Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในฐานะรุ่นพี่คนหนึ่งที่เรียนจบจากที่นี่ และกำลังเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา พี่ตั้งข้อสังเกตดังนี้ครับ

1. ประเด็นที่พี่อยากร่วมสนทนา มีอยู่ในร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (http://kkufuture.kku.ac.th/2552/2553/01/03_rule.pdf) โดยขออนุญาตตั้งข้อสงสัยในประเด็นแนวคิดพื้นฐานของเรื่องนี้

2. ถ้าเป็นประเด็นแค่เรื่องค่าเทอม จะออก หรือไม่ออกนอกระบบ ค่าเทอม ม.ข. เอง ขึ้นมานานแล้ว จากหน่วยกิตละ 60 บาท ปฏิบัติการหน่วยละ 120 บาท คิดทั้งเทอม รวมค่าบำรุงคณะ ไม่เกิน 8500 บาท เป็นเหมาจ่าย 15000 บาท คำถามคือ เรากำลังถูกแนวคิด ม.นอกระบบหลอกให้ตกหลุมบางอย่างหรือเปล่า เพราะมันเปลี่ยนมา 6-7 ปีแล้ว สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนคือ ยังไม่มีตัวบทกฎหมายรองรับเท่านั้นเอง

3. นอกจากเรื่องเงินแล้ว ในเรื่องระบบทุกอย่างก็เปลี่ยนมานานแล้วเหมือนกัน ตอนนี้ อ.รุ่นใหม่ๆ ไม่ได้อยู่ในรูปของข้าราชการ แต่เป็นพนักงาน ซึ่งต้องมีผลงานทางด้านวิชาการตลอดเวลา เป็นเรื่องที่พี่คิดว่า เป็นแกนความสำคัญของการมีมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้ต้องการแค่คนมาสอนหนังสือ แล้วรับเงินเดือนไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ทำงานด้านวิชาการเลย

4. พี่รู้สึกว่า มันมีแนวคิดหลักสองด้านที่เป็นพื้นฐานในการต่อสู้เรื่องนี้ ข้อแรกคือ เรื่องรายจ่ายของผู้เรียน ซึ่งพี่คิดว่า เป็นเรื่องที่น้องๆ ชูขึ้นมาเพื่อใช้ในการต่อสู้กันอยู่ กับเรื่องคุณภาพของการศึกษา และความอิสระทางวิชาการ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ม.ทุกแห่งในประเทศ ต้องพึ่งพาเงินของรัฐในการจัดการภายใต้ระบบราชการ ทุกอย่างเชื่องช้า ไม่มีประสิทธิภาพ และเช้าชามเย็นชาม การควบคุมมหาวิทยาลัย ก็มีการแต่งตั้งสภามหาวิทยาลัยมาจากส่วนกลาง คนพวกนี้แทบจะไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรเลยกับมหาวิทยาลัย และพี่ยังไม่เห็นประโยชน์อะไรของคนเหล่านี้เลย นักวิชาการเวลาทำงานก็ต้องขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ ถ้าต้องการตำแหน่งทางวิชาการ (หลายครั้ง) มากกว่าผลงานทางวิชาการเอง ทำให้มีประเด็นการเมืองเข้ามาก้าวก่ายมากมายในวงวิชาการ ลองจินตนาการว่า ถ้าการออกนอกระบบ ทำให้เรามีอำนาจที่จะหลุดจากกระบวนการพวกนี้ได้ จะดีกว่าที่เป็นอยู่หรือเปล่า ซึ่งพี่ว่าเป็นประเด็นที่น่าต่อสู้มากกว่าเรื่องเงิน

5. พี่มีคำถามว่า ทำไมคนในประเทศ ต้องพยายามดิ้นรนเพื่อที่จะเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย ทำไม "ทุกคน" ต้องเรียนมหาวิทยาลัย เป้าหมายของการเรียนในมหาวิทยาลัยคืออะไร พี่ขอแชร์สิ่งที่พี่รู้นิดนึงนะครับ ระบบการศึกษาในโลกนี้ มีหลักๆ สองระบบ ซึ่งมุ่งที่จะผลิตบุคลากรสองประเภท ให้แก่สังคม คือ ระบบที่ผลิตนักวิชาการ และระบบที่ีผลิตผู้ชำนาญการ พูดให้ง่ายขึ้นคือ สายสามัญและสายอาชีพ ประเทศของเราเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่มุ่งที่จะเข้าสู่การศึกษาสายสามัญ ซึ่งมุ่งจะผลิตนักวิชาการ ทั้งที่หลายคนไม่มีความพร้อมเลย และผลลัพท์ของมหาวิทยาลัยในประเทศเราคือ ผลิตพนักงานบริษัทมากกว่าผลิตนักวิชาการ ในขณะที่สายอาชีพที่มีเป้าหมายมุ่งผลิตบุคลากรในแบบที่มหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันผลิตอยู่ กลับโดนค่านิยมบางอย่างในสังคมไทย บอกว่า มีระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าการเรียนมหาวิทยาลัย  ทั้งที่จริงๆ แล้ว สถาบันทางการศึกษาเหล่านี้ ได้ผลิตบุคลากรที่มีความชำนาญในงานที่ตนเองทำออกมามากมาย ตามเป้าหมายของระบบการศึกษาที่วางไว้ โดยที่คนเหล่านั้นไม่ต้อง เรียนแคลคูลัส ฟิสิกส์ เคมี หรืออะไรก็ตามที่เรียนไปแล้ว แทบจะไม่ได้ใช้ในการทำงานจริงเลย ประเด็นในข้อนี้คือ คำว่า "ริดรอนสิทธิทางการศึกษา" ที่กล่าวถึงกัน หมายความว่า ทุกคน "ต้อง" ได้เรียนมหาวิทยาลัย อย่างนั้นหรือ

6. ข้อสุดท้าย พี่มีคำถามที่ถามตัวเองเสมอ และคิดว่าได้รับคำตอบนั้นแล้ว และอยากแลกเปลี่ยนคำถามดังกล่าว กับน้องๆ ว่า ใครบ้างที่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ "จริง ๆ" ในระยะยาวมากกว่า ในระยะสั้นจากการออก พรบ.ฉบับนี้ ลองตั้งคำถามนี้ โดยรวมแม้กระทั้ง คนที่เราเคารพ (จะเป็นอาจารย์ หรือบุคลกรอื่นๆ ก็แล้วแต่) ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งตัวน้องเอง และสังคมโดยรวม และหวังว่า เราจะได้แลกเปลี่ยนคำตอบนั้นกัน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net