Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

25 มิ.ย. เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคำร้อง ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายชาติชาญ ชาเหลา อายุ 25 ปี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าอาคารอื้อจื่อเหลียง ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค.53 ในสมัยรัฐบาลนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยพนักงานอัยการเตรียมพยานเข้าเบิก 2 ปาก คือ พ.ต.อ. สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผบก.น.6 และนางพลอย ขบวนฮาม มารดาของนายชาติชาย โดย พ.ต.อ.สืบศักดิ์ เข้าเบิกความปากแรกสรุปว่า ตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ชุดที่ 3 โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย.54 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ส่งสำนวนมาให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลสอบสวน (บช.น.) สอบสวนต่อ เนื่องจากเชื่อว่าการเสียชีวิตของนายชาติชายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงทำหนังสือยื่นต่อสำนักงานอัยการสูงสุดขอให้ส่งพนักงานอัยการร่วมสืบสวนคดีนี้ด้วย โดยผลการสืบสวนสรุปว่า คดีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. -19 พ.ค.53 โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) เริ่มชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เพื่อขอให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ยุบสภา แต่รัฐบาลไม่ยอมทำตาม กลุ่มผู้ชุมนุมจึงขยายการชุมนุมไปหลายพื้นที่ รวมถึงแยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก นายอภิสิทธิ์จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง แล้วออกคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีคำสั่งให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการ และให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อระงับสถานการณ์รุนแรง รวมทั้งได้ประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ห้ามเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม ห้ามเดินรถโดยสารบางพื้นที่ ห้ามให้บริการรถไฟฟ้าบางสถานี และตัดสาธารณูปโภค

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ เบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุวันที่ 13 พ.ค.53 ศูนย์ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหาร เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมสถานการณ์ โดยกองกำลังทหารชุดดังกล่าวประมาณ 165 นายได้ตั้งด่านแข็งแรงที่บริเวณสะพานลอยหน้าอาคารอื้อจื่อเหลียง มีอาวุธปืนเอ็ม 16 เอ็ม 653 เอชเค ปืนลูกซองกระสุนยาง กระสุนซ้อมรบ และกระสุนจริงประจำกาย ซึ่งนอกจากทหารแล้วผู้อื่นไม่สามารถเข้าไปในบริเวณนั้นได้ ขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากจากแยกถนนวิทยุมุ่งหน้าตรงเข้าหาด่านของทหาร โดยใช้พลุและตะไลยิงเข้าใส่ด่าน เจ้าหน้าที่ทหารจึงใช้ปืนยิงตอบโต้กระทั่งเวลาประมาณ 22.50 น. ขณะที่นายชาติชายซึ่งมาร่วมชุมนุมและถือกล้องวีดีโอยืนถ่ายภาพเหตุการณ์อยู่หน้าบริษัทปริศนา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ใกล้อาคารอื้อจื่อเหลียง ได้ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่หน้าผากด้านขวาทะลุศรีษะ 1 นัด เสียชีวิตที่รพ.จุฬา ภายหลังการเสียชีวิตพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน พร้อมด้วยแพทย์นิติเวช พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ร่วมกันชันสูตรพลิกศพปรากฏว่า นายชาติชายถูกกระสุนความเร็วสูงยิงเข้าที่ศรีษะทำลายอวัยวะสำคัญเป็นเหตุให้เสียชีวิต และจากการตรวจสอบพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุพบเศษชิ้นเนื้อ เส้นผม คราบเลือดของผู้ตาย และเศษหัวกระสุนตกที่พื้นใกล้จุดที่นายชาติชาย ผู้ตายล้มลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนตรวจพิสูจน์พบเพียงแค่รอยแนววิถีกระสุนที่นายชาติชายถูกยิง และยืนยันว่าเป็นกระสุนความเร็วสูง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระสุนชนิดใด เนื่องจากเศษกระสุนเสียสภาพมาก อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมพยานเอกสารหลักฐาน ประจักษ์พยานแล้วไม่พบชายชุดดำปะปนกับผู้ร่วมชุมนุม จึงเชื่อว่านายชาติชายเสียชีวิตเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ  ภายหลังศาลไต่สวนพยานปาก พ.ต.อ.สืบศักดิ์ เสร็จสิ้นแล้ว ศาลได้ไต่สวนนางพลอยต่อ และนัดไต่สวนครั้งต่อไป 23 ก.ค. นี้ และให้คู่ความทั้งสองฝ่ายส่งเอกสารทั้งหมดให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติม

ด้านเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานการไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการชันสูตร ศพ ของนายชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้ร่วมชุมนุมในกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553

โดยในวันนี้พนักงานอัยการนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 2 ปากประกอบด้วย นางศิริพร เมืองศรีนุ่น ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ และ นายไชยวัฒน์ พุ่มพวง ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่น ซึ่งเคยได้รับบาดเจ็บจากการทำข่าวสถานการณ์การชุมนุม

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความกล่าวภายหลังไต่สวนว่า วันนี้พยานคนแรกคือ นาง ศิริพร เมืองศรีนุ่น ขึ้นเบิกความถึงขั้นตอนระเบียบในการสลายการชุมนุม และคำสั่งของการปฏิบัติการของทหารในการสลายการชุมนุม ส่วนพยาน ปากที่ 2 นายไชยวัฒน์ เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่าวิถีของกระสุนปืนถูกระดมยิงมาจากทางฝั่งที่มีทหารประจำการอยู่ และตัวของพยานเองก็โดนกระสุนยิงเข้าที่ขา และเห็นตอนนายชาญณรงค์ผู้เสียชีวิตถูกยิงด้วย

ภายหลังเมื่อหมดเวลาราชการนายไชยวัฒน์ยังเบิกความไม่เเล้วเสร็จ ศาลจึงนัดไต่สวนอีกครั้งวันที่ 2 ก.ค.นี้ เวลา 09.00น. โดยอัยการจะนำพยานเบิกความในเพิ่มเติมอีก 3 ปาก คือ นายสรศักดิ์ ดุจปรีชา และนักข่าวอีก 2 คน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในที่เกิดเหตุ เเละนายไชยวัฒน์ มาเบิกความเพิ่มเติม รวมเป็น 4 ปากในครั้งหน้าด้วย

 

 

......................
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์, เว็บไซต์กรุงเทพธรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net