Skip to main content
sharethis
เอแบคโพลล์เผยประชาชนพอใจนโยบาย"เจ็บป่วยฉุกเฉิน"มากกว่าครึ่ง / กรมสวัสดิฯ สั่งจับตาสถานการณ์เลิกจ้างจากวิกฤติยุโรป / นายกฯ รณรงค์'เซฟตี้วีค'ในการทำงานสู่อาเซียน / สำรวจพบขึ้นค่าแรงกระทบนายจ้าง-ลูกจ้างกว่า 80% 
 
 
เอแบคโพลล์เผยประชาชนพอใจนโยบาย"เจ็บป่วยฉุกเฉิน"มากกว่าครึ่ง 
 
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการบูรณาการร่วมกันของ 3 กองทุนคือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาค ซึ่งล่าสุดข้อมูลจนถึงวันที่ 20 มิถุนายน พบว่า มีผู้เข้าถึงบริการโดยใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบ 2,714 คน ใน 191 โรงพยาบาล 50 จังหวัด สามารถช่วยชีวิตประชาชนได้ร้อยละ 92.6 โดยรัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยให้โรงพยาบาลไปแล้ว 31.51 ล้านบาท 
 
นพ.วินัยกล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมผ่านมา สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ทำการสำรวจความพึงพอใจต่อโครงการหรือมาตรการเร่งด่วนต่างๆ ของรัฐบาลจำนวน 19 โครงการ โดยกลุ่มเป้าหมายในการสำรวจคือ ประชาชนทั่วไปที่มีสิทธิในกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากทั่วประเทศ เก็บรวบรวมข้อมูลจาก 21 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 3,721 ตัวอย่าง ระยะเวลาในการดำเนินงานโครงการสำรวจ ระหว่างวันที่ 10-18 พฤษภาคม 2555 พบว่า โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น ประชาชนให้ความพึงพอใจเป็นอันดับหนึ่ง ได้คะแนนความพึงพอใจ 7.94 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 มากกว่าโครงการหรือมาตรการอื่นๆ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได การเร่งป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน การลดภาษีซื้อบ้านหลังแรก การจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้นักเรียน เป็นต้น 
 
(มติชนออนไลน์, 1-7-2555)
 
กรมสวัสดิฯ สั่งจับตาสถานการณ์เลิกจ้างจากวิกฤติยุโรป 
 
2 ก.ค. 55 - นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากรายงานที่เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสำรวจสถานประกอบ การที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก เบื้องต้นพบว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานมากนัก ในส่วนสถานประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออกไปยังประเทศยุโรปพบว่ามียอดคำสั่งซื้อ ลดลงประมาณร้อยละ 5 และเชื่อว่าวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป หากจะส่งผลกระทบต่อไทยก็ไม่น่าจะเท่ากับวิกฤติสินเชื่อซัพไพรม์ของสหรัฐที่ ผ่านมา แต่เพื่อความไม่ประมาทได้กำชับสถานประกอบการที่ส่งออกโดยเฉพาะในนิคม อุตสาหกรรมแหลมฉบัง และนิคมฯลำพูน ให้เตรียมมาตรการช่วยเหลือ เช่น ลดค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสภาพการจ้าง แต่ถ้าจำเป็นต้องเลิกจ้างก็ให้เลิกจ้างคนที่มีอายุน้อยเพราะมีโอกาสไปทำงาน ที่อื่น ให้ดูแลสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย กรมฯ ยังคงจับตาสถานการณ์ต่อเนื่อง ให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดรายงานตัวเลขการเลิกจ้างทุก 15 วันเพื่อนำข้อมูลเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในการเตรียมรับสถานการณ์  โดยล่าสุดตัวเลขการเลิกจ้างและรับทำงานใหม่ยังปกติ เฉลี่ยหมุนเวียนเดือนละ 10,000 คน 
 
(สำนักข่าวไทย, 2-7-2555)
 
นายกฯ รณรงค์'เซฟตี้วีค'ในการทำงานสู่อาเซียน 
 
3 ก.ค.55 - ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าไปเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ ก่อนเดินขึ้นห้องประชุม ครม.นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนายสง่า ธนะสงวนวงศ์ เลขานุการ รมว.แรงงาน ได้นำตุ๊กตาเซฟตี้บอย-เซฟตี้เกิร์ล พร้อมของที่ระลึกในการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติครั้งที่ 26 มารอมอบให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อรณรงค์ให้บรรดาแรงงาน และผู้ประกอบการได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง 
 
โดยการจัดงานดังกล่าวจะมีขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ค.นี้ ภายใต้แนวคิด "ก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมั่นใจ แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี". 
 
(ไทยรัฐ, 3-7-2555)
 
ก.แรงงาน เผยอาชีพผู้ประกอบอาหารไทยอนาคตรุ่งโรจน์ในยูเออี 
 
วันที่ 3 ก.ค.2555 น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นายสตีเฟน โรช ผู้บริหารระดับสูงของสตาร์คอร์ปอเรชัน และนายแอนดรูว์ มอร์โรว์ ผู้บริหารแผนกร้านอาหารของสตาร์คอร์ปอเรชัน ได้เข้าพบเพื่อหารือความต้องการแรงงานไทยในสาขาโรงแรมและการประกอบอาหารไทย เนื่องจากจากนายโมฮัมหมัด อาห์เหม็ด ซาอีด ซึ่งเป็นสมาชิกราชวงศ์แห่งรัฐอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ที่ก่อตั้งร้านค้าสหกรณ์ที่มีอยู่ทั่วไปในเมืองอาดู ดาบี เช่น ห้างสรรพสินค้าเมกะมอล ในรัฐชาร์จาห์ ซุปเปอร์มาเก็ตเมกะมาร์ท และร้านขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยูเออี 
 
โดยนายโมฮัมหมัด มีความสนใจจะทำธุรกิจด้านการโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งจะเปิดร้านอาหารไทยและอาหารต่างประเทศในเครือ Q Gourmet จำนวน 15 ร้าน ทั่วยูเออีในช่วงระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า และร้านแรกที่จะเปิดชื่อสโมคกิงดอลในเดือน ก.ย.2555 นั้น มีความต้องการจ้างแรงงานไทยที่สำเร็จการศึกษาด้านโรงแรมและอาหารไทยจำนวนมาก จึงได้เข้าพบหารือถึงแนวทางในการให้กระทรวงแรงงานช่วยดำเนินการจัดหาแรงงาน ในครั้งนี้ 
 
ทั้งนี้ การหารือร่วมกันนับเป็นช่องทางที่น่าสนใจสำหรับแรงงานไทย เนื่องจากนโยบายกระทรวงแรงงานนั้นไม่ปิดกั้นการที่คนไทยจะเดินทางไปทำงาน ต่างประเทศอยู่แล้ว แต่กระทรวงแรงงานมีหน้าที่ในการดูแลแรงงานไทยในการไปทำงานต่างประเทศ ตั้งแต่ก่อนเดินทางไปทำงาน อาทิ เงื่อนไขสัญญาหรือข้อตกลงในการจ้างงานเพื่อไม่ให้แรงงานไทยเสียเปรียบ เงินเดือน สวัสดิการ ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ในระหว่างทำงาน 
 
ซึ่งในเรื่องนี้ได้มอบหมายกรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ไปร่วมกันหารือกับคณะผู้แทนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับในประเด็นการจัดส่งแรงงานนั้น หากจะเป็นในรูปแบบการดำเนินการจัดส่งแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ก็จะมีการหารือร่วมกันต่อไปและยังจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย และป้องกันการเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมได้อีกทางหนึ่ง 
 
จากการหารือในเบื้องต้นเห็นว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความสนใจต่อแรงงาน ไทย โดยเฉพาะสาขาผู้ประกอบอาหารไทยเป็นอย่างมากและเร่งด่วน เพราะต้องการให้ทันเปิดสาขาแรก 
 
(สยามรัฐ, 3-7-2555)
 
สำรวจพบขึ้นค่าแรงกระทบนายจ้าง-ลูกจ้างกว่า 80% 
 
น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) ได้สรุปสำรวจผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท จากสถานประกอบการประเภทเอสเอ็มอีจำนวน 1,707 แห่งทั่วประเทศ เมื่อเดือน มิ.ย. พบว่า ได้รับผลกระทบสูงถึง 82.48% โดยประสบปัญหาต้นทุนสูงขึ้น รายได้ลดลง ขายสินค้าได้น้อยลง และไม่สามารถขยายกิจการได้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับผลกระทบมีเพียง 17.52% ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่มีตัว เลขใกล้เคียงกัน 
 
"ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างเห็นตรงกันว่าการขึ้นค่าจ้างมีผลกระทบจริง โดยกรรมการฝ่ายลูกจ้างยอมรับว่า คุณภาพชีวิตไม่ได้ดีขึ้นและยังแย่ลงกว่าเดิม ขณะที่ฝ่ายนายจ้างบอกว่า มาตรการรองรับของรัฐไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเลย" น.ส.ส่งศรี กล่าว 
 
น.ส.ส่งศรี กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าวยังพบว่าผู้ประกอบการมีวิธีการลดผลกระทบ เช่น ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น 73.93% งดรับลูกจ้างเพิ่ม 39.06% เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา เพิ่มราคาจำหน่ายสินค้า และเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน 14.91% 
 
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น ลดเงินสมทบประกันสังคม ลดภาษี เพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน สนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และชะลอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2556 
 
"ผลสำรวจดังกล่าวอาจกระทบต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค.2556 หากรัฐยังยืนยันตามนโยบายเดิมก็ต้องเร่งหามาตรการรองรับเพิ่มเติม หรืออาจต้องพิจารณาว่าจะปรับขึ้นค่าแรงแบบขั้นบันได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นนายจ้างก็อยู่ไม่ไหวและอาจทำให้ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง" น.ส.ส่งศรี กล่าว 
 
อย่างไรก็ตาม น.ส.ส่งศรี กล่าวว่า หลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างจะจัดทำโครงการสำรวจผลกระทบจากการขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำในสถานประกอบการกว่า 7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ โดยว่าจ้างสถาบันการศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คาดว่าจะสรุปผลสำรวจได้ภายใน 3 เดือน หรือประมาณปลายเดือน ต.ค.นี้ 
 
ขณะเดียวกัน บอร์ดค่าจ้างจะมีการจัดประชุมสัมมนาผู้ที่เกี่ยวข้องในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดจากการสัมมนาและผลการสำรวจมาวิเคราะห์ เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลให้พิจารณาต่อไป 
 
"กรรมการทุกฝ่ายได้เสนอความเห็นตรงกันว่า อยากให้บอร์ดค่าจ้างปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองโดยเด็ดขาด และต้องการให้มีอิสระอย่างแท้จริง" น.ส.ส่งศรี กล่าว 
 
ด้านนายปัณณพงศ์ อิทธิอรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ผลจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทำให้เอสเอ็มอีจำนวนหนึ่งไม่สามารถปรับตัวได้ ดังนั้นจึงเสนอให้มีการศึกษาวิจัยเร่งด่วนภายในปี 2556 ในการใช้แนวทางค่าจ้างแบบลอยตัว 
 
"ถ้ามีการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทในจังหวัดเล็กๆ ยิ่งส่งผลกระทบเป็นทวีคูณ ฉะนั้นควรศึกษาแนวทางค่าจ้างแบบลอยตัว โดยขึ้นอยู่กับฝีมือแรงงานและขนาดเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาด และที่สำคัญการเมืองต้องหยุดแทรรกแซงบอร์ดค่าจ้าง" นายปัณณพงศ์ กล่าว 
 
(โพสต์ทูเดย์, 4-7-2555)
 
ผู้นำแรงงานค้านชะลอปรับค่าจ้าง 300 บาท 70 จังหวัด 
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงผลสำรวจของผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ของกระทรวงแรงงาน และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ระบุตรงกันว่า การปรับขึ้นค่าจ้างไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้น และธุรกิจเอสเอ็มอี กว่าร้อยละ 82 ไม่สามารถปรับตัวได้ ว่า แม้ว่าทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างทั้ง สองฝ่าย แต่ตนเองก็ไม่เห็นด้วยหากเกิดกรณีที่รัฐบาลและคณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณา ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทในอีก 70 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งเริ่มมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2556 
 
นายชาลี กล่าวว่า ขณะนี้การปรับขึ้นค่าจ้างได้ประกาศเป็นกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งขณะนี้สินค้าอุปโภค-บริโภค ทั่วประเทศมีราคาสูงใกล้เคียงกัน แต่ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท มีผลใน 7 จังหวัดเท่านั้น ส่งผลให้ลูกจ้างใน 70 จังหวัด ต้องแบกรับภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้นทั้งที่ได้รับค่าจ้างยังไม่ถึงวันละ 300 บาท ดังนั้น นายจ้างก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อมีผลกระทบตามมารัฐบาลมีหน้าที่แก้ปัญหา หากจะไม่ให้นายจ้างและลูกจ้างได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้ จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น ควบคุมราคาสินค้าให้ได้ การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดโดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3-5 ปี เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ได้ 
 
ส่วนกรณีกรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้างเสนอให้กระทรวงแรงงานศึกษาวิจัย ในเรื่องการจัดทำค่าจ้างแรกเข้าโครงสร้างค่าจ้าง และค่าจ้างแบบลอยตัวนั้น เห็นด้วยกับการจัดทำค่าจ้างแรกเข้าและโครงสร้างค่าจ้าง ซึ่งจะต้องมีการจัดทำกฎหมายรองรับ เพื่อให้นายจ้างปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานมานานตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยขึ้นอยู่กับอายุงานและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างที่ทำงานมานานได้ปรับขึ้นค่าจ้างทุกปี ส่วนแรงงานเข้าใหม่ก็รับค่าจ้างแรกเข้า 
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 6-7-2555)

จ.อยุธยา จัดตลาดนัดแรงงาน 8,000 อัตรา 
 
จัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดตลาดนัดแรงงาน รับสมัครงานกว่า 8,000 อัตรา เปิดโอกาสให้ผู้ว่างงาน และถูกเลิกจ้าง มีงานทำ 
 
นางพัชรนันท์ พันธุ์พิริยะ จัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แรงงานในพื้นที่หลังประสบอุทกภัย จะมีคนว่างงาน ถูกเลิกจ้าง หรืออยากเปลี่ยนงาน ดังนั้น สำนักงานจัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงกำหนดจัดงานนัดพบตลาดแรงงานเชิงคุณภาพ ขึ้น ในวันที่ 17-18 กรกฎาคมนี้ ที่ศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสการมีงานทำให้แก่ผู้ประสงค์จะหางานทำ ผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้าง หรือผู้ต้องการเปลี่ยนงานใหม่ โดยจะมีบริษัทจัดหางาน 50 บริษัท มาให้บริการรับสมัครและสัมภาษณ์งาน จากที่มีตำแหน่งงานว่างกว่า 8,000 อัตรา และนอกเหนือจากการรับสมัครงานแล้ว ยังมีกิจกรรมคลินิกแรงงานบริการให้คำปรึกษา การไปทำงานต่างประเทศ การทำงานของคนต่างด้าว รับสมัครงานคนพิการ พร้อมมีการสาธิตการประกอบอาชีพอิสระและฝึกปฏิบัติ 
 
สำหรับผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0 3521-3335 และ 0-3521-3958 
 
(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 6-7-2555)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net