Skip to main content
sharethis

ในทางทฤษฎีด้านสื่อสารมวลชน แนวความคิดในการนิยามความหมายของสื่อสารมวลชนที่ได้รับการยอมรับชุดหนึ่งคือสื่อนั้นคือตัวกลางในการนำความคิด อุดมการณ์ ส่งสารจากปัจเจกหรือกลุ่มคนไปสู่ยังผู้รับสาร จุดมุ่งหมายย่อมต้องการบอกกล่าวให้ผู้ที่ได้เห็นสารนั้นเป็นไปดั่งวัตถุประสงค์ไม่ว่าจะคล้อยตามหรือต่อต้าน

สื่อภาพยนตร์มิได้มีเพียงบทบาทในการให้ความบันเทิงประโลมโลกย์ตามโรงภาพยนตร์เพื่อให้คนหลุดลอยออกจากห้วงแห่งความจริงเท่านั้น ตลอดช่วงอายุที่ถือกำเนิดขึ้นมา ภาพยนตร์มีโอกาสกลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญสำหรับเป็นกระบอกเสียงบอกกล่าวข่าวสาร ถูกใช้เป็นกลจักรปลุกเร้าอุดมการณ์ สร้างภาพดีให้กับฝ่ายตนและสร้างภาพฝ่ายมารให้กับศัตรู ตลอดช่วงเวลาที่สงครามและความเห็นต่างเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

แม้ทุกวันนี้อาจจะไม่มีผู้กำกับคนใดเลือกเล่าความคิดของเขาออกมาตรง ๆ ซื่อ ๆ แบบหนังข่าวในอดีต ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคนิคทางภาพยนตร์ทำให้กลวิธีการนำเสนอแยบคายขึ้น ผู้ชมอาจจะต้องตีความกันอย่างพินิจพิเคราะห์มากกว่าหนังข่าว บ้างต้องวิเคราะห์สัญญะกันหนักหน่วงเพื่อเชื่อมโยงไปสู่แก่นความคิดของผู้กำกับ ทั้งนั้นบทบาทของภาพยนตร์ในแง่เป็นตัวกลางนำความคิดไปสู่คนดูยังคงเสมอต้นเสมอปลาย

--------------------------

ในประเทศไทยนั้น เป็นที่รู้กันดีว่าการพูดถึงเรื่องการเมืองในภาพยนตร์อย่างจริงจังดูจะเป็นเรื่องที่ ‘เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง’ นอกจากจะเสี่ยงในแง่หาทุนมาทำหนังไม่ได้แล้ว ยังมีโอกาสถูกเซนเซอร์ไปจนถึงแบนห้ามฉาย อย่างไรก็ดีนับแต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมามีภาพยนตร์ไทยไม่น้อยที่ใส่บรรยากาศความอึมครึมทางการเมืองไว้

แม้หนังจะพูดเรื่องการเมือง ทว่าเมื่อลองมองลึกเข้าไปสำรวจถึงแนวคิดประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นประเด็นหลักก็น่าชวนตั้งข้อสงสัยอย่างยิ่งว่ามีหนังไทยสักเรื่องหรือไม่ที่พูดถึงประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจัง แนวคิดประชาธิปไตยที่ว่านี้คือการพูดถึงหลักการพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค หรือการตั้งคำถามต่อระบบคิดทางการเมืองต่าง ๆ รวมไปถึงความยอมรับความคิดต่างที่เกิดจากการถกเถียงด้วยเหตุผล

เอาเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา ไม่มีภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนพูดถึงเรื่องเสรีภาพ ไม่มีใครแตะต้องความเสมอภาค จะมีบ้างก็ในสายหนังสั้น ผลงานรางวัลรัตน์ เปสตันยีอย่างน้อยสองเรื่อง คือ คุณแม่อยากไปคาร์ฟูร์ ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ และ I’m Fine สบายดีค่ะ ของ ธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ ทว่าเรื่องแรกก็พูดถึงสภาพสังคมที่เกิดขึ้นในวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 หลังจากมีการประกาศเคอร์ฟิว ส่วนเรื่องหลังน่าจะใกล้เคียงแนวคิดประชาธิปไตยเป็นพิเศษเมื่อธัญญ์วารินตั้งคำถามถึงคนไทยที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพทว่ากลับไม่รู้สึกว่านั่นคือความทุกข์ร้อน (ทั้งสองเรื่องหาชมในทาง youtube)

ถ้าเช่นนั้นเราพบอะไรในหนังไทย (โดยเฉพาะหนังที่ฉายตามโรง) ที่พูดเรื่องการเมือง

---------------------------

เมื่อสำรวจดูภาพยนตร์ไทยคร่าว ๆ หลังรัฐประหาร ความคิดเรื่องนักการเมืองเลวกลายเป็นประเด็นที่คนหลายกลุ่มสมาทานยอมรับ พวกเขาเชื่อว่านักการเมืองเลวนั้นคือปมปัญหาทุกสิ่ง หากกำจัดนักการเมืองเลวทิ้งย่อมเป็นเรื่องดี นอกจากนั้นพวกเขายังสมาทานความดีของบุคคล และเชื่อว่าตนนั้นคือคนดีทว่ายินยอมให้ใช้วิธีการใดก็ได้ในการกำจัดนักการเมืองเลวด้วยการสังหารทิ้ง

ความคิดเช่นนี้ปรากฎในภาพยนตร์หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ฝนตกขึ้นฟ้า ของเป็นเอก รัตนเรือง, เฉือน ของก้องเกียรติ โขมศิริ, หมาแก่อันตราย ของยุทธเลิศ สิปปภาค และอินทรีแดงของ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง

สิ่งที่มีคล้ายกันในหนังทั้งสี่เรื่องคือมีตัวละครที่เป็นนักการเมืองผู้โกงกินคอรัปชั่น ตัวเอกในเรื่องรับหน้าที่เป็นศาลเตี้ยขอพิพากษาเหล่านักการเมืองเลวพวกนี้ด้วยเหตุผลนานา ในฝนตกขึ้นฟ้า ตัวเอกขอเป็นนักฆ่าเพราะยอมไม่ได้กับนักการเมืองเลว แถมยังอ่านจดหมายประหนึ่งประกาศ manifesto ของผู้กำกับกันอย่างจะแจ้ง ในเฉือน ‘ไท’ พระเอกของเรื่องก็สังหารนักการเมืองเลวที่ชอบเสพสุขกับเด็ก ส่วนหมาแก่อันตราย เป้ อูซี่ สาธยายด่าหัวคะแนนที่กำลังซื้อเสียงก่อนจะลงมือยิงกราดอย่างเลือดเย็น ส่วนอินทรีแดง เขาแก้แค้นนักการเมืองเพราะนักการเมืองทำให้ชีวิตเขาป่นปี้

อินทรีแดงอาจจะไปไกลกว่าคนอื่นหน่อยตรงที่นักการเมืองเลวเหล่านั้นแท้ที่จริงมีองค์กรลับชักใยอยู่เบื้องหลัง (ในเรื่องชื่อองค์กรมาตุลี) วิศิษฐ์อาจต้องการบอกว่าแท้จริงเหนือขึ้นไปอาจจะมีเรื่องลับซับซ้อนที่ซ่อนตัวควบคุมในเบื้องหลัง และคนเหล่านั้นอาจจะเป็นใครที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้

เราจะเห็นภาพนักการเมืองเลวเช่นนี้ถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อย ๆ โดยแทบไม่มีการตั้งคำถามกับเหล่าบรรดาตัวเอกเลยว่าในยุคนี้แล้วการใช้วิธีแบบศาลเตี้ยนั้นชอบธรรมแล้วจริงหรือ แม้บรรดานักการเมืองจะเลวจริงแต่วิธีการกำจัดถึงชีวิตเป็นสิ่งที่ควรทำแล้วใช่ไหม

แล้วบรรดาตัวละครที่ตัดสินคนอี่นว่าเลวนี่ตนเองดีขนาดไหน แล้วถ้าเป็นคนดีจริงสามารถไปทำกับคนอื่นแบบนี้ได้หรือไม่ แล้วเราจะวัดความดีของคนว่าดีเลวต่างกันได้อย่างไร

ในทัศนะส่วนตัว ผู้เขียนเชื่อว่าหนังเหล่านี้กลายเป็นภาพสะท้อนระบบคิดของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่มักบอกว่าตัวกูดี ตัวมึงเลว ดังนั้นเมื่อกูเป็นคนดี กูย่อมมีสิทธิ์กำจัดคนเลวอย่างมึงด้วยวิธีไหนอย่างไรก็ได้ ไม่น่าแปลกที่เราจะเห็นคนพวกนี้เรียกร้องในทหารออกมาปฏิวัติ เรียกร้องและยินดีให้ทหารยิงผู้ชุมนุมกลางราชประสงค์ ด้วยความรู้สึกว่าพวกคนเลวตายไปไม่กี่คนคงทำให้แผ่นดินเบาขึ้น

เมืองไทยไม่ต้องการหนังฮีโร่ที่ออกมาจัดการผู้ร้ายเพราะกฎหมายช่วยอะไรไม่ได้แล้ว เราต้องการหนังที่ทบทวนระบบว่าทำไมถึงจัดการกับเหล่าร้ายไม่ได้มากกว่า แต่หนังแบบนี้ทำไปโอกาสเจ๊งสูง สู้ทำหนังฮีโร่เชิดชูคุณธรรมไม่ได้ แถมนายทุนก็คงให้ทุนยาก ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อยที่เราก็คงเห็นนักการเมืองถูกฆ่าในหนังไทยต่อไปเรื่อย ๆ

 

หมายเหตุ

เนื้อหามาจากบางส่วนในงานเสวนาเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยในภาพยนตร์ไทย จัดโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net