สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 24 - 30 มิ.ย. 2555

 
จัดหางานบุรีรัมย์ เตือนแรงงานระวังถูกหลอก 
 
นายอิทธิ คงวีระวัฒน์ จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกมาแจ้งเตือนแรงงานที่ว่างงานในช่วงหน้าแล้ง ให้ระมัดระวังกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพ สายและนายหน้าเถื่อน ที่จะฉวยโอกาสหลอกลวงไปขายแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ที่กำลังออกอาละวาดในหลายพื้นที่ในขณะนี้ โดยจะเรียกรับผลประโยชน์จากแรงงาน โดยอ้างว่าจะสามารถฝากเข้าบรรจุ หรือได้ทำงานในตำแหน่งงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้แรงงานสูญเสียทรัพย์สินได้ หลังมีการสำรวจพบสถิตินักศึกษาจบใหม่ และแรงงานภาคการเกษตร ว่างงานกว่า 1 หมื่นคน ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา จ.บุรีรัมย์ ได้มีผู้ถูกหลอกไปทำงานยังต่างประเทศกว่า 190 ราย สูญเงินไปกว่า 11 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ มาจนถึงขณะนี้มีผู้เข้ามาร้องเรียนแล้วกว่า 60 ราย สูญเงินไปกว่า 4 ล้านบาท 
 
(ไอเอ็นเอ็น, 24-6-2555)
 
เผยผลสอบกินค่าหัวอิสราเอลไม่มีใครผิด 
 
25 มิ.ย. 55 - นายสง่า  ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนกรณีที่มีบริษัทจัดหางานรวม 35 แห่ง เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ว่า ล่าสุดได้รับรายงานผลสรุปของคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่มีนายโชคชัย ศรีทอง  รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ( กกจ.) เป็นประธานฯ แล้ว  ผลการสอบพบว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดบริษัทจัดหางานใดๆได้ เพราะแม้บริษัททั้ง 35 แห่ง จะมีข่าวเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินกฎหมาย แต่เมื่อเรียกพยานบุคคลมาสอบถามกลับไม่พบข้อมูลที่จะเอาผิด 
  
นายสง่า กล่าวว่า รายงานดังกล่าวถือเป็น “เป็นมวยล้มต้มคนดู” เพราะตนมีหลักฐานการกระทำความผิดที่ชัดเจน  กรมการจัดหางานจึงมีหน้าที่ต้องพักใบอนุญาตและดำเนินคดีทางอาญา แต่จากรายงานกลับสรุปว่า ให้พักใบอนุญาตบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้อง  ที่สำคัญยังมีบันทึกแนบท้ายเขียนช่วยทั้ง 35 บริษัท ว่าเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นความจริงจึงรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับทราบ พร้อมสั่งให้กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน ดำเนินการแจ้งความเอาผิด ผู้เกี่ยวข้องภายใน 7 วัน  ซึ่งคาดว่า อาจต้องมีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 3,000 คดี ซึ่งเป็นการนับจำนวนผู้เสียหาย เฉพาะในช่วง รมว.แรงงาน เข้ามารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ หากผู้เกี่ยวข้องยังฝ่าฝืน ก็จะพิจารณาแจ้งความเอาผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป   
  
นายสง่า กล่าวอีกว่า รู้สึกผิดหวังกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนฯ  เนื่องจากให้เวลาในการสอบสวนนานกว่า 2 เดือน ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถดำเนินคดีกับทั้ง 35 บริษัทได้แล้วกลับยังไปช่วยเหลือ จึงไม่เข้าใจว่า ทำงานไม่เป็นหรือ แกล้งไม่เข้าใจ  เพราะข้อมูลที่ปรากฏจากคำให้การของคนงานว่ามีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย 250,000 -400,000 บาท ซึ่งผิดกฎหมายชัดเจน ทั้งนี้ ตนกำลังให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่า รมว.แรงงานจะสามารถแต่งตั้งให้เป็นประธานสอบสวนเรื่องนี้เองได้หรือไม่ หากทำได้ก็จะมีการเสนอ  รมว.แรงงาน พิจารณาแต่งตั้งเพื่อทำการสอบสวนต่อไป เพราะเชื่อว่าจะต้องมีข้าราชการระดับสูงร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วย 
 
(สำนักข่าวไทย, 25-6-2555)
 
หาแรงงานคนพิการตาม กม.บังคับไม่ได้เอกชนจี้รัฐแก้ไข 
 
ส.อ.ท.เตรียมศึกษาผลกระทบการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั้งที่นำร่องแล้วและจะมีผลบังคับทั่วประเทศ 1 ม.ค. 56 คาดเสร็จสิ้นปีเพื่อประเมินสถานภาพธุรกิจก่อนเสนอรัฐหามาตรการหนุน ผู้ประกอบการโวยขาดแรงงานคนพิการทำงานไม่ได้ตามที่กฏหมายกำหนดวอนรัฐเร่ง แก้ไข นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการรวบรวมผลกระทบและแนวทางการปรับตัวต่อนโยบายการ ปรับเพิ่มขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั้งที่มีผลบังคับแล้วในส่วนของ 7 จังหวัดและที่จะมีผลบังคับทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 นี้เพื่อที่จะสรุปภาพรวมในการเสนอรัฐบาล ในการหามาตรการสนับสนุนต่อไป โดยคาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ " เราคงจะต้องศึกษาว่าแต่ละส่วนมีการปรับตัวอย่างไรด้วย 
 
เพราะถ้าเราดูแค่ผลกระทบอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบเพราะการขึ้นค่าจ้าง เป็นสิ่งที่ธุรกิจเองที่สุดคงหลีกเลี่ยงได้ยากการปรับโครงสร้างการทำงานเป็น สิ่งสำคัญ และปัญหาแรงงานมองว่าอนาคตไทยเองจะต้องเร่งจัดการบริหารให้แรงงานตรงกับความ ต้องการของภาคอุตสาหกรรม"นายพยุงศักดิ์กล่าว นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสอ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ภาคการผลิต นอกเหนือจากจะประสบภาวะกับต้นทุนเพิ่มจากการขั้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนำร่อง 7 จังหวัดไปแล้วบางอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงาน และอีกส่วนยังประสบปัญหาการไม่สามารถหาแรงงานคนพิการเข้าทำงานได้ตามที่ กฏหมายกำหนดที่บังคับให้สถานประกอบการที่มีการจ้างพนักงานทุก 100 คนต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 1 คนโดยที่ผ่านมาส.อ.ท.ได้เสนอให้ฝ่ายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้จัดหาเพราะ เอกชนไม่สามารถหาแรงงานคนพิการเข้าทำงานได้แต่ปรากฏว่ารัฐก็ไม่ดำเนินการ 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-5-2555)
 
ก.แรงงานประกาศปิดตำนานค้าหัวคิวค่าแรงงานไทยในอิสราเอล 
 
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในงาน "ปิดตำนานค่าหัวคิวแรงงานอิสราเอล" วันนี้ (26 มิถุนายน) ว่า ที่ผ่านมามีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล โดยส่วนใหญ่เข้าไปทำงานในภาคการเกษตร และจะถูกเรียกเก็บค่าหัวคิว ส่งผลให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 3- 4 แสนบาทต่อคน ดังนั้นกระทรวงแรงงานจึงได้ร่วมมือกับประเทศอิสราเอลและองค์การระหว่าง ประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ดำเนินการคัดเลือกจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์สุ่มคัดเลือกแรงงานไทย และหากผ่านสัมภาษณ์ก็จะจัดส่งไปทำงานที่อิสราเอล โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่เกินคนละ 70,000 บาท 
  
ทั้งนึ้ทางนายจ้างอิสราเอลแจ้งว่า ต้องการจ้างงานคนไทยในจำนวน 357 อัตรา ซึ่งจากจำนวนผู้สมัครมีผู้ผ่านการสอบสัมภาษณ์และตรวจโรค 101 คน ดังนั้นกระทรวงแรงงานจึงจะจัดส่งแรงงานไทยกลุ่มนี้ไปทำงานในประเทศอิสราเอล ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค โดยจะเริ่มจัดส่งแรงงานกลุ่มแรก 22 คน ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ 
  
“ถือว่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานพยายามแก้ปัญหาการเรียกเก็บค่าหัวคิวแรงงานอิสราเอลอย่างต่อ เนื่อง วันนี้ถือเป็นการปิดตำนานค่าหัวคิวแรงงานอิสราเอล หวังว่าแรงงานทุกคนที่ได้ไปทำงานอิสราเอลจะทำให้นายจ้างเชื่อมั่นในศักยภาพ ของแรงงานไทย พร้อมทั้งจะเป็นการสร้างโอกาสให้แรงงานรุ่นต่อไปสามารถเข้าไปทำงานที่ อิสราเอลได้ง่ายยิ่งขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว 
  
 ด้ายนายอิตซ์ฮัก โชฮัม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานด้านการเกษตรอยู่ในประเทศอิสราเอลประมาณ 27,000 คน โดยมีแรงงานไทยหมุนเวี ยนไปทำงานที่อิสราเอลปีละ 5,000 คน 
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 27-6-2555)
 
เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่หลังกฎหมายเดิมใช้มา 37 ปี 
 
29 มิ.ย. 55- นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวในงานเสวนา เรื่อง “ยุทธศาสตร์การผลักดันร่างกฎหมายแรงงานของประชาชนสู่สภา กรณี พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน” ว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  ซึ่งบังคับใช้มานานกว่า 37 ปี ถือว่ามีความล้าหลัง และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  เพราะเป็นกฎหมายที่ยังไม่สามารถคุ้มครอง และให้ความเป็นธรรมกับแรงงานส่วนใหญ่ เช่น แรงงานนอกระบบ แรงงานเกษตรพันธะสัญญา  และแรงงานที่เป็นลูกจ้างภาครัฐ ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ 
 
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายแรงงานฉบับบูรณาการแรงงาน คือ การเพิ่มสิทธิการเข้าถึงความคุ้มครองจากรัฐ เปลี่ยนแนวคิดแรงงานสัมพันธ์จากเดิมที่เป็นนายจ้าง และลูกจ้าง ให้กลายเป็นหุ้นส่วน มีความเสมอภาคในการตัดสินใจ และเปิดโอกาสให้แรงงานได้มีโอกาสรวมตัวและเจรจาต่อรอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 64  และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98   หลังจากนี้ คสรท.จะทำการรวบรวมรายชื่อแรงงานจำนวน 15,000 รายชื่อ เพื่อเตรียมเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในเดือนสิงหาคมนี้ 
 
(สำนักข่าวไทย, 29-6-2555)
 
เผย ป.ตรีตกงานเพียบ เหตุจบไม่ตรงความต้องการตลาดแรงงาน 
 
29 มิ.ย. 55 - นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงมาตรการที่กระทรวงแรงงานให้การช่วยเหลือนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ เรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำว่า ขณะนี้มีนักศึกษาปริญญาตรีจำนวนมากที่เรียนจบมาแล้วไม่งานทำ เนื่องจากนักศึกษากลุ่มดังกล่าวเรียนจบในสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการของ ตลาดแรงงาน เพราะปัจจุบันภาคการผลิตของอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงาน ประเภทช่าง และพนักงานทั่วไปจำนวนมาก 
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 29-6-2555)
 
'บุญทรง' ยัน ค่าแรง 300 ไม่เกี่ยวอียูตัดสิทธิ์จีเอสพีไทยปี 56 
 
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเร่งติดตามการทบทวนขยายเวลาการให้ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของสหภาพยุโรป (อียู) แก่สินค้าไทยอย่างใกล้ชิด หลังจากมีแนวโน้มว่าในปี 56 ไทยจะถูกตัดสิทธิ์ในสินค้าหลายรายการ โดยจะต้องรอผลการจัดระบบใหม่ว่าไทยจะยังได้ต่ออายุหรือไม่ แต่ยืนยันว่าการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ไม่มีผลที่ทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรไทยเพิ่มมากไปกว่าเกณฑ์ที่อียูจะ กำหนดใหม่ เพราะไทยมีรายได้ประชากรต่อหัวต่อปีประมาณ 4,000-5,000 เหรียญสหรัฐฯ มานานแล้ว ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศขึ้นค่าแรงงาน 300 บาทด้วยซ้ำ 
 
“แนวทางดูแลผู้ประกอบการของกระทรวงฯ เบื้องต้นจะแบ่งสินค้าออกเป็นกลุ่ม และรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนว่าต้องการให้ช่วยอย่างไรบ้าง หากถูกตัดสิทธิ์จริง เช่น การหาตลาดใหม่ เป็นต้น” นายบุญทรง  กล่าว. 
 
(ไทยรัฐ, 29-6-2555)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท