การเผยแพร่ประชาธิปไตยในอีสาน หลังการปฏิวัติ 2475 บทบาทปัญญาชน-ส.ส.อีสาน

กันย์ ชโลธรรังษี บอกเล่าประวัติศาสตร์การเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยในภาคอีสาน หลังการปฏิวัติ 2475 จาก “ทัศนะกลางๆ” จนถึง “การกอบกู้ชาติ” ที่เป็นประชาธิปไตยโดยบทบาทของปัญญาชนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
 
 
 
กันย์ ชโลธรรังษี นิสิตปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายเรื่อง “การเผยแพร่ประชาธิปไตยในภาคอีสาน หลังการปฏิวัติ 2475” ในการสัมมนา “จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย” จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.55
 
กันย์ กล่าวถึงผลจากการปฏิวัติ 24 มิถุนา 2475 ที่ส่งผลสะเทือนในภาคอีสานว่า ความเปลี่ยนแปลงจาก “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาสู่ “รัฐประชาธิปไตย” หรือ “รัฐประชาชาติ” เกิดขึ้นทั้งในเชิงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ส่งผลต่อภาคอีสาน ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.บทบาทและอำนาจทางการเมืองของกลุ่มเจ้านายท้องถิ่นและข้าราชการในระบอบเก่า 2.ความคาดหวังต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในการปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายใต้ระบอบใหม่ และ 3.การเปิดโอกาสการมีส่วนรวมทางการเมืองของคนทุกชนชั้น
 
จากผลพวงของการศึกษาสมัยใหม่จากการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 มีความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาในมณฑลภาคอีสาน ทำให้เกิด “ปัญญาชนอีสาน” ประกอบด้วย กลุ่มข้าราชการท้องถิ่น ครู พระสงฆ์ นักกฎหมาย คหบดี ชาวบ้านผู้มีภูมิความรู้ ซึ่งพัฒนาตัวเองผ่านการศึกษาสมัยใหม่ที่เปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นเข้าสู่ระบบการศึกษา และคนกลุ่มนี้เป็นต้นทางการสื่อสารแนวคิดประชาธิปไตย
 
กันย์ กล่าวด้วยว่า การเผยแพร่ประชาธิปไตยในอีสาน ระยะแรกนั้นบรรยากาศเป็นการประนีประนอมของกระบวนการทางการเมืองระหว่างกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากระบอบเก่าไปสู่ระบอบใหม่ เป็นการสร้างสมดุลอำนาจ โดยลักษณะสำคัญที่จะมีการสืบสานแนวคิดประชาธิปไตยนั้นคือการไม่สนองตอบต่อยุคสมัยของระบอบเก่า ควบคู่ไปกับการส่งเสริมภาพลักษณ์และสถานะของระบอบใหม่ รวมทั้งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อระบอบใหม่เองด้วย และมีความพยายามผลักดัน ยกสถานะตนเองของปัญญาชนเข้าสู่วงการเมืองระดับชาติซึ่งก็คือ “ส.ส.อีสาน”
 
 
บางทัศนะจาก “ปัญญาชนอีสาน”  ต่อ “การปฏิวัติ 2475”
 
นิสิตจากภาควิชาประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่าง ทัศนะของปัญญาชนอีสานที่มีต่อการปฏิวัติ 2475 โดยตัวอย่างแรกคือ รองอำมาตย์โทขุนพรมประศาสน์ (วรรณ พรหมกสิกร) ข้าราชการท้องถิ่น ชาว อ.พนา ซึ่งสมัยนั้นขึ้นกับ จ.อุบลราชธานี แต่ปัจจุบันคือ จ.อำนาจเจริญ ซึ่งได้มีงานเขียนหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียง 3 เดือน (ธ.ค.2475) ชื่อ “เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยาม” เขียนเป็นคำกลอนภาษาไทยภาคอีสาน โดยมีการพูดถึงสภาพเหตุการณ์ บรรยายถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ และหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งน้ำเสียงและถ้อยคำแสดงออกถึงการประนีประนอมระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่
 
“...แต่ก่อนพุ้นคนบ่คือกัน มันบ่คือสมัยเดียวนี้ แต่ก่อนกี้บ้านข้อนเมืองฮอม แต่ย่อมมีอาณาเขตกว้าง ในหลวงตุ้มปกครองคือลูก... บัดนี้บ้านเมืองข้อนคนดีฮู้มาก ให้ยากยุ่งหลายอย่างนานา ปูปลาอึดขาดเขินวังน้ำ ซ้ำลำบากการค้าขาย บ่สมหมายหากินลำบาก ทุกข์ยากแค้นผิดจากปางหลัง บ่สมหวังรัฐบาลเก่า คือพระเจ้าผู้อยู่เหนือหัว ทรงปิ่นปัวแก้มาหลายทอด บ่ตลอดหนักหน้าตื่มแถม แฮมปีมาไพร่เมืองฮ้อนเดือด เฮาอย่าเคียดว่าพระกษัตริย์ เป็นผู้จัดให้เฮาเดือดร้อน บ้านเมืองข้อนหากเป็นไปเอง...”
 
ปัญญาชนอีกคน หนึ่งที่กันย์กล่าวถึง คือ อ่ำ บุญไทย อดีตข้าราชการครู ที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมือง โดยเสนอตัวเป็น ส.ส.อุบลราชธานี ในการเลือกตั้งครั้งแรกใน พ.ศ.2476 เขาได้เขียนหนังสือ “กฤดาการบนที่ราบสูง” ซึ่งเป็นเอกสารแนะนำตัวเพื่อสมัครเป็น ส.ส.ที่มีความหลากหลายมาก ประกอบไปด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ ศาสนา เศรษฐกิจ และแม้กระทั่งปรัชญา ซึ่งแสดงถึงคามเป็นผู้รู้กว้างขวางของเขาเอง โดยในแง่การให้ความหมายของการปฏิวัติ 2475 ยึดโยงกับประวัติศาสตร์โลกที่แบ่งเป็น 2 ช่วงคือสมัยอำนาจกษัตริย์กับสมัยอำนาจประชาชน ซึ่งการเปลี่ยนผ่านระหว่าง 2 ช่วงนี้ คือ ประชาชนจะมาช่วยจัดการบ้านเมืองกับกษัตริย์ โดยเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเองในการใช้อำนาจนั้นร่วมกับกษัตริย์
 
 
“... (ง) สมัยอำนาจกษัตริย์ ผู้ชกเก่ง ต่อยเก่ง คิดเก่ง รบเก่งได้ตั้งตัวเป็นหัวหน้า ใช้หลักของผีหรือพระเจ้าและของศาสนาหรือศาสดาคุมกันเข้ากับแนวความคิดและประเพณีนิยมเป็นหลักกฎหมาย มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองอย่างพ่อใหญ่ดูแลทุกข์สุข มีข้าราชการแบ่งแยกงานไปช่วยทำแทนหูแทนตา...(จ) สมัยอำนาจประชาชน ต่อมาฝูงชนฉลาดขึ้น จึงเข้าช่วยคิดอ่านจัดการบ้านเมืองร่วมมือกับกษัตริย์ตามความต้องการของประชาชน เลือกตั้งผู้แทนเข้าออกเสียงแทนตน เพราะจะไปประชุมทุกคนไม่ได้ด้วยว่าเป็นจำนวนมากไม่มีที่พอ...บัดนี้เราเดินทางมาถึงอำนาจประชาชน และท่านจะใช้เสียงเลือกผู้เป็นปากเสียงแทนท่าน...”
 
การเสนอในลักษณะดังกล่าว สอดคล้องกับระบอบ “Limited monarchy” นั่นคือการพยายามจำกัดอำนาจของกษัตริย์ลง แต่ไม่ได้พยายามทำให้รัฐเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง นอกจากนั้นอ่ำยังเสนอต่อมาในหนังสือดังกล่าวว่า ต้องการให้สถาบันกษัตริย์ไทยมีความสำคัญเทียบเท่าสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่น ซึ่งการเสนอโมเดลนี้น่าสนใจว่ารัฐธรรมนูญในสมัยนั้นของญี่ปุ่นคือรัฐธรรมนูญเมจิ ยังให้อำนาจกับจักรพรรดิญี่ปุ่นอย่างมาก ทั้งในแง่การควบคุมการทำงานของสภาได้เอท และในแง่การบังคับบัญชากองทัพ ซึ่งหมายความว่าสถาบันกษัตริย์จะยังคงมีอำนาจอยู่อย่างน้อย 2 ทางคือ ทางการทหารและทางการบริหาร
 
“แม้ว่าปัญญาชน 2 ท่านนี้จะได้นำเสนอแนวคิดที่ให้ความหมาย หรือว่าให้คุณค่าต่อการปฏิวัติ 2475 แต่ในระยะแรกเราก็ไม่พบปฏิกิริยาหรือแรงสะท้อนกลับมาจากตัวท้องถิ่นเอง ว่ามีการตอบสนอง หรือสื่อสารกลับมาอย่างไรเกี่ยวกับระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าภูมิอีสานเองจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญหลังการปฏิวัติ 2475 นั่นคือกบฏบวรเดชในปี 2476 ซึ่งมีฐานการก่อการส่วนใหญ่อยู่ที่ภูมิภาคอีสาน ซึ่งเราก็จะเห็นบรรยากาศในช่วงนั้นว่า คนในภาคอีสานก็มีส่วนร่วมในการปราบกบฏ มีความตื่นตัวที่จะช่วยรัฐบาลในการส่งข่าว ส่งกำลังบำรุงต่างๆ ให้รัฐบาลคณะราษฎร แต่เราก็ไม่สามารถประเมินได้ว่าการทำเช่นนั้นเป็นการตอบรับต่อระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อาจเป็นเพียงการตอบสนองต่อรัฐบาลในภาวการณ์สู้รบหรือสงครามเท่านั้น” กันย์กล่าว
 
 
“ส.ส.อีสาน” กับการสื่อสาร “แนวคิดประชาธิปไตย”
 
ส่วนในช่วงที่พบเห็นว่าราษฎรหรือสามัญชนในท้องถิ่นมีการตอบสนองต่อการสื่อสารแนวคิดประชาธิปไตยจริงๆ คือหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2476 และการเกิดขึ้นของกลุ่มคนที่เรียกว่า “ส.ส.อีสาน” โดยการสื่อสารแนวความคิดประชาธิปไตยของคนกลุ่มนี้จะเน้นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้สัมผัสบรรยากาศอันเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งกิจกรรมที่คนกลุ่มนี้ได้กระทำในระบบรัฐสภามีอยู่ 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.การเน้นสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ โดยในภูมิภาคอีสานจะเน้นอยู่ 2 เรื่อง คือเงินรัชชูปการ และการจัดเก็บอากรค่านา ซึ่งในช่วงสมัยแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2476-2480 จะพบว่าปัญหาเรื่องเศรษฐกิจในภูมิภาคอีสานถูกหยิบยกมาพูดอย่างมากในรัฐสภา มีการแปรญัตติและอภิปรายกันอย่างกว้างขวางโดย ส.ส.อีสานเอง
 
2.มีการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล และเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย เช่นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญบางมาตราที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางโดยมี ส.ส.สานเป็นผู้นำในการอภิปราย
 
สำหรับการวัดผลการตอบสนองของราษฎรต่อกิจกรรมของคนกลุ่มนี้ กันย์ ชี้แจงว่า สามารถประเมินได้จากการเลือกตั้งในครั้งถัดมา ซึ่งการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2476 ไม่ใช่การเลือกตั้งโดนตรงโดยสมบูรณ์ แต่เป็นการเลือกตั้งโดยผู้แทนตำบลที่ประชาชนเลือกมาให้ไปเป็นตัวแทนออกเสียงเลือก ส.ส. ส่วนการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2480 นั้นเป็นการเลือกตั้งทางตรงโดยสมบูรณ์ ราษฎรทุกคนมีสิทธิออกเสียงเลือกผู้แทนด้วยตนเอง ซึ่งจะพบว่าเหล่าผู้แทนที่ทำหน้าที่เปิดประเด็นถกเถียง หรือดำเนินกิจกรรมในรัฐสภาเพื่อสะท้อนปัญหาของท้องถิ่นจะได้รับการเลือกตั้งกลับมาทั้งหมด
 
“ความคาดหวังต่อผู้แทนของราษฎรในภาคอีสานนั่นก็คือ ความคาดหวังที่ว่าผู้แทนจะต้องทำหน้าที่สะท้อนปัญหาของท้องถิ่นไปสู่วงการการเมืองระดับชาติ ซึ่งจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ก็ตามแต่ แต่ว่าหน้าที่เบื้องต้นของผู้แทนก็คือสะท้อนปัญหาของท้องถิ่นให้ได้” กันย์นำเสนอ
 
 
“กู้ชาติ” แนวคิด “ชาตินิยมประชาธิปไตย” ปลดปล่อยประเทศจากเผด็จการ
 
กันย์กล่าวด้วยว่า ช่วงสำคัญถัดมาซึ่งมีการสื่อสารแนวคิดประชาธิปไตยที่สำคัญอีกช่วงหนึ่ง คือช่วงที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งมีการเข้ายึดครองประเทศไทยของญี่ปุ่น และเกิดขบวนการเสรีไทยขึ้นซึ่งขบวนการเสรีไทยนี้ประกอบด้วยกลุ่ม ส.ส.อีสาน เป็นกลุ่มดำเนินการกลุ่มหลักแยกออกมาต่างหากอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากและมีงานศึกษาจำนวนมาก
 
การสื่อสารแนวคิดประชาธิปไตยของเสรีไทยในภาคอีสาน เน้นการสื่อสารแนวคิด “ชาตินิยมประชาธิปไตย” คือการชูธงการปลดปล่อยชาติ กอบกู้เอกราช อธิปไตย เป็นการกู้ชาติที่เป็นประชาธิปไตยจากการยึดครองของอำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการของญี่ปุ่น ร่วมไปถึงรัฐเผด็จการของไทยเองคือรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และมีการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นแนวร่วม ซึ่งประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรส่วนมากปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทำให้มีความคาดหวังว่าชาตินิยมประชาธิปไตยจะทำให้การกอบกู้ชาติเป็นผลสำเร็จได้ และการเผยแพร่แนวคิดชาตินิยมประชาธิปไตยนี้ก็ทำให้เกิดการขยายตัวของเครือข่ายความร่วมมือของปัญญาชนและราษฎรในอีสานอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทของกลุ่มครูในการฝึกอาวุธต่อต้านญี่ปุ่น การสร้างสนามบินลับเพื่อส่งกำลังบำรุงของฝ่ายพันธมิตร
 
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการสื่อสารแนวคิดทางการเมืองของปัญญาชนอีสานที่มีการแตกขั้วระหว่าง 2 กลุ่มอย่างชัดเจน คือกลุ่มที่เคยเป็นเสรีไทย และกลุ่มที่ไม่ใช่เสรีไทย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางการต่อต้านญี่ปุ่น โดยเฉพาะเมื่อมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 ที่มีการอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมือง กลุ่มคนที่แตกออกเป็น 2 ขั้วพรรคการเมืองอย่างชัดเจน โดยกลุ่มที่เป็นเสรีไทยสายอีสานนั้นเป็นหัวแรงในการก่อตั้งพรรคสหชีพ ที่มีแนวทางทางการเมืองแบบเสรีนิยมและมีแนวทางทางเศรษฐกิจค่อนไปทางสังคมนิยม อันเป็นแนวทางเศรษฐกิจที่ดำเนินรอยตามเค้าโครงทางเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
 
ขณะที่กลุ่มที่ไม่ใช้เสรีไทยได้ไปรวมกลุ่มกับนักการเมืองจากภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคใต้ ภาคกลาง เพื่อก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีแนวทางการเมืองอิงไปในทางอนุรักษ์นิยมเสรีนิยม โดยเฉพาะการส่งเสริมสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์
 
ส.ส.อีสานคนสำคัญ นับจากซ้ายบนคือ  เลียง ไชยกาล ผู้เป็นหัวแรงก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และถัดมาจากซ้ายไปขวาคือ 4 รัฐมนตรีอีสาน เสรีไทยอีสานและผู้ก่อตั้งพรรคสหชีพ ประกอบด้วย ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี เตียง ศีริขันธ์ ส.ส.สกลนคร ซ้ายล่างคือ ถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด และถัดมา จำลอง ดาวเรือง ส.ส.มหาสารคาม
 
ทั้งนี้ สามารถแบ่งการเผยแพร่ประชาธิปไตยในภาคอีสานออกเป็น 3 ช่วงหลักๆ ด้วยกัน หากนับตั้งแต่ พ.ศ.2475 - 2490 นั่นคือ 2-3 ปีแรกมีการให้ความหมายต่อการปฏิวัติ 2475 แบบกลางๆ ต่อมาในระยะที่สองการเผยแพร่ประชาธิปไตยด้วยรูปธรรมของความพยายามแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และการตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างเข้มข้น คือการสะท้อนปัญหาของท้องถิ่นไปสู่วงการการเมืองระดับชาติ และระยะที่สามการเผยแพร่แนวคิดชาตินิยมประชาธิปไตย เน้นการกอบกู้ชาติที่เป็นประชาธิปไตยโดยบทบาทของปัญญาชน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท