‘ธงชัย’ ย้ำ อย่าตั้งความหวังสูงกับไอซีซี

‘ธงชัย วินิจจะกูล’ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และหัวหน้าคณะเข้าพบศาลอาญาระหว่างประเทศกรณีสลายการชุมนุม 53 ชี้แม้ความพยายามครั้งนี้จะล้มเหลว แต่จากนี้ไปไทยจะถูกจับตามองจากไอซีซีจากเรื่อง “การงดรับผิดอย่างเป็นระบบ”

สืบเนื่องจากการเดินทางเข้าพบพนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไอซีซี (ICC) ของตัวแทนกลุ่ม นปช. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 มิ.ย. 55) โดยมี ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกุลเป็นผู้นำคณะตัวแทน พยานในเหตุการณ์และผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเม.ย. -พ.ค. 2553 เข้าหารือและชี้แจงต่อศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น ธงชัย ได้ให้ความคิดเห็นต่อการหารือดังกล่าวว่า ถึงแม้จะผ่านมากว่าหนึ่งปีครึ่งแล้ว ไอซีซีก็ยังคงเก็บเอกสารคำร้องไว้เพื่อการพิจารณา ซึ่งนับเป็นสัญญานที่ดี ต่างจากหลายกรณีที่เอกสารคำร้องถูกจำหน่ายทิ้งภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์

นอกจากนี้ การที่อัยการศาลได้ให้เข้าพบและหารือ ยังแสดงให้เห็นว่า ไทยยังถูกจับตามองโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่า ไม่ควรตั้งความหวังกับไอซีซีมากเกินไป เพราะโอกาสที่ศาลจะรับคดีมีอยู่น้อยมาก เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเขตอำนาจพิจารณาคดี

โดยในจดหมายที่ส่งไปยังไอซีซีในนามส่วนตัวก่อนหน้านี้ และในระหว่างการหารือ ธงชัยชี้แจงกับศาลอาญาระหว่างประเทศว่า เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553 เป็นส่วนหนึ่งของ “การงดรับผิดอย่างเป็นระบบ” (Institutionalised Impunity) ที่ดำเนินอยู่ในประเทศไทยมาหลายทศวรรษ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ประชาชนและการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2516, 2519 และ 2535 จึงต้องการเรียกร้องให้ไอซีซีทำการไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อป้องกันมิให้ความรุนแรงเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ 

“การทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษคือปัจจัยที่ชัดเจนว่าทำไมการสังหารหมู่ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 เกิดขึ้นอีกครั้ง ผู้นำทางการเมืองและกองทัพในเหตุการณ์นั้นไม่กังวลเลยว่าพวกเขาจะถูกลงโทษหลังจากนั้น พวกเขาผลิตข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จและสร้างหลักฐานเพื่อเป็นข้ออ้างในการสังหารประชาชน เพิกเฉยต่อข้อปฎิบัติสากลในเรื่องของหลักการควบคุมฝูงชนอย่างสิ้นเชิงโดยการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุอย่างมหาศาลและวิธีการที่โหดร้ายสังหารพลเรือน” ธงชัยระบุในจดหมาย

ธงชัยมองว่า การหารือในครั้งนั้นเป็นไปอย่างดีมาก โดยคณะผู้แทนได้นำเสนอกรณีความรุนแรงปี 2553 ในบริบทของการงดรับผิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของไอซีซีในการยุติการงดรับผิดในรัฐต่างๆ โดยเขากล่าวว่า คณะผู้แทนได้ชี้ให้ไอซีซีเห็นชัดเจนว่า เหตุการณ์ปี 2553 เกิดขึ้นเพราะเหล่าชนชั้นนำรู้ว่าตนเองไม่ต้องรับผิดชอบ และเหตุการณ์เช่นนี้อาจจะเกิดขึ้นในเร็ววันอีกสืบเนื่องจากการงดรับผิดที่กลายเป็นวัฒนธรรมและชอบด้วยกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งทำให้คดีนี้มีน้ำหนักอย่างมากต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ 

“อย่างไรก็ตาม ไอซีซีก็มีข้อจำกัด นั่นคือเขตอำนาจศาล หากว่าประเทศไทยลงนามเป็นภาคีในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ไอซีซีก็จะทำการสอบสวนในไทยได้ง่ายขึ้น แต่เราก็บอกเขาว่าเป็นเรื่องยาก เพราะ “ชนชั้นนำ” ไทยไม่อยากจะให้ไอซีซียุติการงดรับผิด” ธงชัยให้สัมภาษณ์กับประชาไทผ่านทางอีเมลล์

“ในการประเมินของผม แน่นอนว่าเราได้ทำทุกสิ่งที่เราทำได้แล้ว และผมก็แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า มันเป็นความพยายามแห่งประวัติศาสตร์ที่เราได้ไปเคาะประตูของศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่การหารือครั้งนี้จะประสบความสำเร็จแค่ไหน ผมก็ไม่ทราบ” ธงชัยระบุ “เราได้มากันไกลมาก เราได้ทำทุกอย่างที่เราทำได้ ถึงแม้ว่าครั้งนี้มันจะล้มเหลว แต่การที่คดีของไทยได้เข้าไปสู่ระบบของไอซีซีนั้น ความคิดเห็นของผมคือนี่มันไม่ใช่เรื่องความสำเร็จเล็กๆ เลย แม้ไอซีซีจะปฏิเสธเราในครั้งนี้ และหากเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นอีก เราเชื่อว่า ไอซีซีคงจะไม่ปล่อยเราไปง่ายๆ อีกแน่นอน” 

ทั้งนี้ เขากล่าวว่า ทางคณะผู้แทนยังมิได้ขอร้องให้ไอซีซีทำการดำเนินคดีดังกล่าว เพราะจะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาอีกยาวนานมาก แต่ในขั้นนี้ เพียงแต่ขอร้องให้อัยการศาลรับคดีไว้เพื่อไต่สวนเบื้องต้น ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนการสืบสวนเต็มขั้นเท่านั้น

00000

 

จดหมายจากศ.ธงชัย วินิจจะกูลถึงอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2555
อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี)
กรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์

เรื่อง: คำร้องขอต่อไอซีซีให้ช่วยเหลือนำความยุติธรรมมาให้เหยื่อผู้ถูกกระทำจากเหตุการณ์นองเลือดปี 2553 ในประเทศไทย

เรียน: อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ

 

ผมเขียนถึงท่านในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง ในฐานะอดีตนักโทษทางการเมืองซึ่งรอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในกรุงเทพฯ ปี 2519 และในฐานะผู้เชียวชาญเกี่ยวกับประเทศไทย ขณะนี้ผมเป็นศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ผมศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศไทยและกระบวนการการสร้างประชาธิปไตยเป็นเวลา 30ปี ผมศึกษาหลายวิชารวมถึงความรุนแรงในปี 2516, 2519 และ 2535 รวมถึงวัฒนธรรมการทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ (impunity) ในประเทศไทย ผมได้ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 โดยเฉพาะเหตุการณ์นองเลือดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ปี 2553 และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เหมือนกันการสังหารครั้งก่อน มีความเป็นไปได้ที่กองทัพและกลุ่มคนที่สั่งฆ่าจะได้รับการยกเว้นโทษอีกครั้งและเหยื่อจะไม่ได้รับความยุติธรรมอีกครั้ง ผมร้องขอไอซีซีให้ช่วยยุติการทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าซึ่งนำไปสู่การสังหารพลเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า โดยให้เริ่มทำการสอบสวนกรณีการสังหารในปี 2553 และนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ

ได้โปรดให้ผมอธิบายประวัติศาสตร์ของการทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษอย่างเป็นระบบในประเทศไทย

ในเดือนตุลาคม ปี 2516 การชุมนุมครั้งใหญ่ได้ยุติเผด็จการทหารซึ่งปกครองประเทศไทยเป็นเวลาสามทศวรรษ มีผู้เสียชีวิต 72 ราย และมีผู้บาดเจ็บหลายพันราย ท่ามกลางความตื่นเต้นแห่งรุ่งอรุณแห่งประชาธิปไตย รัฐบาลใหม่ประกาศนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารทั้งหมดเพื่อความสมานฉันท์ทางสังคมและการเมืองในประเทศ นิรโทษกรรมยังหมายถึงว่าจะไม่มีการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ประชาธิปไตยอันอ่อนเยาว์คงอยู่เพียงสามปีเมื่อกองทัพกลับมามีอำนาจอีกครั้งในเดือนตุลาคม ปี 2519 รัฐประหารเกิดขึ้นในวันเดียวกับการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยเพื่อต่อต้านอุบายของกองทัพในการนำเผด็จการกลับมา ประชาชนราว 40 คนเสียชีวิตและหลายร้อยคนบาดเจ็บ แต่วิธีการที่พวกเขาถูกสังหารนั้นเลวร้ายเกินบรรยาย นอกจากจะถูกสังหารโดยอาวุธหนักแล้ว บางคนถูกเผาทั้งเป็น ถูกข่มขืนและถูกแขวนคอ หลังจากนั้นศพของพวกเขายังถูกประชาทัณฑ์หรือลากไปทั่วสนามฟุตบอล ทุกอย่างเหล่านี้เกิดขึ้นในที่สาธารณะมีคนมุงดูหลายร้อยคน ผู้รอดชีวิตกว่าสามพันรายถูกคุมขังตั้งแต่หลายวันไปจนถึงห้าเดือน และนักศึกษา 19 ราย (รวมถึงผม) ถูกคุมขังสองปี ในปี 2521 เนื่องด้วยเหตุผลของการปรองดองสมานฉันท์ มีการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อยกเว้นการกระทำผิดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ นักศึกษาที่ถูกคุมขังได้รับการปล่อยตัว ผู้กระทำผิดได้รับการยกเว้นโทษราวกับว่าการสังหารหมู่ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่มีการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อเท็จจริงคือ เพื่อการปรองดองสมานฉันท์ มีการส่งเสริมให้ประชาชนลืมเหตุการณ์และปล่อยให้ความทรงจำนั้นเลือนลางไป เหตุการณ์นั้นไม่ถูกกล่าวถึงในที่สาธารณะเป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น และไม่เคยถูกบันทึกไว้ในหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ควบคุมโดยรัฐจึงถึงทุกวันนี้ ในขณะเดียวกับ ต้องขอบคุณระบบการทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษเพราะผู้มีอำนาจหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ยังคงเสวยสุขกับเอกสิทธิ์ของพวกเขาหลายปีหลังจากนั้น บางคนมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ทางการเมืองอีกครั้งในปี 2535 เพราะพวกเขารู้ว่าพวกเขาจะไม่ถูกนำตัวมาลงโทษ

กระบวนการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยอยู่ในสภาวะขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลาในช่วงยุค 80 ช่วงเวลาที่มีการเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยกลับมามีมากขึ้นในปี 2531 แต่ก็ไม่ต่างจากในอดีต ช่วงเวลานั้นมีระยะสั้นๆ ในปี 2534 เผด็จการทหารกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้อยู่ไม่นาน เพราะมีการชุมนุมครั้งใหญ่ในปี 2535 อีกครั้ง มีประชาชนมากกว่า 70 เสียชีวิตในระหว่างการต่อสู้หลายวันกับทหารบนท้องถนนที่ยิงประชาชนผู้ต่อต้านรัฐบาล ในที่สุด รัฐบาลทหารก็ยอมแพ้และลาออก แต่พวกเขาทำเช่นนั้นหลังจากล้างความผิดการกระทำอาชญากรรมให้กับพวกเขาโดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ประชาชนเรียกร้องให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีอำนาจแม้แต่จะบังคับให้เหล่าผู้บังคับบัญชาการกองทัพให้การ ก็ไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะเอาคนผิดมาลงโทษเลย หลังจากนั้น เหมือนว่ามันไม่ใช่เรื่องที่คอขาดบาดตาย รายงานการสอบสวนที่ได้ตีพิมพ์หลายปีหลังจากนั้นแสดงให้เห็นถึงการสอบสวนที่ไม่สะเพร่าและขาดความพยายามที่แม้แต่จะค้นหาข้อเท็จจริงขั้นพื้นฐาน และที่แย่ที่สุดคือ มีการเซ็นเซ่อร์รายงานที่ตีพิมพ์ต่อสาธารณะชนอย่างหนัก โดยมีการขีดฆ่าชื่อทั้งหมดและข้อมูลสำคัญถึงขนาดที่ว่าทำให้ไม่สามารถเข้าใจรายงานได้ การทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษคือการเพาะพันธุ์ความไม่แยแสต่อประชาชนอย่างสิ้นเชิง

ตลอดเหตุการณ์โศกนาถกรรมที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า บทบาทของระบบความยุติธรรมไทยไม่เคยมีความเป็นอิสระในการค้ำจุนความยุติธรรม ระบบตุลาการไทยยึดถือว่าหากรัฐประหารใดที่ทำสำเร็จถือว่ามีความชอบด้วยกฎหมาย ระบบรับใช้ผู้มีอำนาจไม่ว่าพวกเขาจะขึ้นสู่อำนาจอย่างชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นตุลาการจึงยอมรับว่าคำสั่งและกฎหมายทั้งหมดที่บังคับใช้โดยคนที่มีอำนาจกลุ่มเล็กนั้นชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการนิรโทษกรรมให้กับตนเองของผู้นำทางการทหารจากการกระทำผิดทุกอย่าง เช่นการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยและฉีกรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยทิ้ง นอกจากนี้ตุลาการไทยยังถือว่าคำสั่งประหารชีวิตโดยไม่มีการพิจารณาคดีในศาล การจับกุมและคุมขังโดยไม่มีการตั้งข้อหา และปฏิบัติการสังหารฝ่ายตรงข้ามโดยมิชอบด้วยกฎหมายของกองทัพเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เช่นเดียวกันกับกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดในปี 2516, 2519 และ 2535 ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำตัวผู้ที่ต้องรับผิดขอบต่อความป่าเถื่อนมาลงโทษในประเทศไทยได้เพราะการสมรู้ร่วมคิดของตุลาการ การทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษสำหรับผู้นำที่มีอำนาจเป็นวัฒนธรรม เป็นระบบและชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความยุติธรรมให้กับเหยื่อผู้ถูกกระทำจากโศกนาฏกรรมเหล่านั้น เมื่อไม่มีความยุติธรรม ประชาธิปไตยจึงไม่ต่างจากละครเวทีตลก

การทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษคือปัจจัยที่ชัดเจนว่าทำไมการสังหารหมู่ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 เกิดขึ้นอีกครั้ง ผู้นำทางการเมืองและกองทัพในเหตุการณ์นั้นไม่กังวลเลยว่าพวกเขาจะถูกลงโทษหลังจากนั้น พวกเขาผลิตข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จและสร้างหลักฐานเพื่อเป็นข้ออ้างในการสังหารประชาชน เพิกเฉยต่อข้อปฎิบัติสากลในเรื่องของหลักการควบคุมฝูงชนอย่างสิ้นเชิงโดยการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุอย่างมหาศาลและวิธีการที่โหดร้ายสังหารพลเรือน มีการใช้อาวุธหนัก กระสุนจริง พลซุ่มยิงและวัตถุระเบิด

พวกเขาให้ข้อมูลเท็จ โกหก และชี้นำประชาชนในทางที่ผิดอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างบรรยากาศของความกลัวและสร้างความชอบธรรมให้กับการสังหาร แม้แต่อาสาพยาบาลก็ถูกขัดขัดขวางการทำงาน ถูกยิงและถูกสังหารด้วยเช่นกัน ประชาชนกว่า 90 รายเสียชีวิต และบาดเจ็บอีกหลายพันราย และมีอีกหลายคนถูกจับกุมและได้รับการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม หลักฐานของกระทำอันไร้มนุษยธรรมมีมากมายถูกเเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยนักข่าวในประเทศและต่างประเทศ และยังมีการแบ่งปันข้อมูลกันระหว่างประชาชนกันเองในโซเชียลมีเดีย แต่ผู้นำทางการเมืองและกองทัพมักเมินเฉยต่อหลักฐานและการวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น และบ่อยครั้งแทนที่จะตอบโต้ด้วยเหตุผล ความเห็นใจหรือคำอธิบาย แต่กลับตอบโต้ด้วยมุขตลกหรือคำพูดเสียดสี พวกเขาย่อมรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแน่นอน นั้นคือการทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษคือประเพณีปฏิบัติทั่วไป เป็นวัฒนธรรมของอำนาจ ซึ่งบ่มเพาะความหยาบโลนอันป่าเถื่อน

อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ เหยื่อและประชาชนเปลี่ยนไป ต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากความป่าเถื่อนครั้งก่อนหน้านี้ พวกเขาเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างรอบคอบและปฏิเสธการนิรโทษกรรมที่จะล้างผิดให้ผู้กระทำความผิด พวกเขาประกาศว่า พวกเขาไม่ต้องการการปรองดองสมานฉันท์โดยปราศจากความจริงและความยุติธรรม แต่โชคร้ายคือ ระบบตุลาาร ตั้งแต่ตำรวจไปจนถึงอัยการและตุลาการคืออุปสรรคการค้นหาความจริงและสร้างความยุติธรรม ผู้นำทางการเมืองถ้าไม่มีส่วนร่วมในความป่าเถื่อนก็มักจะขาดความกล้าหาญที่จะสนับสนุนความยติธรรมเพื่อยุติการทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษอย่างเป็นวัฒนธรรมและเป็นระบบ พวกเขาพยายามที่จะปกปิดอาชญกรรมอีกครั้งในนามของความสามัคคี ปรองดองสมานฉันท์ และความจำเป็นที่ประเทศต้องเดินไปข้างหน้า

หากการทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษเกิดขึ้นอีกครั้ง จะมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นอีกกี่ครั้งก่อนที่จะมีการยอมรับว่าหนึ่งชีวิตต้องได้รับการเคารพ? จะมีความป่าเถื่อนเกิดขึ้นต่อประชาชนอีกกี่ครั้งก่อนที่ประชาชนทุกคนจะได้รับความเท่าเทียมบนผืนแผ่นดินเดียวกัน? จะต้องมีการบูชายัญความจริงหรือความยุติรรมอีกมากเท่าไรจนกว่าจนมีความยุติธรรมและความจริงจะถูกเปิดเผยโดยปราศจากความกลัว?

ไอซีซีสามารถช่วยยุติวัฒนธรรมการทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษได้ ผมเข้าใจว่ามีการยื่นคำร้องขอให้อัยการไอซีซีพิจารณาการสังหารหมู่เดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ในประเทศไทยแล้ว ผมหวังว่าท่านจะพิจารณาคำร้องนี้อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าไอซีซีจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อนำความยุติธรรมมาให้เหยื่อและประชาชนในประเทศที่ระบบความยุติธรรมไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ อย่างน้อยที่สุด การดำเนินการของไอซีซีสามารถสนับสนุนก้าวต่อไปข้างหน้าก้าวใหญ่ในการยุติการทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษในอนาคต

ในต้นยุค 90 หลังจากการสังหารหมู่ปี 2553 แต่ก่อนที่จะมีการจัดตั้งศาลไอซีซี ผมพยายามหาทางที่จะนำคดีปี 2519 ขึ้นสู่องกรค์ระหว่างประเทศ ผมเรียนรู้ด้วยความผิดหวังอย่างใหญ่หลวงว่ามันเป็นไปไม่ได้ด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก ในทางกฎหมาย ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีองค์กรระหว่างประเทศที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีที่จะพิจารณาคดี ประการที่สอง ในเชิงทางการทูต ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศสำคัญที่นานาชาติรู้สึกกังวลใจ แน่นอนว่าประเทศเสวยสุขกับการมีชื่อเสียงในทางที่ดี ดังนั้นประเทศอื่นจึงเต็มใจปล่อยให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาตนเอง นอกจากนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตในการสังหารหมู่ค่อนข้างน้อย ผมเชื่อว่าสำหรับศาลไอซีซีแล้ว ความยุติธรรมไม่ได้สำคัญน้อยลงตามความเจริญเติบโตของประเทศหรือจำนวนผู้บาดเจ็บเสียชีวิต

การทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษอาจจะเหนียวแน่นมากกว่าในประเทศอย่างประเทศไทยเพราะนานาชาติไม่ใส่ใจเนื่องจากไม่ใช่ประเทศนานาชาติรู้สึกกังกล ดังนั้นนานาชาติจึงเต็มใจที่จะมองข้าม การทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษถูกเก็บซ่อนดีกว่าในประเทศอย่างประเทศไทยเพราะอาญชากรรมมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือความรุนแรงขนาดใหญ่ ดังนั้น มันจึงกลายเป็นระบบ ดังนั้นอาชญากรรมจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าและจำนวนคนตายก็พอกพูนขึ้น ความเงียบ ความกลัว และการลืมเลือนยังคงดำเนินต่อไป

ผมขอร้องไอซีซีว่าได้โปรดใช้ความพยายามเท่าที่จะทำได้ช่วยยุติการทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษในประเทศไทย

ด้วยความเคารพ
ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์
มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน

 

...............................................

จดหมายฉบับแปลภาษาไทย จากเว็บไซต์ ไทยอีนิวส์

จดหมายฉบับภาษาอังกฤษ เผยแพร่ในเว็บไซต์ของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ดูได้ที่ http://www.scribd.com/doc/98322348/Letter-to-ICC-Prosecutor-Draft 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท