จะ PR ผลงานรัฐบาล 1 ปีอย่างไรให้ได้ใจประชาชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ขึ้นชื่อว่า ผู้นำ ไม่ว่าใครย่อมต้องการเห็น “ผลสำเร็จ” จากฝีมือบริหารของตน โดยหวังให้ “ผลของงาน” เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมมากที่สุด 

จะทำได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่การ “ขับเคลื่อน” 

อีก 2 เดือนจะครบ 1 ปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นช่วงเวลาหนึ่งของการบริหาร น่าจะบ่งบอกอะไรได้พอสมควร 

ผ่าน ไม่ผ่าน สมหวัง ผิดหวัง

คงจะมีโอกาสฟังการแถลงผลงานในรอบปี เชื่อว่า รัฐบาลได้เตรียมการไว้แล้ว จะมีผลงานอะไรบ้างบรรลุผลอย่างไร สมกับที่คาดหวังหรือไม่ ซึ่งชวนติดตามไม่น้อย

การแถลงข่าว เป็นกลวิธีหนึ่งทางการประชาสัมพันธ์ (PR) 

พูดก็พูดเถอะ ว่ากันตามจริงแล้ว ประชาชน ชาวบ้านก็พอจะรับรู้รับทราบบ้างแล้วจากข่าวสารสื่อมวลชนนำเสนอในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์

ยุคใหม่แล้ว ทั้งรู้จากสื่อ อีเมล์ อินเทอร์เน็ต Facebook Twitter มือถือ ฯลฯ อยากรู้อะไรให้ลูกหลานเปิดกูเกิ้ล รู้หมด ได้ดั่งใจ ชนิดที่เรียกว่า “ความรู้สั่งได้” 

ซึ่งรัฐบาลคงจะต้องอ่านประชาชนให้ดี มิเช่นนั้น การแถลงข่าวผลงาน อาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะรู้แล้ว เท่ากับPRเข้าไม่ถึง และหากไม่มีอะไรใหม่ ยิ่งลำบาก 

จะใหม่หรือไม่ ถ้าให้ประชาชนเป็นผู้บอก ว่ารัฐบาลมีผลงานแค่ไหน สำเร็จเพียงใด เป็นประโยชน์อย่างไร 

เขาอาจวิพากษ์ วิจารณ์ ไม่เป็นไรถ้าเป็นพลังความคิดบริสุทธิ์ ตำหนิก็มี ที่ชมก็มาก เพราะเขาเห็น สัมผัส และเป็นผู้ใช้บริการโครงการรัฐ จริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น 

เป็นไปได้หรือไม่ อยู่ที่รัฐบาล หากทำได้ ก็ได้ใจ(จากประชาชน) เป็นรัฐบาลมิติใหม่ เปิดกว้างมีความคิดเห็นกันได้ ยอมรับกันได้ ทุกคนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของประเทศ ใครบิดเบือน สังคมมองเห็น 

หากรัฐบาลทำดี ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกลัว 

รัฐบาลจะบิดเบือนก็ไม่ได้ เพราะคนไม่เชื่อ เช็คข่าวได้ ใครไม่พูดความจริงก็เสียหาย วันนี้จับโกหกไม่ยาก 

ต่างรู้เท่าทันด้วยข้อมูลข่าวสาร ไม่ยอมกันแล้ว 

ในฐานะผู้หนึ่งที่สนใจ PR มีมุมมองที่อยากนำเสนอ แลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ ผู้อ่านอาจเห็นต่าง เห็นเพิ่ม เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม และผู้ที่สนใจ ทำอย่างไรให้การแถลงผลงานในรอบปีเป็นโอกาส เป็นมูลค่าเพิ่มให้รัฐบาลและประชาชน 

มองในเชิงPR ออกเป็น 3 มุม คือ

หนึ่ง เป็นโอกาสทบทวน ตรวจสอบ ประเมินค่างาน 1 ปีได้ผลของงานเป็นอย่างไร ได้ทำอะไรไปบ้าง เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างไร มีปัญหาอุปสรรคตรงไหน เป็นการมองอดีต 

สอง กำหนดอนาคต มองไปข้างหน้า ด้วยการพัฒนา แตกไลน์ และต่อยอดผลงาน ขณะที่งานใดล้าสมัยหรือหมดความจำเป็นแล้ว อาจหยุด ชะลอ ยุบเลิก ยุบรวม กระทั่งปรับเป้าหมาย ปรับนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนยิ่งขึ้น เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิต และสังคม ซึ่งจะต้องพัฒนาแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการกำหนดนโยบายใหม่(เพิ่มเติม)ที่ตอบโจทย์อนาคตและการเปลี่ยนแปลง 

สาม สื่อสารกับประชาชน 

ทั้งนี้ มองว่า การจะสื่อสารกับประชาชน ให้น่าสนใจ ดังนี้ 

1. การแถลงผลงานรัฐบาลตามรูปแบบราชการปกติ ก็ดำเนินการไป ขณะที่ควรจัดให้ประชาชนพูดบ้าง จะเปิดช่องทางอย่างไรให้สื่อสารกลับได้บ้าง เขาอาจพูดถึงการเข้าร่วมโครงการรัฐติดขัดตรงไหน จุดอ่อน อุปสรรค ความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบาย ให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะ ล้วนเป็นประโยชน์ ซึ่งสามารถนำไปปรับแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาได้ตรงโจทย์ที่สุด

ผิดหรือที่ประชาชนจะพูดกล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีของเขา ขณะที่ชาวบ้านอีกส่วนอาจบอกว่า ไม่รู้จักรัฐมนตรีท่านนี้เลย หรือรัฐมนตรีโลกลืม ก็เป็นไปได้ เป็นผลดีเสียอีก จะได้ปรับการทำงานใหม่ 

จะใช้ช่องทางถ่ายทอดสดหรืออย่างไรก็ว่าไป มีถาม มีตอบ พูดคุยอย่างเป็นกันเอง เป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น ใช้สื่อรัฐ หรือสื่อเอกชนก็พร้อมสนับสนุนรัฐบาล

2. ให้สื่อมวลชนพูดบ้าง จัดเสวนาสื่อมวลชน ให้สื่อพูดถึงผลงาน สะท้อนปัญหา มุมมองเรื่องต่างๆในรอบปีรัฐบาลเป็นอย่างไร วันนี้สื่อแข่งขันสูง ทำการบ้านเยอะ มีศักยภาพเป็นที่พึ่งพารัฐบาลได้ รู้หมด ใครเป็นอย่างไร ปัญหาประเทศอยู่ตรงไหน สามารถชี้แนะชี้นำที่ดี รัฐบาลต้องใช้ประโยชน์จากสื่อให้มากขึ้น และดึงเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ

ขณะที่ทีมงานโฆษกรัฐบาลต้องเชิญสื่อมาร่วมแถลงผลงานรัฐบาล ให้สื่อทำสกู๊ป เฉกเช่นทีวี หนังสือพิมพ์สรุป 10 ข่าวเด่นในรอบปีเหมือนตอนส่งท้ายปีเก่า ประมาณนั้น ซึ่งดูดี จะทำให้ได้ชิ้นงานที่โดดเด่น เพราะสื่อมีมุมมองในสายตาของสื่อและรู้ดีที่สุดว่า จะหยิบอะไร จะเล่น(นำเสนอ)เรื่องใด

3. ให้เอกชนพูดบ้าง จัดเสวนาภาคเอกชน ให้ผู้นำธุรกิจพูดถึงผลงานในรอบปีรัฐบาล จุดอ่อนจุดแข็ง มองปัญหาความต้องการอย่างไร โดยเฉพาะจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีที่ 2 ของรัฐบาลอย่างไร 

เป็นจังหวะก้าวใหม่สำหรับรัฐบาลที่จะยึดประชาชน เป็นศูนย์กลางของการแถลงผลงาน มิใช่ PR one way ให้ประชาชนฟัง 

แต่เป็นPR two ways ให้ประชาชนพูด รัฐบาลฟัง 

ประชาชน เป็นผู้ให้คะแนนความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท