Skip to main content
sharethis

กวี จงกิจถาวร ประธาน SEAPA บรรยาย“มองประชาคมอาเซียนจากมมุมข่าว” อธิบายเหตุกลไกสิทธิมนุษยชนล่าช้า ชี้ต้องมีกลไกแก้ข้อพิพาท สร้างจุดยืนร่วม ภาคประชาสังคมช่วยกระตุ้น เผยดัชนีชี้วัด เสรีสื่อยังไม่สมบูรณ์ ปัญหานักข่าวอาเซียนมองแค่ประเทศตัวเอง

กวี จงกิจถาวร บรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่นมัลติมิเดียกรุ๊ป และประธาน South Asian Press Association (SEAPA) 

กวี จงกิจถาวร บรรณาธิการอาวุโสเครือเนชั่นมัลติมิเดียกรุ๊ป และประธาน South Asian Press Association (SEAPA) บรรยายพิเศษ “มองประชาคมอาเซียนจากมมุมข่าว” ในโครงการอบรมนักข่าวโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ครั้งที่ 1/2555 ณ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ บ้านพักรับรอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 

กลไกสิทธิมนุษยชนที่ล่าช้า 

อาเซียนเป็นภูมิภาคเดียวที่ไม่มีกลไกการป้องกันเรื่องสิทธิมนุษยชน จนกระทั่งปี ค.ศ.2009 และยังไม่มีการตรวจสอบ ติดตาม สืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำไมจึงล่าช้ามาว่า 15 ปี เพราะไม่มีฉันทามติ

ไทยพยายามส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในระดับสากล ประเทศไทยเขียนรายงานประจำปีเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อองค์การประชาชาติได้ดีมากในบรรดาประเทศด้อยพัฒนา เพราะไทยเอาเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม

ในอาเซียนไม่มีรายงานประจำปีเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิก แต่มีรายงานประจำปีที่ประเทศสมาชิกส่งให้สหประชาชาติ เพราะฉะนั้นต้องสร้างกลไกป้องกันเรื่องสิทธิมนุษยชนของอาเซียนในระดับคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจชัดเจน

ทำไมจึงมีช่องว่างระหว่างบรรดาสมาชิกประชาคมอาเซียนกับสหประชาชาติ แสดงว่าสมาชิกประชาคมอาเซียนยอมต่อกัน

ในกฎบัตรอาเซียน มาตรา 14 ระบุว่า จะต้องส่งเสริมปกป้องสิทธิมนุษยชน คนธรรมดาอ่านแล้วไม่รู้ว่า หมายความว่าอย่างไร แต่คนที่ติดตามเรื่องประชาคนอาเซียน จะรู้ความต่างระหว่างส่งเสริมกับปกป้อง หรือ ปกป้องกับส่งเสริม เช่นคำว่า ผมรักคุณ ผมจะสนับสนุนคุณ เท่ากับว่าผมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคุณ แต่หากผมบอกว่า ปกป้องสิทธิมนุษยชน คุณจะต้องเขียนรายงาน จะต้องเข้าไปสืบสวน ประชาคมอาเซียนจึงบอกว่า ส่งเสริมไปก่อนค่อยปกป้องที่หลัง 

หากปกป้องอาเซียนจะต้องส่งคนไปดูกรณีเหตุการณ์กรือเซะ หรือให้มาเลเซียส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดู ประเทศก็คงไม่ยอม หรือจะให้ไปดูเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศมาเลเซีย ประเทศมาเลเซียก็ไม่ยอม นี่คือเทคนิคของประชาคมอาเซียน

 

ต้องมีกลไกแก้ไขข้อพิพาท

ผู้สื่อข่าวต้องจับตาดูสินค้าไทยในประชาคมอาเซียนให้มาก ปัญหาเศรษฐกิจการเงินโลกมาอันดับหนึ่ง ความมั่นคงด้านพลังงานอันดับสอง นักข่าวจะต้องรู้ปัญหาภายในประชาคมอาเซียนและภายนอกประชาคมอาเซียนด้วย เช่น ปัญหาสภาวะโลกร้อน การก่อการร้าย โรคระบาด

อย่างกรณีการก่อการร้ายของอิหร่าน ไม่มีใครเขียนได้ตรงประเด็น เพราะคิดว่าไม่มีใครคิดร้ายต่อประเทศไทย เมื่อเกิดระเบิดที่กรุงเทพฯ ต่างก็ด่าทอกัน โดยไม่เข้าใจว่า การเมืองของการก่อการร้ายคืออะไร ประเทศไทยออกมาปฏิเสธ ทั้งๆ รัฐบาลน่าจะบอกว่า ไม่ต้องกลัว เรามีความพร้อมในการรับมือกับการก่อการ้ายและมีข้อมูล

ประชาคมอาเซียนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกลไกการแก้ปัญหาข้อพิพาททางเมือง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการยุติข้อพิพาท จึงต้องพึ่งสหประชาชาติ เช่น มาเลเซียมีข้อพิพาทกับอินโดนีเซีย เรื่องเกาะลีกีตัน สิงคโปร์มีปัญหาเรื่องเกาะ Petro Banka กับมาเลเซีย ต่างก็ใช้ศาลโลกในการไกล่เกลี่ย

แสดงว่าประชาคมอาเซียนมีปัญหาในการแก้ไขข้อพิพาทของตัวเอง ฉะนั้นประชาคมอาเซียนต้องเพิ่มประเด็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างสมาชิกประชาคมอาเซียนด้วย เพราะเป็นประเด็นสำคัญในอนาคต ซึ่งประชาคมอาเซียนจะต้องมีประเด็นความมั่นคงและนโยบายการทูต

ประเด็นนี้มักมีคนเปรียบเทียบกับสหภาพยุโรปว่า เวลาพูดจะเหมือนๆ กัน แต่ประชาคมอาเซียนพูดอะไรไม่เคยเหมือนกัน เพราะแต่ละคนมีความภาคภูมิใจในอธิปไตยของตนเอง ไม่ยอมต่อกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้จุดยืนของประชาคมอาเซียนอ่อนแอลง 

หากเป็นประชาคมแล้ว อาเซียนจะต้องพูดให้เหมือนกันหมด ตัวอย่างเช่น กรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ประเทศที่พูดเยอะที่สุด คือ เวียดนามกับฟิลิปปินส์ ซึ่งมีข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าว แต่ประเทศไทยไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย แต่ในปี ค.ศ.1995 ประเทศไทยมีการพูดประเด็นนี้อยู่บ้าง เพราะเป็นประเด็นหนึ่งเดียวด้านความมั่นคง

หากประชาคมอาเซียนมีจุดยืนน้อย ยิ่งไม่มีอำนาจต่อรอง แสดงว่าไม่มีความสามัคคี โอกาสที่จะเป็นหนึ่งเดียวในด้านความมั่นคง แทบจะไม่มีเลย เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนหวงตนเองมาก ไม่อยากให้ประชาธิปไตยของประเทศตนเองไปตกอยู่กับประชาคมอาเซียน

 

ภาคประชาสังคมกับอาเซียน

ภาคประชาสังคมต้องกระตือรือร้น ช่วยผลักดันจากรากหญ้าสู่ผู้นำในการสร้างประชาคมอาเซียนให้ได้ ให้คุณและโทษแก่สมาชิกประชาคมอาเซียนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนอย่างเคร่งครัด มีระบบการเมืองเปิด และเป็นประชาธิปไตย เคารพการเลือกตั้ง ยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้ อย่างที่ประเทศพม่า กำลังดำเนินการอยู่ 

ครึ่งหนึ่งของสมาชิกประชาคมอาเซียนไม่เคยเชิญนักสังเกตการณ์จากต่างประเทศเข้ามา เพราะฉะนั้นประเทศพม่า ทำให้ประเทศอาเซียนต่างๆไม่สบายใจ ทั้งเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน และเคารพบทบาทของภาคประชาสังคม จึงจะต้องมีกองกำลังรักษาสันติภาพของประชาคมอาเซียน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี

 

ความฝันของประชาคมอาเซียน

ความใฝ่ฝันของประชาคมอาเซียนที่จะยกระดับขากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) มาเป็นสหภาพอาเซียน (ASEAN Union) คงเป็นไปได้ยาก ขณะที่หนังสือเดินทางอาเซียน คิดว่าต้องรออีก 5 ปีข้างหน้า การเข้า - ออกอย่างเสรี สำหรับสมาชิกประชาคมอาเซียนต้องรออีก 10 ปีข้างหน้า

ส่วนเงินสกุลอาเซียน เลิกคิดไปได้เลย เพราะประสบการณ์ของสหภาพยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโรได้ยกเลิกไปแล้ว เพราะความไม่พร้อม ส่วนการตั้งสภาอาเซียนยิ่งลำบาก และสิทธิมนุษยชนของประชาคมอาเซียนเลิกหวังไปเลย

 

ดัชนีชี้วัด เสรีสื่อยังไม่สมบูรณ์

รายงานของ Freedom House บอกว่า ในภูมิภาคอาเซียนไม่มีสื่อใดๆ ที่มีความอิสรเสรีที่สมบูรณ์เลย ประเทศที่มีเสรีภาพมากๆ คือฟิลิปปินส์ มีเสรีภาพมาก คือไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย มีเสรีภาพบ้างคือ มาเลเซีย พม่า มีเสรีภาพน้อยคือ สิงคโปร์ บรูไน มีเสรีภาพน้อยมากคือ เวียดนาม ลาว

เกณฑ์ในการวัดเสรีภาพระหว่างต่างชาติกับอาเซียนแตกต่างกัน ชาวต่างชาติวัดเสรีภาพด้วยการวัดว่า มีเสรีภาพหรือไม่ แต่ประชาคมอาเซียนวัดว่า มีเสรีภาพน้อยหรือไม่มีเสรีภาพ

ดัชนีสื่อ เป็นเรื่องที่แปลก เพราะประเทศที่มีเสรีภาพมากๆ ประเทศนั้นจะมีการลงทุนมาก ถือว่ามีความโปร่งใสทางด้านข้อมูล แต่ประเทศไทยกลับคิดว่า การที่สื่อมีความเสรีภาพมากๆ ทำให้มีกรณีของการหมิ่นสถาบันมากขึ้น

 

ปัญหาของนักข่าวอาเซียน

ปัญหานักข่าวในประชาคมอาเซียนเป็นการเล่นพรรคเล่นพวก เขียนแต่เรื่องของประเทศตนเอง ไม่มีความรู้สึกในชะตาความเป็นประชาคมอาเซียน 

เวลาคนไทยเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประชาคมอาเซียน ไม่เคยเขียนว่า องค์กรประชาคมอาเซียนและอนาคตจะเป็นอย่างไร นักข่าวประเทศมาเลเซียก็เขียนเฉพาะประเด็นของประเทศมาเลเซีย ไม่มีความรู้สึกความเป็นประชาคมอาเซียนร่วมกัน

ฉะนั้นนักข่าวต้องคำนึงว่า ประชาคมอาเซียนเป็นองค์กรร่วม ไม่ใช่เขียนเพียงว่า ใครจะได้อะไรจากการประชาคมอาเซียนอย่างเดียว

ปัญหาของนักข่าว คือ กลัวการแทรกแซง เล่นตามประเด็นของทางการอย่างเดียว ไม่สนใจข่าวข้ามชาติทั้งๆ ที่มีผลต่อประเทศตัวเอง โดยเฉพาะบางประเทศที่ไม่ยอมที่จะให้ใครมาเขียนเรื่องภายในประเทศของตน

นักข่าวไม่เข้าใจประวัติศาสตร์และเรื่องอื่นๆ ของประชาคมอาเซียน จึงไม่มีประวัติร่วม ต่างจากสภาพยุโรปที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน นักข่าวดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน มีความคิดแบบขาวดำ คิดว่า ประเทศของตัวเองดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

นักข่าวน่าจะส่งเสริมอัตลักษณ์และความรู้สึกร่วมกันในความเป็นประชาคมอาเซียน ส่งเสริมประชาคมอาเซียนแบบวิธีบูรณาการ ส่งเสริมความโปร่งใส่ในการเข้าถึงข้อมูลในอาเซียน ปัจจุบันนักข่าวที่เขียนข่าวในกรอบอาเซียนมีน้อยมาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net