Skip to main content
sharethis

พันธมิตรควบคุมอาวุธ (Control Arms)  อ็อกแฟม (Oxfam)  และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)  ออกแถลงการณ์ร่วม เนื่องในวาระที่จะมีการประชุมว่าด้วยสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธ ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุงนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 2-27 กรกฎาคม 2555 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

0 0 0

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2555
การเจรจาการค้าอาวุธครั้งประวัติศาสตร์
เป็นโอกาสป้องกันไม่ให้
เกิดการเข่นฆ่าแบบซีเรียในอนาคต

 

                ถึงเวลาที่ต้องยุติวิธีทำงานแบบ “ผ้าห่อศพ” สำหรับการควบคุมอาวุธ และต้องสนับสนุนให้เกิดสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธที่เข้มแข็ง

                นิวยอร์ก – ผู้นำการเมืองมีโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่จะสนับสนุนเป้าหมายด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมให้อยู่เหนือผลประโยชน์และผลกำไรส่วนตน ในระหว่างการเจรจารอบสุดท้ายเพื่อควบคุมการค้าอาวุธระดับโลกที่เริ่มต้นวันนี้ที่องค์การสหประชาชาติ นักรณรงค์จากทั่วโลกกล่าวเช่นนั้น

                พันธมิตรควบคุมอาวุธ (Control Arms Coalition) ซึ่งประกอบด้วยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) อ็อกแฟม (Oxfam) และองค์กรอื่น ๆ จากกว่า 125 ประเทศ เรียกร้องรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้เห็นชอบต่อสนธิสัญญาที่มีหลักเกณฑ์เข้มงวดมากขึ้น เพื่อประกันการเคารพต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ 

                โดยเฉลี่ยทุกหนึ่งนาทีจะมีคนเสียชีวิตหนึ่งคน อันเป็นผลมาจากความรุนแรงจากการใช้อาวุธ และเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและละเมิดสิทธิอีกหลายพันคนทุกวัน  

                "ที่ซีเรีย ซูดาน และกลุ่มประเทศทะเลสาบขนาดใหญ่ 5 แห่ง (The Great Lakes) ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา (Great Lakes of Africa) โลกได้เห็นอีกครั้งถึงต้นทุนของมนุษย์ที่ต้องจ่ายให้กับการค้าอาวุธแบบลับและเปิดเผยที่ไม่บันยะบันยัง เหตุใดเราจึงควรปล่อยให้คนอีกหลายล้านคนต้องถูกสังหารและชีวิตถูกทำลายก่อนที่ผู้นำจะตื่นขึ้นมา และดำเนินการอย่างเฉียบขาดเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายอาวุธระหว่างประเทศ?"  ไบรอัน วูด (Brian Wood) ผู้จัดการฝ่ายควบคุมอาวุธและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

            “การเจรจาว่าด้วยสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) เป็นบททดสอบว่านักการเมืองเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงอย่างไร และเห็นชอบต่อหลักเกณฑ์ที่นำไปสู่การยุติการเคลื่อนย้ายอาวุธอย่างไม่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง”

                หากไม่สามารถเห็นชอบต่อสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธที่รอบด้าน จะเป็นเหตุให้พลเรือนอีกหลายล้านคนถูกสังหาร ได้รับบาดเจ็บ ถูกข่มขืนกระทำชำเรา และถูกบังคับให้ออกจากถิ่นฐานบ้านเรือนของตน อันเป็นผลมาจากการค้าอาวุธที่ขาดความรับผิดชอบและขาดการจัดการ

                เป็นเวลาสี่ทศวรรษมาแล้ว คนในทุกภูมิภาคต้องแบกรับภาระมากกว่า 60,000 ล้านเหรียญเนื่องจากการค้าอาวุธซึ่งส่งเสริมให้เกิดการขัดกันด้วยอาวุธและความรุนแรง คอรัปชั่นและความเสื่อมถอยอย่างรุนแรงของกระบวนการพัฒนา

                “เรามีโอกาสครั้งหนึ่งในรุ่นคนของเราที่จะทำให้โลกเป็นสถานที่ปลอดภัยมากขึ้น ไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสนธิสัญญาโดยทั่วไป แต่เป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับการค้าอาวุธที่เติบโตจนยากต่อการควบคุมในปัจจุบัน” แอนนา แม็คโดนัลด์ (Anna Macdonald) หัวหน้าแผนกรณรงค์ควบคุมอาวุธ อ็อกแฟมกล่าว

                “จากคองโกถึงลิเบีย จากซีเรียถึงมาลี ทุกประเทศต่างประสบเคราะห์กรรมจากการขาดการควบคุมการค้าอาวุธสงครามและยุทธภัณฑ์ เป็นเหตุให้ความขัดแย้งเหล่านั้นก่อให้เกิดความทุกข์ยากที่ไม่อาจประเมินได้ และจะยังดำเนินต่อไปในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้าถ้านักการทูตไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ก็คงทำให้โลกผิดหวัง” แม็คโดนัลด์กล่าวเสริม

                ในปัจจุบัน ไม่มีหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศที่รอบด้านและมีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมการค้าอาวุธแบบทั่วไปในระดับโลก และมีช่องว่างและช่องโหว่ก็ปรากฏอยู่ทั่วไปในมาตรการควบคุมอาวุธทั้งระดับชาติและภูมิภาค

                นักรณรงค์จากทั่วโลกมุ่งมั่นเรียกร้องให้รัฐบาลยุติวิธีทำงานแบบ “ถุงใส่ศพ” ซึ่งรวมทั้งกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติคว่ำบาตรการค้าอาวุธต่อบางประเทศ แต่มักเป็นมติที่เกิดขึ้นหลังจากการค้าอาวุธอย่างไม่มีขอบเขตได้ทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติแล้ว

                สนธิสัญญาซื้อขายอาวุธเป็นกลไกที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการส่งมอบอาวุธที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความยากจน และความขัดแย้ง

                เพื่อให้หลักเกณฑ์ในสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธมีผลบังคับใช้จริง จะต้องกำหนดให้รัฐบาลควบคุมการขายและการส่งมอบอาวุธสงคราม อาวุธทั่วไป ยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ส่วนควบทั้งหมด ซึ่งต่างเคยถูกใช้เพื่อกิจการความมั่นคงของทหารและหน่วยงานในประเทศ ตั้งแต่รถหุ้มเกราะตลอดจนถึงจรวดมิสไซลส์ และเครื่องบิน ไปจนถึงอาวุธเบา ระเบิดขว้าง และยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ

                รัฐจะต้องทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงอย่างเข้มแข็ง ก่อนให้ความเห็นชอบต่อการขนย้ายหรือธุรกรรมด้านอาวุธระหว่างประเทศ และต้องรายงานให้สาธารณะทราบถึงการให้ความเห็นชอบและการขนย้ายอาวุธทั้งหมด ต้องมีกำหนดความผิดทางอาญาหรือความผิดอื่น ๆ ตามกฎหมายระดับประเทศสำหรับการค้าอาวุธที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือการเปลี่ยนเส้นทางการส่งอาวุธอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

                ต้องมีมาตรการลงโทษผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญา

            “เป็นความจริงที่เหลวไหลและน่ากลัวที่ในปัจจุบันเรามีกฎเกณฑ์ระดับโลกเพื่อควบคุมการค้าผลไม้และซากกระดูกไดโนเสาร์ แต่กลับไม่มีหลักเกณฑ์ควบคุมการค้าปืนและรถถัง” Jeff Abramson ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการการควบคุมอาวุธ (Control Arms Secretariat) กล่าว

                “นักรณรงค์ทั่วโลกให้ข่าวกับสื่อมวลชนและกดดันรัฐบาลและรัฐมนตรีให้เจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธซึ่งจะช่วยรักษาชีวิตมนุษย์จากการมีนโยบายที่เข้มแข็งและมีผลโดยตรงในทางปฏิบัติ” Abramson กล่าวเสริม

                แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเคยเน้นย้ำถึงบทบาทของพ่อค้าอาวุธ “รายใหญ่หกราย” ของโลก ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งมอบอาวุธสงครามจำนวนมหาศาลให้กับรัฐบาลที่กดขี่ประชาชนทั่วโลก แม้ว่าจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะมีการใช้อาวุธเหล่านั้นเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง รวมทั้งการส่งมอบอาวุธของสหรัฐฯ ให้กับอียิปต์ และบาห์เรน รวมทั้งกรณีที่รัสเซีย และจีนส่งมอบอาวุธให้กับซูดาน

                เมื่อเร็ว ๆ นี้อ็อกแฟมตีพิมพ์รายงานวิจัยแสดงให้เห็นผลกระทบของการค้ายุทธภัณฑ์ระดับโลกมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญที่มีต่อคนยากจนสุดของประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในรัฐที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งหรือมีสถานการณ์เปราะบางอย่างเช่น อัฟกานิสถานและโซมาเลีย

                รัฐบาลส่วนใหญ่ต้องการให้มีความเห็นชอบต่อเนื้อหาของสนธิสัญญาที่เข้มแข็ง แต่ก็มีบางประเทศที่พยายามทำให้หลักเกณฑ์และนิยามของสนธิสัญญาอ่อนแอลง เมื่อเร็ว ๆ นี้สหรัฐอเมริกา จีน ซีเรีย และอียิปต์ แสดงความต่อต้านที่จะให้รวมยุทธภัณฑ์เข้าไปด้วย จีนต้องการให้ตัดหลักเกณฑ์ในสนธิสัญญาเกี่ยวกับอาวุธขนาดเล็กและอาวุธที่มอบเป็น “ของกำนัล” ให้กับรัฐบาลในตะวันออกกลางที่ไม่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน

                ประชาชนทั่วโลกจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อผู้นำของตนเพื่อเจรจาให้มีเนื้อหาสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธที่เข้มแข็งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งคาดว่าการเจรจาจะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม

 

เกี่ยวกับพันธมิตรควบคุมอาวุธ:
                พันธมิตรควบคุมอาวุธ (Control Arms) เป็นขบวนการระดับโลกที่รณรงค์ให้มีสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) ที่มีผลผูกพันตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน
                มีสมาชิกและหน่วยงาน 90 แห่งและมีสำนักงานอยู่ในกว่า 125 ประเทศทั่วโลก นักรณรงค์จำนวนมากจะมารวมตัวกันในกรุงนิวยอร์กในเดือนกรกฎาคม เพื่อกดดันนักการทูตและรัฐมนตรีจากทั่วโลกเพื่อให้เจรจาเนื้อหาสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธที่เข้มแข็ง ซึ่งจะบังคับให้รัฐต่าง ๆ ต้องยุติการเคลื่อนย้ายอาวุธและยุทธภัณฑ์ที่ส่งเสริมความขัดแย้ง ความยากจน และการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง  www.controlarms.org 

เกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
                แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นขบวนการระดับโลกที่มีผู้สนับสนุน สมาชิก และนักกิจกรรมกว่าสามล้านคนในกว่า 150 ประเทศและดินแดน ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน             
                ทางหน่วยงานมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งให้บุคคลทุกคนได้รับสิทธิมนุษยชนทุกประการตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่น ๆ
                เราเป็นหน่วยงานอิสระจากรัฐบาล จากอุดมการณ์การเมือง จากผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจหรือศาสนา และได้รับทุนสนับสนุนจากค่าสมาชิกและการบริจาคของประชาชน www.amnesty.org

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net