ร.พ.เสนาคว้ารางวัลงานวิจัยดีเด่น ระบบดูดเสมหะแบบใหม่ช่วยผู้ป่วย ICU

ศูนย์การประชุมเมืองทองธานี/ พยาบาลจาก ร.พ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา คว้ารางวัลวิจัยดีเด่น R2R (Routine to Research) โดยนำระบบการดูดเสมหะแบบใหม่มาใช้ในผู้ป่วยหนักที่อยู่ในห้อง ICU. ช่วยลดการพร่องออกซิเจนในเลือด ลดการแพร่เชื้อ และลดค่าใช้จ่ายได้เกือบ 90 บาท/คน/วัน เตรียมเสนอ ผอ.รพ.เสนา เพื่อนำไปใช้จริงกับผู้ป่วย

ในระหว่างวันที่ 10-12 กรกฏาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ สปสช. ร่วมกับภาคีเครือข่าย R2R (Routine to Research) จัดงานประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “จากงานประจำสู่งานวิจัย” ครั้งที่ 5 โดยมีบุคลากรทางด้านสาธารณสุขจากทั่วประเทศประมาณ 1,700 คนเข้าร่วม และมีการประกาศผลการประกวดรางวัล R2R ดีเด่น ประจำปี 2555 จำนวน 36 รางวัล จากผลงานทั้งหมดจำนวน 549 เรื่องจากทั่วประเทศที่ส่งเข้าประกวด

 
น.ส.พรเพ็ญ แสงสายฟ้า พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลเสนา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับรางวัลจากผลงานวิจัยเรื่อง “การเปรียบเทียบความอิ่มตัวของออกซิเจนในหลอดเลือดแดง และต้นทุนระหว่างการดูดเสมหะด้วยระบบเปิดกับระบบปิดในหอผู้ป่วยหนักโรงพยาบาลเสนา” กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการทำงานพบว่า ผู้ป่วยวิกฤตส่วนใหญ่ที่มีภาวะการหายใจล้มเหลวจะได้รับการรักษาด้วยการใส่ท่อหลอดลมคอและใช้เครื่องช่วยหายใจ และจะมีการดูดเสมหะเพื่อให้ทางเดินหายใจของผู้ป่วยโล่ง ป้องกันการติดเชื้อที่ปอดและช่วยให้การแลกเปลี่ยนก๊าซที่ปอดดีขึ้น แต่การดูดเสมหะในหอผู้ป่วยหนักโรงพยาบาลเสนายังใช้ ‘ระบบเปิด’ คือ ต้องถอดเครื่องช่วยหายใจออก แล้วสอดสายดูดเสมหะเข้าไป จากนั้นจึงบีบถุงลมที่ปลายสายเพื่อดูดเอาเสมหะออกมา

 
“วิธีดูดเสมหะแบบนี้ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด และมีการแพร่กระจายเชื้อสู่บุคลากร ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลผุู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับตัวเองได้ไปฝึกอบรมที่โรงพยาบาลรามาฯ ได้รับความรู้เรื่องการดูดเสมหะแบบระบบปิด ซึ่งไม่ต้องถอดเครื่องช่วยหายใจของผู้ป่วยออก จึงมีความคิดที่จะทำวิจัยเพื่อเปรียบเทียบผลต่างของวิธีการดูดเสมหะของทั้ง 2 ระบบ” น.ส.พรเพ็ญกล่าวถึงที่มาของงานวิจัย R2R เรื่องนี้ ซึ่งอยู่ในกลุ่มสนับสนุนบริการและบริหาร

 
การดูดเสมหะผู้ป่วยแบบ ‘ระบบปิด’ จะใช้สายดูดเสมหะที่มีข้อต่อเข้ากับเครื่องช่วยหายใจ จึงไม่ต้องถอดเครื่องช่วยหายใจของผู้ป่วยออก ถือว่าเป็นวิธีการดูดเสมหะแบบใหม่ที่ยังไม่แพร่หลายมากนักในเมืองไทย ซึ่งการดูดเสมหะแบบนี้จะลดโอกาสภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากวิธีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องและลดภาระของผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม

 
กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยชิ้นนี้เป็นผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 30 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้รับการดูดเสมหะด้วยระบบเปิดจำนวน 15 ราย และระบบปิดจำนวน 15 ราย ใช้ระยะเวลาวิจัยประมาณ 6 เดือน คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 จนถึงเดือนมกราคม 2555 จึงได้ผลการวิจัยออกมา

 
ผลวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิธีดูดเสมหะแบบระบบปิดจะมีค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดงสูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ดูดเสมหะแบบระบบเปิดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P
 
นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูดเสมหะ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ดูดเสมหะแบบระบบเปิดจะต้องใช้ผู้ช่วยในการดูดเสมหะจำนวน 2 คน และต้องดูดเสมหะทุกๆ 2 ชั่วโมง หากจะดูดเสมหะครั้งต่อไปต้องใช้สายดูดใหม่ ซึ่งการดูดเสมหะแบบนี้ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 207.50 บาท/ราย แต่หากใช้ระบบปิด จะใช้ผู้ช่วยดูดเสมหะเพียง 1 คน และสายดูดสามารถใช้งานได้นานประมาณ 5-7 วันจึงเปลี่ยนใหม่ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 119.75 บาท/ราย หรือมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเกือบ 90 บาท/ราย/วัน

 
“งานวิจัยจากงานประจำถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยให้มีการพัฒนางานประจำให้มีคุณภาพมากขึ้น และที่สำคัญก็คือ มีประโยชน์ต่อคนไข้ทั้งในเรื่องการรักษาพยาบาล และการลดค่าใช้จ่าย” น.ส.พรเพ็ญกล่าวและว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ในระหว่างการนำเสนอเพื่อให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเสนาอนุมัติก่อนที่จะนำวิธีการดูดเสมหะแบบปิดไปใช้กับผู้ป่วยต่อไป

 
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานประจำได้มีโอกาสสร้างสรรค์งานวิจัยขึ้น โดยใช้ข้อมูลจากงานประจำ และนำผลงานที่ได้นั้นไปพัฒนางานประจำอีกต่อหนึ่ง โดยหวังว่างาน ‘R2R’ จะช่วยส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

 
นอกจากนี้การจัดงาน ‘R2R’ นับเป็นโอกาสดีที่คนทำงานด้านสาธารณสุขทั่วประเทศจะได้มีพื้นที่เสนอผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ การเสริมเทคนิคความรู้จากวิทยากร และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการเสริมพลังซึ่งกันและกัน จนนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพให้ก้าวหน้าต่อไป  

 
สำหรับการประกวดงานวิจัยในปีนี้ มีผลงานทั้งหมดจำนวน 549 เรื่องจากทั่วประเทศที่ส่งเข้าประกวดภายใต้แนวคิด ‘วิถี R2R : เรียบง่าย คุณภาพ ครบวงจร’ โดยในปีนี้คณะกรรมการได้คัดเลือกผลงานวิจัยดีเด่นทั้งหมดจำนวน 36 ผลงาน แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ กลุ่มปฐมภูมิ 11 รางวัล, กลุ่มทุติยภูมิ 9 รางวัล, กลุ่มตติยภูมิ 4 รางวัล และกลุ่มสนับสนุนบริการและบริหาร 12 รางวัล

 
ตัวอย่างงานวิจัยที่ได้รางวัล เช่น รูปแบบการจัดการปัญหาเอดส์โดยเยาวชนจิตอาสา ต.แม่จั๊วะ อ.เด่นชัย จ.แพร่, ผลของการให้การปรึกษาแนวพุทธธรรมในผู้พยายามฆ่าตัวตายที่มีภาวะซึมเศร้า ร.พ.เรณูนคร, การพัฒนาตู้ทำฟันเทียมใกล้บ้าน ใกล้ใจ ร.พ.ทุ่งช้าง จ.น่าน,‘นวัตกรรม : เครื่องมือถ่างแผลผ่าตัดมะเร็งเต้านมและการผ่าตัดอื่น’ ร.พ.กระบี่

 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท