Skip to main content
sharethis

19 กรกฎาฯ เครือข่ายต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง กระทบไหล่ผู้ว่าตรังลงกันตังไขก๊อก กฟผ. แจงม.เกษตร-ราชมงคลตรังแค่รับงานวิจัยชายฝั่ง กรกฎาลุยแน่ศึกษา IEE ยังไม่ชัดบริษัทไหน-กำลังเปิดซองประมูล  ลั่นพร้อมรับดีเบต

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 22 มิถุนายน 2555 ที่ตลาดนัดบางสัก ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เครือข่ายคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง จัดเวทีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน หลักๆ ในเวทีเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์จากการไปดูงานที่จังหวัดระยอง ลำปาง และสมุทรสาคร ในระหว่างวันที่ 11-16 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา โดยมีชาวบ้านตำบลบางสัก ตำบลนาเกลือ ตำบลวังวน และตำบลอื่นๆ ในอำเภอกันตัง ร่วมงานประมาณ 200 คน 

นายชนะชัย สังข์แดหวา ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดตรัง นำเสนอว่า จากกที่ตนและคณะได้ไปดูงานที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีพาวเวอร์ ระยอง ปรากฏว่าบริเวณโรงอาหารของโรงไฟฟ้ามีผงฝุ่นถ่านหินกระจายโดยทั่วไป ขณะที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้เจอกับชาวบ้านรอบเหมืองลิกไนต์และโรงไฟฟ้าที่ต้องอพยพหนีมลพิษจากที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ไปที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์เพียง 1 ไร่ แลกกับที่ดิน 10-20 ไร่ที่เคยมี ส่วนที่สมุทรสาครได้รับฟังถึงปัญหาเกี่ยวกับเรือขนถ่ายถ่านหิน ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน

นายวุฒิชัย หวังบริสุทธิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนรักบ้านเกิด จากตำบลวังวน กล่าวในเวทีว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ตนและเครือข่ายชุมชนรักบ้านเกิด ได้ประชุมร่วมกับนายอำเภอกันตัง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในตำบลวังวน ได้รับแจ้งว่าเวลา 15.00 น. วันที่ 19 กรกฎาคม 2555 นี้นายธีรยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง จะลงมารับฟังชาวบ้านที่ตำบลวังวนจากกรณีที่ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง จึงเชิญชวนชาวบ้านตำบลบางสัก และใกล้เคียงเข้าร่วมรับฟัง หรืออาจทำหนังสือร้องเรียนยื่นผู้ว่าฯ ในวันดังกล่าว

นายชวการ โชคดำลีลา วิศวกร 9 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หัวหน้าศูนย์พลังงานไฟฟ้าจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้กฟผ.ได้จ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ วิทยาเขตกระบี่ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ทำงานวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรชายฝั่งในจังหวัดตรัง เพื่อให้ทราบว่าปริมาณทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดตรังที่เขาว่าๆ มีอยู่นั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ทั้งพะยูน แหล่งหญ้าทะเล ปู ปลา ฯลฯ และมีอยู่ปริมาณเท่าไหร่ 

นายชวการ เปิดเผยอีกว่า การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) นั้นคาดว่าสามารถดำเนินงานภายในเดือนกรกฎาคม 2555 นี้ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเปิดซองประมูลราคา ยังไม่ชัดบริษัทไหนได้ศึกษา IEE คาดว่าปลายเดือนนี้คงได้คำตอบที่แน่ชัด

“สำหรับการที่กลุ่มชาวบ้าน และเอ็นจีโอท้าดีเบตข้อมูลเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ผมพร้อมที่จะเข้าร่วมเวทีในระดับจังหวัดที่แลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นหลัก ส่วนเวทีชาวบ้านที่มุ่งไปทางคัดค้านนั้นผมไม่ไปร่วม ที่ผ่านมายังไม่ได้รับการเชิญให้ร่วมเวทีไหนเลย” นายชวการ กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net