Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในโอกาสแห่งความสุขสันต์ที่น้องๆ กำลังจะจบรับปริญญาเป็นบัณฑิต เห็นมีคนให้ของขวัญหลากหลายแตกต่างกันไปบ้างตุ๊กตาน่ารักน่าชัง บ้างก็เงินสดพร้อมรถหรู พี่ไม่มีอะไรอื่นนอกจากความหวังดีเล็กๆที่จะมาแบ่งปันเป็นบทความบทหนึ่งนี้ โดยมีแก่นความอยู่ที่การถ่ายทอดแนวทางการใช้ชีวิตหลังจบมหาวิทยาลัยให้แก่น้องๆ ที่กำลังจะจบการศึกษาทุกคน เพื่อให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจ พี่อย่างที่จะเล่าเป็นข้อๆ รวม 3+1 เรื่องด้วยกันได้แก่  

เรื่องแรก ศักยภาพเริ่มต้นขึ้นที่จุดจบของความคุ้นชิน                

มหาวิทยาลัยในยุคเริ่มต้นของประเทศไทยนั้นจัดตั้งขึ้นก็เพื่อมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตบุคลากรป้อนเป็นกำลังสำคัญแก่การขยายตัวระบบราชการ มหาวิทยาลัยที่มีเป้าหมายการผลิตบัณฑิตสอดคล้องกับกระทรวงต่างๆ อาทิ เกษตร สาธารณสุข มหาดไทยจึงเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเจริญเติบโตของระบบอุตสาหกรรมและทุนนิยมได้ปรับเปลี่ยนให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นสถานเรียนรู้ที่มีวัตถุประสงค์ด้านหนึ่ง (แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตามแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นด้านหลัก) เพื่อผลิตบัณฑิตให้เท่าทันความต้องการของ “ตลาดแรงงาน” มหาวิทยาลัยนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันจึงมีทิศทางที่ “เคี่ยว หรือ นวด” ให้เรา --- บัณฑิตที่จบออกมา --- มีความชำนาญเฉพาะด้านอย่างมากจากอธิพลของแนวคิดการแบ่งงานกันทำ                

อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคหลังทุนนิยม (post-capitalism) หรือยุคโลกาภิวัตน์หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ที่เรากำลังดำรงชีวิตอยู่นี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากแล้ว ความชำนาญเฉพาะด้านได้กลายเป็น “จุดอ่อน” ที่นับวันจะเด่นชัดยิ่งขึ้น สัญญาณหลายตัวอาทิ การทำนายถึงอาชีพที่กำลังจะสูญหายไปจากการเข้ามาแทนที่โดยเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ “ความสามารถยืดหยุ่นปรับตัว” กลายเป็นทักษะที่จำเป็นมากกว่าความชำนาญ แน่นอนว่าการมีความชำนาญเฉพาะด้านอาจจะไม่ได้เป็นจุดอ่อนในตัวมันเอง แต่เราต้องไม่ลืมว่าโดยส่วนใหญ่แล้วการสร้างความชำนาญในระยะเวลาเพียง 4 ปีของปริญญาตรีมักแลกมาด้วยการละเลยที่จะศึกษาภาพกว้างหรือเสริมสร้างทักษะการปรับเปลี่ยนนอกกรอบแต่เน้นที่การทำให้กรอบแข็งไว้ก่อน

ดังนั้น เรื่องแรกที่พวกคุณควรรู้ก็คือแรงงานในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่แรงงานที่มีทักษะสำเร็จรูป (instant skilled labor) แต่เป็นแรงงานความรู้ (knowledge labor) ที่สามารถปรับตัวได้ตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น --- ค้นหาเส้นขอบฟ้าใหม่ๆ ให้แก่ตัวเองตลอดเวลาอย่างติดกับอยู่ในคอกของสิ่งที่เรียนมาตั้งแต่ในมหาวิทยาลัย --- competency begins at the end of your comfort zone   (ที่มาภาพประกอบ: page FB เชิญมาเป็นชาว “คิด”)  

เรื่องสอง ภาษิตจีน --- เกิดเป็นผู้ชาย(และหญิง)ต้องเลือกห้างให้ถูก

ในทางเศรษฐศาสตร์เรามักถูกสอนในชั้นเรียนเบื้องต้นถึงการแสวงหากำไรสูงสุด ความสุขสูงสุดอย่างง่ายๆ ตรงไปตรงมา แต่เมื่อเราเรียนในระดับที่สูงยิ่งขึ้นเราจะถูกสอนให้ตัดสินใจโดยคำนึงถึงความสลับซับซ้อนของตัวแปรในชีวิตมากขึ้น รวมถึงการมองไกลออกไปในอนาคตมากขึ้นด้วย เพราะการตัดสินใจในเวลาปัจจุบันนี้อาจส่งผลต่อความสุขทั้งชีวิตในอนาคต โดยที่เราไม่อาจจะกลับมาเลือกตัดสินใจใหม่ในการตัดสินใจที่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว (เวลาไม่เคยไหลย้อนกลับ) ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เรียกการตัดสินใจแบบนี้ว่า ออปติมัล คอนโทรน (optimal control) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ขอให้ตัดสินใจเพื่อความสุขทั้งเส้นทางชีวิต ไม่ใช่ตัดสินใจเพียงเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้า

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ข้อนี้สอดคล้องกับภาษิตจีนโบราณที่กล่าวว่า “เป็นชายต้องเลือกห้างให้ถูก เป็นหญิงต้องเลือกสามีให้ถูก” (เข้าใจว่าแปรเช่นนี้นะครับ) แม้ส่วนหลังซึ่งกล่าวถึงผู้หญิงจะล้าหลังไปแล้วเพราะผู้หญิงเองไม่ต้องอยู่บ้านเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ส่วนด้านหน้าที่กล่าวถึงการเลือกห้างนั้นยังมีความสำคัญอย่างมาก ความหมายของการเลือกห้างก็คือ การที่จะต้องเลือกทำงานให้ถูกนั่นเอง “งานบางอย่างแม้รายได้ดีเพียงใดก็ห้ามทำ” พ่อผมเคยกล่าวไว้ --- อย่างไรก็ตาม คนเรานั้นมีสิ่งที่เรียกว่าความสุขสมเฉพาะหน้าเกินต้านทาน (instant gratification) เช่น ความสุขจากการได้เงินใช้มากๆ ในวันนี้ เป็นต้น โดยไม่ได้ดูไปถึงอนาคตไกลๆ ว่าเป็นงานที่เหมาะสมหรือไม่ ดังนั้น ระวังความสุขเฉพาะหน้าและมองไกลเข้าไว้ ครับ

เรื่องสาม อย่าปล่อยให้เกรดในมหาวิทยาลัยและ how to book กำหนดทั้งชีวิตของคุณ

ผมเคยเห็นคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งในฐานะลูกจ้างรับเงินเดือน รุ่นพี่ผมท่านนี้ได้เคยถูกจัดอันดับว่ามีรายได้เป็นเงินเดือนมากที่สุดในประเทศ ทั้งๆที่จบคณะเศรษฐศาสตร์ด้วยเกรดเฉลี่ยสะสมเพียงสองต้นๆเท่านั้น ท่านเข้าทำงานด้วยตำแหน่งเทรดเดอร์ (Trader --- พนักงานซื้อขายหลักทรัพย์) ธรรมดา อาศัยร่างกายที่บึกบึนเพราะเล่นกีฬาเบียดเสียดก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ[1] จนกระทั่งถึงจุดสูงสุดของคนที่รับเงินเดือนประจำ เกรดจึงเป็นเพียงการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ว่าคุณเรียนได้ดีแค่ไหนเท่านั้น มันไม่ได้มีพลังมากพอจะกำหนดความก้าวหน้าของคุณทั้งชีวิต

แน่หละ มันอาจจะมีผลอยู่บ้างกับการบอกว่าใครได้แต้มต่อแค่ไหนตอนเริ่มต้น แต่ระยะทางใช้ชีวิตการทำงานนั้นเป็นมาราธอน ไม่ใช่คนที่ได้วิ่งก่อนหรือเริ่มต้นที่ข้างหน้าจะได้รับชัยชนะเสมอไป --- นอกจากนี้การเอาเป็นเอาตายมากเกินไปกับการได้ปริญญาในระดับเกียรตินิยมอันดับสอง ==> อันดับหนึ่ง ==> หนึ่งเหรียญทอง  ยังสะท้อนถึงการทำให้ตัว “บัณฑิตเองกลายเป็นสินค้า” และมีปริญญาเป็น ISO 9002, เราควรมีอิสรภาพที่จะใช้ชีวิตในฐานะคนที่อยากทำงานเพราะมันมีคุณค่าหรือเราอยากทำมันจริงๆ มากกว่าอยากทำงานเพราะได้เงินดี หรือเพราะมันมีระดับและดูคู่ควรกับISOปริญญาที่เราได้รับมา

เมื่อผมกล่าวถึงศิษย์พี่ของผมที่ได้รับเงินเดือนมากที่สุดของประเทศแม้ว่าจะได้เกรดเฉลี่ยจบการศึกษาเพียงสองเท่านั้น คุณอาจจะอย่างทราบว่าเขาทำอย่างไรจึงบรรลุจุดสูงสุดเช่นนั้นทั้งที่เริ่มต้นด้วยทุนต่ำกว่าคนอื่นหลายขุมนัก อันที่จริงแล้ว ผมคิดว่าคุณไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเขาทำได้อย่างไรหรอกครับ เพราะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในการใช้ชีวิต หนังสือ how to ทั้งหลายรวมถึงบทความนี้ด้วยอาจจะช่วยชี้นำแนวทางที่น่าสนใจให้แก่คุณได้บ้าง (หรืออย่างน้อยก็ชี้ว่าแนวทางใดผิด) แต่อย่าเชื่อมันมากจนกระทั่งละเลยการใช้วิจารณญาณ และ Gut ของตนเอง

โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ชีวิตนี่สำคัญอย่างมาก อย่างที่ผมได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องเล่าประการแรก คนเราถูกกำหนดให้มีความชำนาญเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของ “ตลาด” จนกระทั่งคล้ายกับว่าโลกใบนี้คือโรงงานขนาดใหญ่ที่ความต้องการของตลาดกลายเป็นทั้งหมดของสิ่งที่เราควรจะเป็น --- หรือ --- หากจะกล่าวให้ตรงยิ่งขึ้น การสอนในมหาวิทยาลัยหรือหนังสือฮาวทู ทั้งหลายตอกย้ำและผลิตซ้ำความต้องการของระบบโรงงาน โลกที่จะตัดแบ่งคนออกเป็นส่วนๆ มีหน้าที่ตายตัวและดำเนินไปอย่างมีความมุ่งหมายเฉพาะโดยไม่ต้องทบทวนถึงความสมเหตุสมผลต่อเป้าหมายเหล่านั้น ประพฤติกรรมในลักษณะนี้ทำให้เราสิ้นสุดวิญญาณแบบนักผจญภัยและการอยากรู้อยากเห็นไป คุณไม่ควรจะเป็นคนที่เหี่ยวแห้งน่าเบื่อหน่ายเช่นนั้น  

 

เรื่องประการสุดท้าย --- คุณควรมีกฎเป็นของตัวเอง อย่าปล่อยให้เอกสารชิ้นนี้กลายเป็น “สุ่ม” ที่ครอบคุณไว้อีกอัน หรือไม้ตะพดที่คอยเขกกระบาลบอกว่าคุณควรทำอะไรหรืออย่างไร จงผิดพลาดและพัฒนาการ เลิกชี้นิ้วโทษ หนังสือ อาจารย์ หรือใครๆ ผมให้กำลังใจลองใช้ชีวิตกันดูครับ    



[1] เทรดเดอร์แต่ก่อนยังไม่มีกระดานอิเล็กทรอนิกส์ต้องเบียดกันเข้าไปเขียนกระดานคำสั่งซื้อขาย
 
 
หมายเหตุ:จากบทความเดิมชื่อ ของขวัญบัณฑิต: แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์3+1ประการที่รุ่นพี่ฝากถึงรุ่นน้องบัณฑิตจบใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net