Skip to main content
sharethis

หลายทัศนะหลากมุมมองจากองค์กรร่วม รำลึก 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ 

5.00 น. วันนี้(24 มิ.ย.2555) ณ บริเวณหมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า มีประชาชนจากกลุ่มต่างๆเดินทางมาร่วมรำลึก 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

นอกจากคณะราษฎร ที่ 2 (ดู ประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ 2 ) แล้วยังมีอีกหลายกลุ่มที่รวมกิจกรรมรำลึก เช่น กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)  กลุ่มประกายไฟการละคร กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล  กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน ( CCP ), กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพาและกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น พร้อมทั้งได้มีการกล่าวรำลึกดังนี้

000 

 

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง กลุ่มประกายไฟการละคร“

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยแล้ว นอกจากคณะราษฎรแล้ว ก็คือกบฏ ร.ศ.130 เพราะว่าไม่มีกระบวนการใด หรือว่าขบวนการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะเกิดขึ้นได้หากไม่มีจุดเริ่มต้นและก็การจัดตั้งที่ต่อเนื่องแล้วก็ยาวนานจนถึงมีการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องคิดในวันนี้ก็คือ เราจะทำอย่างไรให้กระบวนการการเปลี่ยนแปลงนั้นยังอยู่ต่อไป เพราะว่าวันนี้เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยนแปลงมันด้วยตัวเราเอง แต่ว่าลูกหลานของเราในอนาคตอาจจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราคิดว่ามันควรจะเปลี่ยนแปลงได้” ภรณ์ทิพย์ มั่นคง กลุ่มประกายไฟการละคร กล่าว 

 

พรชัย ยวนยี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

“80 ปีก็ผ่านไป เราคลายๆกับว่าเหตุการณ์วันนั้นถึงวันนี้มันยังไม่ได้โตเหมือนที่คนที่ต้องการให้มันเติบโตเต็มที่ วันนี้เรายังต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเดิมๆ วันนี้เรายังกลับมาที่จุดเริ่มต้น คลายๆกับว่าเรายังเดินไปไม่ถึงไหน วันนั้นอาจจะมีทหารจากหลายภาคส่วนมีประชาชนจากหลายกลุ่มมาร่วมกันอภิวัฒน์สยามดังอารยะประเทศ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ดังหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรกล่าวไว้ เพื่อเป็นเจตนารมณ์ย้ำว่า เหตุการณ์วันนั้นจะนำพาสยามประเทศ ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง แต่วันนี้เรากลับพบว่า เราทุกคนที่มาร่วมงาน ที่เป็นลูกหลานของคณะราษฎร และร่วมต่อสุ้ในสิ่งที่คระราษฎรเคยต่อสู้กันมาก็คือประชาธิปไตย

วันนี้อำนาจของประชาชนก็ยังไม่ได้อยู่ที่ประชาชน วันนี้สิทธิเสรีภาพก็ยังไม่ได้อยู่ที่ประชาชน วันนี้ความเสมอภาคก็ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน วันนี้หลักนิติรัฐก็ไม่ได้อยู่ และเสียงข้างมากก็ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่เป็นแค่การโยงใยของเหล่าอำมาตย์ เป็นแค่การโยงใยของกลุ่มผู้มีอำนาจ ผู้ไม่เคยเชื่อมั่นว่าประชาชนจะมีอำนาจการตัดสินใจได้ ผู้ไม่เคยเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย แต่เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในหลักความดี วันนี้ผมก็ยังไม่รู้เลยว่าความดีที่เขาหมายถึงคือดีอย่างไร หรือการเอาพวกพ้องตนเองมาปกครองประเทศหรือปล่าว”

พรชัย ยวนยี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ยังกล่าวอีกว่า“สถานที่นี้ หมุดคณะราษฎรนี้ล้อมรอบไปด้วยสิ่งที่แทบจะเรียกได้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเลย ซึ่งเราก็จะพบว่าหมุดคณะราษฎรเองก็ตามก็ถูกรถเหยียบย่ำไปทุกวัน แต่เราก็หวังว่า 80 ปี ซึงอาจเปรียบเทียบกับอายุคนหนึ่งก็ได้ว่าจะสูงมาก ดังนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาธิปไตยคงเกิดขึ้นในสังคมไทยในไม่ช้านี้ด้วยน้ำมือของประชาชนเท่านั้น” 

 

บอย  กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล

“24 มิถุนา 2475 สังคมไทยถูกทำให้มันลืมเลือน มีการบิดเบือนในหลายๆเรื่อง ตอนนี้ผมเชื่อแล้วว่าพี่น้องทุกคนที่มาตรงนี้ตาสว่างกันแล้วใช่ไหมครับ จากที่ร่วมกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนา เป็นกลุ่มหนึ่งที่จัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการรำลึกวันชาติไทย สืบเนื่องมาจากพี่สมยศ พฤกษาเกษมสุข แต่ว่าเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ว่าขณะนี้พี่เขาก็ยังถูกคุมขังในฐานะที่เป็นนักโทษทางการเมืองนักโทษทางความคิด ซึ่งตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือหลักอะไรต่างๆก็ตาม พี่เขาไม่ได้มีความผิดเลย เป็นข้อบ่งชี้และยืนยันว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยการต่อสู้ของคณะราษฎรนั้นปัจจุบันยังมิได้เกิดขึ้นเลย ประเทศไทยเราอาจจะกล่าวได้ว่ายังไม่ได้รับประชาธิปไตยที่แท้จริง ระบบอำนาจต่างๆของประเทศนอกจากการเลือกตั้งแล้วไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชนเลย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจศาลตุลาการ แม้ปัจจุบันเรามีพรรคการเมืองที่ว่าเป็นของเรา แต่ว่าอย่างที่พี้น้องทุกคนทราบกันดีว่านักทาการเมืองของเราก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว” บอย  กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล กล่าว 

 

ทรงชัย วิมลภัตรานนท์ ประธานกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย

“วันที่ 24 มิถุนา 2475 นั้นคือคุณูปการและการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และเรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 27 มิถุนา 2475มาตราที่ 1 ความว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย และในวันนั้นหลังจากพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ยืนอ่านแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 แล้วก็ยังเชิญคณะ ร.ศ.130 มาเพื่อขอบคุณและยังได้กล่าวว่าหากไม่มีคณะท่านก็ไม่มีคณะเรา ซึ่งในวันนั้นมี ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ และคณะ ร.ศ.130 อีกหลายท่านมาร่วมแสดงความยินดีในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนี้ด้วย” ทรงชัย วิมลภัตรานนท์ ประธานกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย กล่าว 

 

สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล

“วันที่เราเรียกว่าเป็นวันชาติดิฉันก็อยากจะให้เราช่วยกันเน้นด้วยเพราะถือว่าเป็นวันที่ตามประวัติศาสตร์นั้นการเป็นชาติที่ทำให้มีเอกราชสมบูรณ์นั้นก็คือการที่ประชาชนมาช่วยกันร่วมสร้าง แล้วก็การทำให้สัญญาต่างๆที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิสภาพนอกอาณาเขาที่เกี่ยวกับเรื่องของศาลได้กลับมาเป็นของประชาชนก็ด้วยผลงานของประชาชนอย่างแท้จริง ที่คณะราษฎรทำให้เราได้มีเอกราชสมบูรณ์ แต่วันนี้วันที่เราน่าจะเดินหน้าไปสู่ความยุติธรรมในระดับสากลมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้กระบวนการยุติธรรมไทยก็มีแต่ถดถอยไปยิ่งเลวร้าย ตราบใดที่อำนาจตุลาการยังไม่เป็นของประชาชนตราบนั้นก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ก็ขอให้มาร่วมสร้างกันคะ” สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล กล่าว

 

กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน ( CCP )

 

“ถ้ามีการปฏิวัติหรือว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งหน้ามันคงมีแค่ 2 อุดมการณ์ให้เลือกถ้าไม่ถอยหลังเข้าสู้สมบูรณาญาสิทธิราชก็คือเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ 2 ทางที่จะให้เราต้องเลือก ซึ่งพวกเราก็คงยืนหยัดซึ่งทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเราจะเลือกอะไร ฉะนั้นอยากให้พ่อแม่พี่น้องสบายใจได้ว่าในช่วงอายุของเราเราจะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จแล้วก็สืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของเราให้สมบูรณ์อย่างที่เขาต้องการมาก่อน” ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน ( CCP )กล่าว

“การที่คณะราษฎรเลือกพื้นที่ตรงนี้ในการอ่านประกาศคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองมันมีนัยสำคัญบางประการที่หน้าสนใจมาก ก็คือว่าการที่อยู่บนลานพระบรมรูปทรงม้านี่รอบข้างจะแวดล้อมไปด้วยบรรยากาศที่อนุรักษ์นิยม แล้วก็แวดล้อมไปด้วยตึกรามด้วยอนุสาวรีย์ที่มีบรรยากาศเป็นราชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นนี่เป็นพื้นที่เล็กๆที่ประกาศเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่แรกของประเทศไทย ทั้งๆที่แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศที่เป็นอนุรักษ์นิยมแบบนี้” ดิน บัวแดง กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน ( CCP )กล่าว

ดิน บัวแดง ตั้งข้อสังเกตว่า “80 ปีที่ผ่านมานี่หลังจากพื้นที่ตรงนี้ถูกละเลยเป็นเวลานานตอนนี้ก็ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง แล้วผมก็เห็นว่าก็มีคนมารำลึกเพิ่มขึ้นๆทุกปี ในส่วนของประวัติศาสตร์ก็มีการรื้อฟื้นมีการพุดถึงมากขึ้นทุกปีและผมก็หวังว่าในที่สุดแล้วประชาธิปไตยก็จะเบ่งบาน แล้วประชาธิปไตยก็จะกลืนกินพื้นที่ที่เป็นอนุรักษ์นิยมตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ของประชาธิปไตยได้”  

 

กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา 

“ไม่อยากจะคิดเลยว่าวันหนึ่งเราต้องกลับมารำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเดิมที่ไม่สำเร็จลุล่วง ผมรู้สึกยินดีที่อย่างน้อยยังมีความอุ่นหนาฝาคั้งและก็ยังมีอุดมการณ์ที่พาพวกเรามายืนอยู่ตรงจุดนี้ร่วมกันอีกครั้ง แต่มันนานเกินไปแล้วกับเวลา 80 ปีที่ต้องก้าวลงมายังจุดเดิม ซึ่งจากจุดนี้ของให้เราในนามกลุ่มลูกชาวบ้านแล้วก็ประชาชนด้วยกันขอให้วันนี้เป็นวันที่จะเริ่มก้าวอีกครั้งหนึ่งไปสู่อนาคตที่จะไม่ต้องวนกลับมาในปีต่อๆไป ไม่ต้องวนกลับมาภายใต้อุ้งเท้าของระบอบเผด็จการ ระบอบอำมาตย์และระบอบศักดินา ขอให้ก้าวต่อไปหลังจากนี้ของพวกเราทุกคน ปีที่ 81, 82 อาจะมีการรำลึกต่อไปเรื่อยๆแต่ผมหวังว่าทางในช่วงระยะเวลาที่เราจะได้กลับมาพบกันเราจะกลับมาในฐานะของผู้ชนะ” ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา กล่าว

“วันนี้เราไม่ได้มารำลึกประชาธิปไตยครับ เพราะว่าประชาธิปไตยมันยังไม่มี อำนาจสูงสุดยังไม่ได้เป็นของราษฎรทั้งหลาย วันนี้เรามารำลึกการกระทำการอภิวัฒน์ของคณะราษฎรเมื่อปี 2475 วันนี้เราไม่ได้เอาดอกไม่มาบูชาคนขี่ม้าอีกต่อไปครับ วันนี้เราในนามคนที่หาหญ้าให้ม้าในนามของคนที่เลี้ยงม้าเรามาประกาศว่า วันนี้คนเลี้ยงม้าคนหาหญ้าให้ม้าจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินครับ” ปกรณ์ อารีกุล กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา กล่าว


กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย“

วันนี้ 24 มิถุนา ครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรานักศึกษาก็พุดกันว่าเรามาถึงจุดแตกหักที่ไม่อาจประณีประนอมได้อีกแล้ว ในยุคสมัยนี้นักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งก็เรียกร้องถวายคืนพระราชอำนาจ ในขณะเดียวกันเมื่อ 2-3 ปีก่อนประชาชนก็บอกว่ายุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน ปัจจุบันเวลาเราถกเถียงกันว่าประเทศชาติเป้นของใครนักแสดงคนหนึ่งก็บอกว่าแผ่นดินนี้เป็นของพ่อ ส่วนนักคิดนักเขียนบางคนก็บอกว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน ต่างฝ่ายไม่สามารถประนีประนอมได้ ปัจจุบันมันก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าหากไม่มีก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงก็คือผลงานของคณะราษฎรเมื่อ 80 ปีที่แล้ว” ปราบ เลาหะโรจนพันธ์  กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กล่าว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net