กอ.รมน.ชี้สถานการณ์ "สามจังหวัดชายแดนใต้" ดีขึ้น เล็งทยอยยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วงสานเสวนา กอ.รมน. ชี้ตั้งแต่เกิดปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ เปลี่ยนรัฐบาลมา 6 ชุด ทำนโยบายเปลี่ยนตลอด ส่งผลกระทบระดับปฏิบัติงาน คนในพื้นที่ ถามกรณีโยกย้าย ขรก.ใน สมช. ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทเรื่องเจรจา เท่ากับรัฐไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ใช่หรือไม่

(27 มิ.ย.55) ในการสานเสวนาเครือข่ายชายแดนใต้ หัวข้อ "ความก้าวหน้าในการเข้าถึงความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนภายใต้สถานการณ์ขัดแย้ง" จัดโดย มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ร่วมกับสหภาพยุโรป มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ณ ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ถ.วิทยุ

อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ไม่พูดถึงเรื่องนี้ ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน ก็ยิ่งต้องถกและแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาที่กล่าวถึงกันมากคือ เรื่องธรรมาภิบาล การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถึงแม้ไม่ใช่รากเหง้าของปัญหา แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นได้ จึงหวังว่าการสานเสวนาวันนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้

นอกจากนี้ อมราแสดงความเห็นต่อมาตรการเยียวยาตามมติ ครม.ว่า แม้จะเริ่มจากเพื่อช่วยเหลือกลุ่ม นปช. แต่ก็มีผลถึงภาคใต้ด้วย ซึ่งก็น่ายินดีและน่าจะช่วยคลี่คลายความเดือดร้อนลงได้มาก

ด้าน พลตรีนักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวในหัวข้อ "ความร่วมมือระหว่างพลเรือนและกองทัพในด้านความมั่นคงของมนุษย์ภายใต้สถานการณ์ขัดแย้ง" ว่า ประเทศจะมีความมั่นคงได้ รัฐบาลจะต้องมีเสถียรภาพ เพื่อมีนโยบายที่ต่อเนื่อง แต่กรณีประเทศไทยนั้น 8 ปีที่ผ่านมา มีรัฐบาลทั้งสิ้น 6 รัฐบาล ถามว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร โดยชี้ว่า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล จะมากหรือน้อย นโยบายก็เปลี่ยนตาม กระทบกับคนทำงานในพื้นที่ ไม่ว่าด้านงบประมาณ แผนงาน หรือวิธีการ

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าขณะนี้มีแนวโน้มที่พัฒนาดีขึ้น โดยมีตัวชี้วัดคือ สถิติความรุนแรงที่ลดลง หากแต่มีปัญหาคือสื่อไทยยังมีเสรีภาพมาก ทำให้เสนอข่าวแบบไม่วิเคราะห์ เช่น รายการตอนเช้าที่อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์และเน้นเรื่องของอารมณ์ ทำให้คนเชื่อตามนั้น นอกจากนี้ ตัวชี้วัดยังดูได้จากการให้ความร่วมมือของประชาชน ที่จะเห็นได้ว่ามีม็อบลดลงตามลำดับ การที่ประชาชนใช้ชีวิตปกติ ออกมาร่วมงานเทศกาลต่างๆ เริ่มไปมาหาสู่กันในตอนกลางคืน ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นในความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า แม้จะบอกว่ามีแนวโน้มที่ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ดีนัก เนื่องจากยังมีผู้เสียชีวิต และแม้จำนวนผู้เสียชีวิตรวมสามจังหวัดจะน้อยกว่าจังหวัดใหญ่ๆ แต่เพราะเป็นเรื่องความมั่นคง ทำให้ภาพออกมารุนแรง

พลตรีนักรบ กล่าวว่า ปัญหาภาคใต้นั้นจะแก้ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาคประชาชนว่าจะแข็งแรงและเป็นตัวแทนของรัฐได้แค่ไหน พร้อมระบุว่า ขณะนี้ตนเองก็ได้ติดตามการเคลื่อนไหวต่างๆ ของภาคประชาชนอยู่

ส่วนการยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดนั้น พลตรีนักรบ กล่าวว่า อยู่ระหว่างพิจารณาเป็นรายหมู่บ้าน อำเภอและตำบลไป โดยมีแนวโน้มที่จะทยอยยกเลิกไปเรื่อยๆ อาศัยตัวชี้วัด ได้แก่ สถิติการเกิดเหตุรุนแรงว่าคงที่หรือไม่ โครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อเหตุยังมีตัวตนหรือเคลื่อนไหวในพื้นที่หรือไม่ และประชาชนในพื้นที่เข้มแข็งพอที่จะปกป้องตัวเองได้หรือไม่

 


ถามหาความชัดเจนเจรจากับผู้เห็นต่าง

ขณะที่ อาเต็ฟ โซ๊ะโก ผู้ประสานงานสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา แสดงความเห็นว่า ถ้าสังเกตจริงๆ คู่ต่อสู้หลักในพื้นที่คือ Pattani Liberator ที่อ้างว่าตัวเองตกอยู่ภายใต้การยึดครองของรัฐไทย ตั้งแต่ปี 2328 เป็นต้นมา การต่อสู้ของพวกเขามีมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่มากน้อยในต่างช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้สังเกตคือกลุ่ม Pattani Liberator กำลังต่อสู้อยู่คือรัฐไทย ไม่ใช่รัฐบาลหรือทหาร การออกกฎหมายให้ผู้หลงผิดมากลับใจนั้นใช้ไม่ได้ พร้อมย้ำว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดนั้นเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะอีกนานสักเพียงใด ความต้องการเอกราชของคนในพื้นที่โดยมีขบวนการนี้เป็นคนนำหลัก ไม่ว่าจะมีมากหรือน้อยก็ยังมีอยู่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องหาแก้จึงคือ ทำอย่างไรให้ความคิดที่ต่างกันมากระหว่างปัตตานีกับกรุงเทพฯ ให้ความขัดแย้งดำเนินไปได้โดยไม่เกิดแรงปะทะชนิดที่จะส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนทั่วไป ซึ่งเขามองว่าทางออกคือการเจรจาพูดคุย

อย่างไรก็ตาม เขามองว่ายังไม่เห็นความชัดเจนว่าตกลงแล้วรัฐไทยต้องการอะไร โดยระบุว่า ในการประชุม ครม. วานนี้ (26 มิ.ย.) ปรากฏว่ามีการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการบางคนในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเรื่องการเจรจามาตลอด จึงเกิดคำถามว่า การเปลี่ยนตัวนั้นเท่ากับการไม่ยอมรับแนวทางที่ผ่านมาใช่หรือไม่ และวิจารณ์ด้วยว่ารัฐไทยควรจะต้องมีเอกภาพมากกว่านี้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท