สภาทนายค้าน จังหวัดตากห้ามแรงงานข้ามชาติเดินทาง ชี้ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

คณะอนุกรรมการสิทธมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้แถลงคัดค้านหนังสือสั่งการจังหวัดตาก กรณีให้แรงงานข้ามชาติเดินทางได้เฉพาะที่มีหนังสือรับรองการเปลี่ยนสถานที่ทำงานเท่านั้น เป็นการจำกัดสิทธิการเดินทาง ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบตลอดจนนโยบายของรัฐที่บัญญัติไว้

4 ก.ค. คณะอนุกรรมการสิทธมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้แถลงคัดค้านหนังสือสั่งการจังหวัดตาก กรณีให้แรงงานข้ามชาติเดินทางได้เฉพาะที่มีหนังสือรับรองการเปลี่ยนสถานที่ทำงานเท่านั้น เป็นการจำกัดสิทธิการเดินทาง ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบตลอดจนนโยบายของรัฐที่บัญญัติไว้

เนื่องด้วยจังหวัดตาก โดยนายมงคล สัณฐิติวิฑูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ปฏิบัติหน้าที่ราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีหนังสือสั่งการลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ให้เจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจห้วยหินฝน อำเภอแม่สอด ตรวจสอบเอกสารการเดินทางของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) และแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติมีหนังสือเดินทาง ว่าหากจะผ่านด่านดังกล่าวจะต้องมีหนังสือรับรองการเปลี่ยนนายจ้าง หรือสถานที่ทำงานด้วย ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถเดินทางผ่านด่านได้

คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ โดยนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการ ฯ ได้ทำหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คัดค้านหนังสือสั่งการดังกล่าว และให้ยกเลิกหนังสือในทันทีโดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีหลักเกณฑ์ควบคุมการเดินทางของกลุ่มนี้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ตามกฎหมาย แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และมีหนังสือเดินทางถือเป็น ผู้เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิเดินทางภายในราชอาณาจักร ตามกฎหมายระยะเวลาที่วีซ่ากำหนด โดยไม่ต้องขออนุญาต ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในพื้นที่ควบคุม คือจังหวัด เพื่อทำงานได้ตามระยะเวลาที่รัฐกำหนด การออกนอกพื้นที่ควบคุมต้องขออนุญาตจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดเฉพาะ 6 กรณี คือ

1. เพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ
2. เพื่อเป็นพยานศาล
3. ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน
4. มีหนังสือเรียกจากหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงแรงงาน
5. เพื่อรักษาพยาบาล
6. ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนสถานที่ทำงาน

ส่วนกรณีคนรับใช้ในบ้านสามารถเดินทางติดตามนายจ้างไปทำหน้าที่รับผิดชอบ ออกนอกจากจังหวัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ฯ กล่าวว่า “หนังสือคำสั่ง และแนวปฏิบัติของจังหวัดตาก ไมเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และระเบียบ และแนวปฏิบัติของรัฐ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการเป็นแนวเดียวกันทั้งประเทศ จังหวัดตากไม่มีอำนาจเป็นอิสระที่จะกระทำนอกเหนือจากที่กำหนด จึงใคร่เรียกร้องให้จังหวัดตากยกเลิกหนังสือสั่งการ และแนวปฏิบัติที่ผิดกฎหมายทันที และปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจต้องรับผิดหากมีความเสียหายเกิดขึ้น และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย”

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 26 มิ.ย. เครือข่าย Migrant Rights Promotion Working Group (MRPWG) เปิดเผยว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ อ.แม่สอด ว่าขณะนี้แรงงานต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางชั่วคราวและมี VISA ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่แม่สอดได้ และทางเครือข่ายได้ตรวจสอบข้อมูลก็พบว่ามีแรงงานจำนวนมากที่ถูกยับยั้งการเดินทางออกนอกพื้นที่อำเภอแม่สอด ณ ด่านตรวจบ้านห้วยหินฝน ทั้งๆ ที่มีหนังสือเดินทางและ VISA

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท