Skip to main content
sharethis

สุทธิพลระบุต่างชาติต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย แข่งขันโดยเสรีได้ แต่ต้องกระทำอย่างเป็นธรรมด้วย ย้ำกสทช.จะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน

สุทธิพล ทวีชัยการ 

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม  เปิดเผยว่า  จากการที่สำนักงาน กสทช. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. ไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา  โดยมีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่อ (ร่าง) ประกาศดังกล่าวนั้น ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่ที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ครบถ้วนในลักษณะอัตวิสัยทำให้เกิดความสับสนให้กับนักลงทุนต่างชาติ จนกลายเป็นประเด็นทำให้ผู้แทนของสหภาพยุโรปมีหนังสือถึงกสทช.และหน่วยงานระดับสูงของไทย และขอเข้าพบตนในวันนี้ ซึ่งข้อห่วงใยหลายเรื่องเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจำเป็นต้องอธิบายทำความจริงให้ปรากฏ ทั้งนี้ตนเห็นว่าถ้าคนไทยทุกฝ่ายคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ความสับสนต่างๆคงจะไม่เกิดขึ้น

จึงขอชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 47 กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน แม้จะต้องคำนึงถึงการแข่งขันโดยเสรีก็ตาม แต่การแข่งขันดังกล่าวก็ต้องดำเนินการฯอย่างเป็นธรรม  โดยยึดหลักผลประโยชน์สูงสุดของชาติเป็นสำคัญ การจัดทำร่างประกาศครอบงำกิจการฯ เป็นการออกหลักเกณฑ์ตามกรอบอำนาจของกฎหมายที่มีอยู่เพื่อกำกับดูแลการประกอบกิจการ

ธุรกิจโทรคมนาคมของคนไทย เพื่อมิให้คนต่างด้าวเข้ามาใช้อำนาจเกินสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้ถือหุ้นได้ไม่เกิน 49%  อันเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย และผลประโยชน์ของชาติ โดยที่ไม่ได้ไปสกัดกั้นคนต่างชาติไม่ให้เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย กล่าวคือ เข้ามาได้ แต่คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติไทย การไปใช้จึงต้องระมัดระวังไม่ให้เกินกรอบที่กฎหมายไทยอนุญาต และที่สำคัญต้องยึดหลักบรรษัทภิบาล และไม่ดำเนินการใช้สิทธิในลักษณะเป็นการเลี่ยงกฎหมาย อันทำให้การแข่งขันเกิดความไม่เป็นธรรม

ในการหารือกับคณะผู้แทนของอียูในวันนี้ ( 28 มิถุนายน 2555) ซึ่งตนก็ได้ให้ความกระจ่างในหลักการของการจัดทำ ร่างประกาศฉบับนี้อย่างตรงไปตรงมา ว่า แนวทางในการคงประกาศนี้ไว้โดยปรับปรุงแก้ไขเป็นวิธีการที่ดีที่สุดและเกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด เพราะหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและชั่งน้ำหนักพิเคราะห์ข้อมูลต่างๆด้วยความระมัดระวัง ยังไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะไปยกเลิกประกาศนี้ แต่พบว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงประกาศฯให้เกิดความชัดเจน โดยไม่ให้เกิดปัญหาที่จะมีผู้โต้แย้งว่าเปิดให้กสทช.ใช้ดุลพินิจกว้างเกินไป และเพื่อมิให้เกิดปัญหาเรื่องการขัดต่อพันธกรณีของประเทศไทย กสทช.จึงดำเนินการในแนวทางดังกล่าว โดยในกระบวนการแก้ไขก็ได้ใช้นักกฎหมายหลายท่านที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินการ และได้รับฟังความคิดเห็นทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร จึงขอสรุปว่าร่างประกาศนี้ไม่ได้ไปสกัดกั้นการลงทุนอย่างเสรี ไม่ได้ขัดต่อพันธกรณีที่ไทยไปทำไว้กับองค์การการค้าโลก ไม่ใช่มาตรการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจเข้ามาแข่งขันประมูลคลื่นความถี่ 3 G แต่เป็นการป้องปรามมิให้มีการฉวยโอกาสเข้ามาประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้ที่เขาปฎิบัติตามกฎหมาย ฉะนั้น หากบริษัทต่างชาติหรือบริษัทไทยปฏิบัติตามกฎกติกา โดยไม่ใช้ช่องทางในการเอาเปรียบเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตแล้วก็ไม่ต้องห่วงว่าจะได้รับผลกระทบในทางลบจากการใช้ประกาศนี้

ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ร่าง ประกาศฉบับนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องการเตือนสติคนไทยด้วยกันเองว่าการวิพากษ์วิจารณ์และการสื่อสารต่อต่างชาติขอให้กระทำด้วยความระมัดระวังและศึกษาข้อมูลให้รอบด้านเสียก่อน เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหวและอาจส่งผลเป็นการชักศึกเข้าบ้าน แม้อาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ทั้งนี้ขอให้คำนึงว่าเราทุกคนเป็นคนไทย แม้จะสวมหมวกประกอบอาชีพใดก็ยังคงเป็นคนไทยและต้องทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ

สำหรับล่าสุดที่มีการหยิบยกประเด็นในเรื่องของการกำหนด“นิยามของคนต่างด้าว” ว่ามีความเข้มงวดเกินกว่า พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 นั้นก็เกิดจากการที่ผู้วิจารณ์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน เนื่องจากตามร่างประกาศนี้ การเป็นคนต่างด้าวหรือไม่นั้น บอร์ดกสทช. หรือ บอร์ด กทค.มิได้เป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่าผู้ประกอบการรายใด หรือบริษัทใดเป็นบริษัทต่างด้าวหรือไม่ เพราะเป็นการใช้นิยามของคนต่างด้าวตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ทั้งร่างประกาศนี้ก็มิได้ไปห้ามคนต่างด้าวมาประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยแต่อย่างใด แต่เป็นการวางกรอบให้บริษัทผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ขอใบอนุญาต (ซึ่งเป็นนิติบุคคลไทย) ไปกำหนดข้อห้ามด้วยตัวเอง เพื่อให้เป็นบรรษัทภิบาล โดยร่างประกาศฉบับนี้ได้กำหนดแนวทางปฎิบัติไว้ตามที่ปรากฎในตอนท้ายของประกาศ

อีกประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ร่างประกาศฉบับนี้อาจเป็นเหตุทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดโทรคมนาคมไทยที่มีอยู่ 3 ราย เหลือเพียงแค่ 2 ราย ที่จะมีโอกาสเข้าประมูลคลื่น 3 จีนั้น ขอเรียนให้ทราบว่า เป็นการเข้าใจที่คาดเคลื่อนเป็นอย่างมาก เพราะขั้นตอนในการยื่นขอรับใบอนุญาตนั้นเป็นขั้นตอนของการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดในหลักเกณฑ์การประมูล และแม้ว่าต่อมาภายหลังจะมีผู้ร้องเรียนว่ามีการฝ่าฝืนข้อห้ามตามประกาศครอบงำกิจการฯก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้บริษัทผู้ถูกร้องเรียนขาดคุณสมบัติทันที แต่ต้องมีการตรวจสอบตามขั้นตอน โดยร่างประกาศฉบับนี้มีความยืดหยุ่นในการเปิดโอกาสให้สามารถแก้ไขตัวโดยกลับไปแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎกติกาที่กำหนดไว้ได้

สำหรับประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ร่างประกาศฉบับนี้ไม่ได้ผ่านการจัดทำ “การประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแลที่ต้องทำเป็นรายงาน โดยต้องนำเสนอพร้อมกับเรื่องหรือร่างประกาศที่จะเสนอเข้าสู่การประชุมทุกครั้ง”หรือที่เรียกกันว่า “การทำ RIA” นั้น  ก็เป็นการวิจารณ์ที่คลาดเคลื่อนโดยมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ครบถ้วนเสียก่อน                 

โดยประเด็นเรื่องนี้ได้ข้อยุติในบอร์ด กทค. แล้วว่าการนำเสนอร่างประกาศฯ ต่อที่ประชุม กทค. เป็นไปตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฉบับปัจจุบัน มิได้เป็นการผิดขั้นตอนของกฎหมาย หรือทำให้กระบวนการทางกฎหมายบกพร่อง เนื่องจาก กทค. ไม่ได้มีอำนาจในการออกประกาศ ของ กสทช. ทั้งกฎหมายก็ไม่ได้ให้อำนาจ กทค. ในการปฏิบัติการในเรื่องนี้แทน และก็ไม่ปรากฏว่า กสทช. มอบอำนาจในการออกระเบียบนี้แก่ กทค.  ฉะนั้นการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างประกาศฯ ในชั้นนี้ของ กทค. จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตอนต้นก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุม กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการออกประกาศ กสทช. นี้ ทั้งนี้ ก็ปรากฏชัดเจนว่าในชั้นที่นำเสนอร่างประกาศเพื่อขอความเห็นชอบจาก กสทช. ในหลักการและขออนุญาตจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ก็ได้มีการเสนอรายงาน RIA ไปอย่างครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีประเด็นที่จะมีคนนำไปฟ้องร้องในศาลปกครอง หรือหากมีผู้ไม่ประสงค์ดีนำคดีไปฟ้อง เราก็สามารถอ้างพยานหลักฐานยืนยันได้ ซึ่งตนเข้าใจว่าผู้วิจารณ์คงไม่ทราบข้อเท็จจริง และไม่ทราบว่า กสทช. มีการออกระเบียบว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฉบับใหม่แล้ว นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและข้อมูลรอบด้าน รวมทั้งเป็นการนำเอาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานภายในของ กสทช. มาเปิดเผย แต่ไม่ได้ตรวจสอบให้รอบคอบเสียก่อน จึงเกิดความคลาดเคลื่อนดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์  เกี่ยวกับระยะเวลาของการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศฉบับนี้ว่า ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งในประเด็นนี้ ขอชี้แจงว่า กสทช. ได้กำหนดให้จัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะผ่าน 2 ช่องทาง คือ ช่องทางแรก ผ่านเว็ปไซด์ของสำนักงาน กสทช. โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม ถึงวันที่ 18 มิถุนายน  2555 ซึ่งปรากฏว่ามีประชาชน นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตได้แสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนกว่า 30 ราย  และช่องทางที่สอง คือการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่าสี่ร้อยคนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ ร่างประกาศดังกล่าว  ทั้งนี้การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะดังกล่าวถือเป็นช่องทางเสริมอีกช่องทางหนึ่งในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยข้อคิดเห็นที่ได้จากทางเว็ปไซด์และจากเวทีสาธารณะจะถูกนำมาประมวลวิเคราะห์เข้าด้วยกันเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดพิจารณา และอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างประกาศฯตามข้อมูล เหตุผล เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ก่อนจะส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ต่อไป  

ข้อวิพากษ์วิจารณ์อีกประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวอ้างว่า หาก ร่างประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้อาจนำไปสู่การผูกขาดในกิจการโทรคมนาคมไทย และส่งผลให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบนั้น ตนข้อชี้แจงว่า  ร่างประกาศฉบับนี้จะไม่นำไปสู่การผูกขาด แต่จะทำให้การแข่งขันเป็นไปไม่ใช่แค่เสรีอย่างเดียวแต่จะต้องเป็นธรรมด้วย โดยเฉพาะกับบริษัทคนไทยที่อาศัยทุนต่างชาติจะไม่สามารถเล่นนอกกติกาได้อีกต่อไป โดยตนมั่นใจว่า การตัดสินใจในการปรับปรุงประกาศฯ แทนที่จะยกเลิกประกาศเดิมไปทั้งฉบับ ดังที่มีกลุ่มผลประโยชน์รวมทั้งกลุ่มคนต่างชาติบางกลุ่มเรียกร้อง กสทช.ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบหลังจากที่มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งเห็นว่าจำเป็นต้องคงประกาศไว้และแก้ไขเนื้อหาให้เกิดความชัดเจนขี้น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติและทำให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี และอย่างเป็นธรรม โดยบอร์ด กสทช. ชุดนี้คงไม่ยอมให้ใครมาย่ำยีผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแน่นอน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net