สภาที่ปรึกษาฯ รับฟังภาคเหนือ ยุทธศาสตร์พัฒนาชาติใน 2 ทศวรรษหน้า

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการสัมมนาระดมความคิดเห็น “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า พ.ศ.2556-2575 ภายใต้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดภาคเหนือ

วันนี้ (22 มิถุนายน) เวลา 9.00 น. ที่โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จ.เชียงราย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการสัมมนาระดมความคิดเห็น 4 ภูมิภาค เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า พ.ศ.2556-2575 ภายใต้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเชิญผู้เข้าร่วมสัมมนาจากจังหวัดภาคเหนือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 250 คน

นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า การระดมความคิดเห็น และวิสัยทัศน์ จากประชาชนไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงานด้านการพัฒนาประเทศไว้ล่วงหน้า จะทำให้การพัฒนาประเทศชาติและประชาชน เกิดการยอมรับ และสามารถพัฒนาในระยะยาวดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น การกำหนดวิสัยทัศน์ แนวคิด และทิศทางการพัฒนาประเทศไทย ใน 2 ทศวรรษหน้า ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นแนวทางและทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนที่สำคัญต่อประชาชนต่อไป

โดยการสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ใน 2 ทศวรรษหน้า (พ.ศ.2556 – 2575) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ได้กล่าวถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง – เกษตรทฤษฎีใหม่ โดยยึดแนวทางปฏิบัติ (การเกษตร) ตามรอยพระยุคลบาท ซึ่งเกิดจากแนวคิด “สภาวะการเรือนกระจก” ที่พระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัวทรงนำมาประยุกต์ตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” “เกษตรยั่งยืน” และ “การลดภาวะโลกร้อน” จนเกิดการริเริ่มงานวิจัย “เกษตรทฤษฎีใหม่”

ดังนั้นการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดทำยุทธศาสตร์ประเทศไทยในระยะยาว และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเป็นกลไกหลักสำคัญในการขับเคลื่อนให้ยุทธศาสตร์ประเทศไทยมีเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

หลังจากนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวขอบคุณ เป็นการอภิปราย เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน ๒ ทศวรรษหน้า (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๗๕) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”โดย อาจารย์สุธนี บิณฑสันต์ รองผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศตามแนวคิดของดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ คือ “2 เพิ่ม 2 แก้ 2 ยุทธศาสตร์” ประกอบด้วย 

เพิ่ม 1 รายได้ประชาชนชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยเสนอการปฏิรูประบบภาษี Negative tax คือการลดภาษีประชาชน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่ม 2 ขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการเพิ่มงบประมาณการวิจัยและพัฒนา พร้อมระบบการควบคุมคุณภาพของการวิจัยและพัฒนาที่รัฐสนับสนุน เน้นงานวิจัยที่ตรงตามความต้องการ

แก้ 1 แก้ไขปัญหาคอรัปชั่น โดยการสร้างระบบที่โปร่งใสและบทลงโทษที่ชัดเจน แก้ 2 แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการพัฒนาฝีมือ โดยวางแผนการผลิตแรงงานให้ตรงตามความต้องการตลาด

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC ซึ่งควรให้ความรู้แก่ประชาชนมากขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยุทธศาสตร์ทางการค้าที่ชัดเจนในทศวรรษหน้า โดยประเทศไทยควรเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ BRICS

รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ รองอธิบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ การเตรียมความพร้อมรับมือและสร้างการพัฒนาในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า โดยให้ข้อสังเกตด้านการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ที่มีการปกป้องการกีดกันทางการค้า และกำแพงภาษี การเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติ โดยทรัพยากรอาหารขาดสมดุล ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น แต่แรงงานลดลง และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (NBIC) โดยนำการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทั้งนี้ ยังมองว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมรับสภาพสังคมผู้สูงอายุ เต็มรูปแบบใน 20 ปี เนื่องจากสังคมผู้สูงอายุ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค และต้องการการดูแลเป็นพิเศษ

ด้านนางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากมีการเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาทุกมิติ เกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเกิดน้อยลง สัดส่วนแรงงานลดลง แต่ผู้สูงอายุจะมากขึ้นในอีก 20 ข้างหน้า เมื่อมีโครงสร้างประชากรลักษณะนี้ จึงต้องมีการวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เหมาะสม โดยศึกษาจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเชื่อมโยงหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ปรับใช้ได้กับทุกระดับ

พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ได้กล่าวถึง ประเทศไทยกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมองว่าประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องประชาคมอาเซียนในระดับน้อยมาก และเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อการก่อการร้าย มีการทุจริตคอรัปชั่น และภาคเอกชนมีการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจดีกว่าภาครัฐ ดังนั้น การวางแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ควรพัฒนาให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสังคมการเมือง และด้านเศรษฐกิจ

โดยหลังจากการอภิปราย มีการเปิดโอกาสให้ร่วมแสดงความคิดเห็น และการแบ่งกลุ่มย่อยทั้งหมด 6 กลุ่ม คือ กลุ่มด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการบริหารจัดการองค์กร ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและประชาชน เพื่อเตรียมนำเสนอความเห็นกลุ่มย่อยในวันที่ 23 มิ.ย. 2555 ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท