วงของชาวอียิปต์ต่อประธานาธิบดีฮอสนี มูบารักเพราะมูบารักเป็นมิตรกับอเมริกาและอิสราเอล

(5) ถึงแม้อเมริกาจะเสื่อมถอยอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจลงในศตวรรษที่ 21 ก็ตาม แต่อย่าลืมว่าอเมริกาเองมีความพยายามในการต่อสู้ชิงความเป็นเจ้ากลับคืนมา อเมริกายังมีงบประมาณทางทหารสูงที่สุดและทรงอำนาจที่สุดในโลก และยังสามารถเข้าแทรกแซงหลายๆ ประเทศได้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net