14 ปี สถาบันพระปกเกล้า 80 ปีปฏิวัติสยาม ชนะศึกแต่แพ้สงคราม? ตอนที่ 3 อันมีรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประมุข

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สองตอนที่ผ่านมาได้กล่าวถึงจุดกำเนิด และแรงกิริยา-ปฏิกิริยา ทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า สถาบันพระปกเกล้าในฐานะองค์กรหนึ่งของรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยกลับมุ่งมั่นที่จะก้าวเดินสู่ทางเส้นขนานกับอุดมการณ์คณะราษฎรอย่างจริงจัง จึงไม่แปลกอะไรที่องค์กรนี้อยู่ในสถานภาพอันแปลกแยกเป็นอย่างยิ่งต่อความคึกคักของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่ออำนาจของประชาชนในทุกวันนี้ บทความตอนสุดท้าย จะนำผู้อ่านไปสู่บทบาทที่เรามองไม่เห็นของสถาบันพระปกเกล้า ที่ได้ฝังรากและแผ่กิ่งก้านครอบงำสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ รวมถึงสร้างกลุ่มทางสังคมในนามของประชาธิปไตยที่มีรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประมุข

 

1. สำรวจ โครงสร้างของสถาบันพระปกเกล้า

สถาบันพระปกเกล้า ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ นั่นคือ ส่วนกำกับนโยบาย ได้แก่ สภาสถาบันพระปกเกล้าที่มีประธานรัฐสภาเป็นประธาน ซึ่งฟากนี้มีกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการที่มาจากรัฐสภา ขณะที่ส่วนบริหาร ประกอบด้วย เลขาธิการ, คณะกรรมการบริหาร และผู้ตรวจสอบภายใน เลขาธิการเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่จะควบคุมการดำเนินการทั้งหลาย

ภายใต้เลขาธิการ (ปัจจุบันคือ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) มีรองเลขาธิการ 2 ตำแหน่ง แยกเป็นรองเลขาฯ (ปัจจุบันคือ วุฒิสาร ตันไชย) ที่บริหารสายงานอันเน้นหนักด้านการเรียนการสอนและวิชาการอย่าง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง, วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น, สำนักงานวิจัยและพัฒนา, สำนักงานส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง และ สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา กับรองเลขาฯ อีกตำแหน่ง (ปัจจุบันคือ วิทวัส ชัยภาคภูมิ) ที่ดูแลสำนักงานเลขาธิการ, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล และพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ดูแลงานทั่วไปอย่าง ห้องสมุด ศูนย์บรรณสารและสารสนเทศ, ศูนย์ประชาสัมพันธ์. งานวิเทศสัมพันธ์, งานติดตามประเมินผล และงานโครงการพิเศษ เป็นบทบาทของผู้ช่วยเลขาธิการฯ

ภาพประกอบ ผังโครงสร้างองค์กรสถาบันพระปกเกล้า

 

2. สถาบันพระปกเกล้า โรงเรียนประชาธิปไตยอันมีรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประมุข

สถาบันพระปกเกล้า เปิดการเรียนการสอนอย่างจริงจังในลักษณะสถาบันการศึกษา [1] ในนามของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง, วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น รวมไปถึงงานวิชาการ อบรมบุคลากรจากภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนเกี่ยวกับการเมือง การปกครองและการเศรษฐกิจและสังคม แต่เป็นสถาบันที่มีความชัดเจนว่าให้ความหมายต่อระบอบประชาธิปไตยในแบบของตัวเอง จนอาจกล่าวได้ว่า สถาบันนี้ในอีกด้านแล้วก็คือ โรงเรียนประชาธิปไตยอันมีรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประมุข

แต่โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีบุคลากรที่เป็นอาจารย์สอนประจำมากเพียงพอ จึงต้องมีคณะกรรมการหลักสูตรจากภายนอก รวมถึงจ้างอาจารย์พิเศษจากภายนอกมา ตัวอย่างเช่น ใน วิชาแนวคิดเบื้องต้นและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง [2] มีผู้สอนอันเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างก็คือ เทียนฉาย กีระนันนท์ (ปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์) อัมมาร สยามวาลา (หลักและแนวคิดพื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์) วรากรณ์ สามโกเศศ (เป้าหมาย กลยุทธ์และเครื่องมือในระบบเศรษฐกิจ) ธงทอง จันทรางศุ (ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายเศรษฐกิจไทย) สุเมธ ตันติเวชกุล (การดำเนินงานทางเศรษฐกิจตามแนวคิดในพระราชดำริ) ฯลฯ ผู้เขียนมีความรู้ไม่มากนักเกี่ยวกับเรื่องสถาบันการศึกษาในปัจจุบันที่จะชี้ว่า ลักษณะ “โปรโมเตอร์ทางวิชาการ” ของสถาบันนี้เหมือนหรือแตกต่างกับแห่งอื่นๆบ้างไหมในประเทศนี้

หากพิจารณาจากประกาศนียบัตร เราจะเห็นหลักสูตรการเรียนการสอน ดังนี้

  1. หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง [3] เป็นหลักสูตรการเมืองการปกครองสำหรับนักบริหารระดับสูง
  2. หลักสูตรประกาศนียบัตร [4] เป็นหลักสูตรอื่นที่สภาสถานประกาศกำหนด
  3. หลักสูตรสัมฤทธิบัตร เป็นหลักสูตรการให้บริการสาธารณะโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
  4. หลักสูตรวุฒิบัตร [5]

หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง ถือได้ว่าเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม การพยายามสร้าง “รุ่น” ขึ้น ได้มีการเรียกรุ่นด้วยตัวย่อตัวด้วยตัวเลขอย่าง ปปร.15 ทำให้ผู้เขียนนึกถึง การใช้ตัวย่อของรุ่น จปร. และวปอ. โดยเฉพาะหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) วิทยาลัยดังกล่าว ได้สร้างกลุ่มทางสังคมของกลุ่มคนชั้นนำฝ่ายข้าราชการ ทหารและพลเรือน มาตั้งแต่ปี 2498 ที่ในภายหลัง ปี 2532 เปิด หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน หรือ ปรอ. ขึ้นมาอีกหลักสูตรหนึ่ง เพื่อให้นักธุรกิจระดับเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารได้เข้ารับการศึกษาร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ [6] หลักสูตรดังกล่าวจึงสร้างรุ่นและกลุ่มทางสังคมที่ติดอาวุธทางปัญญาแบบสถาบันพระปกเกล้า พร้อมไปกับสร้างแบ็คอัพให้กับสถาบันและประชาธิปไตยแบบนี้อย่างมั่นคง สิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดก็คือ วีรกรรมของสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าที่ดาหน้าถล่มนิติราษฎร์ไปเมื่อช่วงก่อน

ที่น่าสังเกตก็คือ ค่าธรรมเนียมการเรียนการสอนบางหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า พบว่าสูงถึง 109,000 บาท ในกรณีที่เคยผ่านหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงอื่น ของสถาบันพระปกเกล้ามาแล้วจะลดเหลือ 98,100 บาท [7] ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการศึกษาดูงานในต่างประเทศ เอาเป็นว่าด่านการเงินก็เป็นอุปสรรคแรกต่อคนชั้นแรงงาน และคนธรรมดาสามัญเสียแล้วที่จะเข้าถึงหลักสูตรแบบนี้ อย่างไรก็ตามไม่ทราบว่ามีทุนการศึกษาให้หรือไม่ ข้อมูลในเว็บไซต์ไม่ได้แจ้งไว้

นอกจากนั้นหากเราเทียบกับการรับปริญญาแล้ว สถาบันนี้ยังมีการมอบประกาศนียบัตรชั้นสูงกิตติมศักดิ์ และประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ ให้สำหรับคนที่คู่ควร โดยสถาบันจะเป็นผู้พิจารณามอบให้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการมอบปริญญากิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เลย

นักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 15 (ปปร.15) มอบเงินช่วยน้ำท่วม
ภาพจาก http://www.kpi.ac.th/kpith/index2.php?option=com_content&task=view&id=1146&pop=1&page=88&Itemid=68

 

ใครมีสิทธิเข้าโรงเรียนนี้บ้าง?

นอกจากจะต้องมีเงินถุงเงินถังแล้ว เมื่อพิจารณาดูจากคุณสมบัติของผู้เรียนประกาศนียบัตรชั้นสูงในหลายหลักสูตรพอจะประมวลได้ว่า แม้จะพบความหลากหลายในสาขาอาชีพ แต่ก็เป็นคนในระดับบนแทบทั้งสิ้น ซึ่งในแต่ละหลักสูตรจะเปิดรับคุณสมบัติที่แตกต่างกันบ้าง ที่มีลักษณะร่วมกันก็คือ ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป โดยให้ความสำคัญกับ ข้าราชการและผู้บริหารองค์กรเป็นหลัก หากเป็นนายทหารหรือนายตำรวจชั้นยศ, พันเอก, นาวาเอก นาวาอากาศเอกหรือ พันตำรวจเอกขึ้นไป หากเป็นข้าราชการพลเรือนก็ต้องไม่ต่ำกว่าระดับ 8 รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของเอกชน

ที่พิสดารหน่อยก็คือ บางหลักสูตรรับ “ศิลปิน” ซึ่งหมายถึง นักร้อง นักแสดง ที่มีประสบการณ์สูงและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แน่นอนว่าอาชีพสูงส่งในสังคมไทยย่อมผ่านคุณสมบัตินี้อย่างสบาย เช่น คนในแวดวงตุลาการอย่าง คนในแวดวงองค์กรที่มีผลต่อการเมืองไทยอย่าง สมาชิกรัฐสภา, กรรมการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน ,กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ตุลาการรัฐธรรมนูญ, กรรมการปปช., ประธานหรือรองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ข้าราชการตุลาการยุติธรรม ตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขึ้นไป, ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตั้งแต่ตำแหน่งอธิบดีศาลปกครองหรือภูมิภาคขึ้นไป, ข้าราชการอัยการตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป บางหลักสูตรระบุว่า บุคคลที่สภาสถาบันพระปกเกล้าให้เข้ามาศึกษา เพราะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการพัฒนาประชาธิปไตย หรือเป็นผู้ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย หรือสนับสนุนงานของสถาบันต่อไป

กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว สะท้อนความเชื่อของสถาบันฝากความหวังการพัฒนาประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญต่อคนที่อยู่บนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นหลักมากกว่าจะสร้างความเข้มแข้งจากฐานราก ฐานคิดเช่นนี้เป็นเรื่องเดียวกับข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ว่าด้วยผู้มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งที่ระบุว่าต้องจบปริญญาตรี ปัญหาของความคิดที่ไม่เปิดโอกาสความเท่าเทียมในการเข้าสู่อำนาจในระบอบประชาธิปไตย จึงตอกย้ำได้สมกับเป็นสถาบันพระปกเกล้าที่ไม่เห็นความสำคัญของอำนาจอธิปไตยของราษฎร ไม่เห็นความสำคัญของโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน ว่าไปแล้วนี่คือ อุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำไป

 

3. In the name of the Father : ผลงานในนามสถาบันพระปกเกล้า

ในเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้าได้จัดระบบการอธิบายผลงานของตนไว้เป็น 7 หมวด ที่ไม่รวมกับการเรียนการสอน ได้แก่

  1. ระบอบประชาธิปไตย
  2. การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น
  3. ธรรมาภิบาล
  4. สันติวิธีและการบริหารจัดการความขัดแย้ง
  5. การเมืองภาคพลเมืองและความเป็นพลเมือง
  6. พระปกเกล้าศึกษา
  7. ประเด็นนโยบายสาธารณะ

 

ในหมวดต่างๆ ก็ยังแบ่งเป็น 4 ส่วนเหมือนกันนั่นคือประกอบไปด้วย ผลงานวิจัย, บทความ, หนังสือเผยแพร่ และผลการสัมมนา สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผลงานที่โดดเด่นที่สุดก็คือ หมวดระบอบประชาธิปไตยที่มีผลงานวิจัยอยู่ 57 ชิ้น มีบทความที่นำมาจากสื่อต่างๆอีก 32 บทความ มีหนังสือเผยแพร่อยู่ 21 เล่ม และผลการสัมมนาอยู่ 4 ชิ้น

ตามมาด้วยหมวดการกระจายอำนาจและปกครองท้องถิ่น ที่มีผลงานวิจัยอยู่ 3 ชิ้น บทความ 7 บทความ หนังสือเผยแพร่อยู่ถึง 54 เล่ม และผลการสัมมนา 6 ชิ้น

ที่น่าผิดหวังมาก ก็คือ หมวดพระปกเกล้าศึกษา ที่มีผลงานน้อยมาก นั่นคือ มีเพียงผลงานการทำหนังสือเผยแพร่ 2 เล่ม นั่นคือ เฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายใน เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดย สถาบันพระปกเกล้า และ อาคารพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย บัณฑิต จุลาสัย และ พีรพงศ์ จันทรา หรืออาจเป็นได้ว่าในนามของรัชกาลที่ 7 แล้ว ความสัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตยช่างกลวงเปล่านัก สิ่งที่ประจักษ์แก่ตาพวกเราก็คือ ตัวสถาบันเองมิได้ผลิตข้อมูล งานวิจัย ข้อโต้แย้งใดๆในแวดวงวิชาการสาธารณะเลย การอ้างอิงถึงรัชกาลที่ 7 ก็เป็นเพียงผลิตซ้ำการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ด้วยอนุสาวรีย์และพิพิธภัณฑ์เพียงเท่านั้น

ผลงานอีกส่วนหนึ่งที่พบในเว็บไซต์ของสถาบันก็คือ ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง ที่พยายามสรุปหัวข้อและจัดทำบทความทางการเมืองการปกครองของไทยตั้งแต่การเปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตย จนถึงปัจจุบัน ฐานข้อมูลนี้มีหน้าตาและการใช้งานคล้ายกับ วิกิพีเดีย ขณะนี้มี 1,163 บทความ แบ่งเป็นหมวดหมู่ทั้งหมด 15 หมวด ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 พระมหากษัตริย์
  • กลุ่มที่ 2 พระปกเกล้าศึกษา
  • กลุ่มที่ 3 รัฐธรรมนูญ
  • กลุ่มที่ 4 สถาบันการเมือง
  • กลุ่มที่ 5 พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
  • กลุ่มที่ 6 การปกครองท้องถิ่น
  • กลุ่มที่ 7 เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง
  • กลุ่มที่ 8 บุคคลสำคัญทางการเมือง
  • กลุ่มที่ 9 การเมืองภาคพลเมือง
  • กลุ่มที่ 10 ธรรมาภิบาล
  • กลุ่มที่ 11 สันติวิธี/การสร้างสังคมสันติสุข
  • กลุ่มที่ 12 การบริหารราชการแผ่นดิน
  • กลุ่มที่ 13 สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ
  • กลุ่มที่ 14 ประชาคมอาเซียน
  • กลุ่มที่ 15 วิทยานิพนธ์ / งานวิจัย / หนังสือต่าง ๆ

ลักษณะเด่นก็คือ มีการระบุผู้เขียนบทความ และมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความกำกับอย่างชัดเจน พร้อมทั้งการอ้างอิงและหนังสือแนะนำเพื่อค้นคว้าต่อ สำหรับผู้เขียนบทความ บางครั้งเป็นนักวิชาการในสถาบัน บางครั้งเป็นนักเขียนภายนอกที่อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เขียนบทความ “การหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร” [8] อุเชนทร์ เชียงแสน เขียนบทความ “เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร” [9] ฯลฯ

เว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า
http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/หน้าหลัก

 

4. เครือข่ายทางวิชาการ

จากเครือข่ายชนชั้นนำชนชั้นปกครองที่สร้างผ่านชุมนุมหลักสูตรชั้นสูงแล้ว ยังมีการประชุมวิชาการพระปกเกล้า ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2542 [10] อันต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และยังมีโครงการให้ทุนสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ขึ้นโดย สำนักวิจัยและพัฒนา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการ เมืองการปกครองและการพัฒนาประชาธิปไตย และสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ขึ้น

. นอกจากนั้น สถาบันยังทำตัวเอเย่นต์แนวคิดประชาธิปไตยที่มีรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประมุข โดยอาศัยแบรนด์ของตนทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมต่อกับเครือข่ายต่างจังหวัดในนาม “ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง” เราพบว่าปัจจุบันมีศูนย์ดังกล่าวอยู่ใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ [11] ศูนย์เหล่านี้ส่วนใหญ่ผูกติดกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดต่างๆ ดังที่จะเห็นว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมักจะดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการศูนย์ฯ รวมไปถึงสถาบันในเครือข่ายราชภัฏเช่น วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน อีกด้วย นอกจากนั้น หากจังหวัดใดไม่มีแม้เครือข่ายราชภัฏ ก็จะแปรเปลี่ยนไปตามบุคคลที่มีความสัมพันธ์ต่อการเรียนรู้และภาคประชาสังคม เช่น ผู้บริหารสถาบันการศึกษาใน จังหวัดพะเยา บุคลากรด้านสาธารณสุขแบบที่จังหวัดน่าน

เว็บเพจที่แสดงเครือข่ายศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง
http://www.kpi.ac.th/ppd/

 

5.ระบบเกียรติยศ และการมุ่งเน้นอาภรณ์คลุมกาย

สิ่งที่สถาบันเน้นมากอีกส่วนหนึ่งก็คือ การกำหนดอำนาจและขอบเขตเกี่ยวกับการให้ประกาศนียบัตร วุฒิบัตร รวมไปถึงการกำหนดเข็มวิทยฐานะ ซึ่งปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.สถาบันพระปกเกล้า (ฉบับที่2) พ.ศ.2543 อันกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับประกาศนียบัตร และวุฒิบัตรต่างๆใหม่ นอกจากนั้นยังมี ข้อบังคับสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง เครื่องแบบสำหรับผู้ศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงทุกหลักสูตร พ.ศ. 2545, ข้อบังคับสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยเข็มวิทยฐานะ ตราเครื่องหมาย สัญลักษณ์ของสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2544 และที่สำคัญ ข้อบังคับสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยการศึกษาในสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2543 ที่แจงให้เห็นหลักสูตรและรายละเอียดการเรียนการสอน การกำหนดระเบียบที่ซับซ้อนเช่นนี้ ไม่ต่างจากระเบียบข้อบังคับของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาในระบบของกระทรวงศึกษาธิการเลย

 

รางวัลสถาบันพระปกเกล้า ตอกย้ำแบรนด์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

การมอบรางวัลพระปกเกล้าและใบประกาศเกียรติคุณสถาบันพระปกเกล้านั้น ถือเป็นการปูนบำเหน็จและมอบเกียรติยศผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอาศัยชื่อชั้นและแบรนด์ประชาธิปไตยที่มีรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประมุขเป็นจุดขาย โดยเฉพาะการผูกความหมายของรางวัลเข้ากับพระราชดำริการจัดตั้งเทศบาล เมื่อทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ The New York Time ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2474 เริ่มมีการมอบรางวัลตั้งแต่ปี 2544 และผูกติดกับงานประชุมวิชาการ KPI CONGRESS ประจำปี [12] อนึ่ง การจัดตั้งเทศบาลขึ้นอย่างจริงจังและกว้างขวางนั้น เป็นผลงานของคณะราษฎรที่แทบไม่ได้รับการกล่าวถึงและให้เกียรติจากสถาบันนี้เลย

เราสามารถแบ่งเป็นรางวัล 2 ประเภท นั่นคือ รางวัลสถาบันพระปกเกล้า และรางวัลสถาบันพระปกเกล้าทองคำ ซึ่งส่วนหลังเป็นรางวัลระดับพรีเมี่ยม

รางวัลสถาบันพระปกเกล้า จะมีการแจกทุกปีตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งในปี 2552 เริ่มแบ่งประเภทรางวัลเป็น 3 ประเภท [13] ได้แก่ ประเภทที่ 1 ด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเภทที่ 2 ด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ และประเภทที่ 3 ด้านการเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม นั่นทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีโอกาสที่จะได้รับรางวัลมากขึ้นกว่าเดิม สถาบันให้เหตุผลว่า เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น

รางวัลสถาบันพระปกเกล้าทองคำ จะมีทำการมอบรางวัลแบบปีเว้นปี ที่แตกต่างจากรางวัลธรรมดาก็คือ เป็นรางวัลที่มอบให้กับ องค์กรที่บริหารงานด้วยความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่โดดเด่น ต่อเนื่อง และมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการบริหารงานใหม่ๆ อันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในประเทศไทย บังเอิญเสียเหลือเกินว่า การมอบรางวัลพระปกเกล้าทองคำครั้งแรก เกิดขึ้นในวันที่ 5 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า [14] ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน เพียง 2 สัปดาห์

รางวัลพระปกเกล้าทองคำ ปี 2551 ของ เทศบาลตำบลกำแพง จังหวัดสตูล
http://www.kumpangcity.go.th/award/a51_4.php

 

6. สถาบันพระปกเกล้า มาจากภาษีของประชาชน

สถาบันพระปกเกล้า ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ ตัวเลขต่อปีอยู่ที่ 200-400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณของมหาวิทยาลัยราชภัฏในแต่ละจังหวัดที่ได้เฉลี่ยแห่งละประมาณ 200-300 ล้านบาท ก็นับได้ว่า สถาบันพระปกเกล้าใช้จ่ายเงินในขนาดพอๆกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับองค์ที่สุรุ่ยสุร่ายกว่ามากๆอย่าง สสส. ที่ภายใน 10 ปีใช้เงินไปกว่า 24,403 ล้านบาทแล้ว ถือว่า สถาบันพระปกเกล้าทำงานได้คุ้มค่ากว่ามาก ตารางด้านล่างจะแสดงให้เห็นการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐตั้งแต่ยังสังกัดอยู่กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ตารางแสดง งบประมาณแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระปกเกล้า ปี 2538-2555

ปีงบประมาณ
งบประมาณ
คณะรัฐบาล
หมายเหตุ
2538
ไม่มีข้อมูล
บรรหาร
เริ่มจัดตั้งสถาบันพระปกเกล้า ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
2539
ไม่มีข้อมูล
บรรหาร/ชวลิต
งบประมาณอยู่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
2540
ไม่มีข้อมูล
ชวลิต/ชวน
งบประมาณอยู่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
2541
1,319,283,400
ชวน
งบประมาณอยู่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร/ พรบ.พระปกเกล้า
2542
1,120,586,800
ชวน
งบประมาณอยู่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
2543
1,088,539,600
ชวน
งบประมาณอยู่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร/พรบ.พระปกเกล้า (ฉ.2)
2544
1,140,409,800
ชวน/ทักษิณ
งบประมาณอยู่ในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
2545
265,000,000
ทักษิณ
แยกงบประมาณออกมาเป็นอิสระ
2546
220,000,000
ทักษิณ
 
2547
238,114,900
ทักษิณ
 
2548
239,100,000
ทักษิณ
 
2549
314,279,000
ทักษิณ/สุรยุทธ์
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย คปค.
2550
200,000,000
สุรยุทธ์
 
2551
264,321,000
สุรยุทธ์/สม้คร/สมชาย/อภิสิทธิ์
 
2552
360,000,000
อภิสิทธิ์
สถาบันพระปกเกล้าออกนโยบายจริยธรรม
2553
406,109,000
อภิสิทธิ์
เหตุการณ์ปราบปรามประชาชน เดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553
2554
383,084,300
อภิสิทธิ์/ยิ่งลักษณ์
 
2555
372,968,900
ยิ่งลักษณ์
สถาบันพระปกเกล้าเสนองานวิจัยปรองดอง
 
ที่มา พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2538-2555 ใน ราชกิจจานุเบกษา ระหว่างปี 2538-2540 ดูในส่วนของ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ดูในส่วนของ สถาบันพระปกเกล้า

 

5. สถาบันพระปกเกล้าหลัง รัฐประหาร 2549

เป็นสิ่งที่น่าติดตามเช่นกันว่า หลังรัฐประหาร 2549 แล้ว สถาบันนี้จะมีบทบาทอย่างไรในสังคมการเมืองที่เปลี่ยนผ่านไปทางอาการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย แทนที่เราจะพบกับคำถามที่แหลมคมต่อการรัฐประหาร ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือไม่เห็นด้วย แต่เปล่าเลยเรากลับพบว่า สิ่งที่ปรากฏก็คือ การเต้นตามทำนองพร่ำเพ้อหาศีลธรรม คุณธรรมจากปากฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย นั่นคือ การตรา “ประมวลจริยธรรมบุคลากรของสถาบันพระปกเกล้า” ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ปี 2552 [15] โดยทำการยกเลิก “จรรยาบรรณพนักงาน ลูกจ้างของสถาบันพระปกเกล้า” ฉบับเดิมในปี 2544

คำปรารภของประมวลจริยธรรม กล่าวถึงนิยามของจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้วยตรรกะอันพิสดาร ที่จับใจความได้ว่า การที่ทุกตำแหน่งต้องปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้นั้น ต้องมี “จริยธรรม” อันเกิดจากการรวมตัวกันของ “คุณธรรม” ในฐานะประโยชน์แก่ส่วนรวมและตัวเอง และ “ศีลธรรม” ในฐานะโทษของส่วนรวมและตัวเอง โดยภาพรวมเนื้อหาหลักๆ ของประมวลจริยธรรมนี้ก็อาจไม่แปลกอะไรและไม่ต่างอะไรกับจรรยาบรรณทั่วๆไป แต่ที่สะดุดใจผู้เขียนก็คือ มีอยู่ตอนหนึ่งของจริยธรรมบุคลากรที่ผูกโยงเข้ากับความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างแน่นแฟ้น ดังนี้ [16]

หมวด 3 จริยธรรมบุคลากร

ข้อ 4 บุคลากรต้องมีจิตสำนึกและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยอย่างน้อยต้องวางตน ดังนี้

1) ไม่แสดงการต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือสนับสนุนให้นำการปกครองในระบอบอื่นที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาใช้ในประเทศไทย

2) จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และไม่ละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและพระรัชทายาทไม่ว่าทางกาย หรือทางวาจา

 

6. ประชาธิปไตยแบบเซเล็บ กับผู้นำเด็กๆ ของฉัน

แทนที่สถาบันพระปกเกล้าจะมุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับคุณูปการของพระปกเกล้า หรือข้อโต้แย้งข้อเสนอของฝ่ายตรงกันข้าม หรือกระทั่งการสนับสนุนแนวคิด “คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม” อย่างเป็นระบบ กลับพบว่าปัญญาชนฟากฝั่งนี้ไม่ได้ให้ความสนใจ ที่จะสร้างความรู้ใหม่ๆมาเสริมสิ่งที่หัวใจของตนเอง แต่กลับมุ่งทำในสิ่งที่ไม่ใช่ด้านถนัดของตน ตัวอย่างสำคัญก็คือ การสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีบทบาทเสริมภาพลักษณ์องค์กร ดังที่เห็นได้จากหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตยรุ่นที่1 สถาบันพระปกเกล้า (ปนป.1) ที่เริ่มต้นในปี 2554

หลักสูตรผู้นำฯ รุ่นแรก 120 คน มีอายุตั้งแต่ 20-40 ปี ประกอบด้วยคนดังในวงการบันเทิง ได้แก่ วู้ดดี้ - วุฒิธร มิลินทจินดา, อั๋น-ภูวนาถ คุนผลิน, ฟลุ๊ค-เกริกพล มัสยวาณิช, พชร ปัญญายงค์ แวดวงการเมือง เช่น อี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ, วิสาระดี เตชะธีรวัฒน์, สกลธี ภัททิยะกุล และสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ที่รั้งตำแหน่งประธานรุ่น ส่วนแวดวงธุรกิจ ก็มี ธนา เธียรอัจฉริยะ,จตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ,นิธิ เนื่องจำนง,ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รวมถึงอาชีพอื่นๆ ทั้งตุลาการ ตำรวจ สื่อมวลชน นักวิชาการ แม้แต่แอร์โฮสเตส นักสังคมสงเคราะห์ ร่วมด้วยบรรดาผู้นำนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬา,ธรรมศาสตร์,รามคำแหง ผู้นำนักศึกษามุสลิม โดยจุดประสงค์ของหลักสูตรนี้จากการสัมภาษณ์ของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบัน ก็คือ ต้องการให้คนเหล่านี้มีความรู้ที่กว้างขึ้นกว่างานที่ตัวทำ, พัฒนาสู่ทักษะออกไปช่วยสังคม แทนที่จะเขียนเปเปอร์ส่งเหมือนหลักสูตรอื่นๆ หลักสูตรนี้ต้องคิดทำโครงการ ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาในชุมชน ฝึกฝนทักษะทำงานเป็นทีมและทำงานร่วมกับประชาชน เมื่อจบหลักสูตรแล้วจะมีการประกวดโครงการแข่งขันกัน, หวังว่าหลังจากเรียนจบแล้วจะมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น [17]

เหล่าผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตยรุ่นที่1 สถาบันพระปกเกล้า (ปนป.1)

ด้วยความที่มีพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดังอย่างวู้ดดี้ ซึ่งมีคอนเนกชั่นทางสื่อและวงการบันเทิง ทำให้เกิดผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันก็คือ การจัดทำสปอตรณรงค์เพื่อเชิญชวนคนออกมาเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 ที่ชื่อว่า “อวสานแพลงกิ้ง จะนอนนิ่งหรือจะ...?”  [18]

คลิป “อวสานแพลงกิ้ง จะนอนนิ่งหรือจะ...?” ที่เผยแพร่ในยูทูป
http://www.youtube.com/watch?v=Yo37rPGqF0E

นอกจากนั้น เครื่องมือสำคัญที่พวกเขาใช้หล่อหลอมพฤติกรรมให้กลายเป็นคนกลุ่มเดียวกันในระยะเวลาอันสั้นก็คือ กิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ แม้ว่าลูกเสือชาวบ้านเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดในช่วงขวาพิฆาตซ้ายช่วงปี 2518-2519 มาแล้ว แต่สถาบันพระปกเกล้าก็ไม่ยี่หระใดๆต่อประวัติศาสตร์แบบนั้น และอาจถือว่าไม่เกี่ยวกันและอยู่คนละบริบททางประวัติศาสตร์แล้วก็เป็นได้ สถาบันจัดกิจกรรมให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสโลกของลูกเสือ ผ่านกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือที่ผสมผสานอุดมการณ์ชาตินิยมและการสันทนาการนอกบ้านได้อย่างลงตัว มีบทสัมภาษณ์ของสมาชิกรุ่น ปนป.1 อย่าง มินท์ อรรถวดี จิรมณีกุล ไฮโซและนักร้องเสียงดี กล่าวไว้ว่า

“ที่สำคัญพอกลับมาแล้วมิ้นท์รู้สึกมองโลกเปลี่ยนไปเลย เพราะไปอยู่ตรงนั้นมันไม่ได้สบาย ต้องทำทุกอย่างเอง จุดเตาไฟทำกับข้าวเอง พอกลับมาบ้าน สิ่งธรรมดาอย่างแค่เครื่องปรับอากาศ เราก็รู้สึกถึงค่าของมันมากขึ้น ว่าที่จริงชีวิตเราสบายนะ หรือการมีคนทำนู่นนี่ให้ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีอย่างเรา มันทำให้เราฉุกคิดและเห็นคุณค่าอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตของเรามากขึ้น” [19]

 

เหล่าผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตยรุ่นที่1 สถาบันพระปกเกล้า (ปนป.1) ในเครื่องแบบลูกเสือ ยามออกค่าย

ล่าสุดเห็นว่ามี ปนป.2 แล้วในปี 2555 เหล่าคนดังที่เรารู้จักกันก็มีตั้งแต่ [20] สุริยะใส กตะศิลา, จิตรภัสร์ ภิรมย์ภักดี, หมอโอ๊ค สมิทธิ์ อารยะสกุล, โอปอล์ ปาณสรา พิมพ์ปรุ ฯลฯ คำสัมภาษณ์ของยะใส น่าจะเป็นคำพูดแทนใจของคนในรุ่นได้อย่างหมดจด

“เป็นความทรงจำที่สุดแสนประทับใจ และสามารถเก็บเกี่ยวมิตรภาพที่สุดวิเศษจากเพื่อน ปนป.2 ได้อย่างงดงาม ที่สำคัญที่สุดทำให้ผมเห็นคุณค่าของหลักสูตรนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ขอบคุณคณาจารย์หลักสูตรสถาบันพระปกเกล้า ครูฝึกลูกเสือ เพื่อนร่วมรุ่นทุกๆท่าน ที่ร่วมกันสร้างประสบการณ์อันทรงเกียรติกันครั้งนี้ครับ”

การที่สถาบันพระปกเกล้า เน้นความเป็นผู้นำก็ดี การกีดกันคนที่การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีก็ดี การเรียนหลักสูตรที่มีค่าธรรมเนียมแสนแพงก็ดี การคัดคนที่มีลำดับชั้นบนให้เข้ามาร่วมสังสรรค์ก็ดีแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ประชาธิปไตยแบบนี้เป็นอย่างไร และเป็นของใครกันแน่

 

8. ไหนว่าสนับสนุนท้องถิ่นกระจายอำนาจ คำถามต่อกระแสการเลือกตั้งท้องถิ่น

ตั้งแต่ต้นปี 2555 ไปถึง 2556 สนามการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศร้อนระอุขึ้นท่ามกลางการขยายตัวของผลประโยชน์และการตื่นตัวทางการเมือง ทั้งที่สมรภูมินี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อการตื่นตัวของประชาธิปไตยในสังคมไทย เมื่อการเมืองท้องถิ่นนั้นวางอยู่บนฐานผลประโยชน์ชนิดที่ว่าเป็นการเมืองใกล้ตัวที่กินได้

หลายแห่งเราพบด้วยซ้ำว่า ยักษ์ใหญ่แบบพรรคเพื่อไทยก็ยังล้ม เมื่อไม่แคร์ต่อความรู้สึกประชาชนในการการส่งผู้แทนที่ไม่เข้าท่า และไม่มีศักยภาพจะสร้างผลงาน ไม่ว่าจะเป็นสนามเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด, เทศบาลนคร, เทศบาลเมือง ไล่มาจนถึงระดับองค์การบริหารส่วนตำบล

แต่ที่เงียบเชียบเป็นพิเศษก็คือ ท่าทีของสถาบันพระปกเกล้าที่จะเดินเกมรุกที่จะ “เล่น” กับการกระแสท้องถิ่นที่อย่าลืมว่าเป็นจุดขายที่สถาบันพระปกเกล้าเคยอ้างกระแสพระราชดำรัส รัชกาลที่ 7 ไว้ ทั้งที่สถาบันพระปกเกล้าที่ควรจะเป็นหัวเรือใหญ่ที่จะเล่นกับกระแสการเมืองท้องถิ่นนี้ เมื่อเทียบกับผลกระทบและเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างงานวิจัยปรองดองนั้นแล้ว สถาบันกลับมีท่าทีที่เฉยเมย อย่างยิ่งกับสนามเลือกตั้งท้องถิ่นนี้ ทั้งที่แบรนด์รางวัลพระปกเกล้าของตัวเองนั้นให้น้ำหนักของท้องถิ่นเป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำว่า สถาบันถนัดที่จะสร้างภาพและผลิตงานเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ

ยังดีที่ว่า สถาบันพระปกเกล้ายังอยู่ในแวดวงของกระแส “จังหวัดจัดการตัวเอง”  [21]

 

บทบาทของสถาบันพระปกเกล้าที่ผ่านมา จึงเต็มไปด้วยความลักลั่นพอๆกับนิยามของประชาธิปไตยในสังคมไทย ในความเห็นผู้เขียนเห็นว่า หากสถาบันพระปกเกล้าไม่สามารถพิสูจน์ศักยภาพในฐานะสถาบันที่เชิดชูประชาธิปไตยของตัวเองได้ ก็คงจำเป็นต้องแจ้งแก่สาธารณะโดยตรงว่า สถาบันนี้ไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตย แต่ต้องการเป็นโรงเรียนบริหารการเมืองธุรกิจ เพื่อผลิตผู้นำทางการเมืองระดับครีมอะไรก็ว่ากันไป และแยกตนออกมาจากการสนับสนุนของรัฐสภาเสีย และเปิดโอกาสให้มีหน่วยงานใหม่เข้ามาทำงานตรงนี้แทนที่ เพราะอย่าลืมว่า สาระของหน่วยงานนี้คือ องค์กรอิสระภายใต้กำกับของรัฐสภาอันเป็นสถาบันตัวแทนของประชาชน

แม้กระทั่งชื่อของสถาบัน เราก็อาจตั้งคำถามได้ด้วยว่า ไปกันได้กับประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศใฝ่หาและเอื้อให้อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือจำเป็นที่จะต้อง Rename เพื่อไม่ทำให้คนไขว้เขวและเข้าใจผิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยไปมากกว่านี้

หรือไม่เช่นนั้นก็สถาบันพระปกเกล้า ก็จงทำให้สาธารณะเห็นเถิดว่า สิ่งที่ผู้เขียนปรามาสไว้นั้นผิด.

 

อ้างอิง:

  1. สถาบันพระปกเกล้า. "การเรียนการสอน". http://www.kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=620&Itemid=9#d (27 พฤษภาคม 2555)
  2. สถาบันพระปกเกล้า. “ตารางการดำเนินการจัดการศึกษา รุ่นที่ 10 แนวคิดเบื้องต้นและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง 7 กันยายน พ.ศ. 2554 ถึง 8 เดือน ตุลาคม 2554”. http://www.kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=1047&Itemid=281 (19 มิถุนายน 2555)
  3. ตามแผนการศึกษา มีรายละเอียดดังนี้
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน
  4. ตามแผนการศึกษา มีรายละเอียดดังนี้
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรวิทยากรการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรนักเจรจาไกล่เกลี่ย
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลของผู้บริหารระดับกลาง
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารระดับต้นของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐาน เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรการพัฒนาเมืองสำหรับผู้บริหารท้องถิ่น
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายท้องถิ่น
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรการวางแผนพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการ
    • หลักสูตรประกาศนียบัตรไทยกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
  5. ตามแผนการศึกษา มีรายละเอียดดังนี้
    • หลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาความสามารถผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    • หลักสูตรวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกรัฐสภา
    • หลักสูตรวุฒิบัตรผู้ช่วยและผู้ปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภา
    • หลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
    • หลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับผู้บริหาร
    • หลักสูตรวุฒิบัตรการกำกับดูแลกิจการสำหรับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน
  6. โดยข้อพิจารณาของ วปอ.นี้ มีข้อกำหนดของผู้ที่จะได้รับการพิจารณาให้เข้าศึกษาว่า
    • ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือน ต้องเป็นระดับ 9 หรือเทียบเท่า ขึ้นไป
    • ถ้าเป็นข้าราชการทหาร ต้องมีชั้นยศระดับพันเอก รับเงินเดือน อัตราพันเอกพิเศษ นาวาเอก รับเงินเดือน อัตรานาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอก รับเงินเดือน อัตรานาวาอากาศเอกพิเศษ ขึ้นไป
    • ถ้าเป็นข้าราชการตำรวจ ต้องมีชั้นยศระดับพันตำรวจเอก รับเงินเดือน อัตราพันตำรวจเอกพิเศษ ขึ้นไป
    • วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.). "ความเป็นมาของสถาบัน". http://thaindc.org.a27.readyplanet.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=539428636 (20 มิถุนายน 2555)
  7. อัตราค่าธรรมเนียมจาก หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง, หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน, หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน
  8. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. "การหายตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร". ใน สถาบันพระปกเกล้า. http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2_%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3 (4 ตุลาคม 2554 )
  9. อุเชนทร์ เชียงแสน. "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร". ใน สถาบันพระปกเกล้า. http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2_19_%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2_%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3 (5 ตุลาคม 2554 )
  10. มีหัวเรื่องรายปีดังนี้
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 1 ประจำปี 2542 เรื่อง การเมือง การบริหาร และการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยในต้นศตวรรษหน้า
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 2 ประจำปี 2543 เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชน ความยั่งยืนของประชาธิปไตย
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 3 ประจำปี 2544 เรื่อง การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทย
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 4 ประจำปี 2545 เรื่อง 5 ปีของการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 5 ประจำปี 2546 เรื่องประชาธิปไตยกับการบรรเทาความยากจน
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 6 ประจำปี 2547 เรื่องสันติวิถี กับความยั่งยืนของประชาธิปไตย
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 7 ประจำปี 2548 เรื่องการเมืองฐานประชาชน ความยั่งยืนของประชาธิปไตย
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 8 ประจำปี 2549 เรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ : มุมมองเชิงเปรียบเทียบ
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 9 ประจำปี 2550 เรื่องวัฒนธรรมการเมือง จริยธรรม และการปกครอง
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 10 ประจำปี 2551 เรื่อง การเมืองและวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 11 ประจำปี 2552 เรื่อง ความขัดแย้ง ความชอบธรรม และการปฏิรูประบบรัฐ: การจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมในสังคมไทย
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 12 ประจำปี 2553 เรื่อง คุณภาพสังคมกับคุณภาพประชาธิปไตยไทย
    • การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 13 ประจำปี 2554 เรื่อง ความเป็นพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย(Citizenship and the Future of Thai Democracy)
    • ดูใน สถาบันพระปกเกล้า. "หมวดหมู่:การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า KPI CONGRESS". http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%88:%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2_KPI_CONGRESS (25 พฤษภาคม 2555)
  11. สถาบันพระปกเกล้า. "ประวัติความเป็นมาของศูนย์". http://kpi.playthailand.com/index.php?module=political&pro_id=1 (20 มิถุนายน 2555)
  12. สถาบันพระปกเกล้า. "รางวัลพระปกเกล้า ปี 2544". http://www.kpi.ac.th/kpiaward/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=1&Itemid=63 (20 มิถุนายน 2555)
  13. สถาบันพระปกเกล้า. "รางวัลสถาบันพระปกเกล้า ปี 2552". http://www.kpi.ac.th/kpiaward/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=9&Itemid=71 (20 มิถุนายน 2555)
  14. สถาบันพระปกเกล้า. "รางวัลสถาบันพระปกเกล้าทองคำ ปี 2549". http://www.kpi.ac.th/kpiaward/index.php?option=com_content&view=article&id=15:2010-08-08-09-23-40&catid=114:about-it&Itemid=51 (20 มิถุนายน 2555)
  15. “ประมวลจริยธรรมบุคลากรของสถาบันพระปกเกล้า” ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 126, ตอนพิเศษ 159 ง, 30 ตุลาคม 2552, หน้า 117-128
  16. “ประมวลจริยธรรมบุคลากรของสถาบันพระปกเกล้า” ใน ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 126, ตอนพิเศษ 159 ง, 30 ตุลาคม 2552, หน้า 119
  17. สถาบันพระปกเกล้า. "'ยังบลัด'พระปกเกล้า..คอนเนคชั่นเพื่อสังคม". http://www.kpipnp.com/news/detail/23 (27 มิถุนายน 2554)
  18. "อวสานแพลงกิ้ง จะนอนนิ่งหรือจะ...?". http://www.youtube.com/watch?v=Yo37rPGqF0E (20 มิถุนายน 2554)
  19. ASTVผู้จัดการออนไลน์. ""ณัฐภัทร-อรรถวดี จิรมณีกุล" ผนึกกำลังสองเจนสู่ผู้นำธุรกิจนาฬิกา". http://www.manager.co.th/Celebonline/ViewNews.aspx?NewsID=9540000132310 (14 พฤศจิกายน 2554)
  20. จดหมายข่าวสถาบันพระปกเกล้า, 13 : 4 (เมษายน 2555)
  21. สำนักข่าวอิศรา. "3 โมเดล “จังหวัด-อำเภอจัดการตนเอง”...ฝันที่เป็นจริง?" http://www.isranews.org/community-news/%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%8A%E0%B8%9B-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/21-scoop-news-documentary-analysis/5229-3-%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5-%E2%80%9C%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94-%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87%E2%80%9D-%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87.html (31 มกราคม 2555)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท