Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เปิดดูคำสัมภาษณ์ประธานศาล รธน. เปิดดูจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ "ข้อ 7 ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้วินิจฉัย”

ไม่น่าเชื่อข่าวที่รายงานใน Manager Online ว่าเป็นคำพูดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรายงานข่าวได้บอกว่าเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการจัดการสัมมนาบทบาทของสื่อมวลชน ในการพัฒนาระบบนิติรัฐและนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย. ที่โรงแรม แกรนด์แปซิฟิก ซอฟเฟอริน รีสอร์ท แอนด์ สปา ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อให้สื่อมวลชนมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่การนำเสนอข่าวสารให้สาธารณชนรับทราบในผลการดำเนินงานศาลรัฐธรรมนูญ(???)

ซึ่งนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดเผยในงานสัมมนาว่า การจัดงานพบสื่อไม่ใช่เป็นการจัดเพื่อหาเสียงให้สื่อหันมาสนับสนุน เพราะสื่อถล่มศาลรัฐธรรมนูญอยู่ทุกวัน แต่มีเป้าหมายเป็นการสร้างความเข้าใจบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน การที่ว่าสื่อต้องทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน เรื่องนี้ยาก เพราะสื่อบางครั้งก็ยังไม่เข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลา 44 ปีที่ตนเองทำงานด้านกฎหมายมา จะว่าเป็นคนมืออ่อนหรืออย่างไรก็ว่ากันไป แต่ตลกที่มีคนที่ไม่ได้จบกฎหมายออกมาวิจารณ์ด่าศาลรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ มันก็เป็นเรื่องแปลก ดังนั้น สื่อไม่ได้ทำตัวนำเสนอความคิดเห็นในหลายด้าน

“ขอนำคดีที่อยู่ในความสนใจขณะนี้ เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำฟ้องกรณี รัฐบาล รัฐสภา กำลังยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 68 เราก็ไปดูการพิจารณาของสภาวาระที่ 3 ก็เห็นว่าเป็นไปได้เหมือนกัน เพราะรัฐสภาชุดนี้พิจารณากฎหมายแบบขายขาด แล้วโยนภาระให้ ส.ส.ร. ก็ต้องเสียเงินเลือกตั้ง ส.ส.ร.มาให้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีกรอบว่าไม่แตะต้อง หมวด 1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์) ต้องไม่แตะนะ ถ้าเขาร่างมาแล้วแตะล่ะ ใครจะทำไม อ๋อไม่เป็นไรมีประธานสภาเป็นผู้วินิจฉัย แต่ถ้าประธานสภาเห็นว่าให้ลงมติเลย เวลานั้นศาลรัฐธรรมนูญจะทำอะไรได้อีก เพราะเมื่อมีผลเป็นการลงประชามติไปแล้ว ผมขอย้ำเลยว่าถ้าเชื่อถือในบุคคล ก็ไม่ต้องมีกฎหมาย” นายวสันต์ กล่าว

นายวสันต์ กล่าวว่า เมื่อมีข้อกล่าวหาว่าล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ เวลานี้ตนเองยังไม่เห็นว่าจะมีใครออกมาปฏิเสธสักคำ มันจึงเป็นเรื่องตลกเมื่อโจทย์ยื่นฟ้องจำเลย แทนที่จำเลยจะชี้แจงข้อกล่าวหา กลับมาเล่นงานศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าแปลกมาก

(ที่มา http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000076949)

จากข่าวที่ปรากฏข้างต้นสามารถวินิจฉัยได้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ คนไม่ได้จบกฎหมายวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

คำวินิจฉัย คือ ทำไมจะวิจารณ์ไม่ได้เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน และแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเองก็มีตุลาการที่ไม่ได้จบกฎหมายเช่นกัน เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2คน ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ตามมาตรา 204(4) และมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 50 นี่เอง

ประเด็นที่สอง คือ การให้ความเห็นว่าเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำฟ้องกรณี รัฐบาล รัฐสภา กำลังยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 68 เราก็ไปดูการพิจารณาของสภาวาระที่ 3 ก็เห็นว่าเป็นไปได้เหมือนกันนั้นขัดต่อประกาศศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง จริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2548 หรือไม่ ซึ่งเราต้องมาดูกันว่าประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ว่าอย่างไร

ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ ดังต่อไปนี้

“ข้อ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร

ข้อ 2 รักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ

ข้อ 3 ยึดมั่นความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสหรือการกดดันใด ๆ

ข้อ 4 รักษาความลับในการประชุมปรึกษาอย่างเคร่งครัด

ข้อ 5 เคารพในมติและเหตุผลในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก

ข้อ 6 ระมัดระวังในการให้คำปรึกษาแก่บุคคลภายนอกในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อ 7 ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย”

คำวินิจฉัย การที่ให้ความเห็นเช่นนี้น่าจะเข้าข่ายตามข้อ 7 ในการที่ต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว มิหนำซ้ำความเห็นที่แถลงต่อสื่อมวลชนในคราวนี้น่าจะก้าวล่วงเข้าไปในเนื้อหาแห่งคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประโยคที่ว่า “เป็นไปได้เหมือนกัน” นั่นเอง

แล้วจะทำอย่างไร
คงไม่ต้องทำอะไรสำหรับประเด็นที่หนึ่ง แต่สำหรับประเด็นที่สองนั้นเมื่อเห็นว่าน่าจะเข้าข่ายขัดต่อประกาศศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยจริยธรรมแล้ว ย่อมเข้าข่ายตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่บัญญัติว่า

“ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้”

ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้มีสิทธิตามมาตรา 271 ซึ่งก็คือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนเข้าชื่อต่อประธานวุฒิสภาเพื่อพิจารณาว่าจะเข้าข่ายต้องถูกถอดถอนหรือไม่ อย่างไร ต่อไป

เมื่อพิจารณาตัดสินคนอื่นให้พ้นจากตำแหน่งได้ ก็ย่อมถูกพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งได้เช่นกันครับ ว่าแต่ว่าผู้มีสิทธิเข้าชื่อนั้นจะทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง เพราะลำพังเพียงการถามหาจริยธรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบคงใช้ไม่ได้ผลในกรณีนี้เป็นแน่

 

------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 27 มิถุนายน 2555

 

 

 

 

 

-- 

CHUWAT RERKSIRISUK

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net