ยูโร 2012: กรีซปะทะเยอรมัน … และเรื่องที่มากกว่านั้นนอกสนามฟุตบอล

อุ่นเครื่องก่อนเกมรอบ 8 ทีมสุดท้ายของการแข่งขันยูโร 2012 ระหว่างคนป่วยแห่งยุโรป “กรีซ” กับพี่เบิ้มแห่งทวีปอย่าง “เยอรมัน” เรื่องที่มากกว่าเกมฟุตบอลเมื่อเจ้าหนี้อันดับสองเจอลูกหนี้ที่มีขวัญกำลังใจดีขึ้นหลังเลือกตั้ง

สื่ออังกฤษเล่นภาพการ์ตูนล้อเลียนเรื่องฟุตบอลและประเด็นนอกสนามระหว่างกรีซกับเยอรมันประเทศเจ้าหนี้อันดับสองผู้เป็นหัวหอกพยุงประเทศกรีซไม่ให้ออกจากยูโรโซน ก่อนที่ทั้งคู่จะโคจรมาพบกันในรอบ 8 ทีมสุดท้ายของการแข่งขันยูโร 2012 (ที่มาภาพ: www.guardian.co.uk)

ว่ากันว่าในวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา เกมระหว่างเยอรมันและเดนมาร์ก ซึ่งเยอรมันเป็นว่าที่ทีมที่จะต้องมาเจอกับกรีซในรอบที่ 8 ทีมสุดท้าย แทนที่นักเตะกรีซจะมีสมาธิดูรูปเกมของนักเตะเยอรมัน …พวกเขากับจดจ่อลุ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งในประเทศตัวเองมากกว่า

การแข่งขันรอบ 8 ทีมสุดท้ายของการแข่งขันครั้งนี้ เกมระหว่างพี่ใหญ่ของยุโรปอย่างเยอรมัน กับประเทศลูกหนี้แห่งยุโรปอย่างกรีซ (กรีซเป็นหนี้เยอรมันมากที่สุดรองจากฝรั่งเศส) เป็นที่จับตามากกว่าประเด็นเรื่องในสนามฟุตบอล

นักเตะกรีซเกือบได้กลับไปเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. แต่ด้วยสปิริตและกฎ Head to Head ทำให้พวกเขายังอยู่ในการแข่งขัน และอาจะมีความหวัง? – อดีตแชมป์ยูโร 2004 ผ่านรอบแบ่งกลุ่มมาได้อย่างพลิกความคาดหมาย ขณะที่ที่แข็งแกร่งและโชว์ผลงานได้เผ็ดร้อนอย่างรัสเซียกับเจ้าภาพร่วมโปแลนด์กลับต้องตกรอบไป

ในขณะที่สื่อทั้งสองชาติรวมถึงทั่วโลกจับตาการเจอกันครั้งนี้มากกว่าเรื่องของฟุตบอล แต่ Joachim Löw หัวหน้าโค้ชของเยอรมันก็ปฏิเสธที่จะกล่าวไปมากกว่าเรื่องฟุตบอล

" Angela Merkel กับทีมชาติเยอรมัน พวกเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และเรามีข้อตกลงกันว่าเธอจะไม่แนะนำผมเกี่ยวกับเรื่องแทคติคของนักฟุตบอลที่จะลงสนาม และผมก็จะไม่ไปแนะนำเธอในเรื่องทางการเมือง” ทั้งนี้ Löw แสดงความเห็นว่ามันก็แค่เป็นเกมรอบ 8 ทีม ธรรมดาๆ ในนัดที่จะพบกับกรีซ

สิ่งที่เขาให้สัมภาษณ์สื่อพุ่งเป้าไปที่เกมรับที่แข็งแกร่งของกรีซ รวมถึงเน้นให้นักเตะเยอรมันมีสมาธิในการเผชิญหน้ากับกรีซ "กรีซจะไม่ได้เป็นคู่แข่งที่ง่าย พวกเขาต้องทำให้เรารู้สึกอึดอัด … เราจึงจำเป็นต้องมีสมาธิ และไม่ผ่อนเกมเพียงเพราะว่าเขาเป็นทีมเล็ก"

ด้าน Grigoris Makos กองกลางของกรีซแอบมั่นใจลึกๆ ว่าพวกเขาอาจจะมีโอกาส พลิกล็อคโค่นทีมชาติเยอรมันได้เช่นกัน "เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ เราบรรลุเป้าหมายแรกมาแล้ว หลังจากเรามีปัญหาผู้เล่นบาดเจ็บ และเหตุการณ์โชคร้ายในเกม แน่นอนเราเคารพในฝีเท้าของพวกเขา แต่เราไม่กลัวพวกเขา เราจะจ้องตาพวกเขาแล้วสู้"

ออกจากยูโรโซน?

คำถามนี้แทบจะหมดข้อสงสัยไปเสียแล้วหลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมาเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลกรีซนำโดยพรรค New Democracy ที่สนับสนุนแผนรับเงินช่วยเหลือจากยุโรปเอาชนะพรรคฝ่ายซ้าย SYRIZA ที่มีนโยบายปฏิเสธมาตรการรัดเข็มขัด

ทันทีทันใดจากการทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ Antonis Samaras หัวหน้าพรรค New Democracy วัย 61 ปี ได้แถลงต่อผู้สนับสนุนเขาว่าชาวกรีซเลือกแล้วที่จะเดินอยู่บนเส้นทางของยุโรปและยูโรโซนต่อไป

ด้าน Alexis Tsipras หัวหน้าพรรค SYRIZA ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์เก่าและอดีตแกนนำนักศึกษา ก็ได้ออกมายอมรับความพ่ายแพ้จากผลการเลือกตั้ง แต่ยังยืนยันว่าจะทำการต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดต่อไป

ก่อนหน้าการเลือกตั้ง สื่อกระแสหลักของโลกตะวันตกพยายามปั่นกระแสความกลัวของชาวกรีซในการออกจากยูโรโซน หากพรรค SYRIZA สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ (ถึงแม้จะมีการออกมาแถลงก่อนวันเลือกตั้งแล้วว่ากรีซจะไม่ถอนตัวออกจากยูโรโซน หากพรรค SYRIZA ได้จัดตั้งรัฐบาล เพียงแต่ปฏิเสธนโยบายการรัดเข็มขัดที่มาพร้อมเงื่อนไขการกู้เงินเท่านั้น) ไม่ว่าจะเป็นการกักตุนอาหาร และการแห่ถอนเงินจากธนาคาร -- และก็จบปฏิบัติการณ์การปั้นประเด็นข่าวนี้ให้สวย ด้วยการประโคมข่าวว่าชาวกรีซแห่เอาเงินไปฝากธนาคารเมื่อรู้ผลการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามผลเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเห็นต่างในสังคมกรีซ รวมถึงทำให้เห็นว่าเสียงแห่งความคับแค้นใจของประชาชนยังคงมีอยู่ จากการที่พวกเขาต้องถูกลดเงินเดือน ตกงาน ตัดเงินบำนาญ ตามเงื่อนไขของการรับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสหภาพยุโรป รวมถึงการขายพันธบัตร, กิจการของรัฐและกิจการท้องถิ่นรายย่อยให้ต่างชาติ – จากข้อมูลของ Bloomberg Businessweek ปัจจุบันนี้กรีซมีหนี้สินรวมถึง 424 พันล้านยูโรแล้ว

ทั้งนี้ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีการทำการสำรวจชาวกรีกว่าไม่ต้องการใช้ค่าเงินยูโรแล้วหรือไม่ โดย 78% ยังต้องการใช้เงินสกุลยูโรต่อ 12.9% อยากให้กลับไปใช้เงินสกุล Drachma และอีก 9.1% ไม่มีความเห็น

 

ว่าด้วยตัวเลขที่น่าสนใจของกรีซ

กรีซเป็นหนี้ใครบ้าง

 ที่มา: http://www.businessweek.com/articles/2012-05-15/assessing-the-odds-of-a-greek-euro-exit color:#0000CC">

 

8 ประเทศเจ้าหนี้ลำดับต้นๆ ของกรีซ

ที่มา: http://news.bbcimg.co.uk/media/images/60494000/gif/_60494939_eurozone_chart624x325.gif

 

มากกว่าฟุตบอล color:#0000CC">

อาจจะไม่ใช่ Mario Gomez หรือ Mesut Özil ที่ชาวกรีซจะครั่นคร้ามมากนัก เพราะ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีของเยอรมันได้ทำหน้าที่นั้นมาแล้ว -- เธอเป็นคนที่ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลกรีซฟื้นฟูภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ภายใต้ข้อแลกเปลี่ยนที่คุมเข้มวินัยการคลัง ไม่ว่าจะเป็นการตัดงบประมาณรัฐสวัสดิการต่างๆ ปลดพนักงานรัฐวิสาหกิจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และนโยบายที่เรียกว่า “การรัดเข็มขัด” อีกต่างๆ นานา

ผลการสำรวจความคิดเห็นภายใต้โครงการ Global Attitudes ของศูนย์วิจัย Pew เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ทำการสำรวจประเทศในยุโรป 8 ชาติ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน กรีซ สหราชอาณาจักร โปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก พบว่า Merkel ได้รับการยอมรับมากที่สุดในเรื่องของผลงานการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจใน 7 ประเทศ ส่วนชาวกรีซให้คะแนน Merkel ต่ำที่สุด โดยมีเพียง 14% เท่านั้นที่พึงพอใจกับการทำงานของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในการนำประเทศยูโรโซนออกจากวิกฤต

สำหรับประชาชนคนธรรมดาของเยอรมันเองก็อาจมีความไม่พอใจกรีซเหมือนกัน โดยเฉพาะมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปด้วยแผนการออกพันธบัตรยูโร (Eurobonds) ภายใต้การผลักดันของประธานาธิบดี François Hollande แห่งฝรั่งเศส

โดยพันธบัตรยูโรมีการระดมทุนคล้ายกับการออกพันธบัตรทั่วไปของแต่ละประเทศ ทว่าแตกต่างตรงที่ทั้ง 17 ประเทศในกลุ่มยูโรโซน จะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ร่วมกันทั้งหมดโดยแบ่งตามสัดส่วนตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับสัดส่วนของเงินที่ได้ไปจากการประมูลพันธบัตรยูโร ทั้งนี้เยอรมันรู้ดีว่าพันธบัตรยูโรคือหนทางช่วยเหลือทุกประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจยกเว้นเยอรมนีเพียงชาติเดียวเท่านั้น

โดยคนเยอรมันจะเป็นผู้เสียประโยชน์แทบจะทุกด้านกับการนำตัวเองไปค้ำประกันหนี้ก้อนใหญ่ร่วมกันของทั้ง 17 ประเทศ และชาวเยอรมันผู้เสียภาษีจะตั้งคำถามตามมาว่าเหตุใดเยอรมันจึงต้องมาแชร์หนี้กับประเทศที่ไม่มีวินัยการคลังอื่นๆ ด้วย – โดยเฉพาะกรีซ คู่แข่งรอบ 8 ทีมสุดท้ายในศึกยูโรงวดนี้ของพวกเขา

 

ข้อมูลประกอบการเขียน:

Assessing the Odds of a Greek Euro Exit (Bloomberg Businessweek, 15-5-2012)
Eurozone crisis explained (BBC, 18-6-2012)
Euro 2012: Germany coach Joachim Löw insists his football philosophy has not changed (Telegraph, 19-6-2012)
Greeks and Germans at Polar Opposites European Unity on the Rocks (Pew Research Center, 29-5-2012)
Greece v Germany, the bailout game (BBC, 21-6-2012)
http://en.wikipedia.org/wiki/Greek_legislative_election,_June_2012 (เข้าดูเมื่อ 22-6-2012)
Spain, Italy play in shadow of euro crisis (Reuters, 19-6-2012)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท