รายงานเสวนา: สิทธิผู้หญิง คดีคนจน กับความเป็นธรรมทางสังคม

คดีพิพาทที่ดินและทรัพยากร เฉพาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) มีจทั้งสิ้น 29 คดี 107 ราย ทั้งคดีอาญาและแพ่ง โดยส่วนใหญ่เป็นคดีป่าไม้ และในจำนวนนี้มีผู้หญิงกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งเด็กและผู้พิการ 

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2555 ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมเทือกเขาเพชรบูรณ์ เครือข่ายผู้หญิงปกป้องสิทธิที่ดินทำกิน องค์การแอ็คชั่นเอดประเทศไทย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) และองค์กรร่วมจัด ได้จัดเวทีสัมมนา “สิทธิผู้หญิง ปัญหาคดีคนจน กับความเป็นธรรมทางสังคม” ที่วัดบ้านทุ่งลุยลาย ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ มีผู้เข้าร่วมทั้งผู้นำและสมาชิกเครือข่ายองค์กรต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ นักกฎหมาย และสื่อมวลชน ประมาณ 150 คน

ปัจจุบัน ปัญหาคดีความจากเรื่องพิพาทเกี่ยวกับที่ดินและทรัพยากรในสังคมไทยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หากดูเฉพาะจำนวนคดีความของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 29 คดี 107 ราย จำแนกเป็นทั้งคดีอาญาและแพ่ง โดยส่วนใหญ่เป็นคดีป่าไม้ และในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีของเครือข่ายฯ พบว่า มีผู้หญิงเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งเด็กและผู้พิการ

จากการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาคดีความของสมาชิกเครือข่ายฯ พบว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดี มีมูลเหตุมาจากข้อพิพาทและความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งในทุกพื้นที่ชาวบ้านได้ถือครองทำประโยชน์มาก่อนการประกาศเขตที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ จากนั้นมีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ กระทั่งเจ้าพนักงานได้แจ้งความดำเนินคดี และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในที่สุด  

บทเรียนสำคัญในการต่อสู้คดี ในหลายกรณีพบว่า ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินงาน เช่น พฤติกรรมในการจับกุม ควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ การแจ้งข้อกล่าวหา และแสวงหาพยานเอกสารเพิ่มเติม เป็นต้น นอกจากนี้การพิจารณาคดีของศาลจะมุ่งเน้นหลักฐานทางราชการ และข้อกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลในพื้นที่พิพาทเป็นด้านหลัก ในขณะที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำประโยชน์ของชาวบ้านมักจะให้ความสำคัญน้อยในการวินิจฉัย ทำให้ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้อง และมีผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตามมาภายหลัง ซึ่งยังไม่นับรวมถึงอิสรภาพที่สูญเสียไป ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี และผลกระทบทางสังคม ครอบครัว เป็นต้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น สะท้อนให้เห็นปัญหาความเป็นธรรมทางสังคมในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในส่วนกฎหมาย นโยบายรัฐ กระบวนการยุติธรรม และกลไกการแก้ไขปัญหาของรัฐที่มีความล่าช้าต่อสถานการณ์ และความเปลี่ยนแปลงของสังคม

กรณ์อุมา พงษ์น้อย เครือข่ายประจวบฯ กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า การต่อสู้ของกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกกับเครือข่ายต่างๆ นั้น ไม่ต่างกัน เพราะเป็นการสู้กับนโยบายรัฐที่เข้ามาเบียดขับ มากำหนดโดยอ้างการพัฒนา จึงลุกขึ้นปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มั่นคง มีเศรษฐกิจความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งการต่อสู้เต็มไปด้วยความยากลำบาก อุปสรรคมากมาย และมีจุดจบของการต่อสู้ที่ไม่แตกต่าง เริ่มจากชุมชนท้องถิ่น ท้องถนน ข้างทำเนียบรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ สุดท้ายต้องเข้าสู่เวทีตุลาการหรือศาล ผ่านการจับกุมคุมขัง เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องเจอแรงเสียดทานจากทุกระดับ ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และมีความพยายามข่มขู่ เข่นฆ่า ลอบทำร้าย แต่หาพยานหลักฐานไม่ได้ ถูกกลั่นแกล้ง หวังผลให้อ่อนล้าในการต่อสู้ มีการนำผลประโยชน์มาเสนอ แต่ชาวบ้านปฏิเสธทั้งหมด ที่ผ่านมาไม่สู้แบบปัจเจก แต่เป็นชุมชน ยืนหยัดต่อสู้บนกระบวนการยุติธรรม

ทัศนคติของศาลนำสู่การกำหนดดุลพินิจ เช่น การมองการต่อสู้คัดค้านของภาคประชาชนเป็นการถ่วงความเจริญ หรือการมองคนรวย คนจน ที่มีอคติต่อจำเลย ทำให้คนจนต้องอยู่ในคุก เป็นการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน จึงต้องสร้างพลังเพื่อดัดแปลงและลดทอนการใช้อำนาจ เช่นจากผลของการต่อสู้ของกลุ่มรักท้องถิ่นฯ ทำให้หมายจับตกไป ศาลไม่กล้าข่มขู่ แต่ไกล่เกลี่ยแบบวางตัวเป็นกลาง ทำให้ไม่ถูกกระทำซ้ำ

หากคิดว่าปัญหาเกิดจากนโยบายรัฐ ต้องออกแบบการต่อสู้ เพราะการต่อสู้กับนโยบายรัฐไม่ได้มาด้วยท่าทีของการร้องขอ แต่คืออำนาจประชาชนที่รวมตัว คัดง้าง ดัดแปลงอำนาจรัฐ และอาจไม่สำเร็จได้ในเร็ววัน แต่เป็นการแผ้วถางทาง และการต่อสู้กับประชามติทางสังคม ต้องทำให้เกิดความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ต้องสามัคคีรวมหมู่ มีหัวใจไม่จำนนต่อความไม่เป็นธรรม ไม่ร้องขอแต่ดัดแปลงแก้ไข ให้เป็นไปตามเจตจำนงของเรา ไม่หวังพึ่งคนอื่น ไม่หาคนรับเหมาทำแทน เปลี่ยนความคิดตัวเอง ไม่ติดกรอบของกฎหมาย คิดเรื่องสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีสิทธิกำหนดชีวิตตัวเอง ต้องตั้งหลักให้ดี สำรวจความคิดของตัวเองว่าลักลั่นหรือไม่

ทนายวิบูลย์ ภูมิภูเขียว แสดงความคิดเห็นว่า ศาลใช้ประสบการณ์ จินตนาการ ดุลพินิจของตนได้ ในการตัดสินคดี แต่หากใช้แบบไม่มีขอบเขตจะไม่เป็นธรรม ไม่มีความยุติธรรม เพราะการตัดสินคดี หรือการประกันตัว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ดังนั้นต้องนำรูปธรรมการดำเนินคดีสองมาตรฐานมาเปรียบเทียบกัน นอกจากนี้ ต้องโต้แย้งการตัดสิน (ดุลพินิจ) ว่าใช้ไม่ได้กับกระบวนการยุติธรรม หรือการประกัน รวมทั้งกระบวนการไกล่เกลี่ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะศาลไม่มีหน้าที่บังคับขู่เข็ญจูงใจให้รับสารภาพ อีกทั้งยังเป็นสิทธิของประชาชนในการต่อสู้คดี รวมทั้งการปฏิเสธพฤติกรรมของผู้พิพากษาที่ตัดตอนว่าเราเป็นคนผิด และสามารถขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา คือการตั้งข้อสังเกตผู้พิพากษา หรือเปลี่ยนหัวหน้าศาลที่มีวิธีคิด อคติต่อการต่อสู้ของภาคประชาชน

ทนายสมนึก ตุ้มสุภาพ กล่าวว่า คนจนถูกดำเนินคดีเหมือนกัน ไม่แยกว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ต่างตรงที่ใครจะเป็นผู้นำในขณะนั้น และแม้จะเป็นผู้หญิงสูงอายุก็ไม่ทำให้ศาลโอนอ่อนลง โดนลงโทษเท่ากัน เพราะประเด็นสำคัญคือ ศาลเข้าใจในบริบท ประเด็นปัญหาแค่ไหน ส่วนใหญ่รัฐเชื่อว่าทรัพยากรเป็นของรัฐ มีสิทธิจัดการทุกอย่าง ชาวบ้านเป็นแค่คนใช้ประโยชน์ มีสิทธิครอบครองชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น วิถีชุมชนไม่ถูกยอมรับ รัฐปฏิเสธสิทธิปัจเจกของชุมชน แต่ไม่เคยปฏิเสธสิทธิปัจเจกของรัฐ หากมองด้วยมิติของข้อเท็จจริง หรือสิทธิ ซึ่งมีสิทธิดำรงชีวิต ไม่ควรถูกจำกัดด้วยรัฐ หรือกระบวนการยุติธรรม จะส่งผลต่อการตัดสิน หรือประกันได้

เรื่องที่ดิน ไม่ต่างในแง่ของแนวคิด การลงโทษ ในขณะที่ขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านมีการถอดบทเรียน แต่ศาล หรือรัฐ มีการถอดบทเรียนบ้างหรือไม่ หรือมีแต่เพื่อทำให้มีการลงโทษที่หนักขึ้น นอกจากนี้ ศาลไม่ควรลดความเป็นมนุษย์อย่างมโหฬารด้วยการให้ทำตัวดีขึ้น เพราะวิถีชีวิตของแต่ละชุมชนล้วนมีคุณค่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน

พลัง ปัจจัยของเครือข่ายภาคประชาชน จะทำลายกำแพงที่รัฐพยายามกักไว้ ควรสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัย และสร้างความเข้าใจกับสังคม ทำให้เห็นปัญหาร่วมกัน รวมทั้งการสื่อสารในพื้นที่ บ่มเพาะคนรุ่นใหม่

ปานจิตต์ แก้วสว่าง องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย อภิปรายว่า ประเด็นสิทธิผู้หญิง ประเทศไทยลงนามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ในข้อ ๑๔ ระบุว่า ผู้หญิงในภาคชนบทมีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นการถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาบุกรุกที่ฟ้องร้องโดยรัฐและกระบวนการยุติธรรมควรล้าสมัยได้แล้ว รัฐควรยุติการใช้เครื่องมือคือการฟ้องร้องซึ่งคือกลไกกฎหมายและนิติรัฐในการดำเนินคดีกับการปฏิรูปที่ดิน

สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม เกษตรกรต้องมีที่ดินทำกิน ไม่มากแค่พอกิน เพราะหากไปทำงานในโรงงานก็จะมีการจ้างงานถึงแค่อายุ ๔๐ – ๕๐ ปี แล้วจากนั้นต้องกลับไปอยู่บ้าน แล้วจะทำอะไร ดังนั้นยิ่งยากจน รัฐต้องมีนโยบายมารองรับ ไม่ใช่คุกคามข่มขู่ เพราะเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างง่ายๆ

ดังนั้นต้องรวบรวมข้อมูล รูปธรรมที่ละเมิดและขัดต่อหลักปฏิญญาสากลต่างๆ แล้วส่งไปยังองค์กร กลไกต่างๆ อย่างกลไกสิทธิมนุษยชน เช่นส่งไปที่กรุงเจนีวา ว่ารัฐไทยกำลังละเมิดสิทธิใดบ้าง เป็นช่องทาง ทางออก กลไกหนึ่ง เพื่อมาตรวจสอบรัฐไทยว่า ไปลงนามหลายเรื่องแล้วได้นำสู่การปฏิบัติหรือไม่ หรือการให้ต่างชาติเช่าที่ดินจำนวนมาก แต่กลับจับกุมชาวบ้าน หรือเรื่องการค้ามนุษย์ ไม่เอื้อสิทธิของพี่น้องแรงงานที่เข้ามาทำงานในไทย แล้วรัฐก็ออกมาแก้ตัว กลบเกลื่อน จึงต้องทบทวนการทำงานของรัฐไทย แต่ก็ต้องไปทำกับกระบวนการยุติธรรมด้วย ทำหลายๆ ส่วนร่วมกันเพื่อแก้ไขความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม หรือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งต้องใช้พลังของขบวนภาคประชาชนที่เป็นเครือข่าย และรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพราะสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกันทุกคน

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรรมการสิทธิฯ ทำหน้าที่คุ้มครองประชาชน รัฐต้องมีหน้าที่จัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน การทำกินในเขตป่ามานานเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นเกษตรกรต้องมีที่ดินทำกิน การที่รัฐมาบอกว่าเป็นของรัฐคือความไม่เป็นธรรม และผิดกฎหมาย

โดยส่วนใหญ่ กฎหมาย นโยบาย มักเอื้ออำนวยคนรวย และผู้มีอำนาจ ดังนั้นต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่ต้องใช้เวลา อีกทั้งยังมีความไม่ชอบธรรมในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่การจับกุม อัยการ ศาล จึงต้องลุกขึ้นสู้ สิทธิของประชาชนต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่การเข้าข้างประชาชน แต่อยู่ข้างความเป็นธรรม ความถูกต้อง ขณะนี้กรรมการสิทธิฯ กำลังรวบรวมคดีที่ไม่เป็นธรรม เช่นคดีโลกร้อน ฯลฯ เพื่อทำให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ในที่ประชุมมีข้อเสนอในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ดังนี้ ๑.สิทธิในการได้รับการประกันตัวให้นำระบบกลุ่มองค์กรชุมชน (ชาวบ้าน) ประกันตัวสมาชิกในกลุ่มได้ ๒.จัดให้มีระเบียบ (วิธีการประกันตัว) ในการดำเนินการที่ชัดเจน ๓.มีการกำหนดมาตรการในการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ ๔.มีการชะลอการพิจารณาคดี ในกรณีที่มีเหตุเร่งด่วนหรืออยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล ๕.ให้มีการยอมรับหลักฐานที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนท้องถิ่น เช่น หลักความเชื่อและหลักปฏิบัติเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนท้องถิ่น หลักฐานทางประวัติศาสตร์, สังคมมานุษยวิทยาและธรณีวิทยา และระบบนิเวศวิทยา ๖.ควรนำแนวทางในเรื่องของ การเดินเผชิญสืบ มาเป็นหลักในการพิจารณาคดี และ ๗.กรณีคดีที่มีมูลเหตุมาจากกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับชุมชน ควรใช้กระบวนการพิจารณาแยกเฉพาะจากกระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมทั่วไป หรืออาจเทียบเคียงกระบวนพิจารณาแบบองค์คณะลูกขุน/หรือมีการจัดตั้งเป็นศาลเฉพาะซึ่งมีผู้พิพากษาสมทบที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรและสิทธิชุมชน เช่นศาลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท