นิสิต.ม.เกษตร จัดเสวนาสภากาแฟ "กิจกรรมรับน้อง "รุ่น" ทำไมต้อง "เอา"

วงเสวนาวิพากษ์รับน้อง-SOTUS มีทั้งข้อดีและเสีย เผยแม้ไม่บังคับโดยตรงก็กดดันทางอ้อม เสนอไม่ยกเลิกไปเลยก็ปรับกิจกรรมสร้างสรรค์ เห็นถึงปัญหาสังคมนอกมหาวิทยาลัย รับไม่ได้สุดคือ “ว๊าก”

17.00 น. วานนี้(5 ก.ค.) ที่ห้องชมรมค่ายสร้างสรรค์เยาวชน ตึกกิจกรรม 8 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน นิสิตชมรมค่ายสร้างสรรค์เยาวชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(คสยช) กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ และกลุ่มเสรีนนทรี ร่วมจัดเสวนาสภากาแฟ (https://www.facebook.com/WorldCafeKaset) ประเด็น "กิจกรรมรับน้อง "รุ่น" ทำไมต้อง "เอา" ท่ามกลางเสียงการซ้อมร้องเพลงมหาลัย ของอาคารใกล้เคียง โดย มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน ซึ่งมีทั้งนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรฯ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่น และกลุ่มกิจกรรม “สลึง” ร่วมแลกเปลี่ยน ทั้งนี้วงเสวนาได้เปิดให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นการรับน้องและระบบ SOTUS ระบบที่ใช้ในการจัดความสัมพันธ์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยย่อมาจากภาษาอังกฤษ 5 คำประกอบด้วย Seniorityหรือ การเคารพผู้อาวุโส, Order การปฏิบัติตามระเบียบวินัย, Tradition การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี, Unity การเป็นหนึ่งเดียว และ Spirit คือ การมีน้ำใจ

ผู้ร่วมเสวนาในวงนี้มีทั้งแสดงความคิดเห็นไปในทางเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรับน้องและระบบ SOTUS ผู้ที่เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลต่างๆ ไป เช่น ไม่ได้แสดงถึงการยกระดับความคิดเพื่อให้เข้าใจสังคมหรือการอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง แสดงถึงการแบ่งชนชั้นระหว่างพี่กับน้อง ซึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบที่ผู้ถูกรับน้องรู้สึกถูกคุกคาม รู้สึกขัดแย้งในใจและรู้สึกว่ามีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันเองตามคณะ เป็นต้น ด้านฝังที่เห็นว่าการรับน้องเป็นกิจกรรมที่ดีนั้นให้เหตุผลว่า เป็นการฝึกความอกทนต่อแรงกดดัน สร้างความเคารพยำเกรง ทำให้รู้สึกรักกันระหว่างพี่และน้อง รวมทั้งเป็นการควบคุมระเบียบของคนหมู่มาก เป็นต้น

ผู้เสวนาได้ร่วมกันนำเสนอ 2 แนวทางในการแก้ปัญหา ทางหนึ่งเสนอให้ยกเลิกไปกิจกรรมไปเลย กับอีกแนวทางคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม เช่น เปลี่ยนเป็นการรับน้องเชิงสร้างสรรค์ออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมนอกมหาวิทยาลัยร่วมกัน หรือการสร้างความรู้จักกันและสนิทกันด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การว๊าก หรืออย่างน้อยมีการจัดระเบียบขอบเขตการว๊าก บางส่วนเสนอให้การรับน้องเป็นเพียงทางเลือกคือให้เป็นไปโดยสมัครใจของผู้ถูกรับ ไม่มีการบังคับหรือการกดดันทางอ้อม หรือการตั้งเป็นเฉพาะชมรม นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการรวมตัวช่วยเหลือในรูปแบบอื่นแทนการรวมตัวแบบ SOTUS เช่น เป็นสหภาพนักศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องต่อรองสวัสดิการของนักศึกษาทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เป็นต้น

น.ส.บุญจิรา บัลลังก์ปัทมา นิสิตปี 3 คณะอุตสาหกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ จากชมรมค่ายสร้างสรรค์เยาวชนในฐานะองค์กรร่วมจัดกิจกรรมนี้ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมกับผู้สื่อข่าวว่า ต้องการให้คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรับน้องได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่ส่วนมากที่มาในวันนี้เป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้อง แม้จะมีการประชาสัมพันธ์ไปหลายช่องทาง โดยเฉพาะใน Facebook ก็มีคนที่เห็นด้วยกับการรับน้องมาตอบมาแสดงความคิดเห็น แต่ก็ไม่มาร่วมเสวนา ทั้งนี้ผู้จัดได้เตรียมเปิดเวทีด้านล่างของอาคารในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนมากไว้ด้วย

สำหรับกิจกรรมรับน้อง น.ส.บุญจิรา มองว่า “มีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างเช่นว่าถ้ารับน้องด้วยความคิดสร้างสรรค์ เช่น พาน้องไปปลูกป่า หรือว่าพาน้องไปทำสิ่งดีๆให้สังคมนี้ รับน้องแบบนี้หนูว่าเป็นการที่รุ่นพี่รักรุ่นน้องจริงๆ แต่ถ้ารับน้องใช้คำว่ารับน้องมาบังหน้า มีการว๊ากใส่อารมณ์ลงไป เหมือนเป็นการเอาคืนจากสิ่งที่ตัวเองโดนด่ามาอะไรแบบนี้ หนูว่าอย่างนี้มันไม่สร้างสรรค์และก็คิดว่ามันไม่เวิร์ค” น.ส.บุญจิรา ย้ำอีกว่าการว๊ากเป็นตัวปัญหาหลักของการรับน้อง ปัญหารองคือการที่รุ่นพี่มักบอกให้รุ่นน้องทำอย่างแต่ตัวเองกลับไม่ทำ เช่น บอกให้รุ่นน้องแต่งกายให้เรียบร้อยแต่รุ่นพี่กลับไม่แต่งตัวเรียบร้อย บอกให้รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่ แต่ก็ทำตัวไม่น่าเคารพ หรือรุ่นพี่เองยังไม่เคารพอาจารย์เลย

จิฬาชัย พิทยานนท์ นิสิตชั้นปีที่ 6 คณะอุตสาหกรรมเกษตร และ กิตติพงศ์ ทรงคาศรี นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ จากกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ เปิดเผยเกี่ยวกับมุมมองของกลุ่มเกี่ยวกับกิจกรรมรับน้องว่ายังกำหนดไม่มีข้อสรุป ทั้งนี้ จิฬาชัย พิทยานนท์ ได้เปิดแสดงความเห็นส่วนตัวว่า “มองกิจกรรมดังกล่าวเป็นทางเลือกมากกว่า เพราะเราจะไปชี้ถูกชี้ผิดให้เขาไม่ได้ การชี้ถูกชี้ผิดของเราก็คือมาตรฐานเรา การชี้ถูกชี้ผิดของเขาก็เป็นมาตรฐานเขา โดยส่วนตัวเลยคิดว่าอยากให้มีระเบียบแน่นอนแล้วก็ และใช้ความสมัครใจมากกว่า ไม่มีการบังคับ ไม่มีการถูกกำหนดเป็นกิจกรรมบังคับ”

จิฬาชัย พิทยานนท์ มองว่า “ตัวโซตัสที่มันแข็งแรงมันไม่ได้แข็งแรงเฉพาะการใช้กำลังอย่างเดียว ตัวระบบที่มันฟอร์มออกมาเป็นรูปเป็นร่างจากมหาลัยเองก็มี ตัวมหาวิทยาลัยก็สนับสนุนทางด้านนี้ ลองไปดูป้ายในคณะวิศวกรรมศาสตร์หรือว่าคณะวนศาสตร์ เขาก็จะมีการสนับสนุนอย่างชัดเจน โซตัสคืออะไรแบบนี้ เราก็เลยมองว่ามันเป็นระบบที่ถูกฟอร์มตัวมาจากข้างบนอยู่แล้ว เพื่อให้ตัวเด็กอยู่ในสถานะที่จำยอมแล้วก็คนที่ไม่พอใจก็จะกลายเป็นส่วนน้อยของสังคมไป”

“ทุกวันนี้มันยังมีการบังคับกันทางอ้อม เหมือนว่าเขาเอาทางระเบียบโดยตรงไม่ได้ จะเล่นทางจิตวิทยาแทน ภาษาชาวบ้านว่ามาไซโคน้องว่าถ้าคุณไม่เข้าก็ได้ แต่ว่าถ้าคุณไม่เข้าคุณก็ไม่ได้เพื่อนไม่ได้รุ่น ไม่ได้อะไรเลย แล้วก็ไม่มีเพื่อนไม่มีใครติดต่อ แต่ว่าสุดท้ายก็ไม่มีผลกันเพราะว่าพอเรียนไปเรียนมาคนก็รู้จักกันเอง” กิตติพงศ์ ทรงคาศรี กล่าว สำหรับเพื่อนนิสิตคนอื่นในมหาวิทยาลัย กิตติพงศ์ ทรงคาศรี ประเมินว่า คนส่วนใหญ่จะอยู่ตรงกลาง อาจจะไม่ชอบแต่ก็ไม่ต่อต้านเพราะกลัวโดน Social Sanction หรือโดนกดดัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท