"คำนูณ สิทธิสมาน" เสนอหลัก 8 ประการ จะแก้ รธน. ห้ามขัดหลักนี้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ลั่นจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไม่กระทบ "หลักการ 8 ประการ" ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นรูปแบบการปกครอง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางไว้ โดยถือเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ห้ามลบล้าง

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.ระบบสรรหา ได้โพสต์บทความในเฟซบุค โดยระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่กระทบหลักการ 8 ประการของรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีรายละเอียดของบทความดังนี้

000

 

ความผิดฐาน “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 ฝ่ายผู้เสนอแก้ไขในลักษณะที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับแล้วโอนอำนาจจากรัฐสภาไปให้ส.ส.ร.มักจะแก้ต่างว่าไม่ได้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐอยู่แล้ว และร่างฯแก้ไขมาตรา 291 ก็ยอมแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเรียกร้องโดยเขียนบังคับไว้ว่าห้าม ส.ส.ร.แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์

แต่มันไม่ใช่แค่นั้น!

ข้อความในมาตรา 68 วรรคนี้ต้องอ่านเต็มๆ ว่า “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ขีดเส้นใต้ร้อยเส้นตรงประโยคท้ายที่ว่า “...ตามรัฐธรรมนูญนี้” !

การปกครองระบอบประชาธิปไตยย่อมมีได้หลายรูปแบบทั่วโลก เฉพาะในประเทศไทยเราเองที่แม้จะเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ยังมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ

การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ในมาตรา 68 จึงมีความหมายเฉพาะเจาะจง คือ หมายถึงล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรูปแบบที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้ ไม่ใช่แค่ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์เท่านั้น

จะแก้ไขอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่กระทบหลักการ 8 ประการของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางไว้

หลักการทั้ง 8 ประการนี้ปรากฏอยู่ตั้งแต่ใน “คำปรารภ” ของรัฐธรรมนูญ 2550

หนังสือตัวบทรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับล่าสุดที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาพิมพ์ล่าสุด ได้ตีพิมพ์ไว้ชัดเจนสวยงามบนปกหลัง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขมาตรา 291 ไม่ว่าครั้งนี้หรือครั้งหน้า หากเป็นการทำลายหลักการใดหลักการหนึ่งหรือหลายหลักการที่ว่านี้ มีผู้ตีความว่าล้วนเข้าข่าย “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” ทั้งสิ้น ซึ่งผมค่อนข้างเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความเช่นนี้ แต่ที่สุดก็ต้องรอคำวินิจฉัยศาลฯ ก่อนว่าจะพูดครอบคลุมถึงประเด็นนี้ด้วยหรือไม่

 หลักการทั้ง 8 ประการที่ปรากฎอยู่ในภาพถ่ายปกหลังหนังสือ เพื่อความชัดเจนขอถ่ายทอดมาอีกครั้ง

ประการที่ 1 ธำรงไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติ

ประการที่ 2 ทำนุบำรุงรักษาศาสนาทุกศาสนาให้สถิตสถาพร

 ประการที่ 3 เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นมิ่งขวัญของชาติ

ประการที่ 4 ยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวิถีทางในการปกครองประเทศ

ประการที่ 5 คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ประการที่ 6 ให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม

ประการที่ 7 กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา

ประการที่ 8 ให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม

หลักการทั้ง 8 ประการนี้เป็นเสมือนหลักการที่ “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” (หรือ “อำนาจบัญญัติรัฐธรรมนูญและจัดให้มีองค์การทางการเมือง” หรือ “อำนาจตั้งแผ่นดิน” หรือ “Pouvoir Constituant”) วางไว้ ห้ามลบล้าง

อำนาจนี้เป็นของพระมหากษัตริย์ร่วมกับปวงชนชาวไทย ดังที่ตอนสำคัญในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2550 เขียนไว้ในตอนท้ายของย่อหน้าที่ 4 ว่า...

“...ทรงพระราชดำริว่าสมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามมติของมหาชน”

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ประการที่ 5, 6 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประการที่ 8

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยืนยันในอำนาจรับคำร้องได้โดยตรงจากประชาชนตามมาตรา 68 วรรคสอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่อๆ ไป ศาลฯ จะเข้ามามีบทบาทโดยตรง หากมีประชาชนยื่นคำร้องเข้าไป

เป็นต้นว่า แก้ไขเนื้อหามาตรา 67 หรือ 67 วรรคสอง, มาตรา 190 วรรคสองและสาม ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องว่าเข้าข่ายขัดหลักการประการที่ 5 และ 6 หรือแก้ไขให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องว่าเข้าข่ายขัดหลักการประการที่ 8 และอาจจะประการที่ 3 ด้วย

สรุปก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ!

สรุปก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปจากเจตนารมณ์ของผู้ใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท